ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบางกระดี่ กรุงเทพฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญบางกระดี่
องค์ บรรจุน

การตั้งถิ่นฐานของ ชาวมอญ บ้านบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหา นครนั้น ไม่มีหลักฐานบันทึก ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอย่างการอพยพ ของชาวมอญในชุมชนอื่น ๆ เช่น ชาวมอญพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และชาวมอญสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น ซึ่งมีการอพยพเข้ามา อย่างเป็นทางการ และเป็นที่ต้องประสงค์ ของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้นๆ เพื่อเป็นแรงงาน ทำราชการ และสร้างความเข้มแข็ง ของพระราชอาณาจักร โปรดฯให้จัดที่อยู่ให้เป็นหลักแหล่ง รวมทั้ง มีการบันทึกการอพยพไว้อย่างเป็นทางการ แตกต่างจากชาวมอญบ้านบางกระดี่ เพราะว่าชาวมอญที่บางกระดี่นั้น มิได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองมอญโดยตรง อย่างชาวมอญในชุมชนอื่น ๆ แต่คาดว่า เป็นการอพยพมาจากชุมชน ที่เป็นชุมชนมอญอยู่แล้ว ในส่วนอื่นๆของเมืองไทย เป็นการอพยพเพื่อหาหลักแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ เนื่องจากถิ่นเดิมแออัดยัดเยียด ขาดแคลนพื้นที่ทำกินและแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ

สันนิษฐานได้ว่า ชาวมอญ ที่บ้านบางกระดี่ส่วนใหญ่ แพร่กระจายมาจากชุมชนมอญ ในจังหวัดสมุทรสาคร เพราะชุมชนมอญเก่าแก่อย่างสมุทรสาครนั้น มีหลักฐานการตั้งชุมชนมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างป้อมและขุดคลองสุนัขหอน และโปรดฯ ให้ยกครัวมอญ ในเจ้าพระยามหาโยธา ไปทำมาหากินที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ รวมทั้งนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ กล่าวว่า

“ถึงเขตแขวงแหล่งหลักสุนัขหอน
เรือสลอนลอยรอถือถ่อไสว
ทั้งพ่วงแพแซ่ซ้อนเจ๊กมอญไทย
บ้างมาไปปะกันเสียงครั่นครื้น”

แสดงให้เห็นว่า มีชุมชนมอญเกิดขึ้น ในจังหวัดสมุทรสาคร ย่านมหาชัย และคลองสุนัขหอนมาอย่างน้อย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ประกอบกับพื้นที่ของชุมชนมอญ ที่มหาชัยและคลองสุนัขหอน ก็เป็นเขตแดนต่อเนื่องกัน สามารถไปมาหาสู่กันได้โดยง่าย อาศัยคลองสนามไชย (คลองบางกระดี่) เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ประกอบกับชุมชนมอญที่มหาชัยและคลองสุนัขหอน เป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ ต่อมาในระยะหลัง เกิดความแออัดขาดแคลนที่ทำมาหากิน จึงมีการขยับขยาย เพื่อจับจองที่ทำกินยังแหล่งใหม่ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์กว่าที่บางกระดี่ ซึ่งเมื่อย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้ว ยังสามารถประกอบอาชีพเดิม อย่างที่เคยเมื่ออยู่ที่มหาชัย และคลองสุนัขหอนได้ คือเย็บจาก ตัดฟืน เผาถ่าน อีกทั้ง ใกล้แหล่งค้าขายสินค้าเหล่านั้นคือ ปากเกร็ด สามโคก ที่ต้องการฟืนและจาก ในการทำเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาในระยะหลัง เมื่อมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างชุมชนมอญ จึงมีชาวมอญอีกส่วนหนึ่ง โยกย้ายมาอยู่ที่บางกระดี่เพิ่มเติม จากการแต่งงาน และการค้าขายประกอบอาชีพ กับชาวมอญสามโคก ปากเกร็ด พระประแดง และย่านบางไส้ไก่ กรุงเทพมหานคร

หลักฐานที่สามารถอธิบายความเป็นมา และความเก่าแก่ของชุมชนมอญบางกระดี่ได ้ก็คือ สถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างภายในวัดบางกระดี่ ได้แก่ เจดีย์ พระพุทธรูป และความเชื่อมโยงทางด้านสังคม และวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน
วัด บางกระดี่ เป็นวัดประจำชุมชนบางกระดี่ สามารถบอกเล่าความเป็นมา ของชุมชนมอญแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี สถาปัตยกรรมภายในวัด เป็นงานศิลปะแบบพื้นบ้าน และวัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นงานที่เกิดจากพลังศรัทธาของชาวบ้านแท้ๆ แบบที่เรียกว่าตามมีตามเกิด ต่างจากวัดในละแวกใกล้เคียง เช่น วัดกก วัดศีรษะกระบือ วัดโคกขาม ซึ่งล้วนแต่สร้างอย่างประณีตบรรจง และสร้างมาแต่สมัยอยุธยา ลักษณะดังกล่าวเป็นเช่นเดียวกันกับชุมชนเกิดใหม่ทั่วไป ที่เพียงแต่ต้องการสร้างศาสนสถาน เป็นการชั่วคราวภายในชุมชน ประการหนึ่งอาจด้วยความไม่แน่นอน ในการที่จะอพยพโยกย้ายมาอย่างถาวร และอีกประการคือฐาน ะและเศรษฐกิจของชุมชนที่เพิ่งอยู่ในภาวะก่อร่างสร้างตัวใหม่

การตรวจเทียบรูปแบบศิลปะ และยุคสมัย ของโบราณวัตถุโบราณสถาน ภายในชุมชนมอญบางกระดี่ ศิลปะปูนปั้น ลวดลายแกะสลัก บนบานประตูโบสถ์ หน้าต่าง และศาลาการเปรียญ พบว่าได้รับอิทธิพลศิลปะจีนแบบราชนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงช่วงต้นรัชกาลที่ ๔ อีกทั้งลักษณะงานศิลปะ เป็นงานช่างตระกูลเดียวกับที่ปรากฎ ที่วัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นชุมชนมอญใกล้เคียง และมีสายสัมพันธ์กันมาแต่เดิม หลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า วัดบางกระดี่น่าจะสร้างร่วมยุค หรือใกล้เคียงกันกับวัดทรงธรรม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔

นอกจากหลักฐานด้านโบราณสถานข้างต้นแล้ว ยังมีลักษณะสำคัญ ที่แสดงความเป็นมาอย่างชัดเจน กล่าวคือ ภาษาที่ใช้ ระบบเครือญาติ และรูปแบบวัฒนธรรมประเพณี ของชาวบ้านบางกระดี่ มีความเหมือนกับชาวมอญ ที่จังหวัดสมุทรสาครหลายประการ เช่น ภาษาที่ใช้จำนวนมาก ที่เป็นศัพท์ท้องถิ่นย่านนี้ ไม่มีใช้ในท้องถิ่นอื่น ได้แก่ กระต๊าด (กระเจี๊ยบเขียว) ฟาฮ์เจิด (ตลาด) เป็นต้น

ผ้าสไบ มอญ หรือหญาดแธะเริ่มโต๊ะ ที่มีลวดลายและรูปแบบเฉพาะตัว เสื่อกกสาน เหล่านี้ ล้วนเป็นเอกลักษณ์ ของชาวมอญทางสมุทรสาคร และชาวมอญ ที่โยกย้ายไปจากสมุทรสาคร เช่น กระทุ่มมืด ไทรน้อย หนองจอก ลาดกระบัง เป็นต้น
จากหลักฐานข้างต้น ทำให้สันนิษฐานว่า ชุมชนมอญบางกระดี่ น่าจะขยับขยายโยกย้ายไปจากสมุทรสาคร ตั้งชุมชนขึ้นใหม่ ที่บางกระดี่ ในราวปลายสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงต้นรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่นานไปก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ อย่างแน่นอน อายุในการตั้งชุมชนราว ๑๓๐ ปี

ชุมชนบางกระดี่ เป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี ดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี เป็นชุมชนริมน้ำคล้าย ๆ ชุมชนมอญส่วนใหญ่ในเมืองไทย โดยตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากคลองสนามไชย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า คลองบางกระดี่ จัดแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๘ และหมู่ที่๙ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน มีถนนซอยแยกจากถนนพระราม ๒ หรือถนนธนบุรีปากท่อ กิโลเมตรที่ ๑๐ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร เข้าถึงหมู่บ้าน ซึ่งนับว่าสะดวกสบาย กว่าสมัยก่อนที่ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก

ทุกวันนี้ ชาวชุมชนบางกระดี่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากเมื่อเทียบกับในอดีต เพราะชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากการเข้ามา ของโรงงานอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคครบครัน นอกจากมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของชุมชนแล้ว ยังมีโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ๑ แห่ง สำหรับลูกหลานในชุมชนได้ศึกษาเล่าเรียน มีสถานีอนามัย ๑ แห่ง และล่าสุด คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลังใหม่ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพื่อเก็บสะสมรวบรวมภูมิปัญญา และความเป็นมา ของชุมชนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทว่า ความเจริญต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามายังชุมชนดังกล่าว ก็ไม่อาจทำให้วิถีชีวิต ของชาวมอญบางกระดี่เปลี่ยนแปลงไปได้ ชาวบ้าน ต่างยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญดั้งเดิมเอาไว้ ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่เสื่อมคลาย