ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก) กรุงเทพฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก)
องค์ บรรจุน

ชาวมอญ คลองสิบสี่ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่กันตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานจดบันทึกเอาไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากหลักฐานด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุภายในชุมชน แสดงให้เห็นว่าชุมชนมอญแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)

กลุ่มชาวมอญคลองสิบสี่นั้นเป็นชุมชนที่ขยายตัวมาจากสมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และพระประแดง ทั้งนี้สืบเนื่องจากนโยบายการขุดคลองรังสิต และลำคลองสายต่างๆในสมัยรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๓๓ เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก เช่นเดียวกับการขยายตัวของชาวมอญไปสู่พื้นที่ทำนาแห่งใหม่อย่างบางพลี บางบ่อ บางแก้ว บางบัวทอง ไทรน้อย และลาดกระบัง โดยทางการได้ประกาศเชิญชวนให้ราษฎรมาบุกเบิกที่ทำมาหากินด้วยการงดเว้นการ เก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าที่เคยเก็บในพื้นที่ทำนาเดิมในระยะต่อมา ประกอบกับพื้นที่ทำนาของชาวมอญที่สมุทรสาคร พระประแดง นนทบุรี และที่อื่นๆก็เริ่มแออัดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

คลองสิบสี่เป็นคลองชลประทานที่ขุดขึ้นโดยบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ได้รับสัมปทานขุดคลองโดยพระบรมราชานุญาติในรัชกาลที่ ๕ คลองสิบสี่สายล่างเริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และลำคลองสายนี้ยังเป็นเขตรอยต่อแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ จังหวัด คือทางด้านฝั่งตะวันออกเป็นเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนทางฟากตะวันตกอยู่ในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ดังนั้นชุมชนมอญคลองสิบสี่จึงเป็นชุมชนมอญที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ๒ จังหวัด แม้เขตพื้นที่การปกครองของกระทรวงมหาดไทยจะแบ่งชุมชนออกเป็น ๒ ฝั่งคลอง แต่ลำคลองสิบสี่ไม่อาจแบ่งความเป็นมอญ และความเป็นเครือญาติของคนในชุมชนออกจากกันได้ และที่สำคัญคนทั้ง ๒ ฟากฝั่งคลองยังมีวัดใหม่เจริญราษฎร์เป็นวัดมอญประจำชุมชนเพียงวัดเดียวที่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านนับแต่อดีตจนปัจจุบัน

วัดใหม่เจริญราษฎร์เป็นวัดประจำชุมชนมอญคลองสิบสี่ เป็นศาสนสถานประจำชุมชนมอญ ด้วยความเลื่อมใสในศาสนา ไม่ว่าชาวมอญจะลงหลักปักฐานที่ใดก็ตามต้องสร้างวัดขึ้นด้วยเสมอเพื่อปฏิบัติ ศาสนกิจและเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของหมู่บ้าน มีโบสถ์ชั่วคราวหลังแรกหลังคามุงจากใช้ประมาณ ๓๐ ปี จึงได้มีการก่อสร้างโบสถ์หลังที่ ๒ ซึ่งเป็นอาคารถาวรหลังแรก มีจารึกปีที่สร้างเอาไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ รูปแบบของโบสถ์หลังเก่าเป็นศิลปะแบบที่เรียกกันว่า “โบสถ์น้ำเค็ม” ตามรูปแบบที่พบมากแถบวัดมอญย่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพระประแดง ลักษณะเด่นของโบสถ์ดังกล่าวมีสกุลช่างเดียวกับทางสมุทรสาคร และพระประแดง และสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลีกเลียงการใช้คอนกรีตทั้งๆที่หาง่ายราคาถูกกว่า เพราะสมัยก่อนย่านเมืองชายทะเลน้ำยังเค็มจัด ประกอบกับยังไม่มีคอนกรีตชนิดทนน้ำเค็ม หากสร้างอาคารด้วยคอนกรีตจะมีอายุการใช้งานไม่นานนัก  เมื่อเทียบเคียงรูปแบบศิลปะที่สอดคล้องกับทางสมุทรสาครแล้ว ยังพบว่าชุมชนมอญดั้งเดิมที่ตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีหลักฐานชัดเจนในการขยับขยายที่ทำกินยังแหล่งใหม่เพราะแหล่งทำกินเดิม แออัดใน ๒ ชุมชนคือ การตั้งชุมชนใหม่ของชาวมอญในตำบลเจ็ดริ้วเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ และชุมชนมอญตำบลชัยมงคลเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าเกิดการอพยพครั้งใหญ่ภายในชุมชนมอญที่สมุทรสาคร มีการเคลื่อนย้ายขยายที่ทำกินกันหลายเส้นทาง และเมื่อมีการขุดคลองสิบสี่แล้วเสร็จจึงได้มีการอพยพเข้ามาบุกเบิกที่ทำกิน กันตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ ลงมาเป็นอย่างเร็ว

คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนคลองสิบสี่เล่าว่าเมื่อย้อนอดีตกลับไป ๔๐–๕๐ ปีที่แล้วชาวมอญที่คลองสิบสี่ยังมีสายสัมพันธ์อย่างต่อ เนื่องกับชาวมอญที่พระประแดง สมุทรสาคร ปทุมธานี และนนทบุรี หลายท่านยังมีญาติสนิทอยู่ที่สมุทรสาครและพระประแดง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเสมอเมื่อยามมีการจัดงานบวช งานแต่งงาน และงานศพของทั้ง ๒ ชุมชน

อาจารย์ทวี แก่นดำ กล่าวว่าต้นตระกูลของตนมาจากตำบลบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร คนในรุ่นพ่อแม่ของตนยังไปมาหาสู่กันมิได้ขาด ซึ่งคนมอญในทั้ง ๒ ชุมชนมีโอกาสพบกันในงานสำคัญต่างๆ และมีการแต่งงานระหว่างกันของคนมอญทั้ง ๒ ชุมชนเสมอมา

เช่นเดียวกับนายสนั่น เลี้ยงบำรุง เล่าว่าเมื่อสมัยเด็กเส้นทางการสัญจรของชุมชนมีช่องทางเดียวคือทางเรือ ดังนั้นการติดต่อกับชุมชนอื่นๆก็เพียงเวลามีงานสำคัญหรือเทศกาลเท่านั้น เช่นงานสงกรานต์เมื่อมีการจัดงานและหาทะแยมอญจากบางกระดี่มาเล่น ชาวบ้านพากันตื่นเต้นมากเพราะนานครั้งถึงจะได้ดู เนื่องจากการเดินทางยากลำบาก และเป็นการแสดงของมอญแท้ๆ เป็นการเปิดหูเปิดตา มีความรู้สึกอบอุ่นราวมีญาติจากที่ห่างไกลมาเยี่ยมเยือนหมู่บ้าน ด้วยชาวมอญคลองสิบสี่เป็นเพียงหมู่บ้านมอญเล็กๆท่ามกลางบ้านไทยและอิสลาม

วัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญคลองสิบสี่ จึงมีลักษณะที่ไม่ต่างจากชุมชนมอญดั้งเดิมที่โยกย้ายมาอย่างสมุทรสาคร พระประแดง ปทุมธานี และนนทบุรี กล่าวคือเป็นชุมชนมอญแบบผสมผสาน ที่เป็นการผสมผสานอย่างลงตัว เป็นการคัดสรรแบบอย่างที่ดีของแต่ละชุมชนมายึดถือปฏิบัติ ตัวอย่างประเพณีที่ยังคงรักษาไว้ได้ในชุมชน ได้แก่ งานสงกรานต์  แห่ธงตะขาบ ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ สะบ้า เป็นต้น

อาหารการกินแบบมอญ ได้แก่ แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงบอน แกงขี้เหล็ก ข้าวแช่ ขนมกาละแม ข้าวเหนียวแดง

ส่วน การแต่งกายในทุกวันนี้แม้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบไทยสมัยนิยมหมดแล้ว แต่ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่าน ผู้ชายยังคงนุ่งโสร่ง ผู้หญิงยังนุ่งผ้าถุงและเกล้าผมมวย แต่ในงานเทศกาลชาวบ้านก็พร้อมใจกันแต่งกายแบบมอญเข้าวัดทำบุญ เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน

ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำนา พร้อมกับการเทคโนโลยีทุ่นแรงที่เพิ่มมากขึ้น เส้นทางการคมนาคมและยวดยานทันสมัยนำลูกหลานมอญภายในชุมชนออกสู่สังคมภายนอก ลูกหลานจำนวนหนึ่งกลับเข้าชุมชนพร้อมด้วยการศึกษาสูงหน้าที่การงานมั่นคงและ รูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ แต่อีกหลายท่านก็ห่างชุมชนออกไปด้วยภาระอาชีพ การแต่งงาน และชีวิตในสังคมใหม่ แม้หลายท่านลืมเลือนวิถีชีวิตมอญแบบปู่ย่าตายายในอดีต แต่ทุกวันนี้ยังมีคนกลุ่มใหญ่ลุกขึ้นมาอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเดิมๆเอาไว้ แม้จะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆห่างไกล แต่ยังคงความเป็นมอญอยู่