ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญปากลัด มอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญปากลัด มอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ


มอญปากลัด

มอญ ปากลัด สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่อพยพเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทยอย่างน้อย ๒ ครั้งด้วยกัน กล่าวคือครั้งแรกใน พ.ศ.๒๓๑๖ สมัยกรุงธนบุรี มีเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นหัวหน้า ดังความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า
“ฝ่ายพวกรามัญที่หนีพม่ามานั้น พระยาเจ่ง ตละเสี้ยง ตละเกล็บ กับพระยากลางเมือง ซึ่งหนีเข้ามาครั้งกรุงเก่า พม่าตีกรุงได้นำตัวกลับไป และสมิงรามัญ นายไพร่ทั้งปวงพาครัวเข้ามาทุกด่านทุกทาง ให้ข้าหลวงไปรับมาถึงพระนครพร้อมกัน แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนท์บ้าง เมืองสามโคกบ้าง แต่ฉกรรจ์จัดได้สามพัน โปรดให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่า เป็นเชื้อรามัญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ เรียกว่า จักรีมอญ ควบคุมกองมอญใหม่ทั้งสิ้น และโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามสรรพากรขนอนตลาดทั้งปวง ให้ค้าขายทำมาหากินเป็นสุข”

ในการอพยพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯให้ตั้งหลักแหล่งที่เมืองสามโคก และปากเกร็ด ต่อมาได้โปรดให้ย้ายครัวมอญในพวกพญาเจ่ง (เจ้าพระยามหาโยธา) ไปอยู่ดูแลป้อมและเมืองนครเขื่อนขันธ์ ความดังพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ฉบับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๑๗๑ ดังนี้

“เมื่อเดือน ๕ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ทรงพระราชดำริว่า ที่ลัดต้นโพธิ์นั้น ในเมื่อรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดฯให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จลงไปกะการที่จะสร้างเมืองไว้ป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง การได้ค้างอยู่เพียงได้ลงมือทำป้อมยังไม่ทันแล้ว จะไว้ใจแก่การศึกทางทะเลมิได้ ควรจะต้องทำขึ้นให้สำเร็จ จึงโปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครบ้าง และแขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่ง พระราชทานชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ให้ย้ายมอญเมืองปทุมธานีพวกพระยาเจ่ง มีจำนวนชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน ลงไปอยู่ ณ เมืองนครเขื่อนขันธ์

แล้วจึงโปรดฯ ตั้งสมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง ซึ่งเป็นพระยารามน้องเจ้าพระยามหาโยธา เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์ รามัญราช ชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม ผู้รักษาเมือง และตั้งกรมการพร้อมทุกตำแหน่ง”

การอพยพของ มอญ ที่เกี่ยวพันกับชาวมอญพระประแดงครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒  พ.ศ.๒๓๕๘ ซึ่งในครั้งนั้นเกิดจากการที่ชาวมอญ ไม่พอใจในพระเจ้าปะดุงของพม่า เกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่ จึงก่อกบฎที่เมืองเมาะตะมะ  ภายหลัง ถูกปราบปรามอย่างทารุณ ต้องหนีเข้ามายังเมืองไทย และอพยพเข้ามายังไทย นับเป็นการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนทั้งสิ้นราว ๔๐,๐๐๐ คน และรัชกาลที่ ๒โปรดฯ พระราชทานที่ทำกินให้แก่ชาวมอญที่ปากเกร็ด สามโคก และพระประแดง ดังความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“พวก มอญ ที่เมืองเมาะตะมะถูกพม่ากดขี่หนักเข้า จึงพร้อมใจกันจับเจ้าเมืองกรมการพม่าฆ่าเสีย แล้วพากันอพยพครอบครัวเข้ามาในพระราชอาณาจักร เดินเข้ามาทางเมืองตากบ้าง ทางเมืองอุทัยธานีบ้าง แต่โดยมากมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์  เข้าแขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อได้ทรงทราบข่าวว่า ครัวมอญอพยพเข้ามา จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปคอยรับครัวมอญอยู่ที่เมืองนนทบุรี จัดจากและไม้ปลูกสร้างบ้านเรือน และเสบียงอาหารของพระราชทานขึ้นไปพร้อมเสร็จ ทางเมืองกาญจนบุรีโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คุมไพร่พลสำหรับป้องกันครัวมอญ และเสบียงอาหารของพระราชทานออกไปรับครัวมอญทางหนึ่ง โปรดฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิมักษ์มนตรีเป็นผู้ใหญ่เสด็จกำกับไปด้วย ทางเมืองตากนั้น โปรดฯให้เจ้าพำระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายกเป็นผู้ขึ้นไปรับ ครัวมอญมาถึงนนทบุรีเมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ.๒๓๕๘ เป็นจำนวนคน ๔๐,๐๐๐ เศษ ให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง มืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง สมิงสอดเบาที่เป็นหัวหน้านั้น ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยารัตนจักร ตัวนายรามัญที่เป็นผู้ใหญ่มียศอยู่ในเมืองเดิม ก็ทรงกรุณาโปรดฯตั้งให้เป็นพระยาทุกคน”

ชาวมอญ ที่อพยพมาทั้ง ๒ ครั้งนี้เองที่สืบทอดมาเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญปากลัดในปัจจุบัน โดยเฉพาะการอพยพเข้ามาของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ในขณะนั้นบ้านเมืองเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามคราวเสียกรุง พลเมืองไทยยังมีน้อย รัฐต้องการแรงงานทำการเกษตรและป้องกันประเทศ ชาวมอญจึงกลายเป็นกำลังสำคัญของกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินจึงโปรดฯให้พญาเจ่งยกไพร่พลไปตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด คอยสกัดทัพพม่าที่อาจยกเข้าทางด้านทิศเหนือ รวมทั้งดูแลด่านขนอนที่แขวงเมืองนนท์ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองตระหนักถึงพิษภัยทางทะเล โดยเฉพาะชาติตะวันตก ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพมาก จึงได้มีการสร้างเมืองและป้อมขึ้นที่ปากแม่น้ำ คือ เมืองนครเขื่อนขันธ์ และโปรดฯให้มอญพวกพญาเจ่ง อพยพมาอยู่ดูแลเมืองนครเขื่อนขัน์ดังกล่าว อีกทั้งตั้งผู้นำมอญเป็นเจ้าเมืองนับแต่เริ่มแรก ดูแลปกครองกันเอง ตามลำดับดังนี้
๑. พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา คชเสนี) พ.ศ.๒๓๕๘–๒๔๐๑ บุตรคนที่ ๓ ของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)
๒. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) พ.ศ.๒๔๐๑–๒๔๒๖
๓. พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) พ.ศ.๒๔๒๖–๒๔๓๐
๔. พระยาขยันสงคราม (แป๊ะ คชเสนี) พ.ศ.๒๔๓๐–๒๔๔๕
๕. พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (หยอย คชเสนี) พ.ศ.๒๔๔๕–๒๔๕๐
๖. พระยาเทพผลู (ทองคำ คชเสนี) พ.ศ.๒๔๕๐–๒๔๕๔
๗. พระยาพิพิธมนตรี (ปุย คชเสนี) พ.ศ.๒๔๕๔–๒๔๕๗
๘. พระยานาคราชกำแหงประแดงบุรีนายก (แจ้ง คชเสนี) พ.ศ.๒๔๕๗–๒๔๖๗

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนชื่อจาก เมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็น จังหวัดพระประแดง และให้พระยานาคราชฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด กระทั่งสิ้นชีวิต ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้ายที่เป็นมอญ จากนั้น จังหวัดพระประแดง ได้เปลี่ยนสถานะลงเป็น อำเภอพระประแดง

หลังจากที่ชาวมอญพวกพญาเจ่ง และพวกที่อพยพเข้ามาเพิ่มเติมสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองพระประแดง ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันยังริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณใกล้ตลาดในปัจจุบัน) ชื่อหมู่บ้านเหล่านี้เป็นภาษามอญ (หมู่บ้านมอญเรียกว่า กวาน  หลายหมู่บ้านเป็นชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านในเมืองมอญ และยังมีอยู่ในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ทุกวันนี้ นับรวมกันได้ทั้งสิ้น ๑๗ หมู่บ้าน ได้แก่
๑. กวานดงฮะนอง j ภาษามอญแปลว่า ดวงดาว ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทรงคนอง วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยฮะโหมก (วัดกลางสวน) และ เพี่ยอะมอน (วัดคันลัด)
๒. กวานเริ่งเกลิ่ง  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านโรงเรือ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยอะมอน (วัดคันลัด)
๓. กวานอะม่าง   แปลว่าบ้านช่างปั้น (เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากหมู่บ้านเดียวกันกับ บ้านอาม่าน ที่เกาะเกร็ด) ปัจจุบันเรียกว่าบ้านอะม่าง วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยแกร่งเจินย์ (วัดแค)
๔. กวานแซ่ห์  ในเมืองมอญในอดีต มีฐานะเป็นเมืองใหญ่ เรียกว่า เมืองแซ่ห์ ปัจจุบันทางการพม่าแยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อเมืองแซห์จึงหายไป เหลือแต่คำเรียกของชาวบ้าน ปัจจุบันที่พระประแดงยังคงฐานะเป็นหมู่บ้านเช่นเดิม เรียกว่าบ้านแซ่ห์ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยพระครู (วัดทรงธรรมราชวรมหาวิหาร)
๕. กวานตองอุ๊   ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตองอุ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยเกริงฮะละ (วัดอาษาสงคราม)
๖. กวานฮะมาง ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทะมัง วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยมะมอ (วัดพญาปราบปัจจามิตร)
๗. กวานฮะเริ่น  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะเริ่นย์ ภาษามอญแปลว่า (ฟ้า) คำราม วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยฮะเริ่นย์ (วัดกลาง)
๘. กวานตา   ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตา ภาษามอญแปลว่า ตาล วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยแกร่งเจินย์ (วัดแค)
๙. กวานแหว่คะราว   ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเว่คะราว ภาษามอญแปลว่า บ้านทุ่งครู่ (มีต้นครู่ขึ้นมาก) ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านอยู่ในเมืองมะละแหม่ง ส่วนที่พระประแดงยังมีปรากฎชื่อ แม้แต่ป้ายชื่อหมู่บ้านก็ยังเขียนด้วยภาษามอญ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยแกร่งเจินย์ (วัดแค)
๑๐. กวานเต่อ   ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเต่อ ภาษามอญแปลว่า บ้านดอน วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยโหมกตอน (วัดโมกข์)
๑๑. กวานดัง ปัจจุบันเรียกว่าบ้านดัง ภาษามอญแปลว่า บ้าน (ทำ) ร่ม (หรือฉัตร) วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยแกร่งเจินย์ (วัดแค)
๑๒. กวานจ่างบี  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านจ่างบี ภาษามอญแปลว่า บ้านริมทะเล วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยอะม๊อย (วัดจวนดำรงราชพลขันธ์)
๑๓. กวานเกริงกรัง  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านโกงกาง ภาษามอญแปลว่า บ้าน (ต้นพืช) โกงกาง วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยอะม๊อย (วัดจวนดำรงราชพลขันธ์)
๑๔. กวานฮะโต่นเจินย์  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะโต่นเจิ่นย์ ภาษามอญแปลว่า บ้านสะพานช้าง วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยฮะเริ่นย์ (วัดกลาง)
๑๕. กวานเจิ่มฮะมาย (กวานเชียงใหม่)  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเชียงใหม่ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยสะกาว ปัจจุบันชุมชนส่วนหนึ่งยังปรากฎอยู่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งถูกวนคืน สร้างทางด่วน ส่วนวัดได้ถูกรื้อทิ้งไปนานแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดกลางในปัจจุบัน

๑๖. กวานฮะกาม   ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะกาม ภาษามอญแปลว่า บ้านแกลบ วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยแกร่งเจินย์ (วัดแค)
๑๗. กวานฮะโหมกปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะโหมก ภาษามอญแปลว่า บ้านตะวันออก วัดประจำหมู่บ้าน คือ เพี่ยฮะโหมก (วัดกลางสวน)

ชาวไทยเชื้อสาย มอญ (รามัญ) ในทุกวันนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ เท่าที่มีการสำรวจเอาไว้โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๕ พบว่ามีชาวมอญ (ที่ยอมรับว่าเป็นมอญ และสามารถสืบประวัติได้) เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๙๔,๒๒๙ คน

การลงพื้นที่สำรวจดังกล่าว ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ครูอาจารย์ และผู้นำชุมชน ซึ่งล้วนเป็นมอญ ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ พบว่ามีชาวมอญอยู่ทุกภูมิภาคของไทย ส่วนใหญ่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำ ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (โดยมากเป็น แหล่งที่พระมหากษัตริย์โปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา) และบางส่วนตั้งหลักแหล่งอยู่แถบ ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี  ทางอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี

แต่ผู้เขียนคาดว่าจำนวนคนมอญในเมืองไทยน่าจะมีมากกว่านั้น เหตุเพราะการอพยพเข้ามาในครั้งสุดท้าย (จากทั้งหมด ๙ ครั้ง) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๕๗ แค่เพียงครั้งเดียว เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง ๔๐,๐๐๐ คน

ชาวไทยเชื้อสาย มอญ ในพระประแดง ได้รับการยอมรับให้ทำราชการ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนประกอบอาชีพได้อิสระ ชนชั้นปกครองของไทยเองก็ไม่ได้มองว่า “มอญ” เป็นชาวต่างชาติ ชาวมอญมีสิทธิเช่นเดียวกับชาวไทยทุกประการ หากชาวมอญ ทำเรื่องเสื่อมเสียก็ย่อมส่งผลถึงชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของชาวไทยโดยรวม ดังปรากฏในพระราชกำหนดสมัย อยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๖ ดังกรณีเจ้าแม่วัดดุสิต หรือ หม่อมเจ้าหญิงอำไพ  ราชธิดาของ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซึ่งสมรสกับขุนนางผู้สืบตระกูลมาจากนายทหาร มอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา บุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  ผู้เป็น บรรพชนของพระปฐมบรมราชชนกในจักรีวงศ์ ทำให้ชาวมอญและชาวไทยมีความกลมกลืนใกล้ชิด ทั้งด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรม

ด้วยความที่ ชาวมอญ และชาวไทยมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน วัฒนธรรมประเพณีที่เข้ากันได้แบบแนบสนิท อีกทั้งความเจริญของบ้านเมือง และเทคโนโลยีสารสนเทศน์ ทำให้ชาวมอญพระประแดงทุกวันนี้ ถูกกลืนเป็นไทยเสียโดยมาก แต่ทว่ายังเป็นความโชคดี ที่คนกลุ่มหนึ่งมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี และภาษาของชาวมอญพระประแดงให้คงอยู่ รวมทั้งทางราชการก็ให้ความสนใจและส่งเสริม ในทุกวันนี้ เราจึงยังคงมีโอกาสได้ยินเสียงลูกหลานชาวพระประแดงท่องอักขระมอญ เห็นประเพณีสงกรานต์มอญพระประแดงที่ลือชื่อ เป็นงานใหญ่ระดับชาติ ที่คนมอญทั่วประเทศภาคภูมิใจ