ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี
สุภาภรณ์  จินดามณีโรจน์

มอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลอง เพราะภัยสงคราม การอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย ครั้งสำคัญ ๆ มี 8 ครั้ง คือ สมัยอยุธยา 5 ครั้ง สมัยกรุงธนบุรี 1 ครั้ง และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2 ครั้ง

ชาวมอญที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น มักจะได้รับการต้อนรับอย่างดี จากกษัตริย์ไทย และจะได้รับพระราชทานที่ดินที่เหมาะสมให้ตั้งหลักแหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามริมน้ำ โดยเฉพาะ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป และลำน้ำแม่กลอง

ชาวมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง จะตั้งถิ่นฐานมากเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธาราม เพราะ
1. เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐานและการคมนาคม จึงมีการอพยพของชาวมอญ ทั้งจากพม่าและจากลุ่มน้ำเจ้าพระยามาอยู่
2. บริเวณนี้ ใกล้เส้นทางอพยพทางด่านเจดีย์สามองค์มากที่สุด  และใกล้เมืองมอญมาก สะดวกต่อการกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมหรือไหว้เจดีย์ละเกิ้ง (ชะเวดากอง)

ฉะนั้นจะเห็นว่า มีการอพยพของชาวมอญหลายระลอก เข้ามาบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง บริเวณบ้านโป่ง-โพธาราม ตั้งแต่สมัยอยุธยา-ธนบุรี-กรุงเทพฯ มาสร้างชุมชนของตน เรียงรายเป็นระยะ โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อเดิมในเมืองมอญ เช่น วัดตาล วัดมะขาม วัดม่วง วัดนครชุมน์ และวัดคงคาราม เป็นต้น

จากข้อมูลที่กรมการศาสนารวบรวมทะเบียนวัด แสดงให้เห็นว่า วัดม่วง และวัดนครชุมน์ สร้างในสมัยอยุธยา วัดตาล วัดมะขามและวัดคงคาราม สร้างในสมัยกรุงธนบุรี  ถ้าเป็นจริง ชุมชนมอญบริเวณวัดม่วง (ต่อมาวัดตาล วัดมะขาม ) และฝั่งตรงข้ามคือวัดนครชุมน์ เจริญมาแต่สมัยอยุธยา และธนบุรี และกลุ่มมอญจำนวนมากอยู่ตอนนี้  และมอญแถววัดคงคารามเจริญสมัยกรุงธนบุรี และมีการขยายกลุ่มชาวมอญต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีการสร้างวัดบ้านหม้อ วัดป่าไผ่ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1  วัดไทรอารีรักษ์ ในรัชกาลที่ 2  และฝั่งตรงกันข้าม คือ วัดเกาะ ในรัชกาลที่ 3 วัดม่วงล่างในรัชกาลที่ 4

นอกจากนี้การอพยพของชาวมอญเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ ไทยได้จัดให้ชาวมอญจำนวนหนึ่ง กระจายอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่าตามตำบลต่าง ๆ ในแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พม่ายกผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ลงมาตีไทย โดยผ่านทางกาญจนบุรี ต่อมาทางการ ได้ยกตำบลหน้าด่านนั้นขึ้นเป็นเมืองรวม 7 เมืองเรียกว่า รามัญ 7 เมือง ได้แก่

1.เมืองสิงห์ (เดิมเจ้าเมืองยศเป็น พระ ครั้นในรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามผู้ครองเมืองว่า พระสมิงสิงหบุรินทร์
2. เมืองลุ่มสุ่ม พระนินนะภูมินบดี
3.เมืองท่าตะกั่ว พระชินดิษฐบดี
4. เมืองไทรโยค  พระนิโครธาภิโยค
5. เมืองท่าขนุน พระปันนัสสดิษฐบดี
6. เมืองทองผาภูมิ  พระเสลภูมิบดี
7. เมืองท่ากระดาน พระผลกะดิษฐบดี

เมืองเหล่านี้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย ยกเว้นเมืองท่ากระดานเพียงเมืองเดียว ที่ตั้งอยู่แม่น้ำแควใหญ่ใต้เมืองศรีสวัสดิ์ลงมา เมืองเหล่านี้ขึ้นตรงต่อเมืองกาญจนบุรี

เมืองรามัญ 7 เมืองนี้ มีหน้าที่ช่วยลาดตระเวน สืบข่าวการเคลือนไหวของพม่า ที่จะมาตีไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าเกิดสงครามจะช่วยเป็นเมืองหน้าด่านต้านพม่า เตรียมเสบียงอาหารและช่วยนำทาง

เนื่องจากภูมิประเทศของเมืองรามัญทั้ง 7 กันดาร เป็นป่าทึบและภูเขาสูงทำนาไร่ไม่ได้ผลอัตคัดมาก ราษฎรส่วนใหญ่จัดว่าขัดสน ผู้คนและเจ้าเมืองกรมการ จึงอพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ที่อุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณแถววัดคงคาราม ยกเว้นพระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้วัดนครชุมน์ ริมแม่น้ำแม่กลองเช่นกัน

การอพยพผู้คนและเจ้าเมืองทั้งหลาย ลงมาอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสมัยใด แต่คงเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาจจะในช่วงรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยค่อนข้างปลอด จากศึกพม่าเพราะถูกอังกฤษรุกและตีได้ใน พ.ศ. 2367 เจ้าเมืองรามัญทั้ง 7 จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ตามเมืองด่านเหล่านั้นต่อไป สามารถลงมาตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์กว่า แต่ยังมีหน้าที่ส่งกรมการขึ้นไปตรวจตราดูแล เป็นระยะ และเจ้าเมืองกรมการ ยังเดินทางไปรับเบี้ยหวัดเงินปีที่เมืองกาญจนบุรีเสมอ

คาดว่าเจ้าเมืองรามัญทั้ง 7 ได้อพยพลงมาและได้ปฏิสังขรณ์วัดคงคาราม(เภี้ยโต้) เป็นวัดกลางในสมัยรัชกาลที่ 2

จน กระทั่งใน พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศยกเลิก เมืองรามัญ 7 หัวเมือง ยุบเป็นหมู่บ้าน และอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดกาญจนบุรีมาจนทุกวันนี้
ประเพณีการเกิด “วัดกลาง” ขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ในข้อมูลของรามัญน้อย เล่าเรื่องบรรพบุรุษ คือ พระท่าขนุนหรือพญาท่าขนุนเฒ่า (ต้นตระกูลหลักคงคา) ได้ร่วมกับชาวมอญแถววัดคงคาราม บูรณะสร้างวัดคงคาราม เป็นวัดกลางในสมัยรัชกาลที่ 2 และเป็นผู้สร้างกุฏิเก้าห้องด้วย

วัดกลาง คือ วัดคงคาราม เป็นศูนย์รวมของพระมอญ ทุกวัดริมแม่น้ำแม่กลองทั้งสองฝั่งมาร่วมทำสังฆกรรมในวันเข้าและออกพรรษาทุก ปี และต่อมาได้ยกพระวัดมอญย่านบ้านโป่ง ขึ้นวัดใหญ่นครชุมน์แทน และพระวัดมอญโพธาราม ขึ้นวัดคงคารามในการทำสังฆกรรมวันเข้า-ออกพรรษาทุกปี ชาวบ้านเล่าว่า พระวัดมอญและจำนวนพระมอญเพิ่มขึ้น จึงแยกดังกล่าวสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทะเบียนวัดของกรมการศาสนาระบุว่า
วัดม่วงประกาศตั้งวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2223 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์)
วัดใหญ่นครชุมน์ ประกาศตั้งวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2294 (สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)

วัดมะขาม ประกาศตั้งวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2311 (สมัยกรุงธนบุรี)
วัดคงคาราม ประกาศตั้งวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2320 (สมัยกรุงธนบุรี)

ฉะนั้น วัดม่วง อาจจะเป็นวัดมอญที่เก่ากว่าวัดมอญอื่น ๆ ในบริเวณบ้านโป่ง-โพธาราม โดยมีอายุแก่กว่าวัดใหญ่นครชุมน์ 72 ปี และเก่ากว่าวัดคงคาราม 97 ปี
วัดใหญ่นครชุมน์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดม่วง ก็มีอายุแก่กว่าวัดคงคาราม 94 ปี

ถ้าข้อมูลทะเบียนวัดถูกต้องดังวิเคราะห์ข้างต้น ประเพณี “วัดกลาง” น่าจะเกิดบนพื้นฐานของวัดที่มีผู้นำรามัญ 7 หัวเมืองสนับสนุนวัดคงคาราม ในระยะแรก และขยายมาวัดใหญ่นครชุมน์ น่าจะเพราะมีเจ้าเมืองรามัญอีก 1 เมือง คือ เมืองทองผาภูมิอยู่และสนับสนุนวัดนี้ต่อมานั่นเอง

ประเด็นเรื่องอายุของวัด ทีสามารถสืบค้นถึงพัฒนาการชุมชนมอญ บริเวณวัดนั้น คงต้องศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัด  อันจะเป็นการคลี่คลายภาพประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ของชาวมอญแถบนี้ได้อย่างมีชีวิต และชัดเจนกว่านี้ หลักฐานจากท้องถิ่นที่จะหาคำตอบพิสูจน์ได้ถึงอายุวัด และชุมชนนั้นมีอยู่ทุกวัดมอญคือ “คัมภีร์ในใบลาน” ที่ชาวมอญนิยมสร้าง และจารเรื่องเกี่ยวกับศาสนาประเพณี วัฒนธรรม กฏหมายและอื่น ๆ ใบสุดท้ายมักระบุศักราช วัน เดือน ปี ที่จาร ผู้จาร และสร้างและสถานที่จาร เวลาที่จาร ส่วนท้าย จะสามารถสืบค้นอายุวัดและชุมชนได้ดังเช่นกรณีของวัดม่วง ดังจะได้กล่าวต่อไป

“บ้านม่วง” ชุมชนมอญอายุเก่าแก่กว่า 350 ปี
ความเป็นมาของ “บ้านม่วง” ชุมชนมอญฯ จากการบอกเล่าของชาวบ้านเชื่อกันว่า บรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพจากพม่า ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ. 2133-2148) โดยติดตามพระมหาเถระคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์มอญเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ริมแม่น้ำแม่กลอง ให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิม ในเมืองมอญว่า “บ้านม่วง” (กวานเกริก) และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านว่า “วัดม่วง” ต่อมา

ในทะเบียนวัดของกรมการศาสนา ได้ระบุว่า “วัดม่วงประกาศจัดตั้งเมือ พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199-2231)
แต่จากการค้นคว้าและอ่านคัมภีร์ใบลาน (อักษรมอญ) จำนวนมาก ที่มีในวัดม่วง พบว่าคัมภีร์ส่วนใหญ่ระบุจารที่วัดม่วง และระบุศักราชจารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงปัจจุบัน

คัมภีร์ใบลานที่จารเก่าที่สุด คือ คัมภีร์ใบลาน หมายเลข 320 เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระปริต (12 ตำนาน) ในตอนท้ายจารไว้ว่า
“…..ศักราช 1000 เดือน 6 แรม 5 ค่ำ วันศุกร์ จารเสร็จเมื่อตะวันบ่าย กระผมชื่อ อุตตมะจารไว้ในวัดม่วง”

“ศักราช 1000 “ นั้นเป็นจุลศักราช เมื่อเทียบเป็นพุทธศักราช จะเท่ากับ (1000+1181) พ.ศ. 2181 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198)  และหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรประมาณ 30 ปีเศษ
จึงอาจจะเป็นได้ว่า ชาวมอญรุ่นแรกของบ้านม่วง อาจจะอพยพมา ในราวสมัยพระเด็จพระนเรศวรจริง และใช้เวลาในการตั้งชุมชน และสร้างวัด และจารคัมภีร์ใบลานที่เก่าที่สุดในเวลาอีก 30 ปีเศษต่อมา

อย่างไรก็ตาม อายุของการจารคัมภีร์ใบลานผูกนี้ แสดงว่าในปี พ.ศ. 2131 สมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้มีวัดม่วงแล้ว และวัดม่วงมีอายุไม่ต่ำกว่า 354 ปี มาแล้วอย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่า ชุมชนมอญบ้านม่วง เป็นชุมชนที่เก่าแก่กว่า 354 ปีด้วย

ชาวมอญ ในบ้านม่วงก็เช่นเดียวกับชุมชนมอญอื่น ๆ  บริเวณฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จากบ้านโป่งโพธารามที่มาชาวมอญอพยพเข้ามาอีกหลายครั้ง นับแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งอพยพมาจากเมืองมอญโดยตรง และอพยพมาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ และจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณแม่น้ำแม่กลอง หนีภัยสงคราม มาหาเครือญาติเดียวกัน และการแต่งงานระหว่างกัน
“ชาวบ้านม่วง” ต่างเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ยังสามารถดำรงวัฒนธรรมเอกลักษณ์ ของชาวมอญอยู่ได้มาก

  • การค้าขายในหมู่บ้าน

มีชาวจีนเป็นพ่อค้าเร่ และพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าอุปโภคบริโภคมาแลกข้าวเสมอ  และต่อมาได้เปิดเป็นร้านขายของอยู่ริมน้ำใต้วัดม่วง 3-4 ร้าน ชาวบ้านม่วงมักนำ “ข้าว” และ “ปลา” ไปแลกอยู่บ่อย ๆ ชาวจีน 3-4 ครอบครัวนี้จึงฐานะดี เคยมีเรือโยงบรรทุกข้าวหลายลำ จอดริมแม่น้ำหน้าบ้าน ไว้บรรทุกข้าวไปขายกรุงเทพฯ ในฤดูเกี่ยวข้าว

นอกจากนี้ชาวบ้านม่วงยังมี “นัด” ไว้พบปะแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนอื่น ๆ ในอดีตเริ่มแรก มีนัดบริเวณหาดทรายท่าน้ำวัดม่วง (ใต้เจดีย์วัดม่วง) ในทุกวันขึ้น 12 ค่ำ และแรม 12 ค่ำ เดือนละ 2 ครั้ง หรืออาจจะข้ามฟาก ไปนัดบริเวณหาดทรายหน้าบ้านกำนันนครชุมน์ (ใต้วัดนครชุมน์) ซึ่งนัดคนละเวลา

ชาวบ้านวัดม่วงจะนำ “ข้าว” หรือ “ผัก” เหลือกินเหลือใช้ไปแลกสินค้าอื่น ที่ต้องการที่นัด “นัด” นั้นมักจะกระเดียดไป 2 กระบุงเป็นกระบุงใหญ่ 1 ลูกไว้ใส่ข้าว อีกกระบุงนั้น จะเล็กไว้ใช้แบ่งข้าวจากกระบุงใหญ่ ไปแลกสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าชุมชนอื่น ที่นำสินค้าจากตลาดบ้านโป่ง-โพธารามมา หรือชาวสวนจากหมู่บ้านอื่น ๆ นำผลไม้ ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้านำเกลือ กะปิ น้ำตาลจากสมุทรสงครามมาแลกข้าว มาทางเรือเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามชาวบ้านม่วงมักเป็นผู้ซื้อถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ต่อมานัดบริเวณหาดได้ยกเลิกไป เพราะมีเรือดูดทรายมาดูดทราย ทำให้หายสวยงามลาดยาวหมดไป แม่น้ำแม่กลองลึกลงไปยิ่งขึ้น และตลิ่งทั้งสองฝั่งพังทลายลงไป
นัดของชาวบ้านม่วงจึงย้ายอยู่ที่บ้านกำนัน  บ้านกำนันคนที่ 4 แห่งบ้านม่วงไม่นานนักกำนัน ได้ยกนัดให้ไปอยู่บริเวณวัดบัวงาม นัดที่วัดบัวงามนี้ได้เลิกไปกว่า 30 ปีแล้ว เพราะผู้คนในหมู่บ้านเริ่มเดินทางไปทำงานต่างถิ่น การทำนาในหมู่บ้านไม่ค่อยได้กำไร บางปีขาดทุนและการคมนาคมไปตลาดบ้านโป่งสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม 6 ปีมาแล้ว ที่ชาวบ้านม่วงหันกลับมาจัดนัดใหม่ เป็นนัดกลางหมู่บ้าน บริเวณศาลกลางบ้าน เดือนละ 4 ครั้ง (แรม 1 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ) เป็นนัดที่แตกต่างจากอดีต เพราะใช้ “เงิน” ในการซื้อขาย สินค้าส่วนใหญ่มาจากตลาดบ้านโป่งและชาวบ้านม่วงเป็นผู้ซื้อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ปัจจุบัน การคมนาคมภายในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านอื่น ๆ และกับตลาดโพธารามจะดีขึ้นมาก สะดวกรวดเร็ว มีถนนและสพานเชื่อมข้ามแม่น้ำไปตลาดบ้านโป่ง นัดกลางหมู่บ้านก็ยังจำเป็น เพราะเศรษฐกิจของชาวบ้านม่วงภายหลัง ไม่อาจดำรงในลักษณะแบบพอยังชีพได้อีกต่อไป ชาวบ้านพึ่งพาสินค้าภายนอกมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้ระบบเงินตรา วิถีชีวิตชาวบ้านยังคงพึ่งพาการทำนาที่ต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีปลาและผักหญ้าให้จับเก็บบริโภคได้ดีเท่าสมัยก่อน  ชาวบ้าน จึงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำลายสิ่งแวดล้อมภายนอกหมู่บ้าน ที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน ท่ามกลางระบบทุนนิยมจากภายนอก กำลังทำลายโครงสร้างสังคม และเศรษฐกิจหมู่บ้านแบบเดิมให้แตกสลาย ชาวบ้านม่วงผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังอยู่ในหมู่บ้าน และต่างยังพยายามยื้อวัฒนธรรมวิถีชีวิตเก่า ๆ อยู่ โดยการยึดถือความเชื่อเรื่องผี และเคร่งครัดในพุทธศาสนาสืบเนื่องมา

  • การนับถือผี

สมาชิกในครอบครัว จะได้รับการสอนให้รู้จัก และนับถือผีบรรพบุรุษประจำตระกูลของตน  ทุกครอบครัว มักกำหนดให้ลูกชายคนโตเป็น “ต้นผี” หรือ “ผู้รับผี” ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดการเลี้ยง และการทำพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสิริมงคล โชคดี และความสุขในครอบครัว ญาติพี่น้องที่อยู่ไกล ๆ  หรือใกล้จะต้องกลับมาร่วมประกอบพิธี
เราจะเห็นได้ว่าการสร้างบ้านนั้น ทุกหลังคาเรือนให้ความสำคัญกับ “เสาเอก” ของบ้าน จะถือเป็นเสาหลัก เป็นเสาที่นับถือที่สุด เพราะเป็นที่ไว้ผีบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ทวด

  • ศาสนา

ถึงชาวบ้านม่วงจะนับถือผี  พิธีกรรมความเชื่อในเรื่องผีมาก จนคนไทยแถวตำบลบ้านกล้วยมักกล่าวว่า ไม่กล้าแต่งงานด้วย เพราะ “กลัวผีมอญ” นั้น  ชาวบ้านม่วงยังนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด สะท้อนให้เห็นจากวิถีชีวิตประจำวัน พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตและพิธีกรรมในรอบปี

ตลอดชีวิตของชาวมอญบ้าน ม่วงนั้น เกี่ยวข้องกับวัดตลอด ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยเฉพาะท่านเจ้าอาวาส มีบทบาททางด้านผู้นำทางจิตใจ การศึกษาและการพัฒนาชุมชน

ในสมัยก่อน พ่อแม่จะพาลูกไปทำบุญที่วัดเสมอ และเด็กชายทุกคนจะส่งไปอยู่ประจำที่วัด เพื่อเล่าเรียนหนังสือมอญ โดยมีพระเป็นครู สอนการเขียนการอ่านภาษามอญ เด็กเหล่านั้น จะช่วยงานวัดด้วย เมื่อเรียนจบแล้วถึงบวช ก็จะบวชเรียนอีกอย่างน้อย 3 พรรษา ชาวบ้านจะเรียกคนที่เล่าเรียน หรือบวชเรียนมาแล้วว่า “คนได้หนังสือมอญ” ภาษามอญทั้งเขียน-พูด-อ่าน แม้การสวดของพระในวัดม่วง ก็ยังเป็นภาษามอญอยู่จนบัดนี้ ถึงแม้ชาวมอญและพระมอญในหมู่บ้านอื่น จะเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทย และภาษาบาลีกันหมดแล้วก็ตาม

เด็กหญิงมอญบ้านม่วง เริ่มมีโอกาสเรียนหนังสือ แต่เป็นการเรียนหนังสือไทย เมื่อทางจังหวัดราชบุรี ชาวบ้านม่วง และหลวงปู่เข็ม (พระครูศรีสวัสดิ์) เจ้าอาวาสวัดม่วงในขณะนั้น ได้สร้างอาคารเรียนหลังแรกในวัด พ.ศ. 2456 ให้ลูกหลานชาวบ้านได้ศึกษา และต่อมาได้เปิดโรงเรียนเป็นทางการ ใน พ.ศ. 2480 ชื่อโรงเรียนวัดม่วง (ศรี ประชา)

สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเคารพนับถือมาก ในวัดม่วงของชาวบ้านคือเจดีย์หน้าวัด ชาวมอญแต่ก่อนเดินผ่านจะต้องกราบ เพราะต่างเชื่อว่า เจดีย์นี้มีมานานแล้ว และมีปาฏิหาริย์หนีน้ำเซาะตะลิ่งพัง ด้วย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดม่วง ในงานลอยกระทงจะไหว้ และจุดไฟน้ำมันที่เจดีย์ ในวันมาฆบูชาจะมีพิธีไหว้เจดีย์ และในวันสงกรานต์จะเอาน้ำอบไปพรม

ประเพณีงานบุญใหญ่ทางพุทธศาสนา ของชาวบ้านม่วง ได้แก่ ประเพณีวันมาฆบูชา ประเพณีวันเข้าพรรษา และออกพรรษา เทศกาลเทศน์มหาชาติ ประเพณีสงกรานต์ และประเพณีลอยกระทง  ทำให้ชาวบ้านมีการรวมกลุ่ม และผูกพันเคร่งครัดในพุทธศาสนา ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนแปลง การคมนาคมทางบกสะดวกขึ้นในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนชาวบ้านม่วงรุ่นใหม่ เดินทางออกศึกษาทำงานที่อื่นมากขึ้น จึงเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้มีอายุอยู่   คนรุ่นใหม่จึงผูกพันเคร่งครัดในพุทธศาสนาน้อยลง แต่เมื่อการไหว้ผีบรรพบุรุษ หรืองานบุญ เป็นประเพณีที่ลูกหลาน ต้องกลับไปร่วมด้วยเสมอ

อย่างไรก็ตาม การที่ชาวมอญบ้านม่วงนับถือผี และเคร่งครัดในพุทธศาสนา ทำให้ชาวบ้านม่วงอยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ ในการทำงานให้ชุมชนและวัด ทำให้วัฒนธรรมเดิม ยังดำรงอยู่ได้  และยังมีพลังในการรักษาชุมชนหมู่บ้าน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายนอก ที่กำลังท้าทายการเปลี่ยนแปลงภาย ในหมู่บ้านม่วง