ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญสามโคก จ.ปทุมธานี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญสามโคก จ.ปทุมธานี
วีรวัฒน์  วงศ์ศุภไทย

มอญสามโคก

สามโคกมีชื่อปรากฏอยู่ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายฉบับ ที่กล่าวถึงการอพยพชาวมอญเข้ามาอยู่ที่สามโคก ในปี พ.ศ. ๒๒๐๓  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ชาวมอญเมืองเมาะตะมะ ได้อพยพครัวเรือนหนีภัยสงครามเข้ามาประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ที่บ้านสามโคก นับเป็นครั้งแรกที่ชาวมอญได้เข้ามาตั้งบ้านเรือน

บ้านสามโคกจากบันทึก ของฝรั่งต่างชาต ิที่เข้ามาค้าขาย ยังปรากฏในแผนที่แสดงเส้นทางแม่น้ำ จากทะเลอ่าวไทยถึงกรุงศรีอยุธยาซึ่งเขียนโดย “มองซิเออร์ เดอร์ รามา” ได้บันทึกชื่อหมู่บ้านในสมัยอยุธยาที่ทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแผ่นที่ชาวฮอลันดา เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๓๒๖  ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๖๙  ได้เขียนภาพสัญลักษณ์ เป็นรูปภาพประกอบ ในแผนที่ เช่น ภาพบ้านเรือน วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ วัง กำแพงเมือง ป้อมค่ายคูเมือง ป่าไม้ ภูเขา ซึ่งทำให้เราได้ทราบที่ตั้งชุมชนหมู่บ้านวัดวาอารามต่าง ๆ  ที่สำคัญ ในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลักฐานในหลายส่วน ไม่อาจหาได้จากพงศาวดาร ซึ่งมีการจดบันทึกไว้เพียงเล็กน้อย  บ้านสามโคก ได้ถูกบันทึกไว้ ในแผ่นที่ฉบับนี้ เป็นภาพวาดหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คุ้งน้ำฝั่งตะวันตก โดยมีคำบรรยายในหมายเลขกำกับที่มุมว่า “Potte – Bakkers Drop” หมายถึงหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา หรือ “หมู่บ้านปั้นหม้อ”  ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของบ้านสามโคกว่า หมู่บ้านนี้ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย มีการก่อตั้งโคกเนิน เพื่อสร้างเผาเตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสามโคก แต่ละโคกก็มีการก่อเตาเรียงคู่ขนานสลับซับซ้อนกันอยู่ ประมาณว่า ทั้งสามโคกมีเตารวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ เตา จากหลักฐานขุดค้นศึกษาทางโบราณคด ีโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่ จ. สุพรรณบุรี  กรมศิลปากร ร่วมกบองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และองค์บริหารส่วนตำบลสามโคก เข้าดำเนินงานขุดแต่งจนแล้วเสร็จ ในเดือนมีนาคม พ.ศ ๒๕๔๓  ในบริเวณเนินโคกเตาเผาที่ ๑  พบซากเตาเผาปรากฏอยู่ ๔ เตาเรียงซ้อนกันอยู่ ในเนินเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่พบในเตาบ้านสามโคก เป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปในครัวเรือน เช่น ตุ่มอีเลิ้ง อ่าง ครก กระปุก โถ หม้อน้ำ หวดนึ่งข้าว เตา ชาม ตะคัน ท่อน้ำภาชนะบางส่วน มีการตกแต่งด้วยลวดลายขูดขีด หรือลายกดประทับเป็นลายดอกพิกุล ลายดอกไม้กลีบบัว ลายกระจัง ลายจักร บางชิ้นมีจารึกข้อความเป็นภาษามอญ ซึ่งยังแปลความหมายยังไม่ได้ บางชิ้นมีจารึกข้อความเป็นภาษาไทย อ่านความว่า “หนังสือออกหลวง” แหล่งเตาเผาที่บ้านสามโคก นับเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ ในสมัยอยุธยาตอนล่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปทุกครัวเรือน โดยเฉพาะ “ตุ่มอีเลิ้ง” ซึ่งเป็นตุ่มดินสีแดงไม่เคลือบ ปากเล็กก้นลึก กลางป่อง ซึ่งต่อมาเรียกตามชื่อแหล่งผลิตว่า “ตุ่มสามโคก” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ของชาวมอญที่บ้านสามโคก

บ้านสามโคก หมู่บ้าน ชาวมอญ สมัยอยุธยา

บ้านสามโคกในปัจจุบันคือ ตำบลสามโคก เป็นตำบลหนึ่งใน ๑๑ ตำบล ของอำเภอสามโคก ตั้งอยู่ริมคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก พื้นที่สามโคก มีระยะทางตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒ กิโลเมตร มีวัด ๙ วัด แต่ละวัดมีระยะทางห่างกันระหว่างวัด โดยประมาณไม่เกิน ๓๐๐ เมตร  ได้แก่ วัดตำหนัก วัดสะแก วัดสามโคก วัดสิงห์ วัดช่องลม วัดแจ้งนอก วัดแจ้งใน วัดป่าฝ้าย วัดไก่เตี้ย มีลำคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ชุมชนและวัด ๙ สาย มีคลองวัดตำหนัก คลองวัดสะแก คลองเกาะปิ้น คลองบ้านทาส คลองวัดสิงห์ คลองวัดแจ้ง คลองขนอน คลองวัดป่าฝ้าย  ลักษณะพิเศษของชุมชนและวัดสมัยอยุธยาของบ้านสามโคกมักจะก่อตั้งลึกเข้ามาจาก แม่น้ำเจ้าพระยา จากบันทึกของฝรั่งต่างชาติในแผ่นที่ เช่น บ้านบางหลวง (Ban bouang)  บ้านเตร็จใหญ่ (Ban TretYai) บ้านเหนือ (Ban Niou) บ้านพร้าว (Ban Clas) บ้านสมัคร (Ban Seumac) บ้านกร่าง (Ban Tran)

ชื่อ บ้านเรือนที่ฝรั่งต่างชาติบันทึกไว้ ในแผ่นทีริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเมืองสามโคก ในสมัยอยุธยา มาถึงปัจจุบันนี้บางชื่อเปลี่ยนไป เช่น  บ้านเตร็จใหญ่  เป็น บ้านใหม่   บ้านปากเตร็จใหญ่ เป็น บ้านกระแซง  บ้านเหนือ เป็น ปทุม


สามโคก

 ศิลปกรรมแบบ มอญ ที่บ้านสามโคก
มี ข้อน่าสังเกต ในเรื่องศิลปกรรมของชุมชนมอญ ที่บ้านสามโคกในสมัยอยุธยา ไม่ค่อยมีเอกลักษณ์เด่นชัดทางศิลปกรรม ในทางพระพุทธศาสนามากนัก ในเรื่องของพระพุทธรูป เจดีย์ สิ่งก่อสร้างจะมีปรากฏ ในเรื่องของพระพุทธรูป ในลักษณะพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ประกอบด้วย พระกกุสันโธ พระโคนาคม พระกัสสปะ และโคดม  ส่วนเจดีย์ไม่ปรากฏรูปแบบเจดีย์มอญเลย ที่บ้านสามโคกวัดทั้ง ๙ วัด มีเจดีย์แบบลังกา และย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนพระพุทธรูป ซึ่งพบจำนวนมากตามวัดต่าง ๆ มีพระพุทธรูปศิลาจำหลัก พระพุทธรูปปูนปั้น พระบูชาปางต่าง ๆ หล่อด้วยโลหะ และปั้นด้วยดินเผา ปิดทองลงรัก บนฐานดินเผา ที่ตกแต่งด้วยลวดลายสวยงามปิดทองร่องกระจก และประเภทพระเครื่อง ที่บรรจุตามกรุในเจดีย์วัดต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่พบศิลปแบบมอญ แต่เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านสามโคก จะมีรูปลักษณืที่เป็นสื่อบ่งบอกได้ชัดเจนว่า เป็นศิลปแบบมอญและมอญเป็นผู้ผลิต เช่น ตุ่มใส่น้ำที่ผลิด ก็เรียกเป็นภาษามอญว่า “ตุ่มอีเลิ้ง” หม้อน้ำแบบมอญ หม้อกลีบมะเฟือง หม้อน้ำก้นกลม ศิลปแบบมอญกลับมาปรากฏเด่นชัด ตามวัดต่าง ๆ ในยุคหลัง คือสมัยรัตนโกสินทร์ วัดมอญมีเอกลักษณ์ และองค์ประกอบที่ชัดเจน เช่น มีเจดีย์แบบมอญ มีเสาหงส์ธงตะขาบอยู่ ในชุมชนหมู่บ้านของชาวมอญ เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากรูปแบบการปกครองที่ต่างกัน ในสมัยอยุธยาที่ปกครองแบบเทวราช สังคมระบบศักดินา ที่เข็มงวดระบบเจ้าขุนมูลนาย ราษฎร ไม่มีสิทธิจะคิดทำ หรือเรียกร้องอะไรได้มากนัก มักจะเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้านายมากกว่า

เศรษฐกิจบ้านสามโคก
ชุมชน มอญ ที่บ้านสามโคก เป็นชุมชนที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา และอิฐมอญออกจำหน่าย เครื่องปั้นดินเผา เป็นของจำเป็นต้องใช้กันทุกครัวเรือน เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ส่วนอิฐนั้น เป็นที่ต้องการของทางการ ในการสร้างบ้านแปงเมือง และก่อสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เศรษฐกิจของบ้านสามโคก ในสมัยอยุธยาอยู่ ในลักษณะเศรษฐกิจในครัวเรือน มีรายได้แน่นอน ต่างกับเศรษฐกิจแบบเกษตรทำนาต้องคอยน้ำคอยฝน ภัยแล้ง น้ำท่วม ไม่แน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจบ้านสามโคกดี จึงมีการปลูกสร้างวัดขึ้น ในชุมชนบ้านสามโคก เป็นจำนวนมาก ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในโบสถ์วิหารเจดีย์ จึงเต็มไปด้วยพระพุทธรูป

ชื่อบ้านเรือนและวัดในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มเปลี่ยนไปจากสมัยอยุธยา  ในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมอญอพยพหนีพม่าเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ไปสร้างบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก และครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอีก โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ชาวมอญที่เข้ามารุ่นหลังนี้เรียกว่า “มอญใหม่” ได้ก่อตั้งบ้านเรือน กระจัดกระจายออกจากบ้านสามโคกอยู่ทั่วไปสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน ชื่อบ้านเรือนวัดวาอาราม เริ่มปรากฏเป็นภาษามอญ โดยตั้งชื่อหมู่บ้านและวัด ให้เหมือนกับชี่อหมู่บ้านในเมืองเดิมของตน เพื่อให้ผู้อพยพมาได้รวมเป็นพวกเดียวกัน ไม่พลัดหลง เช่น บ้านเวียงจาม  อยู่ในเขตตำบลท้ายเกาะใหญ่ แปลว่า จรเข้ชุม  เป็นหมู่บ้านมอญอยู่ติดกับเมืองเยร์    บ้านเมตารางค์ อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อยเป็นชื่อแม่น้ำ บีฮะตางค์ ในเมืองเมาะตะมะ   บ้านเดิง อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อย เป็นชือเมืองอยู่ติดกับเมืองมะละแหม่ง แปลว่า  บ้านเมืองเก่า    เพี้ยปราน วัดศาลาแดง เป็นชื่อวัดและหมู่บ้านใหญ่ อยู่ติดกับเมืองเมาะตะมะ อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อย  เพี้ยเต้อ  วัดสองพี่น้อง อยู่ในเขตตำบลบ้านงิ้ว เป็นชื่อหมู่บ้านใหญ่ อยู่ติดกับเมืองเมาะตะมะ  เพี้ยเกริ้ก วัดสวนมะม่วง อยู่ในเขตตำบลบ้านงิ้ว เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ติดเมืองเมาะตะมะ   วัดเมี่ยง แปลว่า รอคอย เป็นหมู่บ้านอยู่ในเมืองมะละแหม่ง วัดเปิ้ง แปลว่า ใบพงที่ใช้ห่อข้าวต้มลูกโยนอยู่ในเกาะคะมานร์ เกาะใหญ่ในอ่าวเมาะตะมะ   เกาะปิ่น ชื่อเดิมของวัดสามโคก และเป็นชื่อคลอง เป็นชื่อบ้านเมืองมอญ ในเกาะคะมานร์ หมู่บ้านใหญ่ เป็นศูนย์เรียนภาษามอญ  มุ๊ร์เดิง วัดเจดีย์ทอง เป็นชื่อเมืองมอญเมืองมุ๊ร์เดิง และเป็นชื่อเจดีย์องค์ใหญ่รูปร่างแบบเจดีย์วัดเจดีย์ทอง  บ้านตองเปาะ เป็นชื่อหมู่บ้านในเขตตำบลสามโคก เป็นชื่อหมู่บ้านมอญในเมืองมุ๊ร์เดิง เรียกว่า บ้านทองเปราะ   วัดสำแล เป็นชื่อวัดสัมแลในเมืองมะละแหม่ง อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี  บางปะร๊อก เป็นชื่อหมู่บ้าน กวานฮะเรี๊ยะฮะร๊อก แปลว่า หมู่บ้านอ่างปลาร้าอยู่ในเมืองมุ๊ร์เดิง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี  วัดสังลาน เป็นชื่อมาจากเจดีย์มอญศักดิ์สิทธิ์ มีคนเคารพมาก ชาวมอญเรียกว่า จย๊าจสังลา อยู่ในเมืองมะละแหม่ง อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี วัดเกริน เป็นชื่อหมู่บ้านในเมือง สะปิ๊ก เป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ในเขตเมืองปทุมธานี  วัดเกรนา เรียกผิดเป็นบ้านไกลนา เป็นหมู่บ้านใหญ่ในเมืองมะละแหม่ง อยู่ในเขตเมืองมอญ  บางตะไนย์ เขียนผิดมาจากภาษามอญว่า บางคะนาย แปลว่า ต้นข่อย ไม่มีชื่อในเมืองมอญ อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี  บางกะดี เป็นชื่อหมู่บ้าน ย็อกคะดี  หมู่บ้านเล็ก ๆในเมืองเยร์ อยู่ในเขตเมืองปทุมธานี

ชื่อหมู่บ้าน ที่ชาวมอญรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านใหญ่ ๆ ในเขตอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบันนี้ มีทั้งหมด ๑๕ หมู่บ้าน ได้แก่ ท้ายเกาะใหญ่ เมตารางค์ วัดพลับ ศาลาแดง เจดีย์ทอง บ้านเดิง บ้านกลาง บ้านอำพุ บ้านโพธิ์ บ้านท้องคุ้ง สวนมะม่วง สามเรือน บ้านตากแดด บ้านสามโคก บ้านกระแซง  ชื่อหมู่บ้านนามเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัย ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเหตุการณ์ เช่น การอพยพเคลื่อนย้ายหนีภัยสงคราม  ทิ้งบ้านเรือนกลายเป็นบ้านร้างเมืองลืม ยุคสมัยต่อมา มีการอพยพผู้คนเข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง  ชื่อบ้านชื่อเมืองก็เปลี่ยนไป ชื่อบ้านเมืองใหม่ ก็เกิดขึ้นบนรากฐานบ้านเมืองเดิม  และเป็นเรื่องยาก ที่จะสืบค้นหาประวัติความเป็นมา ถ้าหากขาดหลักฐานการบันทึก หลักฐานคำบอกเล่า ตำนาน หรือโบราณสถาน โบราณวัตถุ เมืองสามโคกในอดีตก็ถูกรื้อทำลาย โบสถ์วิหารเจดีย์ เพื่อนำอิฐไปขายังกรุงเทพฯ เพื่อสร้างบ้านเมืองวัดวาอารามอย่างรีบเร่ง วัดวาอารามสองฝากฟั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นวัดสมัยอยุธยา ที่กลายเป็นวัดร้างถูกรื้อลงเป็นอันมาก ว่ากันว่า เรือส่งขายอิฐเมืองปทุมธานี มีมากเป็นอันดับหนึ่ง  ครั้งหลังสุดเมื่อสร้างสนามบินดอนเมือง ทางการประกาศรับซื้อรับแลกอิฐกับข้าวสาร อิฐโบราณสถานวัดวาอารามต่าง ๆ ที่เมืองสามโคก ก็ถูกรื้อลงไปขายเป็นครั้งสุดท้าย แม้แต่อิฐหักตามท่าควายของหมู่บ้าน ยังถูกขุดถูกงมไปขายแก่ทางการ

บ้านสามโคกจากชุมชนมอญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยอยุธยา กลายมาเป็นเมือง
สามโคก และเปลี่ยนแปลง เป็นเมืองปทุมธานี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันคือ จังหวัดปทุมธานี  บ้านสามโคกปัจจุบัน เป็นตำบลหนึ่ง ในเขตปกครองของอำเภอสามโคก มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่า แก่การเรียนรู้ทั้งเตาเผา ตุ่มอีเลิ้ง โบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งตามวัดต่าง ๆ ที่เปิดรับ สำหรับนักท่องเที่ยวอผู้มาเยือนเสมอ