วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

 

การรักษาโรคด้วยความเชื่อไสยศาสตร์

ม้งมี ความเชื่อว่าพิธีไสยศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและทำการ รักษาได้ผล เพราะความเจ็บป่วย ทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผลมาจากการผิดผี ทำให้ผีเดือดดาลมาแก้แค้นลงโทษให้เจ็บป่วย จึงต้องใช้วิธีจัดการกับผีให้คนไข้หายจากโรค หากว่าคนทรงเจ้ารายงานว่าคนไข้ที่ล้มป่วยเพราะขวัญหนี ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับเข้าสู่ร่างของบุคคลนั้น แต่การที่จะเรียกขวัญกลับมานั้น จะต้องมีพิธีกรรมในการปฎิบัติมากมาย บางครั้งบางพิธีกรรมก็มีความยุ่งยากในการปฎิบัติ แต่ม้งก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเหล่านั้น ม้งเชื่อว่าการที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน นั่นคือความสุขอันยิ่งใหญ่ของม้ง ฉะนั้นม้งจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อเป็นการรักษาให้หาย จากโรคเหล่านั้น ซึ่งพิธีกรรมในการรักษาโรคของม้งนั้นมีอยู่หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็รักษาโรคแต่ละโรค แตกต่างกันออกไป การที่จะทำพิธีกรรมการรักษาได้นั้นต้องดูอาการของผู้ป่วยว่าอาการเป็นเช่นไร แล้วจึงจะเลือกวิธีการรักษาโดยวิธีใดถึงจะถูกต้อง

1. การทำผี หรือการลงผี (การอั๊วเน้ง)


เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การอั๊วเน้ง (การทำผีหรือลงผี ) การอั๊วเน้งนั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ การอั๊วเน้งข่อยชั๊วะ การอั๊วเน้งเกร่ทั่ง การอั๊วเน้งไซใย่ ซึ่งการอั๊วเน้งแตกต่างกันออกไป การรักษาก็แตกต่างกันไปด้วย การจะอั๊วเน้งได้เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุเป็น การรักษาอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้นม้งมักจะนิยมอั๊วเน้งเพื่อการเรียก ขวัญที่หายไปหรือมีผีพาไปให้กลับคืนมาเท่านั้น ซึ่งม้งเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากขวัญที่อยู่ในตัวหายไป

มีวิธีการรักษาดังนี้
เวลาอั๊วเน้งหรือทำผีนั้น คนที่เป็นพ่อหมอจะเริ่มไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วร่ายเวทมนต์คาถาต่าง ๆ พร้อมกับติดต่อ สื่อสารกับผีแล้วไปคลี่คลายเรื่องราวต่าง ๆ กับผี ถ้าคลี่คลายได้แล้วจะมีการฆ่าหมู แต่ก่อนจะฆ่าหมูนั้น จะต้องให้คนไข้ไปนั่งอยู่ข้างหลังพ่อหมอ แล้วผูกข้อมือ จากนั้นนำหมูมาไว้ข้างหลังคนไข้ แล้วพ่อหมอจะสั่งให้ฆ่าหมู การที่จะฆ่าหมูได้นั้นจะต้องมีคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อหมอ และสามารถฟังเรื่องราวของการอั๊วเน้งได้ รู้ว่าตอนนี้พ่อหมอต้องการอะไร หรือสั่งให้ทำอะไร เมื่อพ่อหมอสั่งลงมา คนที่เป็นตัวแทนต้องบอกกับคนในครอบครัว ให้ทำตามคำบอกกล่าวของพ่อหมอ เมื่อสั่งให้ห่าหมูก็ต้องนำหมูมาฆ่าแล้วจะนำกัวะมาจุมกับเลือดหมู พร้อมกับมาปะที่หลังคนไข้ แล้วพ่อ หมอจะเป่าเวทมนต์ให้ จากนั้นจะนำกัวะไปจุมเลือดหมู เพื่อไปเซ่นไหว้ที่ผนังที่เป็นที่รวมของของบูชาเหล่านั้น

2.การรักษาคนตกใจ (การไซ่เจง)

เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การไซ่เจงจะ กระทำเมื่อมีคนป่วยที่ตัวเย็น เท้าเย็น ใบหูเย็น มือเย็น ซึ่งม้งเชื่อว่าการที่เท้าเย็น มือเย็น หรือตัวเย็น เกิดจากขวัญในตัวคนได้หล่นหายไป หรือไปทำให้ผีกลัว แล้วผีก็แกล้งทำให้บุคคลนั้นไม่สบาย
มีวิธีการรักษาดังนี้
พ่อหมอจะนำเอาขิงมานวดตามเส้นประสาท ได้แก่ บริเวณปลายจมูกตรงไปที่หน้าผาก นวดแล้วย้อนกลับไปที่ใบหู แล้ว นวดบริเวณหน้าผากไปที่ใบหูซ้ำ 3 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนเป็นการนวดที่เส้นประสาทมือ คือจะนวดที่ ปลายนิ้วมือไล่ไปที่ข้อมือทำซ้ำทุกนิ้วมือ แล้วรวมกันที่ข้อมือนวด และหมุนรอบที่ข้อมือ ซึ่งขณะนวดต้องเป่าคาถาด้วย และบริเวณฝ่าเท้าให้นวดเหมือนกัน ต้องทำซ้ำกัน 3 ครั้ง ซึ่งการรักษาไซ่เจงนี้จะทำการรักษา 3 วัน เมื่อเสร็จจากการรักษาแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็หาวิธีอื่น ๆ มารักษาต่อ เช่น อั๊วเน้งหรือการฮูปรี เป็นต้น


3. การรักษาด้วยการเป่าด้วยน้ำ (การเช้อแด้ะ)

เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การเช้อแด้ะจะเป็นการกระทำเมื่อมีคนในครอบครัวที่ป่วยร้องไห้ไม่หยุด และตกใจมากเป็นพิเศษ โดยไม่รู้สาเหตุ หรือเหมือนว่าคนป่วยเห็นอะไรสักอย่างที่ทำให้เขากลัวมากมีวิธีการรักษาดังนี้
คนที่เป็นพ่อหมอหรือแม่หมอ จะให้คนป่วยอาการดังกล่าวไปนั่งใกล้กับกองไฟหรือเตาไฟ แล้วเอาถ้วยหนึ่งใบ ใส่น้ำให้เรียบร้อยมาตั้งไว้ข้าง ๆ พ่อหมอหรือแม่หมอ คือ ผู้ที่จะทำการรักษาจะใช้ตะเกียบคู่หนึ่งหนีบก้อนถ่าน ที่กำลังรุกไหม้เป็นสีแดงขึ้นมา แล้วเป่าก้อนถ่าน จากนั้นเริ่มท่องคาถา แล้วนำก้อนถ่านก้อนนั้นไปวนบนหัวของคนป่วย ขณะวนนั้นก็สวดคาถาด้วย เมื่อวนเสร็จก็จะเอาก้อนถ่านก้อนนั้นไปใส่ในถ้วยที่เตรียมไว้ พร้อมกับปิดฝาด้วย ให้ทำซ้ำกันแบบนี้สามรอบเมื่อ เสร็จแล้วจับมือคนป่วยขึ้นมาเป่าพร้อมท่องคาถา เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จะเอามือชุบน้ำที่อยู่ในถ้วยขึ้นมาลูบหน้าของคนป่วย หรือลูบแขนคนป่วย เมื่อทำเสร็จแล้วอาการของคนป่วยจะทุเลาลง ม้งจะนำวิธีรักษานี้มาใช้ในการรักษาคนไข้ที่ตกใจมาก และปัจจุบันนี้ม้งก็ยังคงยึดถือ และปฏิบัติกันอยู่ แต่ก็มีบ้างที่อาการหนักมากจนไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ แล้วจึงจะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

5. การปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป (การหรือซู้ )

เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งของม้งที่จะปฏิบัติในช่วงขึ้นปีใหม่เท่านั้น คือในหนึ่งรอบปีที่ผ่านมาครอบครัวจะเจอสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นจึงมีการหรือซู้เพื่อ ปัดเป่า หรือกวาดสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน และตัวบุคคล หรือเป็นการปัดเป่า กวาดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวบุคคล หรือออกจากบ้านให้หมด เพื่อที่จะรับ ปีใหม่ที่เข้ามา และต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่กำลังจะมาในปีถัดไป พิธีกรรมนี้ม้งจะทำทุกปี และคนในครอบครัวต้องอยู่ให้ครบทุกคน ไม่ให้ขาดคนใดคนหนึ่ง (แต่หากว่าคนในครอบครัวนั้น เกิดไปทำงานต่างจังหวัดและไม่สามารถที่จะกลับมาร่วมพิธีกรรมนี้ได้ ผู้ปกครองของครอบครัวต้องนำเสื้อผ้าของคน ที่ไม่อยู่มาร่วมพิธีกรรมให้ได้ หากไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ ม้งเชื่อว่า สิ่งที่ไม่ดีจะติดตัวไปยังปีถัด ๆ ไป และทำอะไรก็ไม่เจริญ )6.หมูประตูผี (อัวะบั๊วจ๋อง )
เป็นพิธีกรรมที่ม้งกระทำเพื่อรักษาคนทั้งหมดในบ้านหลังนั้นให้ ปราศจากโรคภัยโดยมีวิธีการรักษา ดังนี้ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมหมูประตูนั้นจะทำในตอนกลางคืนเท่านั้น อันดับแรกคือจะมีการกล่าวปิด และกล่าวเปิดประตู จากนั้นจะมีการฆ่าหมูแล้วต้มให้สุก จากนั้นก็กล่าวปิดประตู แล้วนำ หมูที่ต้มสุกนั้นมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จัดไว้ตามจานที่วางไว้ 9 จาน ซึ่งแต่ละจานจะใส่ชิ้นเนื้อไม่เหมือนกัน โดย

จานที่ 1 ใส่มือซ้ายหมูและหัวข้างซ้าย จานที่ 2 จะใส่ขาขวาหมูกับหัวข้างขวา
จานที่ 3 จะใส่ขาซ้ายหมูกับคางซ้ายหม จานที่ 4 ใส่มือขวาหมูกับคางขวาหมู
จานที่ 5 ใส่มือซ้ายหมู จานที่ 6 ใส่ขาขวาหมู จานที่ 7 ใส่ขาขวาหมูกับใบหู 5 ชิ้น
จานที่ 8 ใส่มือขวาหมู จานที่ 9 ใส่จมูกและหางหมู