Puey Ungphakorn [การเมืองการปกครอง]

การเมืองการปกครอง

ผลงานของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519, หน้า 49-91. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2523. (DS 586 ป5)

กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งได้แก่ความทารุณโหดร้ายของรัฐประหาร ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดรัฐประหาร นอกจากนี้ในตอนท้ายของบทความผู้เขียนได้กล่าวถึงผลที่จะตามมาของการเกิดรัฐประหารทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ  การศึกษา การสาธารณสุข ตลอดจนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น

“ความรู้เรื่องเมืองไทย.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน ช่วงหนึ่งของกาลเวลาป๋วย อึ๊งภากรณ์, หน้า 107-119. โดยคณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการจัดงาน “นิทรรศการชีวิตและผลงานอาจารย์ป๋วย.” – - กรุงเทพฯ : สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโกมลคีมทอง, 2528. – - จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ 69 ปีของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (HB 126 ท 93 ป 53)

“แนวทางสันติวิธี.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519, หน้า 92-121. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2523. – - เรื่องเดียวกับ “ความรู้เรื่องเมืองไทย.” (DS 586 ป 5)

วิเคราะห์และวิจารณ์ระบบการเมือง และการปกครองของรัฐบาลไทย โดยการเสนอความเป็นจริง เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ และมนุษยชนของประชาชนคนไทยในวิธีการต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกันนี้ท่านได้เสนอแนวทางในการปกครองสังคมว่าควรใช้หลักสันติประชาธรรม หรือประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี

“คำพิพากษา.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน แนวทางสันติวิธี ทางเลือกคนไทยหลัง 6 ตุลาคม, หน้า 141-152. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : ประกายพรึก, 2521. (JQ 1741 ก 2 ป 5)

กล่าวถึงข้อความที่ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฟ้องประหยัดศ.นาคะนาท ในเรื่องหมิ่นประมาทซึ่งประหยัด กล่าวหาว่าดร.ป๋วย ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยใช้พลังนักศึกษาเปลี่ยนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์ และตั้งดร.ป๋วย เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นบทความนี้ยังกล่าวถึงคำชี้แจงของดร.ป๋วย ต่อผู้พิพากษาในศาล ท้ายบทความเป็นคำพิพากษาของศาล มีการตัดสินคดีว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

คำให้การของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ = Human Rights in Thailand. / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พิมพ์ครั้งที่ 3. – - กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2525. (DS 586 ป 46)

เป็นคำให้การของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสืบพยานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ของคณะอนุกรรมการว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์สภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐสภาที่ 95 ของสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 30 มิถุนายน 2520 ซึ่งมีโดนาลด์ เอ็ม เฟรเซอร์ ผู้แทนราษฎรจากรัฐแมนิโซตา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ดร.ป๋วย ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ทางการเมืองและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยรัฐบาล จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองและนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนรายงานถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และข้อเสนอต่างๆ แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยด้วย นอกจากนั้น ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ยังมีภาคผนวก 2 เรื่อง คือ “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 “ซึ่งเป็นข้อเขียนของดร.ป๋วย ที่ท่านใช้ประกอบคำให้การ และ “ทัศนะโต้แย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไทย” อันเป็นทัศนะของดับเบิลยู สกอตต์ ธอมป์สัน (W. Scott Thompson) แห่งโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลตเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟท์ และทัศนะของมณี เพน นักสังคมวิทยาชาวไทย

“จดหมายปฏิเสธข่าวลือ.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน สันติประชาธรรม, หน้า 50-51. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พระนคร : เคล็ดไทย, 2516. (DS 570.6ป4)

เป็นจดหมายที่ดร.ป๋วยเขียนถึงสาธารณชน ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จดหมายฉบับนี้ได้ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าท่านจะเล่นการเมืองและชี้แจงเหตุผลต่างๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

“ดร.ป๋วยแฉเบื้องหลังรัฐประหาร เผย … เมืองไทยเข้าสู่ยุคมืด.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. สันติภาพ ฉบับพิเศษ (24 ตุลาคม 2519) : 1-3. (กป5.03)

กล่าวถึงเบื้องหลังและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารของรัฐบาลอย่างละเอียด ว่ามีการทำอะไรบ้าง วันใด เวลาเท่าไร ตอนท้ายกล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังการรัฐประหารครั้งนี้

“ดร.ป๋วยพูด.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ประชาธิปไตย (11-13 ธันวาคม 2516) : 5. (กป 1.06)

ดร.ป๋วยให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองว่าตนตั้งใจจะร่วมเป็นสมาชิกในชุมนุมในชุมนุมหนึ่งหรือหลายชุมนุมที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยและเห็นว่าการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ควรจะไม่สังกัดพรรคทั้งยังให้เหตุผลว่าตนไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถประนีประนอมกับเรื่องบางเรื่องได้ และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในสมัยนั้นอีกหลายกรณี

“ทางออกของไทยหลังสงครามอินโดจีน.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน เสียชีพอย่าเสียสิ้น, หน้า 20-38. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พิมพ์ครั้งที่ 2. – - กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2523. (DS 570. 6 ป 55 ก 3)

เป็นการแสดงความคิดเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และเวียดนามเหนือ ภายหลังสงครามอินโดจีน นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการเอาตัวรอดจากการถูกชาติอื่นคุกคามว่า ไทยใช้วิธีนโยบายการต่างประเทศเป็นเอก นโยบายการทหารเป็นรองมาโดยตลอด ซึ่งก็เป็นวิธีการที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว ส่วนอันตรายภายในประเทศ คือ ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้น การแก้ไขควรทำให้ถูกจุด คือแก้ไขระบบราชการ บริหารให้ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น และช่วยตัวเองได้

“แนวทางสันติวิธี ทางเลือกคนไทยหลัง 6 ตุลา.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน คิดถึงอาจารย์ป๋วย : คนดีที่เหลืออยู่, หน้า 18-21. – - กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง กรรมการนศ.เศรษฐศาสตร์ องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ และสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, 2527. (ศ)

กล่าวถึงประชาธรรม คือ ธรรมเป็นอำนาจไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม บ้านเมืองที่ประชาธรรมนั้นต้องมีขื่อมีแป ไม่ใช่ปกครองกันตามอำเภอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หลักประชาธรรมมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ 1. เสรีภาพและสิทธิของคนแต่ละคน (จำกัดความตามเอกสารสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน) ภายในขอบเขตที่ไม่ทำลายเสรีภาพและสิทธิของผู้อื่น 2. การมีส่วนร่วมในการกำหนดโชคชะตาของสังคมที่เราอาศัยอยู่ แต่ละคนมีสิทธิหน้าที่เท่ากันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีฐานะ เพศ หรือกำเนิดมาอย่างใด

“แนวโน้มของเมืองไทย.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519, หน้า 125-168. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย. 2523. (DS 586ป5)

เป็นการอภิปรายของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 ที่มหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ ในการสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย โดยกล่าวถึงทัศนะของท่านเกี่ยวกับการเมือง การปกครองของไทย ตั้งแต่ปี 2490-2516 ตลอดจนแนวโน้มของเมืองไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังมีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านได้อภิปรายไว้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ที่มาร่วมอภิปรายด้วย

“บทบาทนักการเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจ.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน เศรษฐทรรศน์. รวมข้อคิดและข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ ของป๋วย อึ๊งภากรณ์,หน้า 245-258. โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523. (HB 53ป5)

ให้เรื่องราวทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงมาตรการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และตอนท้ายได้เสนอหลักการที่จะดำเนินงานในระบอบประชาธิปไตยในทิศทางที่ควรจะเป็น

“ประชาธิปไตยกับสังคมชนบท.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ม.ป.ป. – - 1 หน้า. (ต้นฉบับลายมือ) (กป 1/ต 05)

เป็นเอกสารโครงร่างประกอบการบรรยายเรื่องประชาธิปไตยกับสังคมชนบทของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื้อหาการบรรยาย ดร.ป๋วย ได้กล่าวถึงความหมายของประชาธิปไตย โดยการเสนอความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนกล่าวถึงสิ่งที่จะเอื้ออำนวยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นไปด้วยดี ตอนท้ายดร.ป๋วยเน้นให้เห็นถึงสภาพสังคมในชนบทไทยที่มีผลต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

“ประชาธิปไตยของไทย.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12 (ตุลาคม 2517) : 33-45. (กป 1.16)

บทความนี้กล่าวถึง 1.ความหมายของประชาธิปไตย พร้อมทั้งเสนอหลักการของประชาธิปไตย 2. การวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยของไทย 3. ดร.ป๋วย ตั้งคำถามว่า “ประชาธิปไตยของไทยจะไปรอดหรือ” โดยเน้นให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบการบริหารราชการว่าต้องให้สิทธิและเสรีภาพในสังคมแก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งท่านได้สรุปว่าประชาธิปไตยจะไปรอดหรือไม่ ก็อยู่ที่ราษฎรทั้งหลาย ดังคำกล่าวของลินคอนที่ว่าเราจะต้องมีการปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

“เป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย.” /ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน ศาสนธรรมกับการพัฒนา, หน้า 183-200. โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ; บรรณาธิการ โดยพระดุษฎี เมธงกุโร และคนอื่นๆ. – - กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2530. (BQ 4570 ศ 7 ป 5)

กล่าวถึงหลักสังคมที่พึงปรารถนาได้แก่หลักสมรรถภาพ หมายถึงการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะของราชการหรือเอกชน ต้องลงทุนน้อยที่สุดให้ได้ผลมากที่สุด และตรงเป้าหมาย หลักเสรีภาพหมายถึงเสรีภาพทางร่างกาย เสรีภาพในชีวิต เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในทางเศรษฐกิจ หลักความยุติธรรมในสังคมคือ ให้เสมอภาคซึ่งกันและกัน และหลักความเมตตากรุณา หลักทั้ง 4 ประการ เป็นความคิดเห็นของดร.ป๋วย ซึ่งได้เสนอถึงการจัดการสังคมให้มีความสงบสุข นอกจากนี้ ดร.ป๋วย ได้วิจารณ์ระบบสังคมในปัจจุบัน และชี้ให้เห็นถึงปัญหาการปกครองของรัฐบาลในสมัยนั้น พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย

สถานการณ์การเมืองการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศไทย (เทปบันทึกเสียง) / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - ม.ป.ท., 2520. – - 3 ตลับ. – - ปาฐกถาแก่สมาคมนักเรียนไทย ณ ประเทศออสเตรเลีย. (TC 002)

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เดินทางไปแถลงข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นสาเหตุให้ท่านต้องเดินทางออกจากประเทศไทย และกล่าวถึงผลเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา ประชาชน ตลอดจนถึงรัฐบาล พร้อมกันนี้ได้ประชาสัมพันธ์มูลนิธิมิตรไทย ที่ท่านและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากองค์กรทางศาสนาของประเทศต่างๆ หลังจากจบการปาฐกถาแล้ว ดร.ป๋วย ได้ตอบข้อซักถามของผู้ฟังเกี่ยวกับเรื่องที่สอดคล้องกับการปาฐกถาของท่านด้วย

“Human Rights Situation in Thailand.” / Puey Ungphakorn. Testimony Before the Subcommittee on  International Relations, Committee on International Relations, Congress of the United States, June 30, 1977. – - 6p. (Copy.) (กป 1/ภอ 09)

กล่าวถึงสถานภาพของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการกระทำรัฐประหาร ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ ดร.ป๋วย ได้เสนอนโยบายสำคัญ 3 ข้อ ต่อสหรัฐอเมริกาที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อความสงบเรียบร้อยของชาวไทยคือ การยุติการสนับสนุนทางกำลังอาวุธแก่รัฐบาลไทย ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคม และเผยแผ่นโยบายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแก่รัฐบาลไทย

“Crisis in Thailand : Politics, Development, and Agony of Intellectuals.” / Puey Ungphakorn. IN A Siamese for All Seasons : Collected Articles by and about Puey Ungphakorn, pp. 94-110. By Puey Ungphakorn. – - 6th ed. – - Bangkok : Komol Keemthong Foundation, 1984. (9B DS 575 P8 1984)
กล่าวถึงเป้าหมายส่วนตัวทางการเมืองที่คำนึงถึงเสรีภาพและการมีส่วนร่วมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมการเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา จนถึงสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร เหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจรจีนคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและการพัฒนาประเทศของไทยในช่วง พ.ศ.2493-2513

“National Policy Priorities in Thailand.” / Puey Ungphakorn. A Siamese for All Seasons : In Collected Articles by and about Puey Ungphakorn, pp. 57-61. By Puey Ungphakorn. – - 4th ed. – - Bangkok : Komol Keemthong Foundation, 1984. (9B DS 575 P8 1984)

กล่าวถึงสภาพสังคม การเมือง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศหลังจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค (14 ตุลคม 2516) บทบาทของขบวนการนักศึกษา ขบวนการแรงงานและกรรมกร วิกฤตการณ์ทางสภาพผู้แทนราษฎร เหตุการณ์ภายนอกประเทศ ทฤษฎีโดมิโน สถานการณ์ชายแดน บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาต่อนโยบายต่างประเทศของไทย

“Trends in Thailand.” / Puey Ungphakorn. In A Siamese for All Seasons : Collected Articles by and about Puey Ungphakorn,pp. 111-141. By Puey Ungphakorn. – - 4th ed. – - Bangkok : Komol Keemthong Foundation, 1984. (9B DS 575 P8 1984)
เป็นการสัมมนาในเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 ณ มหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา ดร.ป๋วยได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวโน้มของเมืองไทย โดยเริ่มตั้งแต่ลักษณะและประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ผลทางสังคมและการเมืองอันเกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นโยบายการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ความตื่นตัวและมีสำนึกทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชน ตลอดจนการให้ทัศนะของท่านในเรื่องแนวโน้มของเมืองไทย ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาชนบท

“Violence and the Coup D’etat, 6 October 1976.” / Puey Ungphakorn. In A Siamese for All Seasons : Collected Articles by and about Puey Ungphakorn, pp. 70-93. By Puey Ungphakorn. – - 4th ed. – - Bangkok : Komol Keemthong Foundation, 1984. (9B DS 575 P8 1984)
บันทึกเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด โดยกล่าวถึงความรุนแรง การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519 การรวมตัวของฝูงชน เหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประหาร การแต่งตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2519 และผลที่ได้รับ มีภาพประกอบเหตุการณ์ และประวัติดร.ป๋วย รวมอยู่ด้วย

“คำสัมภาษณ์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์.” / บรรณาธิการสามัคคีสาร. ใน อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519, หน้า 220-240. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์.  - – กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2523. (DS 586 ป5)

สัมภาษณ์ความคิดเห็นของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ต่อสภาพการณ์ภายหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 ในด้านต่างๆ เช่น การบริหารงานของรัฐบาล ประเทศไทยในฐานะประเทศประชาธิปไตย ความเห็นเกี่ยวกับการต่อสู้แบบสันติวิธี นโยบายของมูลนิธิ “มิตรไทย” บทบาทของคนไทยและสมาคมไทยในต่างประเทศ

“ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ภาพสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย.” / คณะผู้จัดงาน “คิดถึงอาจารย์ป๋วย” ใน ช่วงหนึ่งของกาลเวลา ป๋วย อึ๊งภากรณ์,หน้า 11-15. โดยคณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการจัดงาน “นิทรรศการชีวิตและผลงานอาจารย์ป๋วย.” – - กรุงเทพฯ : สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโกมลคีมทอง, 2528. – - จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ 69 ปี ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (HB 126 ท 93 ป 53)

กล่าวถึงแนวทางการศึกษาเรื่องพัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเสน่ห์ จามริกได้เสนอทัศนะว่าในสังคมไทยเรา บรรดาคนที่มีจิตสำนึกเดือดเนื้อร้อนใจถึงขั้นดิ้นรนต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพจริงๆ นั้น ยังนับว่ามีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก เป็นเหตุให้ฝ่ายผู้มีอำนาจมักจะประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ดร.ป๋วย ได้เคยแสดงความคิดเห็นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยแสดงความคิด ความหวัง และความต้องการผ่านจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง สรุปความว่าสันติวิธีเป็นวิธีเดียวเพื่อประชาธรรมถาวร คงต้องใช้เวลานาน คงต้องเสียสละ คงต้องกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวเป็นพิเศษ และคงเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น แต่ถ้ามั่นในหลักการจริง ความมานะอดทนย่อมตามมาเอง

“การสนับสนุนกลุ่มพลังที่สาม : สัมภาษณ์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์.” / เค็น วิงคเลอร์. ใน อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519, หน้า 211-219. โดยดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2523. (DS 586 ป5)

สัมภาษณ์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงการจัดตั้งกลุ่มพลังที่สามที่ต้องการให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ผู้ให้การสนับสนุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นโยบายของกลุ่ม ตลอดจนทัศนะต่อสภาพการเมืองของประเทศไทย รัฐบาลทหาร และความเกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกา

“จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน สันติประชาธรรม, หน้า 52-57. โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พระนคร : เคล็ดไทย, 2516. (DS 570.6 ป4)

“Nai Khem Yenying’s Letter to Nai Tamnu Kiartkong, Village Headman Thai Charoen Village.” / Puey Ungphakorn. February 16, 1972 – - 4p. (Copy.) (กป3/ภอ 01)

“My Beloved Brother : Thamnu Kiartkong.” / Khem Yenying. Far Eastern Economic Review 77 (16 September 1972) : 14-15. (กป3.10)

เป็นจดหมายของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เขียนจากประเทศอังกฤษส่งถึงนายทำนุ เกียรติก้อง (จอมพลถนอม กิตติขจร) ขณะที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลถนอมและคณะ โดยการปฏิวัติการปกครองและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเสนอความคิดเห็นส่วนตัวพร้อมทั้งผลที่อาจเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งของสังคม อีกทั้งยังเสนอหลักการในการปกครองสังคมคือ หลักประชาธรรมซึ่งให้ความสำคัญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสรี เพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ

“จดหมายถึงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน สันติประชาธรรม, หน้า 65-66. โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พระนคร : เคล็ดไทย, 2516. (DS 570.6ป4)

เป็นจดหมายที่ดร.ป๋วย เขียนถึงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เขียนตอบปัญหาเกี่ยวกับการที่ดร.ป๋วย ได้ตอบปฏิเสธ ในการเขียนจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2515 และได้กล่าวถึงที่มาของสำเนาจดหมายฉบับนั้นว่า เหตุใดจึงได้ไปรากฎอยู่ที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้แสดงความยินดีกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับความต้องการให้มีรัฐธรรมนูญในเมืองไทยอีกด้วย

“บันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธี.” / ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ใน สันติประชาธรรม, หน้า 58-64. โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์. – - พระนคร : เคล็ดไทย, 2516. (DS 570.6 ป4)

เป็นบันทึกเหตุผลที่นายเข้ม เย็นยิ่ง ต้องเขียนจดหมายถึงนายทำนุ เกียรติก้อง นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของสันติวิธี และเสนอวิธีการทางสันติที่จะทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทางด้านการเมือง