ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ประวัติผู้แต่งดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง       ผู้แต่ง "ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่าครั้งกรุงเก่า" ฉบับที่นำเสนอในที่นี้คงเป็นกวีไทย ไม่ใช่พราหมณ์ เพราะได้แสดงออกซึ่งอุปนิสัยของกวีไทยหลายอย่างที่เด่นๆได้แก่       ๑) มุ่งแสดงศิลปะการใช้ถ้อยคำ โดยเลือกเฟ้นคำมีสัมผัสอักษรและสระ เช่น "พระพนัศบดีผองสบไศล" นอกจากนี้ยังเล่นคำและความหมายของคำ เช่น "จงเทพารักษรักษา คุ้มเกรงกรุณา ตูข้าจะนำเอาไป"       ๒) การวาดมโนภาพ ผู้แต่งได้วาดภาพชีวิตในป่าอย่างสมจริงและรักษาประเพณีการพรรณนาป่า โดยระบุชื่อพรรณไม้ต่างๆ เช่น "หญ้าปล้องหญ้าหวายแลลมาน อ้อยช้างตระการ ทั้งข่อยและแขมโพบาย" ประวัติหนังสือดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง       วรรณกรรมประเภท "กล่อมช้าง" ของไทยมีหลายฉบับ ฉบับเก่าที่สุดคือ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ขุนเทพกระวี พราหมณ์เมืองสุโขทัยแต่งเป็นภาษากัมพุช โดยมีฉบับแปลดัดแปลงเป็นภาษาไทย ตามี่ปรากฎในบทประพันธ์ ดังนี้       แก้กลอนกัมพุชภาษา                 แจงแจ้งเอามา       เปนสยามพากยพิไสย       ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่าที่นำเสนอในที่นี้ก็คือ ฉบับสยามพากย์คู่ขนานกับฉบับกัมพุชพากย์ โดยขุนเทพกระวีนั่นเอง ดังนั้น จึงมีเนื้อเรื่องอย่างเดียวกัน ต่างกันเฉพาะฉันทลักษณ์ คือ ฉบับสยามพากย์แต่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยานี 11 ส่วนฉบับกัมพุพากย์แต่งเป็นฉันท์ คำนำดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง       ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเป็นวรรณกรรมซึ่งมีขึ้นเพื่อใช้ประกอบกีฬาการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน จุดประสงค์คือเป็นการเห่กล่อมเพื่อให้ช้างหมดอาลัย และลืมเลือนจากที่อยู่อาศัยแต่เก่าก่อน และเตรียมตัวเตรียมใจมาเป็นช้างทรงขององค์กษัตริย์ ในบทประพันธ์จะเห่กล่อมบอกให้ช้างอย่าถือโกรธ และขอให้ช้างละทิ้งนิสัยดื้อรั้น กลับมาเป็นช้างทรงที่เชื่องและแข็งแกร่งของกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ หน้าหนึ่ง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    อัญขยมสดุดีพระไพร          ป่าดงพงใน    สระสโรชมหิมา    ฉทึงธารคิรีเหวผา              ไม้ไล่นานา    อเนกพฤกษพิศาล    ป่งป่าท่าทางเที่ยวธาร          อันจรสบสถาน    ข้าขออำลาพระไพร    พระพนัศบดีผองสบไศล       ดูข้าตั้งใจ    ทำนุกอำรุงผดุงผดา หน้าสอง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    เทียนธูปแลประทีปชวาลา           เครื่องโภชนกระยา    สังเวยประดับทุกพรรณ    กล้วยอ้อยพร้าวตาลสบสรรพ์       ถวายแก่พระกรรม์    ประสิทธิพระไพรพน    ลาเทพทั้งพื้นไพรสณฑ์              จงรักษ์ดำกล    หฤไทยตั้งรักษา    อย่าได้เบียดเบียนบีฑา               ภูธรประชา    ทั้งปกทั้งปวงเดินดง หน้าสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    มาลาแลเสวตรฉัตรธง             ถวายด้วยใจจง    จงท่านอย่าได้บีฑา    ได้เดินใกล้รายไปมา               ขอโทษอำลา    อย่าต้องอย่าพาลเบียดเบียน    ขอจงศุขสถาพรเสถียร              อย่าได้วนเวียน    อัญเชิญธสถิตย์ในไพร    ช้างใดต้องบาศบไคล               จำนองจองไป    ประโยชน์เลี้ยงรักษา หน้าสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    อย่าได้แดเดือดโศกา                อย่าครำ่ครวญหา    พ่อแม่พี่น้องเผ่าพันธุ์    เมืองโพ้นนางช้างก็สกรรค์          ย่อมโขลงแส้งสรรค์    ลำเภาดำเนินโสภา    กล้วยอ้อยพร้าวตาลนานา           หญ้าเผือเหลือตรา    อเนกด้วยอาหาร    ป่าดงฤาจะเปรียบปูนปาน            เบื้องศุขสำราญ    ในไพรพนมชมผา หน้าห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖ แต่บทสุดท้ายแต่งด้วยวสันตดิลก ๑๔)    เมื่อนอนร่มไม้สาขา            หญ้าแฝกแขมคา    แลเงื้อมชรง่อนเทินเขา    เมืองโพ้นโรงรัตนพัฬเหา     พเนกจลุงเกลี้ยงเกลา    เมลืองบได้เคืองรคาย    ท่าทางเดินเหินก็สบาย         ควาญคชกับนาย    ประจำบห่อนคลาไคล    อ้าพ่ออย่าคิดแก่ชนนี           แลชนกในกลางไพร    อ้าพ่ออย่าคิดภคินิใน           พนสณฑสิงสถาน หน้าหก (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)    อ้าพ่ออย่าคิดคณผู้บุตร           อันเสน่หนงพาล    อ้าพ่ออย่าคิดคชผู้หลาน          เหลนเหลือลืดแลพงษ์พันธุ์    อ้าพ่ออย่าคิดพนสรนุกนี้         ศุขเล่นพนาวัน    อ้าพ่ออย่าคิดศุขในบรร          พตห้วยฉทึงธาร    อ้าพ่ออย่าคิดศุขในป่ง            ดในป่าพฤกษาสาร    อ้าพ่ออย่าคิดแก่บริพาร          อันเปนเพื่อนในไพรพนม    อ้าพ่ออย่าคิดคชสุคน             ธอันเคยภิรมย์ชม    ดอกไม้อันหอมคชผธม           ขจรกลิ่นวังเวงใจ หน้าเจ็ด (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)    อ้าพ่ออย่าคิดแก่พลผลา          ภักษหญ้าอันมีใน    ธารนำ้อันไหลวิสุทธใส            แลมาเลี้ยงแก่ตนเอง    อ้าพ่ออย่าคิดทุกขบัดนี้            ทุกขแต่หลังบุราณเพรง    อ้าพ่ออย่าคิดทุกขวังเวง          เลยณพ่อจงตามครู    ต้องบาศเรานี้ฤณพ่อ               เพราะเสน่หแห่งกู    พังพลายอันใดกลดำรู             ก็จะเลี้ยงจะล่ามสงวน    อ้าพ่อจงเสียพยศอันร้าย          แลอย่าขึ้นงทรหึงหวล    หล่อหลอนอย่าทำกิจบควร      และอย่าถีบอย่าฉัดแทง หน้าแปด (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)    อ้าพ่อจงเสียพยศอันเปลื้อง        แลอย่าเลื่อมกำแหงแรง    พ่อจำอันสอนจิตรอย่าแคลง       แลจงรักทั้งหมอควาญ    จงมีจริตสุทธิอันงาม                 สบงเสงี่ยมแลเสี่ยมสาร    พวกพ้องนิกรบบริพาร              บริรักษ์รักษา    อ้าพ่ออย่าโศกอย่าทุกข์เลย         แลอย่าเศร้าอย่าโศกา    อย่าให้พิลาปจิตรอา                 ดุรเลยจงยลยิน    อ้าพ่ออย่าโทษบิดรมา               ดรโทษอันเพื่อนกิน    อ้าพ่ออย่าโทษนรนรินทร์           ทั้งนี้ย่อมอำเภอกรรม์ หน้าเก้า (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)    อ้าพ่ออย่าโทษชนผู้ใด          แลพระพรหมหากสรรค์    มาเปนชำนินรนิรัน              ดรเลี้ยงบำเรอหใน    จงพ่ออย่าได้ทุกขทุกขา         ดุรเดือดรฤกไพร    จักนำยังโรงรัตนประไพ        จิตรจงสำราญรมย์    หนึ่งโสดสมเด็จบรมหง         ษ์คือองค์พระพรหม    รังสฤษดิสรรคพ่อมาสม         เปนวรพาหนภูเบนทร์    อย่าโทษพ่อแม่คณพี่น้อง        แลจงคิดคำนึงเหน    โทษกรรมเองก็บมิเว้น          บมิแวะจะหลีกกรรม์ หน้าสิบ (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)    จงตั้งมโนชที่จะไป           บุริรมยหฤหรรษ์    จักเห็นสระกุสุมพรร          ณสนุกนิชื่นชม    มีบัวบุษย์บานอุบลจง        กลนีก็สรบสม    ใบบัทมแบ่งแลก็สลม        ก็สลอนทั้งสระศรี    ตั้งใจราพ่อคชจงเดิน         คลในพระบูรี    อย่าคิดลำเนาพนอันมี        คชเคยทรเหหวน    พ่อแม่พี่น้องอันเปนเสน่     หทั้งนั้นอย่าเครงครวญ    จงพ่อมาเสียพยศมายวล     จิตรโดยตูสมพอง หน้าสิบเอ็ด (แต่งโดยกาพย์ยานี ๑๑) แต่นี้พนาทาง                ก็กระดาษทั้งผอง    ร่มราบคือน่ากลอง         แลธแกล้งประดับดา    ครั้นพ่อแลดีแล้ว           วรรราชราชา    จักเปนคเชนทรา             ธิปดินทรฤาไกร    มีพวกจเกี่ยวหญ้า           มาส่งให้บยากใจ    จักกินอันใดใด               ก็จะได้ดั่งใจปอง    หนึ่งโสดนายแลควาญ      จะรักษาบให้หมอง    ขัดสีดูเรืองรอง               บมิให้มีมลทิน หน้าสิบสอง (แต่งโดยกาพย์ยานี ๑๑)    ที่อยู่จะใครอยู่              ทั้งที่กินจะใคร่กิน    จงพ่อมายลยิน             คดีอันกูกล่าวสาร    หนึ่งโสดประดับด้วย      คชาภรณ์อลงการ    ชนักแร่งประแอกอาน     แลตระพัตรคนควร    อยู่ป่าไซ้ถีบฉัด             แลหล่อแทงทรหึงหวน    จงเสียพยศทั้งมวญ        แลมาเชื่องเปนสารศรี    จักเปนชำนิภู                ธรเกล้าตรีโลกีย์    ปราบราชไพรี               แลจงจำอันสั่งสอน หน้าสิบสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    หนึ่งโสดกรินีสาทร        อันผูกด้วยสร    มนัศใจเสน่หา    ขอแต่พระไพรคณา        ตูจักลีลา    ยังศุขรมยบุรี    จงตั้งใจเดินด้วยดี         อย่ารำพึงศรี    แลสระสโรชในไพร    ร่มรื่นพื้นป่าพอใจ          เปนที่อาไศรย    สนุกนิ์สำราญบรรธม หน้าสิบสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    ป่งป่าท่าทางเคยชม                 ในพระบุรีรมย์    สนุกนิ์กว่านี้แสนทวี    นำ้ไหลไคลคลายเปรมปรีดิ์       บัวจงกลนี    ทั้งหญ้าระร่อนอ่อนหวาน    อุบลสัตบันแบ่งบาน                นานาผลาหาร    สำราญภิรมย์อนันต์    อย่าคิดถึงเผ่าพงษ์พันธุ์             พี่น้องพ้องสรรพ์    ลูกจรัลจรกลางแด หน้าสิบห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    แม่ลูกผูกรักเลงแล               เคยเคียงผันแปร    แลแล่นมาเคล้าคลึงกัน    แม่รักลูกรักจรจรัล                พลายพังก็กระสัน    ทรหึงทรโหยโหยหา    ไห้ห่มรมยวนไปมา               อย่าเศร้าโศกา    ทั้งนี้ย่อมแรงกรรม์    กมลาศน์ธแกล้งเกลาสรรค์      อย่าโทษพงษ์พัน    ธุทุกเทพยมานุษย์เลย หน้าสิบหก (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    แต่นี้จงสร่างสรเบย             ทุกขหลังอันเคย    พิบากลำบากเหลือใจ    เมื่ออยู่ป่าดงพงไพร            หากินเองใน    พนานตยากหนักหนา    หนึ่งโสดฝุ่นทรายตรึงตรา      นอนแนบหินผา    กระด้างกระเดื่องทั้งตัว    แต่นี้เกลือกตมทรายมัว         บมิได้พอกพัว    เพราะนายแลควาญรักษา หน้าสิบเจ็ด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    แต่นี้ไปโดยรัถยา                     ทางท้องมหิมา    สลมสลอนพร้าวตาล    หญ้าปล้องหญ้าหวายแลลมาน     อ้อยช้างตระการ    ทั้งข่อยแลแขมโพบาย    หนึ่งโสดฝูงช้างพังพลาย             อยู่เมืองโพ้นหลาย    คเชนทรเผือกพัฬเหา    ลางตัวตัวผู้มาเอา                     กลิ่นตัวเมียเมา    รดีรดัสกำจร หน้าสิบแปด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖) ย่อมช้างมีลักษณบวร             ชำนิภูธร    ธิราชเจ้าจอมไตร    ส่วนกรินีโสดก็จะไป              อยู่โรงเรียนใน    กรลาบังคัลคนผจง    เทียมเทียบเกยรัตนยรรยง        แนมแนบพลายพงษ์    เชื้อคเชนทรอันดี    จงเสียพยศร้ายราวี                วัดวายถีบตี    ทั้งฉัดแลหล่ออย่าทำ หน้าสิบเก้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    สั่งสอนอันใดพึงจำ                อย่าได้ฝ่าคำ    อันกล่าวนี้หนอจงตาม    ครั้นดีเชื่องชาญในสนาม          กินผอกเหลือหลาม    สนุกนิอยู่หรรษ์    อาภรณ์ประดับสรรพสรรพ์        คับควรทุกอัน    กระพัตรคนซองหาง    ชนักแร่งแลพนาศสำอาง           งามทั่วสรรพางค์    คล้อยดำเนินโสภา หน้ายี่สิบ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    เปนพาหนสมเด็จราชา            ผ่านผ้าสีมา    อรินทรเรียบฤาเสบย    ใต้ฟ้าฤาจะเปรียบปูนเลย         โอ้กรินีเอย    ประเสริฐแลใดปาน    ขอเทพารักษ์ทุกสถาน            จงช่วยบริบาล    สถิตย์ทั้งทั่วสรรพางค์    ฤาษีสิทธิสถิตย์บาศอย่าวาง       ทั้งสี่ในปาง    นี้หนอจงช่วยรักษา หน้ายี่สิบเอ็ด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    ช้างใดต้องบาศอย่าคลา            ผลนั้นมหิมา    ครั้นสิ้นชีวิตรไปสวรรค์    ส่วนช้างพังพลายสบสรรพ์         ไป่ต้องบาศอัน    พิเศษเลื่องฤาไกร    จองอยู่ป่าดงพงไพร                 แผ่เผ่าพันธุ์ใน    พนานตให้มากหลาย    หนึ่งจงเลี้ยงม่ามอ่ามสาย           ลูกเต้าพังพลาย    แลพรรค์คเชนทรมากมี หน้ายี่สิบสอง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    จงชมพนสณฑคิรี             ในไพรพงพี    สนุกนิเสนาะหัวใจ    จงชมเทินธารนำ้ไหล         คล่าวคล้ายแสงใส    แลออกแต่เงื้อมแง่เขา    จงชมบึงบางเซราะเซรา      ที่ธารทางเทา    แลเที่ยวมาจวบจบกัน    จงชมพฤกษาหลายพรรณ    ต้นเรียบเรียงรัน    แลร่มชรอื้อใบบัง หน้ายี่สิบสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)    จงชมดอกโดรทั่วทัง             ป่าปรือไพรกรัง    สนุกนิเร่งเชยชม    ครั้นแล้วบาศธก็จะสม           สบบาศคือพรหม    ไว้ประสิทธิสบสรรพ์    ส่วนเจ้าป่าดงพงษ์พันธุ์          เทพารักษ์อัน    อเนกทั่วไพรกรัง    ข้าขอฝากทั้งพลายพัง            อันได้ด้วยหวัง    แลบาศไปคล้องตรึงตรา หน้ายี่สิบสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖) จงเทพารักษ์รักษา          คุ้มเกรงกรุณา    ตูข้าจะนำเอาไป    ส่วนพระภูธรผู้ไกร         ขอลาพระไพร    ไปยังอโยทธยาศรี    จงสถาพรศุขมากมี          ขอลาพระไพร    หฤไทยมีหฤหรรษ์    ทั้งนี้โสดองค์พระสรร       เพชญไท้ทรงธรรม์    เลิศนิลำ้ไตรตรา หน้ายี่สิบห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖) แก้กลอนกัมพุชภาษา          แจงแจ้งเอามา    เปนสยามพากยพิไสย    ฝ่ายข้างไสยสาตรนี้ใคร        ฤาจะเปรียบปูนใน    พระองค์ไท้ทรงธรรม์    เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์         ได้ช้างเผือกอัน    วิสุทธิสารบวร    ทุกเทพทั้งหลายชมอร          จึ่งอวยพระพร    แก่พระผู้เลี้ยงโลกา หน้ายี่สิบหก (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖) พระชนมยืนมหิมา                   สิบร้อยพรรษา    พระเกียรติลำ้แสนกัลป์    ศักดิสิทธิฤทธิเดชสบสรรพ์          โองการอันพรร    ณาประสิทธิกิจการ ฉบับถอดความ ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง     1. ข้าพเจ้าขอถวายสุดดีพระไพร เทพผู้สถิตในป่าเขาและในสระบัวใหญ่     2. ในแม่น้ำลำธาร ภูเขา หุบเหว ต้นไม้ นานาชนิด     3. ข้าพเจ้าขออำลาป่า ท่าน้ำที่ได้เคยท่องเที่ยวทั่วทุกแห่งหน     4. ข้าพเจ้าขออำลาพระไพร ผู้เป็นใหญ่ในป่าเขาทั้งหลาย ซึ่งข้าพเจ้าตั้งมั่นที่จะบำรุงรักษาถวายความเคารพ     5. ด้วยเครื่องสังเวยอันประกอบด้วย ธูปเทียน ประทีป เครื่องโภชนาหารนานาชนิดครบครัน     6. ทั้งกล้วย อ้อย มะพร้าว ลูกตาล ขอถวายสิ่งทั้งหลายแต่พระกรรมบดีผู้เป็นพระไพรผู้ยิ่งใหญ่ในป่า     7. ข้าเจ้าขออำลาเทพทุกองค์ที่สถิตในป่า ได้โปรดรักษาข้าพเจ้าให้ปลอดภัย     8. อย่าเบียดเบียนกษัตริย์หรือปวงชนที่เข้ามาเดินในป่า     9. ขอถวายดอกไม้ เศวตฉัตร ธง ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ ขอพระองค์อย่าได้รบกวนเลย     10. ที่เคยได้เดินเฉียดไปมา ก็ขออภัยโทษและขออำลาจากไป อย่าโกรธอย่าเบียดเบียนเลย     11. ขอพระองค์จงมีความสุขยั่งยืนนาน อย่าตามไปรบกวน ขอเชิญสถิตอยู่แต่ในป่านี้เถิด     12. ช้างที่ถูกคล้องด้วยเชือกบาศและถูกจับไปนั้นก็เพื่อไปเป็นประโยชน์จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี     13. ขอ (ช้างที่ต้องบาศ) อย่าได้โกรธเคือง โศกเศร้า และคร่ำครวญหาพ่อแม่พี่น้องและเผ่าพันธุ์     14. ในเมืองมีนางช้างที่แข็งแรงสวยงามอยู่รวมกันเป็นโขลง ท่าเดินสง่างามราวแสร้งสรรค์     15. อาหารการกินก็บริบูรณ์ มีทั้งกล้วย อ้อย มะพร้าว ตาล และหญ้ามากเหลือเฟือ     16. สุขสำราญอย่าที่ในป่ามิอาจเปรียบปานได้ อยู่ในป่าก็จะได้ชมแต่ภูเขาหินผา     17. ยามนอนก็ต้องนอนใต้ร่มไม้ใหญ่ ที่นอนมีแต่หญ้าแฝกหญ้าแขม หญ้าคา และเงื้อมเขา     18. ส่วนในเมือง มีที่อยู่ใหญ่โตงดงาม สะอาด มีหมอนหนุนและมีเสาเกลี้ยงเกลาไม่ระคายเคืองแต่ประการใด     19. ท่าน้ำและถนนหนทางก็เดินสบาย มีควาญช้างและคนเลี้ยงประจำตัวคอยดูแลอย่างใกล้ชิด     20. ขอพ่อพลายอย่าด้มัวคิดถึงพ่อแม่พี่น้องที่ยังอยู่ในกลางป่าอีกต่อไปเลย     21. ขอพ่อพลายอย่าได้คิดถึงลูกๆที่กำลังน่ารัก และอย่าคิดถึงหลานเหลนลื้อลืดและพงศ์พันธุ์เลย     22. ขอพ่อพลายอย่าได้คิดถึงความสนุกสนานในป่า อย่าคิดถึงการท่องเที่ยวไปตามภูเขาและตามห้วยละหานอีกเลย     23. ขอพ่อพลายอย่าได้คิดถึงความสุขในพงไพร อย่าคิดถึงต้นไม้และบริวารที่เคยอยู่เป็นเพื่อนกันในป่าอีกเลย     24. ขอพ่อพลายอย่าได้คิดถึงกลิ่นหอมของนางช้างที่เคยชมเชย และกลิ่นดอกไม้หอมรัญจวนใจที่เคยดอมดมเมื่อยามนอน     25. ขอพ่อพลายอย่าได้คิดถึงผลไม้และหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธารน้ำไหลใสบริสุทธิ์ ที่พ่อพลายได้เคยท่องเที่ยวหากินเอง     26. ขอพ่อพลายอย่าคิดถึงความทุกข์ในปัจจุบัน อย่าคิดถึงทุกข์ในอดีตอย่ารู้สึกวังเวงใจ เพราะความทุกข์ ขอให้เชื่อฟังครูเถิด     27. ช้างพลายและช้างพังถูกบ่วงบาศก์ด้วยเสน่ห์ของเรา ช้างใดที่มีลักษณะงามก็จะล่ามถนอมเลี้ยงไว้     28. ขอพ่อพลายจงละพยศร้ายเสียเถิด อย่าโกรธขึง อย่าส่งเสียงเอ็ดอึงให้ปั่นป่วน อย่าสะบัด ทำสิ่งที่ไม่สมควร อย่าถีบ อย่าเตะ อย่าแทง     29. ขอพ่อพลายจงละพยศเสียให้หมดเถิด อย่าทำรุนแรง จงจำคำสอนอย่ามิจิตคิดระแวงสงสัย จงรักหมอควาญเถิด     30. ขอพ่อพลายจงมีความประพฤติที่บริสุทธิ์งดงาม มีความสงบเสงี่ยมอ่อนน้อม และจงมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้คนและพวกพ้องที่มาดูแลอยู่รอบข้าง     31. ขอพ่อพลายอย่าทุกข์อย่าโศก อย่าเศร้า อย่าร้องไห้ อย่าเร่าร้อนใจไปเลย จงตั้งใจฟังคำ     32. ขอพ่อพลายอย่าโทษพ่อแม่ อย่าโทษเพื่อนฝูง อย่าโทษผู้คนหรือพระราชาเลย เป็นดังนี้เพราะกรรมเก่า     33. ขอพ่อพลายอย่าโทษใครอื่นเลย เป็นดังนี้เพราะพระพรหมทรงสร้างให้เป็นช้างที่คนขับขี่และบำรุงเลี้ยงดูให้ความสุขสำราญ     34. ขอพ่อพลายอย่าได้มีความทุกข์เดือดร้อนคิดถึงป่า จะพาพ่อพลายไปอยู่ในโรงช้างที่สวยงาม จงทำใจให้เบิกบาน     35. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระพรหมผู้ทรงหงส์ได้ทรงสร้างให้พ่อพลายได้มาเป็นช้างทรงที่ดีของพระราชา     36. อย่าโทษพ่อแม่พี่น้องเลย จงคิดว่าเป็นกรรมของตนเองซึ่งไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้พ้น     37. ของจงตั้งใจให้แน่วแน่ว่าจะไปอยู่ในเมืองที่มีแต่ความสุขสำราญจะได้เห็นสระบัวหลากพรรณน่าชื่นชม     38. มีดอกบัวนานาชนิดบานทั้งอุบล จงกลนี มีใบบัวชูสลอนเต็มทั้งสระ     39. พ่อจงตั้งใจเดินจนถึงในเมืองอย่าคิดหวนกลับไปอยู่ในป่ากับเพื่อนพ้องผู้คุ้นเคยเลย     40. อย่าคร่ำครวญหาพ่อแม่พี่น้องอันเป็นที่รักอีกเลย จงละทิ้งอารมณ์ที่มารุมเร้าให้พยศ จงมีใจยินดีตามที่ข้าได้ตั้งความปรารถนาไว้     41. ต่อไปภายหน้าทางของพ่อพลายก็จะดี ร่มรื่นและราบเรียบราวกับหน้ากลอง ประหนึ่งมีผู้ตั้งใจประดับประดาไว้อย่างงดงาม     42. เมื่อพ่อพลายได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีแล้ว ต่อไปก็จะได้เป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ผู้มีฤทธานุภาพเกรียงไกร     43. จะมีคนเกี่ยวหญ้ามาให้พ่อพลายกิน ไม่ต้องลำบากไปหากินเอง และถ้าพ่อพลายต้องการกินสิ่งอื่นใดก็จะได้สมใจปรารถนา     44. นายช้างและควาญช้างจะคอยดูแลรักษา อาบน้ำขัดถูร่างกายให้สะอาดหมดจดดูสดใส     45. ที่อยู่ก็น่าอยู่อาหารก็น่ากินขอพ่อพลายจงเชื่อฟังข้อความที่กล่าวนี้เถิด     46. พ่อพลายจะมีเครื่องประดับที่งดงาม จะมีสายเชือกคล้องคอ มีกูบและสายรัดกูบกระชับพอเหมาะพอดี     47. เมื่อพ่อพลายอยู่ในป่า เคยดิ้นเตะถีบใช้งาแทงส่งเสียงเอ็ดอึง ต่อแต่นี้ไปขอให้ละพยศให้หมด จงเป็นช้างที่เชื่องและดีงาม     48. จะได้เป็นช้างทรงของกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งสาม สามารถปราบข้าศึกได้ราบคาบ ขอพ่อพลายจงจำคำสั่งสอนนี้     49. อนึ่ง ช้างพังที่ยังรักและเอาใจใส่ก็ยังมีจิตใจรักอยู่     50. ข้าขอลาพระไพรทั้งหลายเพื่อไปสู่เมืองซึ่งมีแต่ความสุขและรื่นรมย์     51. ขอพ่อพลายจงตั้งใจเดินด้วยดี อย่าเป็นห่วงกังวลถึงช้างพังและสระบัวในป่าอีกเลย     52. อย่าคิดถึงความร่มรื่นในป่าซึ่งเคยเป็นที่อยู่ที่นอนและที่เคยเที่ยวสนุก     53. ป่า ท่าน้ำและทางเดินที่พ่อพลายเคยไปเที่ยวชมนั้น เมื่อเทียบกับบ้านเมืองแล้ว ในเมืองสนุกกว่านับแสนเท่า     54. ในเมืองมีธารน้ำไหลชะล้างเหงื่อไคลและเล่นอย่างสนุกสนาน มีบังจงกลนีและมีหญ้าอ่อนๆรสหวานอร่อย     55. บัวอุบลและสัตตบรรณแบ่งบาน ผลไม้ที่เป็นอาหารก็มีหลากหลายล้วนอร่อยน่ารับประทาน     56. ขอพ่อพลายจงเลิกคิดถึงเผ่าพันธุ์พี่น้องทั้งหลายแม้ลูกรักดังดวงใจก็จงลืมเสีย     57. แม่ช้างและลูกช้างที่รักและเคยอยู่ใกล้ชิดกัน จะจากไปจึงวิ่งเมาเคล้าเคลียกัน     58. พ่อช้างและแม่ช้างจะจากลูกไปต่างก็คิดถึงลูก     59. อย่าเฝ้าแต่ร้องไห้ทุกข์ร้อนอย่าโศกเศร้าไปเลย ทั้งนี้เพราะผลแห่งกรรม     60. พระพรหมได้ลิขิตไว้ อย่าโทษพงศ์พันธุ์ตนเอง อย่าโทษทวยเทพหรือมวลมนุษย์เลย     61. ต่อนี้ไป จงมีแต่สุขสบาย อันความทุกข์ลำบากที่เคยมีมาแต่หนหลังจงคลายลง     62. เมื่ออยู่ในป่าคงต้องลำบากหากินเอง กว่าจะได้กินก็ยากหนักหนา     63. อีกทั้งฝุ่นทรายติดตามตัว และต้องนอนตามหินผาที่แข็งกระด้างไม่สบาย     64. ต่อนี้ไป เปือกตมทรายที่สกปรกก็จะไม่พอกอยู่ตามตัวอีกแล้ว เพราะมีนายช้างและควาญช้างคอยดูแล     65. ต่อไปนี้จะเดินทางไปไหนก็มีแต่ถนนหนทางอันกว้างใหญ่รายเรียงไปด้วยมะพร้าวและตาล     66. อีกทั้งหญ้าปล้อง หญ้าหวาย หญ้าละมาน ต้นอ้อยช้าง ข่อย แขมและโพบาย     67. นอกจากนี้ในเมืองยังมีช้างพัง ช้างพลายและช้างเผือกมากมาย     68. ช้างพลายบางตัวได้กลิ่นช้างพังก็รู้สึกหลงรัก     69. ช้างบางเชือกมีลักษณะงามสมควรเป็นช้างทรงของกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่     70. มีช้างพังมากมายอยู่ในโรงเรียงกันไป มีคนคอยเฝ้าดูแล     71. จะได้เทียบเกยอันงดงามเป็นช้างทรงเช่นเดียวกับช้างพันธุ์ดีอื่นๆ     72. จงเลิกพยศร้าย อย่าต่อสู้ อย่าเตะ อย่าถีบ อย่าสะบัด     73. สั่งสอนสิ่งใดจงจดจำให้ดี อย่าฝ่าฝืน จงทำตาม     74. เมื่อเป็นช้างที่ดี เชื่องและเก่งในการรบ ก็จะได้กินอาหารมากมาย มีความสุขสนุกสนาน     75. จะได้ประดับอาภรณ์ครบทุกอย่าง มีกูบสายรัดและซองหาง     76. มีชนักผูกคอและเบาะปูหลังทำให้ดูงามไปทั้งตัว เวลาเดินก็เดินช้าๆอย่างสง่างาม     77. พ่อพลายจะได้เป็นพาหนะสำหรับกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินซึ่งเหล่าศัตรูเกรงขามและยอมอ่อนน้อม     78. แม่ช้างเอ๋ย ในโลกนี้ไม่มีช้างใดจะประเสริฐเปรียบปานพ่อพลายนี้ได้เลย     79. ขอเทพารักษ์ทุกแห่งหนโปรดช่วยคุ้มครองดูแลรักษาและมาสถิตอยู่ทั่วกายของพ่อพลาย     80. ฤาษีสิทธิบาศทั้งสี่ผู้สถิตในบ่วงบาศ ขออย่าได้ละวาง จงช่วยรักษา     81. ช้างใดถูกบ่วงบาศคล้องก็อย่าได้หลุดไป เพื่อเกิดผลอันยิ่งใหญ่ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์     82. ส่วนช้างพังพลายทั้งหลายที่ไม่ถูกบ่วงบาศอันศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือไปทั่ว     83. ก็จงอยู่แพร่เผ่าพันธุ์ในป่าดงพงไพรให้มากหลายสืบไป     84. อนึ่ง จงเลี้ยงดูลูกเต้าพังพลายจำนวนมากเหล่านั้น     85. จงชมป่าเขาให้สนุกเพลิดเพลินใจ     86. จงชมเนินเขา ลำธารน้ำใสซึ่งไหลออกมาแต่เงื้อมแง่เขา     87. จงชมบึงบางที่เกิดจากธารน้ำไหลกัดเซาะมาบรรจบกัน     88. จงชื่นชมพฤกษานานาพรรณที่มีลำต้นเรียบขึ้นเรียงรายเป็นแถว ดูร่มรื่นด้วยใบที่หนาแน่น     89. จงชมดอกไม้ที่หอมตรลบทั้งป่าและต้นปรือที่ขึ้นทั่วทั้งป่าน่าชม     90. ต่อไปภายหน้าพระพรหมก็จะทรงบันดาลให้ถูกคล้องมาได้ด้วยบ่วงบาศนี้     91. เจ้าป่าและเทพารักษ์ผู้เป็นใหญ่ในป่า     92. ข้าขอฝากช้างพลายและช้างพังที่คล้องมาได้ด้วยบ่วงบาศนี้     93. ขอเทพารักษ์ได้โปรดคุ้มครองและกรุณาให้ข้านำไป     94. ส่วนพระราชาผู้เก่งกล้าก็จะขอลาพระไพรกลับคืนไปยังกรงศรีอยุธยา     95. ขอพระราชาทรงเป็นสุขสถาพร ยิ่งด้วยยศเหนือผู้ใดในโลก ทรงมีพรหฤทัยเบิกบานหรรษา     96. พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้รอบรู้และตั้งมั่นในคุณธรรมอันประเสริฐเหนือบุคคลอื่นใดในสามโลก     97. ทรงแปลคำประพันธ์ภาษาเขมรเป็นภาษาสยามได้กระจ่างชัด     98. ทรงเชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์หาผู้ใดเปรียบปานมิได้     99. เมื่อการประกอบพิธีครบถ้วน และได้ช้างเผือกอันงามบริสุทธิ์แล้ว     100. ขอเทพยดาทุกองค์จงชื่นชมถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์     101. ขอจงเจริญพระชนม์ยั่งยืนนานนับพันปี มีพระเกียรติเลิศล้ำแสนกัลป์     102. ขอจบทรงมีความศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดชครบทุกประการ ขอให้คำประกาศนี้จงประสบความสำเร็จเทอญ บรรณานุกรมดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ประเทศไทย. ANTHOLOGY OF ASEAN LITERATURES. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๓๙. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์ , ๒๕๒๕. ดัชนีคำศัพท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง กมลาศน์ : พระพรหม กัมพุช : กัมพูชา กระสัน : ความต้องการในรัก กรินี : ช้างเพศเมีย กลางแด : ตรงกลางดวงใจ กำแหง : พยศ , ไม่เชื่อฟัง ขจร : กระจาย คช : ช้าง คิรี : ภูเขา คลาไคล : ใกล้ชิด คเชน : ช้าง ไคล : คราบเหงื่อไคล เงื้อม : ชะง่อนเขา จงกลนี : ดอกบัว จลุง : หมอนหนุน ฉัด : เตะ ชนนี : แม่ ชนัก : เครื่องมือใช้สำหรับบังคับช้าง ชวาลา : โคมไฟ ชีวิตร : ชีวิต ชำนิ : สวยงาม ซองหาง : สายรัดประดับหางช้าง เซราะเซรา : การกัดเซาะของสายน้ำ ดอกโดร : ดอกไม้ ดำรู : ลักษณะงาม ตม : ปลัก , โคลน ตรีโลกีย์ : โลกทั้ง ๓ คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล ตรึงตรา : ติดอยู่ภายใน ทุกขา : ความทุกข์ใจ ทั้งมวล : ทั้งหมด , ทั้งสิ้น เทินเขา : เนินเขา นรินทร์ : พระราชา นิรันดร : ตลอดไป นิเรง : ชื่นชม บาศ : เชือกสำหรับคล้องช้าง บริบาล : คุ้มครอง , รักษา บริพาร : บริวาร , ข้ารับใช้ บีฑา : รบกวน บุราณ : เก่าแก่ , โบราณ บูรี : เมือง ป่ง : ป่าเขา ประเสริฐ : ดีเลิศ ผจง : เฝ้าดูแล ผลาหาร : อาหาร ผอก : อาหาร ฝ่าคำ : ขัดคำสั่ง พนม : ภูเขา พนานต : ป่าเขา พรรษา : ปี พระกรรม์ : พระกรรมบดี พระพนัศบดี : เทพแห่งป่าเขา ไพรสณฑ์ : ป่าเขา พฤกษ : ต้นไม้ ภคินี : พี่น้อง ภูเบนทร์ : พระราชา มลทิน : ริ้วรอย , ตำหนิ มานุษย์ : มนุษย์ , คน มาลา : ดอกไม้ ยวลจิตร : ยั่วใจ ยศ : บรรดาศักดิ์ รดีรดัส : หลงรัก รัถยา : เดินทาง ราวี : ติดตามมาทำร้าย เรืองรอง : สวยงาม , ผ่องใส ลมาน : หญ้าละมาน โลกา : โลก เลื่องฤา : เป็นที่กล่าวขาน ลำเภา : สวยงาม วิสุทธ : บริสุทธิ์ ศุขรม : ความสุขสบายใจ โศกา : ความเศร้าโศก ไศล : ภูเขา สกรรจ์ : แข็งแรง , สวยงาม สรนุกนิ์ : สนุกสนาน สรรพ : ทุกสิ่งอัน สรเบย : สุขสบาย สระสโรช : สระบัว เสถียร : ยั่งยืนนาน หมอควาญ : ผู้ฝึกช้าง หฤหรรษ์ : สนุกสนาน หฤไทย : หัวใจ อลงการ : ฟู่ฟ่า , ยิ่งใหญ่ อาดุร : โศกเศร้า อาไศรย : พำนัก , พักพิง อุดมกรรม์ : พิธี อโยทธยา : กรุงศรีอยุธยา อัญขยม : ข้าพเจ้า ฤทธิเดช : มีอำนาจ ฤาษีสิทธิ : ฤาษีผู้มีความชำนาญในการใช้บาศคล้องช้าง