พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. 2548

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. 2548

 

พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. 2548
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548
เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ รัฐสภา ดังต่อไปนี้

         มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือ โดนกัน พ.ศ. 2548"

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

        มาตรา 3 บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        "เรือ" หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด

        "เรือเดินทะเล" หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเลตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

        "เรือโดนกัน" หมายความว่า การปะทะกันระหว่างเรือเดินทะเล หรือการที่เรือเดินทะเลปะทะกับ เรือลำอื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรือ ทรัพย์สินหรือบุคคลบนเรือที่ปะทะกันลำหนึ่งลำใดหรือทุกลำ และให้หมายความรวมถึงการที่เรือเดินทะเลได้ก่อหรือได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยมีสาเหตุจากการ ปฏิบัติการหรืองดเว้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการบังคับหรือการควบคุมเรือ หรือการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ เกี่ยวกับการเดินเรือ แม้ว่าเรือจะมิได้มีการปะทะกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในน่านน้ำใดก็ตาม

         มาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่เรือสำหรับใช้ในการสงคราม หรือเรือของรัฐที่ใช้ในการปฏิบัติการเพื่อสาธารณประโยชน์

        มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

[แก้ไข]
หมวด 1 ความรับผิดกรณีเรือโดนกัน

        มาตรา 7 ความรับผิดกรณีเรือโดนกัน ให้เป็นไปตามส่วนแห่งความผิดของเรือแต่ละลำ

        มาตรา 8 ในการพิสูจน์ความผิดกรณีเรือโดนกัน ห้ามมิให้นำบทสันนิษฐานความผิดที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายอื่นมาใช้บังคับ

         มาตรา 9 ถ้าเรือโดนกันเกิดจากเหตุดังต่อไปนี้ ความเสียหายย่อมตกเป็นพับแก่เรือแต่ละลำ

        (1) อุบัติเหตุ โดยพิสูจน์ได้ว่าเรือแต่ละลำที่เป็นคู่กรณีได้ใช้ความระมัดระวังและความสามารถ ในการเดินเรืออย่างเต็มที่แล้ว และไม่ได้ละเมิดกฎข้อบังคับใด ๆ เกี่ยวกับการเดินเรือ

        (2) เหตุสุดวิสัย หรือ

        (3) ไม่อาจรู้ได้ว่าเรือโดนกันเกิดจากสาเหตุใด

        มาตรา 10 ถ้าเรือโดนกันเกิดจากความผิดของเรือลำเดียว เรือลำนั้นต้องรับผิดต่อความเสียหาย ที่เกิดขึ้น

        มาตรา 11 ถ้าเรือโดนกันเกิดจากความผิดของเรือตั้งแต่สองลำขึ้นไป และไม่อาจกำหนดส่วน แห่งความผิดของเรือแต่ละลำได้ เรือลำที่ผิดแต่ละลำต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่า ๆ กัน

        ความเสียหายที่เกิดแก่เรือและทรัพย์สินบนเรือ เรือลำที่ผิดแต่ละลำต้องรับผิดต่อความเสียหายที่ เกิดขึ้นไม่เกินส่วนแห่งความผิดของตน

        ความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลบนเรือ เรือลำที่ผิดแต่ละลำ ต้องรับผิด ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

        มาตรา 12 กรณีเรือโดนกันเนื่องจากความผิดของผู้นำร่อง เรือลำที่ผิดจะปฏิเสธความรับผิดต่อ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้ และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดกรณีเรือโดนกันตามพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว

        มาตรา 13 ความรับผิดกรณีเรือโดนกันตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เปลี่ยนแปลงสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดในหนี้ที่เกิดจากสัญญารับขนหรือสัญญาอื่น และไม่กระทบกระเทือนบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดกรณีเรือโดนกัน

[แก้ไข]
หมวด 2 ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้กรณีเรือโดนกัน

[แก้ไข]
ส่วนที่ 1 บททั่วไป

        มาตรา 14 ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้นั้น ได้แก่ ค่าเสียหายซึ่งคำนวณได้จากความเสียหาย อันเป็นผลโดยตรงจากเรือโดนกันตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

[แก้ไข]
ส่วนที่ 2 ความเสียหายแก่เรือ

        มาตรา 15 ในกรณีที่เรือเสียหายโดยสิ้นเชิง หรือเรือได้รับความเสียหายจนค่าใช้จ่ายใน การทำให้เรือกลับคืนสู่สภาพเดิมสูงกว่ามูลค่าของเรือในเวลาที่เรือโดนกัน ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ให้รวมถึงราคาเรือตามมูลค่าในเวลาที่เรือโดนกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประเภท อายุ สภาพ ลักษณะการใช้งาน ราคาแห่งมูลประกันภัย ราคาเรือที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน และปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรือนั้น

        นอกจากค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้รวมถึงค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

         (1) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ค่าภาระและค่าใช้จ่ายอันควรอย่างอื่นที่เกิดขึ้นเพราะเรือโดนกัน

         (2) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกตามสัญญา โดยผลของกฎหมายหรือหนี้ตามกฎหมายอย่างอื่นเพราะเรือโดนกัน

        (3) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงบนเรือและอุปกรณ์ประจำเรือที่สูญหายหรือเสียหาย จากเรือโดนกันที่ไม่ได้รวมอยู่ในการประเมินราคาเรือตามวรรคหนึ่ง

        (4) ค่าใช้จ่ายจากการขาดรายได้ในค่าระวาง ค่าเช่า ค่าโดยสารหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นที่จะได้รับตามสัญญาหรือจากการที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเรือ ทั้งนี้ ให้หักค่าใช้จ่ายอันจะเกิดขึ้นหากมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือใช้ประโยชน์จากเรือนั้นออกเสียก่อน

        มาตรา 16 ในกรณีที่เรือเสียหายแต่เพียงบางส่วน ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ให้รวมถึงค่าซ่อมแซมชั่วคราวที่ได้กระทำขึ้นตามสมควรเพื่อให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่าง ปลอดภัยและค่าซ่อมแซมถาวรเพื่อให้เรือกลับคืนสู่สภาพเช่นก่อนเรือโดนกัน และค่าใช้จ่ายอันจำเป็น อย่างอื่นที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม เช่น ค่าไล่แก๊ส ค่าทำความสะอาดถัง ค่าภาระท่าเรือ ค่าควบคุมดูแล การซ่อมแซม ค่าตรวจและยืนยันมาตรฐานเรือ ค่าใช้อู่ ค่าเทียบท่าหรือค่าบริการอย่างอื่นที่เรียกเก็บ ตามระยะเวลาที่ใช้ในการซ่อมแซม เป็นต้น

        นอกจากค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้รวมถึงค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

        (1) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ค่าภาระและค่าใช้จ่ายอันควรอย่างอื่นที่เกิดขึ้นเพราะเรือโดนกัน

        (2) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกตามสัญญา โดยผลของกฎหมายหรือหนี้ตามกฎหมาย อย่างอื่นเพราะเรือโดนกัน

         (3) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงบนเรือและอุปกรณ์ประจำเรือที่สูญหายหรือเสียหายจากเรือ โดนกันที่ไม่ได้รวมอยู่ในค่าซ่อมแซมตามวรรคหนึ่ง

        (4) ค่าใช้จ่ายจากการขาดรายได้ในค่าระวาง ค่าเช่า ค่าโดยสารหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นที่จะได้รับ ตามสัญญา หรือจากการที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเรือในระหว่างการซ่อมแซม ทั้งนี้ ให้หักค่าใช้จ่าย อันจะเกิดขึ้นหากมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือใช้ประโยชน์จากเรือนั้นออกเสียก่อน

        ในกรณีที่เรือได้รับการซ่อมแซมความเสียหายอันเกิดจากเรือโดนกันพร้อมกับการบำรุงรักษา ตามปกติที่มีขึ้นตามรอบระยะเวลาหรือพร้อมกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีอื่น ความเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้รวมถึงค่าใช้อู่ ค่าเทียบท่า หรือค่าบริการอย่างอื่นที่เรียกเก็บตามระยะเวลาเฉพาะในส่วนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซ่อมแซมจากเรือโดนกัน และค่าเสียหายจากการขาดรายได้หรือการที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเรือในระหว่างการซ่อมแซมเฉพาะในส่วนของระยะเวลาที่ เพิ่มขึ้นเพราะการซ่อมแซมความเสียหายจากเรือโดนกัน

        มาตรา 17 ในกรณีที่การซ่อมแซมเรือจำเป็นต้องนำวัสดุที่มีสภาพดีกว่าหรือมีมูลค่าสูงกว่ามาเปลี่ยนส่วนที่เสียหาย ให้ประโยชน์ดังกล่าวตกแก่เรือนั้น

[แก้ไข]
ส่วนที่ 3 ความเสียหายแก่ทรัพย์สินบนเรือ

        มาตรา 18 ในกรณีที่ทรัพย์สินบนเรือเป็นสินค้า ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้มีดังนี้

        (1) กรณีทรัพย์สินนั้นสูญหาย ความเสียหายคำนวณจากการใช้ราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ ท่าปลายทางที่ทรัพย์สินควรจะได้มาถึง หักด้วยค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากทรัพย์สินนั้นไปถึง ท่าปลายทาง ถ้าไม่สามารถกำหนดราคาท้องตลาดดังกล่าวได้ มูลค่าของทรัพย์สินคำนวณจากราคาที่บรรทุกลงเรือ บวกด้วยค่าระวางและค่าใช้จ่ายในการประกันภัยที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้จ่ายไปบวกด้วย ส่วนเพิ่มซึ่งประเมินในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินตามที่คำนวณข้างต้น

        (2) กรณีทรัพย์สินนั้นเสียหาย ความเสียหายคำนวณจากผลต่างระหว่างมูลค่าทรัพย์สิน ณ ท่าปลายทางในสภาพปกติกับมูลค่าในสภาพที่เสียหาย

         (3) กรณีทรัพย์สินนั้นเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากความล่าช้าของการเดินทางหลังจากที่เรือโดนกัน ความเสียหายอันพึงเรียกได้อันเป็นผลจากเรือโดนกันให้คำนวณตาม (2) แต่ไม่รวมถึง ความเสียหายจากการสูญเสียที่เกิดจากการที่ราคาท้องตลาดตกต่ำลงในระหว่างความล่าช้าดังกล่าว

        ในกรณีที่ทรัพย์สินบนเรือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ รวมถึง

        (1) กรณีทรัพย์สินสูญหายหรือไม่อาจซ่อมแซมได้ ความเสียหายคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายอันสมควรในการหาทรัพย์สินมาทดแทน

        (2) กรณีทรัพย์สินเสียหายและสามารถซ่อมแซมได้ ความเสียหายคำนวณจากค่าใช้จ่ายอันสมควร ในการซ่อมแซมซึ่งต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินหรือค่าใช้จ่ายอันสมควรในการหาทรัพย์สินมาทดแทน

[แก้ไข]
ส่วนที่ 4 ความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลบนเรือ

        มาตรา 19 กรณีเรือโดนกันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลบนเรือ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

[แก้ไข]
ส่วนที่ 5 การชดใช้ค่าเสียหาย

        มาตรา 20 ในกรณีที่ความเสียหายจากเรือโดนกันเกิดจากความผิดของเรือตั้งแต่สองลำขึ้นไป การคำนวณค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้นำค่าเสียหายทั้งหมดของเรือแต่ละลำรวมเข้าด้วยกัน และให้คำนวณจำนวนค่าเสียหายที่เรือแต่ละลำต้องรับผิดตามส่วนแห่งความผิดของเรือ

         เรือที่ได้รับความเสียหายเกินกว่าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ในส่วนที่เกินความรับผิดนั้นจากเรือลำอื่นที่รับผิดไม่ครบตามส่วนแห่งความผิดของเรือลำนั้น

[แก้ไข]
หมวด 3 การใช้สิทธิทางศาล

        มาตรา 21 สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่เรือทรัพย์สินบนเรือ ชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลบนเรือเกิดความเสียหาย

        สิทธิไล่เบี้ยระหว่างเรือทุกลำที่มีส่วนผิดตามมาตรา 11 วรรคสาม ให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทน

         ในการฟ้องคดี หากปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุให้เจ้าหนี้ไม่สามารถกักเรือลำหนึ่งลำใดของลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการกักเรือได้ภายในกำหนดอายุความตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองให้อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบสามปีนับแต่วันที่เกิดความเสียหายหรือสองปีนับแต่วันที่ผู้ใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทน แล้วแต่กรณี

        ถ้าเจ้าหนี้ได้กักเรือของลูกหนี้แล้ว แต่มีเหตุสุดวิสัยทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องคดีได้ก่อนครบกำหนดอายุความตามวรรคหนึ่ง วรรคสองหรือวรรคสาม ให้อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือ

        มาตรา 22 คดีเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกันตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

        มาตรา 23 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีเรือโดนกันที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่เกิดเรือโดนกันบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

        หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้การคมนาคมและการขนส่งทางทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้นและเกิดกรณีเรือโดนกันมากขึ้น ความเสียหายจากเรือโดนกันมีเรือเดินทะเลเกี่ยวข้องเป็นกรณีที่มีลักษณะเฉพาะ โดยอาจมีสาเหตุและผลที่เป็นความเสียหายต่างออกไปจากกรณีละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงสมควรมีกฎหมายพิเศษที่วางหลักเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดทางแพ่งและการคำนวณค่าเสียหายจากเรือโดนกัน โดยเฉพาะและเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี