พระราชบัญญัติคันและคูน้ำพ.ศ. ๒๕๐๕

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม๗๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๔๓๕/๒๗ มีนาคม ๒๕๐๕ พระราชบัญญัติคันและคูน้ำพ.ศ. ๒๕๐๕

พระราชบัญญัติคันและคูน้ำพ.ศ. ๒๕๐๕
พระราชบัญญัติ
คันและคูน้ำ
พ.ศ. ๒๕๐๕
___________________
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สังวาลย์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยคันและคูน้ำ
        พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะให้ใช้บังคับในท้องที่ใด มีบริเวณเพียงใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

        พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามวรรคก่อน ให้มีแผนที่แสดงเขตบริเวณท้องที่แนบท้าย และให้ประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของกำนันในท้องที่นั้นด้วย

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคันนาและคูนา พุทธศักราช ๒๔๘๔

        บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “คัน” หมายความว่า คันที่ทำด้วยดินหรือวัสดุถาวรบนพื้นที่ดินตามลักษณะที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกักหรือกั้นน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก

         “คูน้ำ” หมายความว่า ร่องน้ำตามลักษณะที่อธิบดีกำหนดเพื่อชักน้ำเข้าสู่ที่ดินและระบายน้ำออกจากที่ดิน

         “เจ้าของที่ดิน” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น

         “ผู้ครอบครองที่ดิน” หมายความว่า ผู้เช่า ผู้อยู่ หรือผู้ทำการเพาะปลูกในที่ดินของผู้อื่น

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมชลประทาน

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๕ คันต้องมีลักษณะมั่นคงและสามารถกักน้ำไว้เหนือระดับพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่ายี่สิบเซนติเมตร และไม่สูงกว่าสามสิบเซนติเมตร

        มาตรา ๖ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ แล้ว ให้เจ้าของที่ดินจัดทำคันรอบที่ดินภายในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาที่ตนมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับในท้องที่นั้น

        ในกรณีที่การทำคันรอบที่ดินตามวรรคก่อนไม่เป็นการเพียงพอ เจ้าของที่ดินจะต้องจัดทำคันซอยเพิ่มขึ้นเพื่อให้กักน้ำไว้ได้ตามมาตรา ๕

        ในกรณีที่เจ้าของที่ดินหลายรายขอทำคันรอบที่ดินร่วมกันโดยไม่เป็นไปตามแนวเขตรอบที่ดินแต่ละแปลง เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรจะสั่งอนุญาตเป็นหนังสือให้เจ้าของที่ดินจัดทำตามนั้นก็ได้

        มาตรา ๗ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ และพระราชบัญญัตินี้ได้ใช้บังคับในท้องที่ใดครบหนึ่งปีแล้ว ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าเจ้าของที่ดินจะจัดทำคันใดไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาสองปี หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปีแล้วการจัดทำคันใดยังไม่แล้วเสร็จ อธิบดีมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำคันนั้นเสียเอง ในการนี้เจ้าของที่ดินต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำคันนั้น

        มาตรา ๘ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการสำรวจที่ดินภายในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเพื่อประโยชน์ในการวางผังและกำหนดลักษณะคูน้ำ

        เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจที่ดินแล้วทั้งหมดหรือบางส่วน ให้อธิบดีกำหนดผังและลักษณะคูน้ำสำหรับที่ดินที่ได้สำรวจแล้วนั้นและประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของกำนันในท้องที่นั้น

        ผังและลักษณะคูน้ำซึ่งได้ประกาศตามวรรคสอง อธิบดีจะประกาศแก้ไขก็ได้ตามความจำเป็นและสมควร

        มาตรา ๙ เมื่อได้มีประกาศผังและลักษณะคูน้ำตามมาตรา ๘ วรรคสองแล้ว ให้เจ้าของที่ดินจัดทำคูน้ำตามผังและลักษณะที่ประกาศนั้นให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศ

        มาตรา ๑๐ เมื่อได้มีประกาศแก้ไขผังหรือลักษณะคูน้ำตามมาตรา ๘ วรรคท้าย เจ้าของที่ดินซึ่งยังไม่ได้ลงมือจัดทำคูน้ำต้องจัดทำคูน้ำให้เป็นไปตามผังและลักษณะที่ได้ประกาศแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศแก้ไข

        ในกรณีที่เจ้าของที่ดินจัดทำคูน้ำไปแล้วบางส่วนก่อนวันที่ได้มีประกาศแก้ไข เจ้าของที่ดินต้องจัดทำคูน้ำส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามผังและลักษณะที่ได้ประกาศแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศแก้ไข

        ในกรณีที่เจ้าของที่ดินจัดทำคูน้ำไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่ได้มีประกาศแก้ไข ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดทำคูน้ำที่เจ้าของที่ดินได้จัดทำไปแล้วนั้นเสียเองเพื่อให้เป็นไปตามผังและลักษณะที่ได้ประกาศแก้ไข

        มาตรา ๑๑ เมื่อได้ประกาศผังและลักษณะคูน้ำตามมาตรา ๘ วรรคสอง หรือวรรคสาม ครบหนึ่งปีแล้ว ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าเจ้าของที่ดินจัดทำคูน้ำใดจะไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาสองปี หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปีแล้วเจ้าของที่ดินยังจัดทำคูน้ำใดไม่แล้วเสร็จ อธิบดีมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำคูน้ำนั้นเสียเอง ในการนี้เจ้าของที่ดินต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำคูน้ำนั้น

        มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันน้ำโดยทั่วถึงกัน อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำประตูกักน้ำหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำในคูน้ำ โดยให้เจ้าของที่ดินที่รับประโยชน์จากการนั้นออกหรือร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำตามส่วนเนื้อที่ดินของตน

        ในการจัดทำประตูกักน้ำหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำตามวรรคก่อน เจ้าของที่ดินจะจัดทำหรือร่วมกันจัดทำตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด โดยออกค่าใช้จ่ายเองก็ได้

        มาตรา ๑๓ เพื่อให้การจัดทำคูน้ำสำเร็จตามจุดประสงค์ในการใช้น้ำของโครงการชลประทานเร็วยิ่งขึ้น อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำคูน้ำตามผังและลักษณะที่ได้ประกาศไว้เสียเอง

        เมื่ออธิบดีกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำคูน้ำในท้องที่ใด ให้อธิบดีประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของกำนันในท้องที่นั้น

        มาตรา ๑๔ เจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองที่ดินต้องบำรุงรักษาคัน คูน้ำและประตูกักน้ำ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำในที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้คงอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี โดยเฉพาะคูน้ำต้องขุดลอกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

        ถ้าเจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองที่ดินละเลยไม่ปฏิบัติการตามวรรคก่อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดทำเสียเอง ในการนี้เจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองที่ดินต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำนั้น

        มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินเจาะคัน ปิดกั้นคูน้ำ เปิดหรือปิดประตูกักน้ำหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่

        มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้คัน คูน้ำ ประตูกักน้ำหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำเกิดขัดข้องหรือไม่สะดวกในการบังคับน้ำ

        มาตรา ๑๗ ในการดำเนินการตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดินที่เกี่ยวข้องในเวลาอันสมควร

        เจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองที่ดินต้องให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตามวรรคก่อน

        มาตรา ๑๘ ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแต่งตั้งนายตรวจหนึ่งคน สำหรับบริเวณที่ดินไม่เกินหนึ่งพันไร่

        นายตรวจต้องเป็นเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินในบริเวณนั้น

        มาตรา ๒๐ นายตรวจเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายเป็นหนังสือ

        เจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองที่ดินต้องให้ความสะดวกแก่นายตรวจในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคก่อน

        มาตรา ๒๑ นายตรวจพ้นจากหน้าที่เมื่อครบกำหนดสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้เพิกถอนการแต่งตั้งเสียก่อนกำหนดดังกล่าว

        ผู้พ้นจากหน้าที่นายตรวจอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๒๒ นายตรวจอาจได้รับค่าป่วยการตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๒๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        มาตรา ๒๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๐ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

        มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคันนาและคูนา พุทธศักราช ๒๔๘๔ ไม่มีผลตามเจตนาที่ตรากฎหมายนั้นขึ้นไว้ เพราะในปัจจุบันนี้การเกษตรกรรมบางท้องที่ไม่ได้ทำนาอย่างเดียว แต่มีทั้งการทำไร่และการทำนาในทุ่งเดียวกันในเวลาเดียวกันฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติคันและคูน้ำขึ้นใหม่ แทนพระราชบัญญัติคันนาและคูนาที่จะยกเลิกไป

 

 

 


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม๗๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๔๓๕/๒๗ มีนาคม ๒๕๐๕
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ