พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒

พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒
_________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพันธ์พืช

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒"

        มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        *[รก.๒๕๔๒/๑๑๘ก/๑๕/๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒]

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         "พืช" หมายความว่า สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชและให้หมายความรวมถึงเห็ด และสาหร่ายแต่ไม่รวมถึงจุลชีพอื่น

         "พันธุ์พืช" หมายความว่า กลุ่มของพืชที่มีพันธุกรรมและลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สม่ำเสมอ คงตัว และแตกต่าง จากกลุ่มอื่นในพืชชนิดเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงต้นพืชที่จะขยายพันธุ์ให้ได้กลุ่มของพืชที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น

        "พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น" หมายความว่า พันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชนใด ชุมชนหนึ่งภายในราชอาณาจักรและไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้

        "พันธุ์พืชป่า" หมายความว่า พันธุ์พืชที่มีหรือเคยมีอยู่ในประเทศตามสภาพธรรมชาติและยังมิได้นำมาใช้เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย

        "พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป" หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศหรือมีอยู่ในประเทศซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายและให้หมายความรวมถึงพันธุ์พืชที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า

        "สายพันธุกรรม" หมายความว่า สารเคมีที่ทำหน้าที่กำหนดลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตโดยสามารถเป็นต้นแบบในการจำลองตนเองและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปได้

         "การตัดต่อสารพันธุกรรม" หมายความว่า กระบวนการในการนำสารพันธุกรรมที่มีต้นกำเนิดจากสิ่งที่มีชีวิตทั้งที่เป็นสารพันธุกรรมธรรมชาติ สารพันธุกรรมที่ดัดแปลงจากธรรมชาติ หรือสารพันธุกรรมที่สังเคราะห์ขึ้น ถ่ายเข้าไปรวมหรือร่วมอย่างถาวรกับสารพันธุกรรมเดิมของพืชทำให้มีลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตามธรรมชาติ

         "สภาพทางพันธุกรรม" หมายความว่า องค์ประกอบโดยรวมของข้อมูลพันธุกรรมที่กำหนดการแสดงออกซึ่งลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตร่วมกับสภาพแวดล้อม

        "ส่วนขยายพันธุ์" หมายความว่า พืชหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชที่สามารถทำให้เกิดพืชต้นใหม่ได้โดยวิธีปกติทางเกษตรกรรม

        "นักปรับปรุงพันธุ์พืช" หมายความว่า ผู้ซึ่งทำการปรับปรุงพันธุ์ หรือพัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์พืชใหม่

        "ชุมชน" หมายความว่า กลุ่มของประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยต่อเนื่อง และได้ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

         "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

         "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นและออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

_________

        มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งสิบสองคน ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากเกษตรกรหกคน นักวิชาการด้านปรับปรุง พันธุ์พืชจากสถาบันการศึกษาหนึ่งคน นักวิชาการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากสถาบันการศึกษาหนึ่งคน ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสองคน ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช หรือเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืชสองคนเป็นกรรมการและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ

        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นเกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ พัฒนาหรือใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช โดยให้คัดเลือกจากการเสนอชื่อของกลุ่ม ชมรมสมาคม กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรของทุกภูมิภาคโดยต้องมีกรรมการจากภูมิภาคละอย่างน้อยหนึ่งคน

        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามวรรคหนึ่ง ให้คัดเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยองค์การพัฒนาเอกชนดังกล่าว

        การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) เสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและประกาศตามพระราชบัญญัตินี้

         (๒) พิจารณา วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

         (๓) ให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         (๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงหรือพัฒนาพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว

         (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช

         (๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้บำเหน็จพิเศษแก่ลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัด

         (๗) กำหนดหน่วยงานหรือสถาบันให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

         (๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

        มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน สองวาระติดต่อกันไม่ได้

        มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตามมาตรา ๕ เป็นกรรมการแทน เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

        ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทน

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

         ในกรณีที่กรรมการเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือ โดยอ้อมในเรื่องใดห้ามมิให้กรรมการผู้นั้นเข้าร่วมประชุม

        มาตรา ๑๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

        คณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        ให้นำมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ พันธุ์พืช

_________

        มาตรา ๑๑ พันธุ์พืชตามพระราชบัญญัตินี้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

         (๑) มีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ทางด้านสัณฐานวิทยา สรีรวิทยาหรือคุณสมบัติอื่นที่เป็นผลเนื่องจากการแสดงออกของสภาพทางพันธุกรรมที่จำเพาะต่อพันธุ์พืชนั้น

         (๒) มีความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ที่สามารถแสดงลักษณะประจำพันธุ์ได้ในทุกครั้งของการผลิตส่วนขยายพันธุ์พืชนั้น เมื่อขยายพันธุ์ด้วยวิธีทั่วไปสำหรับพืชนั้น

         (๓) มีลักษณะประจำพันธุ์แตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด ทางสัณฐานวิทยาสรีรวิทยา หรือมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการแสดงออกของสภาพทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากพันธุ์พืชอื่น

        ลักษณะของพันธุ์พืชตาม (๑) ไม่ใช้บังคับกับพันธุ์พืชป่า

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

________

        มาตรา ๑๒ พันธุ์พืชที่จะขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นพันธุ์พืชที่ไม่มีการนำส่วนขยายพันธุ์มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด ทั้งในหรือนอกราชอาณาจักรโดย นักปรับปรุงพันธุ์ หรือด้วยความยินยอมของนักปรับปรุงพันธุ์เกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันยื่นขอจดทะเบียน

         (๒) มีความแตกต่างจากพันธุ์พืชอื่นที่ปรากฏอยู่ในวันยื่นขอจดทะเบียน โดยความแตกต่างนั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก การบริโภค เภสัชกรรม การผลิต หรือการแปรรูป และให้หมายความรวมถึงมีความแตกต่างจากพันธุ์พืช ดังต่อไปนี้ด้วย

         (ก) พันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองไว้แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันยื่นขอจดทะเบียน

         (ข) พันธุ์พืชที่มีการยื่นขอจดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้แล้ว และได้รับการจดทะเบียนในเวลาต่อมา

        มาตรา ๑๓ พันธุ์พืชใหม่ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงในทางตรงหรือทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสวัสดิภาพของประชาชน ห้ามมิให้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

        พันธุ์พืชใหม่ที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรมจะจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ต่อเมื่อผ่านการประเมินผลกระทบทางด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสวัสดิภาพของประชาชนจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานหรือสถาบันอื่นที่คณะกรรมการกำหนดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพืชชนิดใดให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองและพืชชนิดใดที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ

        มาตรา ๑๕ ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ต้องเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชและมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

         (๑) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

         (๒) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ขอรับการคุ้มครองในประเทศนั้นได้

         (๓) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

         (๔) มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

        มาตรา ๑๖ สิทธิขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่สำหรับการปรับปรุงพันธุ์พืชซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับจ้างได้กระทำขึ้นโดยการทำงานตามสัญญาจ้าง หรือโดยสัญญาจ้างที่มีวัตถุประสงค์ให้ทำการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ย่อมตกเป็นของนายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง แล้วแต่กรณีเว้นแต่สัญญาจ้างระบุไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ในการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างต้องมีคุณสมบัติตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ของมาตรา ๑๕ ด้วย

        สิทธิขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่สำหรับการปรับปรุงพันธุ์พืชซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการตามหน้าที่ตกเป็นของหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น

        ถ้านายจ้าง ผู้ว่าจ้าง หรือหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับผลประโยชน์จากการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ให้ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นได้รับบำเหน็จพิเศษนอกเหนือจากค่าจ้างหรือเงินเดือนตามปกติ แล้วแต่กรณี

        การได้รับบำเหน็จพิเศษตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๑๗ ถ้ามีบุคคลหลายคนทำการปรับปรุงพันธุ์ หรือทำการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ร่วมกันบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ร่วมกัน

        ในกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วมรายใดไม่ยอมร่วมขอจดทะเบียนหรือติดต่อไม่ได้ หรือขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๕ นักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วมรายอื่นจะขอจดทะเบียนสำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองก็ได้

        นักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วมซึ่งไม่ได้ร่วมขอจดทะเบียนจะขอเข้าเป็นผู้ร่วมขอจดทะเบียนเมื่อใดก็ได้ก่อนมีการออกหนังสือสำคัญแสดงการ จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ เมื่อได้รับคำขอแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้ร่วมขอจดทะเบียนมีสิทธิขอจดทะเบียนหรือไม่ ในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดวันตรวจสอบและส่งสำเนาคำขอไปยังผู้ขอจดทะเบียนและ ผู้ร่วมขอจดทะเบียนด้วย

         ในการตรวจสอบตามวรรคสาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ขอจดทะเบียนและผู้ร่วมขอจดทะเบียนมาให้ถ้อยคำ ชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

         เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วให้เสนอความเห็นต่ออธิบดี เมื่ออธิบดีได้วินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้ขอจดทะเบียนและ ผู้ร่วมขอจดทะเบียน

        มาตรา ๑๘ ในกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชหลายรายต่างทำการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่เป็นพันธุ์พืชเดียวกันโดยมิได้ร่วมกัน ให้ผู้ซึ่งยื่น คำขอจดทะเบียนพันธุ์พืช ใหม่ไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า

        ถ้าการขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ตามวรรคหนึ่งได้กระทำในวันเดียวกัน ให้ผู้ยื่นคำขอตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่

        มาตรา ๑๙ การขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงคำขอจดทะเบียนต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (๑) ชื่อพันธุ์พืชใหม่ และรายละเอียดที่เป็นลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่

         (๒) ชื่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชซึ่งมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพันธุ์ หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่

         (๓) รายละเอียดแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ตลอดจนกรรมวิธีในการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยต้องมีรายละเอียดที่ทำให้สามารถเข้าใจกรรมวิธีดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

         (๔) คำรับรองว่าจะส่งมอบส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ขอจดทะเบียนและสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ตาม (๓) ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบตามเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

         (๕) ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่การใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์สำหรับใช้ประโยชน์ในทางการค้า

         (๖) รายการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๐ ผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นั้นในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ผู้นั้นจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในราชอาณาจักรก็ได้ หากประเทศที่ขอจดทะเบียนเป็นครั้งแรกและผู้ขอจดทะเบียนมีสัญชาติของประเทศที่ให้สิทธิทำนองเดียวกันแก่บุคคลสัญญาชาติไทย

        พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งส่งสำเนาคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ยื่นไว้ในต่างประเทศพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย หรือหลักฐานอื่นภายในเวลาที่กำหนดซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน

        มาตรา ๒๑ ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบดังนี้

         (๑) ตรวจสอบคำขอจดทะเบียนให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๙

         (๒) ตรวจสอบว่ามีลักษณะเป็นพันธุ์พืชตามมาตรา ๑๑ เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ ไม่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง และผ่านการประเมินตามมาตรา ๑๓ วรรคสอง

        ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ถ้ามีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบพันธุ์พืชนั้น ให้ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ชำระค่าใช้จ่ายเท่าจำนวนที่จ่ายจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

        มาตรา ๒๒ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามมาตรา ๒๑ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดี

        เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งแล้วเห็นว่าคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ถูกต้องตามมาตรา ๑๙ ให้อธิบดีมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน โดยให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการประกาศโฆษณาตามจำนวนที่จ่ายจริง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๓ ผู้ใดเห็นว่าตนมีสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่หรือเห็นว่าคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ใดไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๒๐ ผู้นั้นจะยื่นคำคัดค้านก็ได้ โดยให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันเริ่มประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๒

        เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ยื่นคำโต้แย้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไม่ยื่นคำ โต้แย้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นั้น

        คำคัดค้านและคำโต้แย้งให้ยื่นพร้อมหลักฐานประกอบ

        มาตรา ๒๔ ในการพิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้ง ผู้คัดค้านหรือผู้โต้แย้งจะนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        ให้อธิบดีวินิจฉัยคำคัดค้านและคำโต้แย้งตามวรรคหนึ่งให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง

        มาตรา ๒๕ ในกรณีที่อธิบดีได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืช ใหม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของอธิบดี

        ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่มิได้อุทธรณ์คำสั่งของอธิบดี หรือได้ อุทธรณ์แต่คณะกรรมการได้วินิจฉัยยืนตามคำสั่งของอธิบดี ถ้าผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของอธิบดีหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ถือว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอจดทะเบียนในวันเดียวกับวันที่ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ยื่นคำขอจดทะเบียน และให้ถือว่าการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน พันธุ์พืชใหม่ของผู้ยื่นคำขอเดิมเป็นการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ของผู้คัดค้านด้วย

        มาตรา ๒๖ ในกรณีที่อธิบดีได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้อธิบดีสั่งยกคำคัดค้านนั้น

        ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของอธิบดี

        ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

        มาตรา ๒๗ เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ แล้ว ถ้าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่หรือผู้คัดค้าน แล้วแต่กรณี ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด


         ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้นำความในมาตรา ๒๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๒๘ ถ้าปรากฏว่าคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่รวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๒๓

        ถ้าการยกคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้กระทำภาย หลังจากการประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๒ ให้ประกาศโฆษณาคำสั่งยกคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ โดยให้นำความในมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๒๙ เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่และกระบวนการขอจดทะเบียนโดยตลอดแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุขัดข้องในการรับจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ให้อธิบดีมีคำสั่งให้รับจดทะเบียน

         ให้ผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ชำระค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าละทิ้งคำขอ

        เมื่อผู้ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคสองแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม

        หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๐ ให้อธิบดีประกาศชื่อพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๓๑ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้มีอายุดังต่อไปนี้

         (๑) พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกินสองปี ให้มีอายุสิบสองปี

         (๒) พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่าสองปี ให้มีอายุสิบเจ็ดปี

         (๓) พืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจาก ปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่าสองปี ให้มีอายุยี่สิบเจ็ดปี

        อายุหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่

        มาตรา ๓๒ ให้ผู้ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่เป็นผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่นั้น

        ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่จะอนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิในพันธุ์พืชใหม่ของตนหรือจะโอนสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้แก่บุคคลอื่นก็ได้

        ในกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นผู้ทรงสิทธิร่วมกัน การโอนสิทธิหรือการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิทุกคน

        การโอนสิทธิหรือการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามวรรคสอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๓ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ขาย หรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือมีไว้เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

         (๑) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์

         (๒) การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองเพื่อปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืช

         (๓) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งกระทำโดยสุจริต

         (๔) การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองโดยเกษตรกรด้วยการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิต แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชใหม่นั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา

         (๕) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า

         (๖) การขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอก ราชอาณาจักรหรือมีไว้เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งถูกนำออกจำหน่าย โดยผู้ทรงสิทธิหรือด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ

        มาตรา ๓๔ ในการขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงเครื่องหมายให้ปรากฏที่ส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่

        เครื่องหมายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๓๕ การจดทะเบียนการรับโอนสิทธิในพันธุ์พืชใหม่โดยทางมรดกให้เป็น ไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๖ เมื่อมีความจำเป็นในการป้องกันรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพการรักษาสวัสดิภาพของประชาชน การรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศห้ามมิให้ผลิต ขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งพันธุ์พืชใหม่เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประกาศได้เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ ในการรักษาความมั่นคงทางทหารการป้องกันการผูกขาดทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศอนุญาตให้บุคคลทั่วไปให้กระทำการตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่งได้ โดยต้องเสียค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ ประกาศดังกล่าวจะต้องกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้กระทำการและกำหนดอัตราค่าตอบแทนไว้ด้วย

        หลังจากที่ได้ดำเนินการตามความในวรรคสองแล้ว แต่ยังปรากฏว่าไม่สามารถป้องกันหรือบรรเทาเหตุตามวรรคสองได้อย่างมีประสิทธิผล รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นั้นได้

        มาตรา ๓๗ เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ บุคคลอื่นจะยื่นคำขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ต่ออธิบดีก็ได้ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ยื่นคำขอดังกล่าวไม่มีการขายส่วนขยายพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ หรือมีการขายส่วนขยายพันธุ์ดังกล่าวในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในราชอาณาจักร หรือขายในราคาสูงเกินควร เว้นแต่ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่จะพิสูจน์ได้ว่า การนั้นเกิดขึ้นจากพฤติการณ์ที่ตนไม่สามารถควบคุมได้หรือพันธุ์พืชใหม่นั้นเป็นสายพันธุ์สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตเมล็ด พันธุ์ลูกผสม ซึ่งมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในราชอาณาจักรและขายในราคาที่ไม่สูงเกินควร

        อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้มีการใช้สิทธิตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่งได้ โดยให้ผู้ขอใช้สิทธิจ่ายค่าตอบแทนตามสมควรแก่ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่

        การขอใช้สิทธิในพันธุ์พืชใหม่ การกำหนดค่าตอบแทน และระยะเวลาการใช้สิทธิ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๘ อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

         (๑) พันธุ์พืชนั้นไม่มีลักษณะตามมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒

         (๒) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐

         (๓) รายละเอียดในคำขอจดทะเบียนที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ เป็นเท็จ

         ในกรณีที่มีเหตุตาม (๑) (๒) หรือ (๓) บุคคลใดจะกล่าวอ้างหรือยื่นฟ้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ก็ได้

         มาตรา ๓๙ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามอัตราและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องชำระภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ และของทุก ๆ ปีถัดไป

        มาตรา ๔๐ ถ้าผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามมาตรา ๓๙ต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละสามสิบของเงินค่าธรรมเนียมรายปีที่ค้างชำระ

         ถ้าผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมเพิ่มภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามมาตรา ๓๙ ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นั้น

        มาตรา ๔๑ คำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ คำคัดค้านการขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ คำขอจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ คำขอจดทะเบียนการโอนสิทธิตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม ให้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๔๒ ในกรณีที่หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ขอรับใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด ๔ การคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น

_________

        มาตรา ๔๓ พันธุ์พืชที่จะขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งภายในราชอาณาจักรเท่านั้น

         (๒) เป็นพันธุ์พืชที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่

        มาตรา ๔๔ บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งได้ร่วมกันอนุรักษ์ หรือพัฒนาพันธุ์พืชที่เข้าลักษณะที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๓ อาจขอขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยตั้งตัวแทนยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่

        คำขออย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (๑) พันธุ์พืชที่ร่วมกันอนุรักษ์ หรือพัฒนา และวิธีดำเนินการในการอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชนั้น

         (๒) รายชื่อของผู้เป็นสมาชิกชุมชน

         (๓) สภาพพื้นที่พร้อมทั้งแผนที่สังเขปแสดงเขตพื้นที่ชุมชนและเขตติดต่อ

        การยื่นคำขอและการพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนชุมชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกำกระทรวง

        มาตรา ๔๕ พันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในท้องที่ใดและชุมชนเป็นผู้อนุรักษ์ หรือพัฒนาพันธุ์พืชดังกล่าวแต่ผู้เดียว ให้ชุมชนนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชุมชนนั้น ตั้งอยู่ในเขตปกครองให้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแทนชุมชนดังกล่าวได้

        เมื่อได้รับคำร้องจากชุมชนตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นต่อคณะกรรมการนับแต่วันที่ได้รับเอกสารและข้อมูลที่จำเป็นในการขอจดทะเบียนครบถ้วน

        ในกรณีที่ชุมชนตามวรรคหนึ่งรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ให้กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์นั้นมีสิทธิขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแทนชุมชนได้

        มาตรา ๔๖ การขอจดทะเบียน การพิจารณาคำขอจดทะเบียน และการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๔๗ เมื่อได้จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของชุมชนใดแล้วให้ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขายส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายด้วยประการใดซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่ได้รับหนังสือสำคัญ แสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้นแทนชุมชนดังกล่าว

        ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

         (๑) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์

         (๒) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งกระทำโดยสุจริต

         (๓) การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครอง โดยเกษตรกรด้วยการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิต แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธ์ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา

         (๔) การกระทำเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า

        มาตรา ๔๘ ผู้ใดเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้าจะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้น

        ในการอนุญาตให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง และการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น เป็นผู้ทำนิติกรรมแทนชุมชน ทั้งนี้ จะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

        มาตรา ๔๙ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้จัดสรรแก่ผู้ซึ่งอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชนั้นร้อยละยี่สิบ เป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนร้อยละหกสิบ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่เป็น ผู้ทำนิติกรรมร้อยละยี่สิบ

        การแบ่งผลประโยชน์ในระหว่างผู้ซึ่งอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

        มาตรา ๕๐ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับแก่อายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นโดยอนุโลม

        อายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืช พื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามวรรคหนึ่ง อาจขยายเวลาต่อได้คราวละสิบปี หากอธิบดีเห็นว่าพันธุ์พืชนั้นยังประกอบด้วยลักษณะตามมาตรา ๔๓ และชุมชนนั้นยังคงมีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕

        การขอขยายอายุสิทธิและการอนุญาตให้ขยายอายุสิทธิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕๑ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ มาใช้บังคับกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นโดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ การคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า

_________

         มาตรา ๕๒ ผู้ใดเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยให้นำเงินรายได้ตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ส่งเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (๑) วัตถุประสงค์ของการเก็บหรือรวบรวมพันธุ์พืช

         (๒) จำนวนหรือปริมาณของตัวอย่างพันธุ์พืชที่ต้องการ

         (๓) ข้อผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต

         (๔) การกำหนดความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในผลงานการปรับปรุงพันธุ์ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยที่ได้มาจากการใช้พันธุ์พืชในข้อตกลง

         (๕) การกำหนดจำนวน อัตรา และระยะเวลาการแบ่งปันผลประโยชน์ตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการใช้พันธุ์พืชในข้อตกลง

         (๖) อายุของข้อตกลง

         (๗) การยกเลิกข้อตกลง

         (๘) การกำหนดวิธีการระงับข้อพิพาท

         (๙) รายการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕๓ ผู้ใดทำการศึกษา ทดลอง หรือวิจัยพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

[แก้ไข]
หมวด ๖ กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช

_________

        มาตรา ๕๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า "กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช"ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การวิจัย และการพัฒนาพันธุ์พืช ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้

         (๑) เงินรายได้จากข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ตามมาตรา ๕๒

         (๒) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช

         (๓) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

         (๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

         (๕) ดอกผลและผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากกองทุน

        เงินและทรัพย์สินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็น รายได้แผ่นดิน

        มาตรา ๕๕ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

         (๑) ช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใด ๆ ของชุมชนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การวิจัยและการพัฒนาพันธุ์พืช

         (๒) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เพื่ออุดหนุนการอนุรักษ์ การวิจัย และการพัฒนาพันธุ์พืชของชุมชน

         (๓) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

        การบริหารกองทุนและการควบคุมการใช้จ่ายเงินกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

        มาตรา ๕๖ ให้มีคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ และบุคคลอื่นซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคนเป็นกรรมการ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา ๕๗ ให้คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๕ ต่อคณะกรรมการ

         (๒) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือหรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุน

         (๓) พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๕ทั้งนี้ ตามแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการกำหนด

         (๔) พิจารณาอนุมัติคำขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา ๕๕

         (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        มาตรา ๕๘ ให้นำความในมาตรา ๗ และมาตรา ๘ มาใช้บังคับแก่วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการกองทุนโดยอนุโลม

        ให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการกองทุนโดยอนุโลม

        มาตรา ๕๙ ให้จัดสรรเงินจากกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชในส่วนที่ได้รับจากการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ตามมาตรา ๕๒ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปมาใช้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๖๐ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้คณะกรรมการกองทุนเสนองบดุล และรายงานการรับจ่ายเงินกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้วต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อตรวจสอบรับรองและเสนอต่อคณะกรรมการ

        งบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินดังกล่าว ให้คณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

[แก้ไข]
หมวด ๗ การคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืช

__________

        มาตรา ๖๑ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่หรือ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๔๗ แล้วแต่กรณี ศาลมีอำนาจ สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ทรงสิทธิตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงความร้ายแรง ของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิ ของผู้ทรงสิทธิด้วย

        มาตรา ๖๒ บรรดาพันธุ์พืชหรือสิ่งที่อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่หรือผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๔๗ แล้วแต่กรณี ให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น

        บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้กรมวิชาการเกษตรนำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

[แก้ไข]
หมวด บทกำหนดโทษ

_________

        มาตรา ๖๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมวิธีในการปรับปรุงพันธุ์พืชตามมาตรา ๑๙ (๓) ใช้ ยินยอม