พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
______________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528
เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทนายความ และให้มีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป(1)

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 และพระราชบัญญัติทนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2514

        บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        ทนายความ หมายความว่า ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ

        สภานายกพิเศษ หมายความว่า สภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ

        นายก หมายความว่า นายกสภาทนายความ

        กรรมการ หมายความว่า กรรมการสภาทนายความ

        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการสภาทนายความ

        สมาชิก หมายความว่า สมาชิกสภาทนายความ

        ข้อบังคับ หมายความว่า ข้อบังคับสภาทนายความ

        ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออก กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด 1 สภาทนายความ

__________________


        มาตรา 6 ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า สภาทนายความ ประกอบด้วยคณะกรรมการสภาทนายความและสมาชิกสภาทนายความ มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

        ให้สภาทนายความเป็นนิติบุคคล

        มาตรา 7 สภาทนายความมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ
(2) ควบคุมมรรยาทของทนายความ
(3) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ
(4) ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ
(5) ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย

        มาตรา 8 สภาทนายความมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) จดทะเบียนและออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความและตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 9 สภาทนายความอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(1) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(3) รายได้จากทรัพย์สินหรือกิจการอื่น
(4) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

        มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

 

[แก้ไข]
หมวด 2 สมาชิกสภาทนายความ

_____________________


        มาตรา 11 สมาชิกสภาทนายความได้แก่ ทนายความตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาทนายความ มีดังนี้

(1) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาทนายความ โดยส่งไปยังคณะกรรมการสภาทนายความ และในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า
(2) ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของสภาทนายความ ในการประชุมใหญ่ของสภาทนายความ
(3) เลือกหรือรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการสภาทนายความ
(4) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 13 สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

(1) ตาย
(2) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44

 

[แก้ไข]
หมวด 3 คณะกรรมการสภาทนายความ

____________________


        มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการสภาทนายความ ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงยุติธรรมหนึ่งคนและผู้แทนเนติบัณฑิตยสภาหนึ่งคน เป็นกรรมการ และนายกและกรรมการอื่นอีกไม่เกิน ยี่สิบสามคนซึ่งสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศได้เลือกตั้งขึ้นโดยกรรมการดังกล่าวไม่น้อยกว่าเก้าคน จะต้องมีสำนักงานประจำอยู่ตามภาคต่าง ๆ ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคน

        มาตรา 15 ให้นายกแต่งตั้งกรรมการอื่นตามมาตรา 14 เป็นอุปนายกเลขาธิการ นายทะเบียน เหรัญญิก สวัสดิการ ประชาสัมพันธ์และตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา 16 ให้นายกและกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้

        มาตรา 17 ทนายความที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตก่อนวันเลือกตั้งนายก หรือกรรมการ ไม่น้อยกว่าสามสิบวันมีสิทธิเลือกตั้งนายกและหรือกรรมการ

        ทนายความผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันเลือกตั้งนายกหรือกรรมการ

        มาตรา 18 การเลือกตั้งนายกและกรรมการตามมาตรา 14 ทนายความต้องมาใช้สิทธิด้วยตนเองโดยการลงคะแนนลับ

        ทนายความที่มีสำนักงานอยู่ ณ จังหวัดใด ให้ออกเสียงลงคะแนนที่จังหวัดนั้น หรือจะไปออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ก็ได้

        หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งนายกและกรรมการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา 19 ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งนายกและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ

        มาตรา 20 เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ นายก หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งกระทำผิดวัตถุประสงค์ของสภาทนายความหรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาทนายความ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ นายก หรือกรรมการคนนั้นออกจากตำแหน่งได้

        ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงยุติธรรมหนึ่งคน ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภาซึ่งเป็นข้าราชการอัยการหนึ่งคนและซึ่งเป็นทนายความหนึ่งคน กับทนายความอื่นอีกสี่คนเป็นคณะกรรมการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

        คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        มาตรา 21 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นายกหรือกรรมการ ซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นตากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการตามมาตรา 17 วรรคสอง
(4) รัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 20
(5) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44
(6) เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(7) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ
(8) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

        มาตรา 22 ในกรณีที่คณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งและยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ ให้คณะกรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่เว้นแต่กรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 20 ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่โดยให้ประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความปฏิบัติหน้าที่นายก

        ในการปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนระหว่างที่คณะกรรมการใหม่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งหรือคณะกรรมการมรรยาททนายความแล้วแต่กรณี มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 27 (1) เฉพาะกิจการที่มีลักษณะต่อเนื่องและเท่าที่จำเป็นเพื่อให้งานประจำของคณะกรรมการดำเนินไปได้โดยไม่เป็นที่เสียหาย หรือหยุดชะงัก กับจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการเดิมนั้นพ้นจากตำแหน่ง โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยก็ได้

        มาตรา 23 เมื่อนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้เลือกตั้งนายกหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนายกหรือกรรมการนั้นว่างลง เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

        ให้ผู้ซึ่งเป็นนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งตามวาระของนายกหรือกรรมการซึ่งตนแทน

        มาตรา 24 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นายกหรือผู้รักษาการแทนเป็นประธานในที่ประชุม

        มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 25 ในกรณีที่นายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือนายกไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอุปนายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรืออุปนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน

        มาตรา 26 สภานายกพิเศษหรือผู้แทนจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาทนายความในเรื่องใด ๆ ก็ได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

        มาตรา 27 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) บริหารกิจการของสภาทนายความตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา 7
(2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ เว้นแต่กิจการซึ่งมีลักษณะหรือสภาพที่ไม่อาจมอบหมายให้กระทำการแทนกันได้
(3) ออกข้อบังคับสภาทนายความเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และข้อบังคับว่าด้วย
(ก) การเป็นสมาชิกและการขาดจากสมาชิกของสภาทนายความ
(ข) การเรียกเก็บและชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
(ค) การแจ้งย้ายสำนักงานของทนายความ
(ง) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(จ) เรื่องอื่น ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ หรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาทนายความตามกฎหมายอื่นรวมทั้งการแต่งตั้งการบังคับบัญชาการรักษาวินัย และการออกจากตำแหน่งของพนักงานสภาทนายความ

        มาตรา 28 ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 29 ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้พร้อมทั้งแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้มีการยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับนั้น

        มาตรา 30 ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งโดยพิจารณาเหตุผลของสภานายกพิเศษประกอบด้วย ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันถึงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับนั้นต่อสภานายกพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภานายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับหรือไม่คืนร่างข้อบังคับนั้นมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอ ให้นายกดำเนินการประกาศใช้ข้อบังคับนั้นในราชกิจจานุเบกษาต่อไปได้

        มาตรา 31 ทนายความไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้

        มาตรา 32 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกมีอำนาจกระทำการแทนสภาทนายความ แต่นายกจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้

 

[แก้ไข]
หมวด 4 การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ

__________________________


        มาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น

        มาตรา 34 การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต การรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาต และการขอบอกเลิกจากการเป็นทนายความให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 35 ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต
(3) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาทางนิติศาสตร์หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรืออนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาทนายความเห็นว่าสถาบันการศึกษานั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้ และเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
(4) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
(5) ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(6) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(7) ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
(8) ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(9) ไม่เป็นผู้มีกายพิการหรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพทนายความ
(10) ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำเว้นแต่ข้าราชการการเมือง
(11) ไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามมาตรา 71

        มาตรา 36 ภายใต้บังคับมาตรา 38 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว เห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้คณะกรรมการพิจารณารับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอโดยเร็ว

        ในกรณีที่คณะกรรมการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอคณะกรรมการต้องแสดง เหตุผลของการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในกรณีเช่นนี้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์การไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตของสภาทนายความต่อสภานายกพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

        คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

        มาตรา 37 ให้ผู้ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความหรือผู้ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตแล้วเป็นสมาชิกสภาทนายความ

        มาตรา 38 ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความเป็นผู้ที่ไม่เคยเป็นทนายความ หรือไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา ตุลาการศาลทหาร พนักงานอัยการ อัยการทหารหรือทนายความตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาก่อน คณะกรรมการจะรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอได้ผ่านการฝึกอบรมมรรยาททนายความ หลักปฏิบัติเบื้องต้นในการว่าความ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอจะได้ผ่านการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

        เมื่อเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการจะสั่งยกเว้นให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งก็ได้

        การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักสูตร วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา 39 ใบอนุญาตให้มีอายุใช้ได้เป็นเวลาสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาต เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่เสียค่าธรรมเนียมในอัตราตลอดชีพให้มีอายุตลอดชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต

        ทนายความผู้ใดที่ใบอนุญาตมีอายุใช้ได้เป็นเวลาสองปี หากประสงค์จะทำการเป็นทนายความต่อไป ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ การต่ออายุใบอนุญาตคราวหนึ่งให้ใช้ได้ สองปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

        ในกรณีที่คณะกรรมการไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

        มาตรา 40 ทนายความที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 39 วรรคสอง มีสิทธิได้รับการต่ออายุใบอนุญาต หากได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุและยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละยี่สิบของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น

        มาตรา 41 ใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในข้อบังคับโดยอย่างน้อยต้องมีชื่อ วัน เดือน ปี เกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ที่ตั้งสำนักงาน รูปถ่ายของผู้ถือใบอนุญาต เลขหมายใบอนุญาต วันออกใบอนุญาต และวันที่ ใบอนุญาตสิ้นอายุ

        ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือชำรุดเสียหาย

        มาตรา 42 ทนายความต้องมีสำนักงานที่จดทะเบียนเพียงแห่งเดียวตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือตามที่ได้แจ้งย้ายสำนักงานต่อนายทะเบียนทนายความในภายหลัง

        ให้นายทะเบียนทนายความจดแจ้งสำนักงานทนายความตามวรรคหนึ่งไว้ในทะเบียนทนายความ

        มาตรา 43 เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ไม่ว่าจะขาดคุณสมบัติก่อนหรือหลังจากจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความ และให้คณะกรรมการจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ

        บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ทนายความผู้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหลังจากทนายความผู้นั้นได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว

        เมื่อมีการจำหน่ายชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

        ให้นำบทบัญญัติมาตรา 70 มาใช้บังคับแก่การจำหน่ายชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

        มาตรา 44 ทนายความขาดจากการเป็นทนายความ เมื่อ

(1) ตาย
(2) ขอบอกเลิกจากการเป็นทนายความ
(3) ขาดต่อใบอนุญาตตามมาตรา 39 วรรคสอง
(4) ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา 43 หรือ
(5) ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 68 หรือมาตรา 69

 

[แก้ไข]
หมวด 5 การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ

______________________


        มาตรา 45 การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ ได้แก่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมใหญ่วิสามัญ

        มาตรา 46 คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนเมษายนของทุกปี

        มาตรา 47 เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้

        เมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อร้องขอเป็นหนังสือให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ เว้นแต่คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องที่ขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสภาทนายความ หรือไม่มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาทนายความ

        หนังสือร้องขอตามวรรคสองให้ระบุโดยชัดแจ้งว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดและด้วยเหตุอันสมควรอย่างใด

        มาตรา 48 ในกรณีที่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อคณะกรรมการได้รับคำร้องขอตามมาตรา 47 วรรคสอง คณะกรรมการต้องแจ้งเหตุผลของการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวโดยชัดแจ้งไปยังสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งร่วมเข้าชื่อร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีเช่นนี้สมาชิกผู้ร่วมเข้าชื่อร้องขอนั้นทั้งหมดมีสิทธิร่วมเข้าชื่อคัดค้านการไม่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นต่อสภานายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

        คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด และในกรณีที่สภานายกพิเศษมีคำวินิจฉัยเห็นชอบด้วยกับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากสภานายกพิเศษ

        มาตรา 49 ในการประชุมใหญ่ของสภาทนายความ ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองไม่น้อยกว่าสามร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวใด นายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกและอุปนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

        มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 50 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมใหญ่ของสภาทนายความให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

 

[แก้ไข]
หมวด 6 มรรยาททนายความ

_________________________


        มาตรา 51 ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับ

        ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ

        มาตรา 52 โทษผิดมรรยาททนายความมี 3 สถาน คือ

(1) ภาคทัณฑ์
(2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ
(3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

        ในกรณีประพฤติผิดมรรยาททนายความเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรกถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษตามมาตรา 66 มาตรา 67 หรือมาตรา 68 แล้วแต่กรณีเห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

        มาตรา 53 ข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ต้องประกอบด้วยข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(1) มรรยาทของทนายความต่อศาลและในศาล
(2) มรรยาทของทนายความต่อตัวความ
(3) มรรยาทของทนายความต่อทนายความด้วยกัน
(4) มรรยาทของทนายความต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี
(5) มรรยาทเกี่ยวกับความประพฤติของทนายความ
(6) การแต่งกายของทนายความ และ
(7) การปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความคณะกรรมการหรือสภานายกพิเศษ แล้วแต่กรณี

 

[แก้ไข]
หมวด 7 คณะกรรมการมรรยาททนายความ

_________________________


        มาตรา 54 ให้มีคณะกรรมการมรรยาททนายความประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการมรรยาททนายความอื่นอีกไม่น้อยกว่าเจ็ดคนตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด

        ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความจากทนายความซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) เป็นทนายความมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
(2) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความ หรือถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

        มาตรา 55 การแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา 54 จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ

        มาตรา 56 ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา 54 ต่อสภานายกพิเศษ โดยไม่ชักช้า ในกรณีที่สภานายกพิเศษไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบกลับมายังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการแต่งตั้ง ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนั้น

        ในกรณีที่สภานายกพิเศษแจ้งกลับมายังนายกภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งว่าไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความหรือกรรมการมรรยาททนายความคนใดคนหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการลงมติยืนยันการแต่งตั้งเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งนั้นต่อสภานายกพิเศษ ถ้าสภานายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่แจ้งกลับมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายกให้นายกดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการมรรยาททนายความ หรือกรรมการคนนั้นได้

        มาตรา 57 ประธานกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีมรรยาททนายความให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือในข้อบังคับ

        เมื่อประธานกรรมการมรรยาททนายความไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการมารยาททนายความปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการมรรยาททนายความถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการมรรยาททนายความไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการมรรยาททนายความ

        มาตรา 58 กรรมการมรรยาททนายความมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้

        ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งซ่อมเว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการมรรยาททนายความจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันคณะกรรมการจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งซ่อมก็ได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 55 และมาตรา 56 มาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งซ่อมโดยอนุโลม

        กรรมการมรรยาททนายความซึ่งได้รับแต่งตั้งซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ที่ตนแทน

        มาตรา 59 ในกรณีที่คณะกรรมมรรยาททนายความพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการมรรยาททนายความใหม่ ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่า คณะกรรมการมรรยาททนายความคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่

        ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความใหม่ภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมรรยาททนายความคณะเก่าพ้นจากตำแหน่ง

        มาตรา 60 กรรมการมรรยาททนายความพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ครบวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 54 วรรคสอง หรือ
(5) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44

        มาตรา 61 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการมรรยาททนายความเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่กรรมการมรรยาททนายความด้วยโดยอนุโลม

        มาตรา 62 คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจแต่งตั้งทนายความคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งในขอบอำนาจของคณะกรรมการมรรยาททนายความ เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความ

        มาตรา 63 ในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ต้องมีกรรมการมรรยาททนายความมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดของคณะกรรมการมรรยาททนายความจึงจะเป็นองค์ประชุม

        ภายใต้บังคับมาตรา 64 วรรคสาม และมาตรา 69 วรรคสาม การประชุมปรึกษา หรือการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความของคณะกรรมการมรรยาททนายความให้ถือตามเสียงข้างมาก แต่กรรมการมรรยาททนายความฝ่ายข้างน้อยมีสิทธิทำความเห็นแย้งได้

        มาตรา 64 บุคคลผู้ได้รับความเสียหายหรือทนายความมีสิทธิกล่าวหาทนายความว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการมรรยาททนายความ

        สิทธิกล่าวหาทนายความตามวรรคหนึ่งเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิกล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดมรรยาททนายความ และเมื่อรู้ตัวผู้ประพฤติผิดแต่ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันประพฤติผิดมรรยาททนายความ

        การถอนคำกล่าวหาที่ได้ยื่นตามวรรคหนึ่ง จะเป็นเหตุให้คดีมรรยาททนายความระงับก็ต่อเมื่อคณะกรรมการมรรยาททนายความมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการมรรยาททนายความที่มาประชุม อนุญาตให้ผู้กล่าวหาถอนคำกล่าวหาได้

        มาตรา 65 เมื่อได้รับคำกล่าวหาตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง หรือเมื่อได้รับแจ้งจากศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน หรือเมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการมรรยาททนายความว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการสอบสวนมรรยาททนายความผู้ใด ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความแต่งตั้งทนายความไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวน เพื่อการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ และมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใด ๆ ส่งหรือจัดการส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนได้

        เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องต่อประธานกรรมการมรรยาททนายความเพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรา 66 ต่อไป

        มาตรา 66 ในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี สั่งยกคำกล่าวหา หรือสั่งลงโทษหรือดำเนินการกับทนายความที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52

        มาตรา 67 ในกรณีที่คณะกรรมการมรรยาททนายความมีคำสั่งตามมาตรา 66 ให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความส่งสำนวนคดีมรรยาททนายความนั้นไปยังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้คณะกรรมการทำการพิจารณาและจะสั่งยืน แก้ หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความ รวมทั้งสั่งลงโทษ หรือดำเนินการกับทนายความที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52 ตามที่เห็นสมควรได้ และก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการอาจสั่งให้คณะกรรมการมรรยาททนายความทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้


        เมื่อนายกได้รับสำนวนคดีมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งแล้วหากคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัยมายังประธานกรรมการมรรยาททนายความภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน ให้ถือว่าคณะกรรมการมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความ เว้นแต่กรณีที่มีการสอบสวนเพิ่มเติม ระยะเวลาหกสิบวันให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม

        คำสั่งของคณะกรรมการที่ยืนตามให้จำหน่ายคดี หรือยกคำกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองให้เป็น ที่สุด

        มาตรา 68 ทนายความซึ่งถูกสั่งลงโทษหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52 อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้สภานายกพิเศษทำการพิจารณาและมีคำสั่ง และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการมีคำสั่งของสภานายกพิเศษโดยอนุโลม

        คำสั่งของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

        มาตรา 69 เมื่อทนายความผู้ใดต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษให้ศาลชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น มีหนังสือแจ้งการต้องโทษจำคุกของทนายความผู้นั้นให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความทราบ

        เมื่อได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความ เสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความสั่งลบชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ แต่คณะกรรมการมรรยาททนายความจะไม่สั่งลบชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำความผิดของทนายความผู้นั้นไม่เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไม่เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าทนายความผู้นั้นไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นการกระทำที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

        คำสั่งไม่ลบชื่อทนายความผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคสองต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดของคณะกรรมการมรรยาททนายความ

        คำสั่งลบชื่อหรือไม่ลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความแจ้งต่อนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้คณะกรรมการทำการพิจารณา และจะสั่งยืน หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความก็ได้

        มาตรา 70 เมื่อมีคำสั่งอันถึงที่สุดลงโทษทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความ หรือมีคำสั่งลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความให้นายทะเบียนทนายความจดแจ้งคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนทนายความและแจ้งคำสั่งนั้น ให้ทนายความผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาทราบ

        ในกรณีที่คำสั่งตามวรรคหนึ่งเป็นคำสั่งห้ามทำการเป็นทนายความหรือคำสั่งลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ให้นายทะเบียนความแจ้งคำสั่งนั้นให้ศาลทั่วราชอาณาจักร และเนติบัณฑิตยสภาทราบด้วย

        มาตรา 71 บุคคลที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความจะขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตอีกมิได้ เว้นแต่เวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันถูกลบชื่อ

        มาตรา 72 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมปรึกษา การสอบสวน การพิจารณา และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

 

[แก้ไข]
หมวด 8 กองทุนสวัสดิการทนายความ

_______________________


        มาตรา 73 ให้มีกองทุนสวัสดิการทนายความ ประกอบด้วย

(1) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปี
(2) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
(3) ดอกผลของ (1) และ (2)

        ทนายความที่ได้รับความเดือดร้อนหรือทายาทของทนายความที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน มีสิทธิขอรับการสงเคราะห์จากเงินกองทุนสวัสดิการทนายความ โดยยื่นคำขอต่อสวัสดิการสภาทนายความ

        การสงเคราะห์ การเก็บรักษา และการจ่ายเงินสวัสดิการทนายความให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

 

[แก้ไข]
หมวด 9 การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

_____________________


        มาตรา 74 ให้มีคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประกอบด้วยนายก อุปนายก เลขาธิการ และบุคคลอื่นอีกไม่เกินแปดคนที่คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

        ให้นายกเป็นประธานกรรมการ อุปนายกเป็นรองประธานกรรมการและเลขาธิการเป็นเลขานุการ

        มาตรา 75 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 58 และมาตรา 60 มาใช้บังคับแก่กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

        มาตรา 76 คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ให้การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตามมาตรา 79
(2) เก็บรักษาและจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตามมาตรา 77
(3) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา 77 ให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประกอบด้วย

(1) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของเงินรายได้ของสภาทนายความตามมาตรา 9 (1) ของปีที่ล่วงมา
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(3) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
(4) ดอกผลของ (1) (2) และ (3)

        มาตรา 78 ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องเป็นผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม

        มาตรา 79 การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ได้แก่

(1) การให้คำปรึกษา หรือแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย
(2) การร่างนิติกรรมสัญญา
(3) การจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่าง

        คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจะจัดให้มีทนายความประจำคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวด้วยก็ได้ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา 80 เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาทนายความคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายต้องมีหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ยังเหลืออยู่ งบดุลและรายรับรายจ่ายของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งมีคำรับรองของผู้สอบบัญชีสภาทนายความ รวมทั้งผลงานและอุปสรรคข้อขัดข้องของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา

        ให้ประธานกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่งสำเนาหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบตามวรรคหนึ่ง ไปยังรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

        มาตรา 81 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ การประชุมของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

 

[แก้ไข]
หมวด 10 บทกำหนดโทษ

______________________


        มาตรา 82 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 33 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 83 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งซึ่งให้มาเพื่อให้ถ้อยคำหรือให้ส่งหรือ จัดการส่งเอกสารหรือวัตถุใดหรือมาตามหนังสือเรียกแล้วแต่ไม่ยอมให้ถ้อยคำ โดยปราศจากเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_________________


        มาตรา 84 ให้ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความชั้นหนึ่งหรือชั้นสองอยู่แล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นทนายความนั้น ๆ เป็นใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้มีอายุใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        ให้ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 (3) ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือเคยจดทะเบียนและรับ ใบอนุญาตเป็นทนายความชั้นสองอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีสิทธิขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 39 และมาตรา 40 หรือขอจดทะเบียน และรับใบอนุญาตได้และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นทนายความตาม พระราชบัญญัตินี้

        ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 35 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) และ (11) มาใช้บังคับแก่ทนายความตามวรรคสองด้วย

        มาตรา 85 ให้เนติบัณฑิตยสภาส่งมอบทะเบียนทนายความและบรรดาเอกสารที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความการต่ออายุใบอนุญาตเป็นทนายความและการควบคุมมรรยาททนายความ เว้นแต่สำนวนคดีมรรยาททนายความที่ยังค้างพิจารณาอยู่ให้แก่สภาทนายความภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 86 ให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามมาตรา 53 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        ในระหว่างที่คณะกรรมการยังมิได้ออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าบทบัญญัติตามมาตรา 12 (1) (2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พุทธศักราช 2477 และข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยมรรยาททนายความและการแต่งกายของทนายความที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ mพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นเสมือนข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมี ข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่ง

        มาตรา 87 ให้มีคณะกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา 54 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง

        ให้บรรดาคดีมรรยาททนายความที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และคดีมรรยาททนายความที่เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทนายความที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะเสร็จการ

        เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติวรรคสอง ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความและบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีมรรยาททนายความอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อการปฏิบัติตามบทบัญญัติวรรคสองมีอำนาจกระทำการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทนายความที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อไปนี้กว่าจะเสร็จการ

        มาตรา 88 ในวาระเริ่มแรกให้รัฐมนตรีแต่งตั้งทนายความซึ่งมีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 17 วรรคสอง จำนวนสิบห้าคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นกรรมการบริหารของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามเป็นคณะกรรมการตามมาตรา 14 ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 89 ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 88 เลือกและแต่งตั้งกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นนายกตามมาตรา 14 ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง

        ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 14 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

(1) การจดทะเบียนเป็นทนายความ 800 บาท
(2) การรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพ ฉบับละ 4,000 บาท
(3) การรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความสองปี ฉบับละ 800 บาท
(4) การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ฉบับละ 800 บาท
(5) การออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ฉบับละ 100 บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยทนายความได้ใช้บังคับมานานแล้วและมีบทบัญญัติบางประการที่สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมเพื่อควบคุมและส่งเสริมการประกอบอาชีพทนายความ เช่น ให้มีสภาทนายความเพื่อควบคุมมรรยาทของทนายความ ให้มีกองทุนสงเคราะห์ทนายความเพื่อช่วยเหลือทนายความ เป็นต้น และสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยตรง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้สามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางและทันกับความต้องการ จึง จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้