พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
----------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทางหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515

        (2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 พ.ศ.2522

        (3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        ทางหลวง หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนอกจากทางรถไฟ และให้หมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณ ที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร เรือสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงและเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นด้วย

        งานทาง หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะหรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง

ทางจราจร หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้เพื่อการจราจรของยานพาหนะ
ทางเท้า หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน

        ทางขนาน หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้ทั้งสองข้างหรือเฉพาะข้างใดข้างหนึ่งของทางหลวงเพื่อใช้เป็นทางจราจรหรือทางเท้า

ไหล่ทาง หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่อยู่ติดต่อกับทางจราจรทั้งสองข้าง

        ผู้อำนวยการทางหลวง หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอำนาจและหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงและงานทางเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่งหรือเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือเฉพาะสายใดสายหนึ่ง ตามพระราชบัญญัตินี้

        เจ้าพนักงานทางหลวง หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานทางหลวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราช-บัญญัตินี้

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราช-บัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานทางหลวงกับออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะ

        (2) จัดทำ ปัก ติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณหรือสัญญาณอย่างอื่น ขีดเส้น เขียนข้อความ หรือเครื่องหมายอื่นใดสำหรับการจราจรบนทางหลวง

(3) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ส่วนที่ 1

[แก้ไข]
บททั่วไป

------
หมวด 1

[แก้ไข]
ประเภทของทางหลวง

------

มาตรา 6 ทางหลวงมี 6 ประเภท คือ
(1) ทางหลวงพิเศษ
(2) ทางหลวงแผ่นดิน
(3) ทางหลวงชนบท
(4) ทางหลวงเทศบาล
(5) ทางหลวงสุขาภิบาล
(6) ทางหลวงสัมปทาน

        มาตรา 7 ทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวงที่ได้ออกแบบเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้เป็นทางหลวงพิเศษ และกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ

        มาตรา 8 ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจน สถานที่ที่สำคัญที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน

        มาตรา 9 ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาลที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมโยธาธิการ หรือสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท

        มาตรา 10 ทางหลวงเทศบาล คือ ทางหลวงในเขตเทศบาล ที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงเทศบาล

        มาตรา 11 ทางหลวงสุขาภิบาล คือ ทางหลวงในเขตสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสุขาภิบาล

        มาตรา 12 ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน

มาตรา 13 ทางหลวงประเภทต่าง ให้ลงทะเบียนไว้ดังต่อไปนี้

         (1) ทางหลวงพิเศษและทางหลวงแผ่นดิน อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง โดยอนุมัติรัฐมนตรี

(2) ทางหลวงสัมปทาน อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง

         (3) ทางหลวงชนบท ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด เมื่อได้รับความยินยอมจากอธิบดีกรมโยธาธิการหรือเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท แล้วแต่กรณี

         (4) ทางหลวงเทศบาล นายกเทศมนตรีเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ สำนักงานเทศบาล โดยอนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัด

         (5) ทางหลวงสุขาภิบาล ประธานกรรมการสุขาภิบาลเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ สำนักงานสุขาภิบาล โดยอนุมัติอธิบดีกรมโยธาธิการ

        มาตรา 14 รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการทางหลวง การแต่งตั้งนั้นจะจำกัดให้เป็นผู้อำนวยการทางหลวงเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือเฉพาะสายใดสายหนึ่งก็ได้

        มาตรา 15 ในกรณีที่รัฐมนตรียังไม่ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 14 ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้อำนวยการทางหลวง

(1) อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน
(2) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นผู้อำนวยการทางหลวงชนบท
(3) นายกเทศมนตรีเป็นผู้อำนวยการทางหลวงเทศบาล
(4) ประธานกรรมการสุขาภิบาลเป็นผู้อำนวยการทางหลวงสุขาภิบาล
มาตรา 16 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเปลี่ยนประเภททางหลวง ดังต่อไปนี้

         (1) ทางหลวงที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดียวกันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นเป็นผู้มีอำนาจ สั่งเปลี่ยน

         (2) ทางหลวงที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการต่างกระทรวงกันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งเป็นผู้รับการเปลี่ยนประเภททางหลวงเป็นผู้มีอำนาจสั่งเปลี่ยน

เมื่อได้เปลี่ยนประเภททางหลวงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แก้ไขทะเบียนให้ถูกต้อง

        การสั่งเปลี่ยนทางหลวงประเภทอื่นเป็นทางหลวงพิเศษหรือการสั่งเปลี่ยนทางหลวงพิเศษเป็นทางหลวงประเภทอื่น ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 17 ในกรณีที่มีปัญหาว่าทางหลวงสายใดเป็นทางหลวงประเภทใดให้รัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

        มาตรา 18 บุคคลซึ่งก่อสร้างทางขึ้นอาจร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 13 ลงทะเบียนทางนั้นเป็นทางหลวงได้ แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะรับลงทะเบียนให้ได้ต่อเมื่อบุคคลซึ่งก่อสร้างทางนั้นได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้แล้ว

หมวด 2

[แก้ไข]
การกำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทาง

------

        มาตรา 19 ให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน

        มาตรา 20 ให้อธิบดีกรมโยธาธิการหรือเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทแล้วแต่กรณี เป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบทและทางหลวงสุขาภิบาล

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลดังต่อไปนี้

         (1) นายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลืออธิบดีกรมโยธาธิการหรือเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบท

         (2) ประธานกรรมการสุขาภิบาลเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลืออธิบดีกรมโยธาธิการในกรณีที่เกี่ยวกับทางหลวงสุขาภิบาล

        มาตรา 21 ให้นายกเทศมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงเทศบาล

        มาตรา 22 ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจตรายานพาหนะที่เดินบนทางหลวงและการจราจรบนทางหลวงให้เป็นไปตามพระราช-บัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 23 ให้เจ้าพนักงานทางหลวงมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจตราดูแลมิให้มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
(2) เรียกยานพาหนะให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบในกรณีที่เชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

         (3) จับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะกระทำความผิดเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้เจ้าพนักงานทางหลวงแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวเจ้าพนักงานทางหลวงให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 24 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานทางหลวงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา 25 ในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ให้อธิบดีกรมทางหลวงมีอำนาจกำหนดมาตรฐานและลักษณะของทางหลวงและงานทาง รวมทั้งกำหนดเขตทางหลวง ที่จอดรถ ระยะแนวต้นไม้ และเสาพาดสาย

        มาตรา 26 ในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบท ทางหลวงเทศบาล และทางหลวงสุขาภิบาล ให้อธิบดีกรมโยธาธิการหรือเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทแล้วแต่กรณี มีอำนาจกำหนดมาตรฐานและลักษณะของทางหลวงและงานทางรวมทั้งกำหนดเขตทางหลวง ที่จอดรถ ระยะแนวต้นไม้และเสาพาดสาย ตลอดจนควบคุมในทางวิชาการและอบรมเจ้าหน้าที่ ฝ่ายช่างเกี่ยวกับทางหลวงและงานทาง

        มาตรา 27 นอกจากทางหลวงสัมปทาน การสร้างทางหลวงประเภทใดขึ้นใหม่ หรือขยายเขตทางหลวงประเภทใด ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการทางหลวงประเภทนั้น

        มาตรา 28 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือการจราจรบนทางหลวง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจปิดการจราจรบนทางหลวงนั้นทั้งสายหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และวางระเบียบปฏิบัติสำหรับให้เจ้าพนักงานปิดการจราจรเป็นครั้งคราวเพื่อความปลอดภัยได้

        มาตรา 29 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่งานทาง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจ

         (1) ใช้ที่ดินริมทางหลวงซึ่งปราศจากสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลใดเป็นการชั่วคราว

         (2) ใช้และเข้าครอบครองวัตถุสำหรับใช้งานทางซึ่งอยู่ในที่ดินของบุคคลใดเป็นการชั่วคราว รวมทั้งทำทางผ่านเข้าไปในที่ดินใด ๆ เพื่อใช้และเข้าครอบครองวัตถุสำหรับใช้งานทางได้ด้วย

        ก่อนที่จะกระทำการตาม (1) หรือ (2) ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

        มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจใช้ที่ดินหรือเข้าครอบครองวัตถุสำหรับใช้งานทางซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดในบริเวณหรือใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดภัยพิบัตินั้นได้เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่งานทาง และมีอำนาจเกณฑ์แรงราษฎร สัตว์พาหนะหรือยานพาหนะตลอดจนเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอุปกรณ์สำหรับใช้งานทางได้ด้วย

การเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งและอัตราค่าจ้างหรือค่าตอบแทน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

        มาตรา 31 เพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน ให้อธิบดีกรมทางหลวงมีอำนาจเข้าครอบครองทางหลวงสัมปทาน และในการนี้ให้สิทธิและอำนาจสั่งการของผู้รับสัมปทานตกมาอยู่กับอธิบดีกรมทาง-หลวงทั้งหมด จนกว่าภัยพิบัตินั้นจะหมดไป

        มาตรา 32 เพื่อประโยชน์แก่งานทาง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง มีอำนาจทำหรือแก้ทางระบายน้ำที่ไหลผ่านทางหลวงในระยะสองร้อยเมตรจากเขตทางหลวงได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งสำเนาแบบก่อสร้างให้เจ้าของที่ดินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

        มาตรา 33 ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเนื่องจากการกระทำของผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 29 (1) หรือ(2) มาตรา 30 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 32 ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 34 ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจทำงานทางเพื่อเชื่อม ผ่าน ทับ ข้าม หรือลอดทางรถไฟหรือทางน้ำได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งสำเนาแบบก่อสร้างให้ผู้ควบคุมการรถไฟหรือทางน้ำนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

        มาตรา 35 ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีกรมทางหลวงมีอำนาจสร้างทางหลวงพิเศษหรือทางหลวงแผ่นดินเพื่อเชื่อม ผ่าน ทับ ข้าม หรือลอดทางหลวงประเภทอื่นได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ทางหลวงประเภทอื่นนั้นทั้งสายหรือบางส่วนอยู่ในการกำกับ ตรวจตราและควบคุมของอธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทางหลวง

        มาตรา 36 วัตถุ เครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอุปกรณ์สำหรับใช้งานทางซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือสุขาภิบาล เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ส่วนที่ 2

[แก้ไข]
การควบคุม การรักษา การขยายและสงวนเขตทางหลวง

------
หมวด 1

[แก้ไข]
การควบคุมทางหลวง

------

        มาตรา 37 ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงเพื่อเป็นทางเข้าออกทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาตผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดมาตรการในการจัดการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันอุบัติภัย และการติดขัดของการจราจร

        การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทางหรือเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตได้กระทำการผิดเงื่อนไข ที่กำหนดในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะเพิกถอนเสียก็ได้

        ทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวรื้อถอนหรือทำลายภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางรื้อถอนหรือทำลาย โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วางหรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาตผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้

        การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทางหรือเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตได้กระทำการผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะเพิกถอนเสียก็ได้

        ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวรื้อถอน ทำลาย หรือขนย้ายสิ่งที่ติดตั้ง แขวน วางหรือกองอยู่ภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจรื้อถอน ทำลาย หรือขนย้ายสิ่งที่ติดตั้ง แขวน วางหรือกองอยู่ โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลม หรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล

        มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เปลี่ยนแปลง ขีดเขียน เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเครื่องหมายจราจร ป้ายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องหมายสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หรือหลักระยะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งหรือทำให้ปรากฏในเขต ทางหลวง

        มาตรา 41 ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจห้ามมิให้ผู้ใดหยุด จอด หรือกลับยานพาหนะใด ๆ บนทางจราจรหรือไหล่ทางในทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วนได้ โดยทำเป็นประกาศหรือเครื่องหมายให้ปรากฏไว้ในเขตทางหลวงนั้น

        มาตรา 42 ในกรณียานพาหนะใด ๆ เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์เกิดขัดข้องหรือชำรุดบนทางจราจรจนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ให้นำยานพาหนะนั้นเข้าจอดบนไหล่ทาง หรือถ้าไม่มีไหล่ทางให้จอดชิดซ้ายสุด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ขัดข้องหรือชำรุด

        ถ้ากรณีตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่มีสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ใช้ยานพาหนะอื่นจะมองเห็นยานพาหนะที่หยุดหรือจอดอยู่ได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรต้องเปิดหรือจุดไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นยานพาหนะนั้นได้

        มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ใดขุด ขน ทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทางหลวง หรือวัตถุสำหรับใช้งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง

มาตรา 44 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ ขาย แจกจ่าย หรือเรี่ยไรบนทางจราจรและไหล่ทาง

        มาตรา 45 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง

        มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางจราจร ทางเท้าหรือไหล่ทาง เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ผู้อำนวยการทางหลวงกำหนด

        ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์ในเขตทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วน ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาตผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้

ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคสอง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 47 ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างสิ่งใดในเขตทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดมาตรการในการจัดการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันอุบัติภัยและการติดขัดของการจราจร กำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าเช่าก็ได้

        การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทางหรือเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตได้กระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะเพิกถอนเสียก็ได้

        สิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้นำมาตรา 37 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 48 ผู้ซึ่งดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค เมื่อมีความจำเป็นต้องปักเสา พาดสาย วางท่อ หรือกระทำการใด ๆ ในเขตทางหลวงให้ทำความตกลงกับผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงแล้ว จึงจะกระทำการนั้นได้

        ในการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไข กำหนดอัตรา และวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าเช่าก็ได้ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องค่าเช่า ให้เสนอรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือกระทำผิดข้อตกลง ให้นำมาตรา 37 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 49 เมื่อมีความจำเป็นจะต้องควบคุมทางเข้าออกทางหลวงเพื่อให้การจราจรบนทางหลวงเป็นไปโดยรวดเร็วและสะดวก หรือเพื่อความปลอดภัยในการจราจรบนทางหลวง ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวงทั้งสายหรือบางส่วนดังต่อไปนี้

         (1) สร้างหรือดัดแปลงต่อเติมอาคารตามประเภท ชนิด หรือลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง สถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการก๊าซ สถานีบริการล้างหรือตรวจสภาพรถ หรือติดตั้งป้ายโฆษณาภายในระยะไม่เกินสิบห้าเมตรจากเขต ทางหลวง

         (2) สร้างศูนย์การค้า สนามกีฬา สนามแข่งขัน โรงมหรสพ สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือจัดให้มีตลาด ตลาดนัด งานออกร้าน หรือกิจการอื่นที่ทำให้ประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ภายในระยะไม่เกินห้าสิบเมตรจากเขตทางหลวง

        ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้

        การกำหนดทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วนที่จะห้ามมิให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

        มาตรา 50 เมื่อพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 49 ใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่มีอาคารหรือสิ่งอื่นปลูกสร้างขึ้น หรือสิ่งที่จัดให้มีขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจรื้อถอน โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        ในกรณีที่เป็นอาคารหรือสิ่งอื่นที่กำลังปลูกสร้างหรือสิ่งที่จัดให้มีขึ้นเมื่อผู้อำนวยการทางหลวงเห็นสมควร ให้ผู้อำนวยการทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่น หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกของอาคารนั้นภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งอื่น หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกของอาคาร แล้วแต่กรณี โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงชำระค่าทดแทนตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นในการที่ต้องรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกของอาคารนั้น ถ้าไม่เป็นที่ตกลงกันได้ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ก่อนที่จะกระทำการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นทราบล่วงหน้าภายในกำหนดเวลาอันสมควร

        มาตรา 51 ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในบริเวณที่มีการดำเนินการตามมาตรา 49 หรือมาตรา 50

        ก่อนที่จะเข้าไปตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นในบริเวณดังกล่าวทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน

หมวด 2

[แก้ไข]
การควบคุมทางหลวงพิเศษ

------

        มาตรา 52 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ทางหลวงสายใดที่จะสร้างขึ้นใหม่หรือที่มีอยู่เดิมทั้งสายหรือบางส่วนเป็นทางหลวงพิเศษ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 53 อธิบดีกรมทางหลวงมีอำนาจปิดทางหลวงหรือทางอื่นใดที่มีอยู่เดิมที่ทางหลวงพิเศษตัดผ่าน และมีอำนาจห้ามการสร้างทางหลวงหรือทางอื่นใดขึ้นใหม่ที่มาเชื่อมหรือผ่านทางหลวงพิเศษ

        ในกรณีที่มีการปิดทางหลวงหรือทางอื่นใดที่ทางหลวงพิเศษตัดผ่านตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีกรมทางหลวงมีอำนาจ

(1) กำหนดให้ใช้ทางอื่นใดที่มีอยู่แล้วแทน
(2) ดัดแปลง แก้ไข หรือจัดให้มีทางเพื่อใช้แทนทางที่ปิดในกรณีที่ไม่มีทางอื่นใดตาม (1)
ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ

        มาตรา 54 ให้ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษมีอำนาจประกาศห้ามยานพาหนะบางชนิดหรือคนเดินเท้าใช้ทางหลวงพิเศษสายใดทั้งสายหรือบางส่วนโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงพิเศษเพื่อเป็นทางเข้าออกทางหลวงพิเศษ

        ในกรณีที่ทางหลวงพิเศษมีทางขนาน ผู้ใดจะสร้างทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงพิเศษเพื่อเป็นทางเข้าออกทางขนาน ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทาง-หลวงพิเศษ

        การอนุญาตตามวรรคสอง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทาง ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษจะเพิกถอนเสียก็ได้

        ทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่งหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตตามวรรคสอง ให้นำมาตรา 37 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 56 ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงพิเศษ

        ผู้ซึ่งดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค เมื่อมีความจำเป็นต้องปักเสาพาดสาย วางท่อ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคในเขตทางหลวงพิเศษ ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ

        ในการอนุญาตตามวรรคสอง ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษจะกำหนดตำแหน่งและระดับที่จะกระทำการนั้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ และให้นำมาตรา 48 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        การอนุญาตตามวรรคสอง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทาง ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษจะเพิกถอนเสียก็ได้

        ในกรณีที่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคตามวรรคสอง ได้กระทำการผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต ให้การอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง

        อาคารหรือสิ่งอื่นที่ปลูกสร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตตามวรรคสอง หรือผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาตตามวรรคสาม ให้นำมาตรา 37 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 57 เมื่อพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 49 ใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่มีอาคารหรือสิ่งอื่นใดอยู่ในที่ดินริมเขตทางหลวงพิเศษ เมื่อผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษเห็นสมควร ให้ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินริมเขตทางหลวงพิเศษดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งอื่นนั้นภายในกำหนดเวลาอันสมควรถ้าไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษมีอำนาจรื้อถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งอื่นนั้นได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นดังกล่าวทราบล่วงหน้าภายในกำหนดเวลาอันสมควร ทั้งนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        ให้ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษชำระค่าทดแทนตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นในการที่ต้องรื้อถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งอื่นนั้นถ้าไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 58 ให้นำความในหมวด 1 มาใช้บังคับแก่การควบคุมทางหลวงพิเศษโดยอนุโลม เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในหมวดนี้

หมวด 3

[แก้ไข]
การรักษาทางหลวง

------

        มาตรา 59 ห้ามมิให้ผู้ใดกีดกั้นหรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำที่ติดต่อกับเขตทางหลวงหรือทางน้ำที่ไหลผ่านทางหลวงในเขตที่ดินภายในระยะห้าร้อยเมตรจากแนวกลางทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง

        ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนสิ่งกีดกั้นหรือแก้ไขทางน้ำภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเข้ารื้อถอนหรือจัดการแก้ไข โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        มาตรา 60 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ยานพาหนะบนทางหลวงซึ่งยังมิได้เปิดอนุญาตให้ใช้เป็นทางสาธารณะ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ควบคุมทางหลวงนั้นหรือผู้ได้รับสัมปทานแล้วแต่กรณี

        มาตรา 61 เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย

        ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวง สำหรับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน หรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมโยธาธิการหรือเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท แล้วแต่กรณี สำหรับทางหลวงชนบทและทางหลวงสุขาภิบาล หรือได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับทางหลวงเทศบาล

        ทั้งนี้ ให้ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่ในกรณีที่มีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางหลวง ให้เจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงตามวรรคหนึ่งได้ทั้งนี้ ให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณดังกล่าวข้างต้น และชั่วระยะเวลาอันกำหนด

        มาตรา 62 เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ริมทางหลวงต้องรักษาต้นไม้ เหมือง ฝาย หรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่อยู่ในความครอบครองของตนไม่ให้กีดขวางทางจราจรหรือเกิดความเสียหายแก่ทางหลวง ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นจัดการแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวภายในกำหนดเวลาอันสมควร

        ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับแจ้งแล้วไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจเข้ารื้อถอน ทำลาย หรือตัดฟัน โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

        มาตรา 63 รัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือครั้งละไม่เกินหนึ่งปีให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือบุคคลที่สมควรเก็บค่าใช้ท่าเรือ หรือค่าใช้เรือสำหรับขนส่งข้ามฟาก หรือค่าใช้สิ่งก่อสร้างในทางหลวง ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกแก่การจราจร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

หมวด 4

[แก้ไข]
การขยายและสงวนเขตทางหลวง

------

        มาตรา 64 ทางหลวงประเภทใดยังไม่มีเขตทางปรากฏแน่ชัดหรือไม่ได้ขนาดมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามมาตรา 25 หรือมาตรา 26 แล้วแต่กรณีให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตทางหลวง และกำหนดเขตสงวนสองข้างทางไว้เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        ผู้ใดประสงค์จะปลูกสร้างสิ่งใดในเขตดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้ขออนุญาตต่อผู้อำนวยการทางหลวง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะทำได้ แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนถ้าได้มีการสร้างหรือขยายทางหลวง

        รัฐมนตรีอาจเพิกถอนประกาศกำหนดเขตทางหลวงหรือกำหนดเขตสงวนตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 65 เพื่อประโยชน์แก่งานทาง รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสงวนที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครองโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงบริเวณที่ดินที่จะสงวนติดไว้ท้ายประกาศนั้น

        เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ไม่มีผู้ใดแย้งสิทธิ ให้ที่ดินนั้นตกอยู่ในความคุ้มครองของผู้อำนวยการทางหลวง และห้ามมิให้ผู้ใดเข้าครอบครองหักร้าง จัดทำ หรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆ ในที่ดินนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง

        รัฐมนตรีอาจเพิกถอนประกาศการสงวนตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วนโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 66 ในกรณีที่มีการขออนุญาตจับจองที่ดินริมทางหลวง ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตสั่งเว้นช่องทางไว้ให้เป็นมุมฉากกับแนวทางหลวงโดยมีขนาดกว้างยี่สิบเมตร เพื่อให้เป็นทางเข้าไปสู่ที่ดินข้างใน ช่องทางที่ว่านี้ให้มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าห้าร้อยเมตร และให้ถือเป็นทางหลวงด้วย

        เมื่อได้มีการเว้นช่องทางไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีการอนุญาตให้ผู้ใดจับจองที่ดินเข้าไปอีก ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตสั่งให้ผู้ขออนุญาตเว้นช่องทางตามแนวเดิมต่อไป

        เมื่อได้มีการอนุญาตให้ผู้ใดจับจองที่ดินริมทางหลวงตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตแจ้งให้ผู้อำนวยการทางหลวงทราบ

        มาตรา 67 เมื่อได้มีคำสั่งให้ผู้ใดเว้นช่องทางตามมาตรา 66 แล้วภายในกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นได้รับคำสั่ง ให้ผู้นั้นจัดให้มีหลักเขตปักแสดงให้เห็นเขตทางที่เว้นไว้ โดยระยะห่างกันไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรต่อหลักหนึ่ง และให้เป็นหน้าที่ของผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองระวังรักษาหลักเขตนั้นให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

        ถ้าผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองไม่กระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเข้าปฏิบัติการได้ โดยผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนที่ 3

[แก้ไข]
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง

------

        มาตรา 68 เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

        การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง โดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม

ส่วนที่ 4

[แก้ไข]
บทกำหนดโทษ

-------------

มาตรา 69 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 5 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 70 ผู้ใดขัดขวางการกระทำของผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 32 มาตรา 37 วรรคสาม มาตรา 38 วรรคสาม มาตรา 47 วรรคสาม มาตรา 48 วรรคสาม มาตรา 50 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 51 วรรคหนึ่ง มาตรา 55 วรรคสี่ มาตรา 56 วรรคหก มาตรา 57 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 วรรคสอง หรือมาตรา 62 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 71 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 39 มาตรา 43 มาตรา 45 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง มาตรา 48 วรรคหนึ่ง มาตรา 55 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 56 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือมาตรา 65 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 72 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 44 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 หรือฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 46 วรรคสอง หรือมาตรา 54 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 73 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง มาตรา 60 หรือมาตรา 64 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 61 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

-----

        มาตรา 74 ให้ทางหลวงจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เปลี่ยนเป็นทางหลวง-แผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 75 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน

        มาตรา 76 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้าง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น

        ในกรณีที่มีการเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ยังไม่เสร็จสิ้น ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ต่อไป

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานไม่เหมาะ-สมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทางหลวงให้สอดคล้องกับความเจริญและการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้