พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕

พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕
_______________________

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕"


        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๓๔


        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

        "ธนาคาร" หมายความว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

        "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" หมายความว่า กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือกิจการอื่นที่มีจำนวนการจ้างงาน มูลค่าทรัพย์สินถาวรหรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ตามจำนวนหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

        "เงินกองทุน" หมายความว่า

        (๑) ทุนที่ชำระแล้ว

        (๒) ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่ธนาคารได้รับ

        (๓) เงินที่ธนาคารได้จากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิเพื่อซื้อหุ้นของธนาคาร

        (๔) เงินสำรองที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิ

        (๕) กำไรสุทธิคงเหลือหลังจากการจัดสรร

        (๖) เงินสำรองจากการตีราคาสินทรัพย์

        (๗) เงินที่ธนาคารได้รับเนื่องจากการออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ระยะยาวเกินห้าปีที่มีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ

        "ตราสารทางการเงิน" หมายความว่า ตั๋วเงิน หุ้นกู้ พันธบัตร และตราสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

        "บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด

        "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

        "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

        "ผู้จัดการ" หมายความว่า ผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ การจัดตั้ง

______________________


        มาตรา ๖ ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า "ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย"

        ให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล


        มาตรา ๗ ให้ธนาคารตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสาขาหรือสำนักงานผู้แทน ณ ที่อื่นใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การจะตั้งสาขาหรือสำนักงานผู้แทนภายนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน


        มาตรา ๘ ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งหมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นหนึ่งร้อยล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร


        มาตรา ๙ ในกรณีที่ธนาคารมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นหรือทุนเรือนหุ้น ให้ธนาคารดำเนินการได้โดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น


        มาตรา ๑๐ ความรับผิดของผู้ถือหุ้น ให้จำกัดเพียงเท่ามูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ วัตถุประสงค์

_____________________


        มาตรา ๑๑ ให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการพัฒนาส่งเสริม ช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยายหรือการปรับปรุงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการให้สินเชื่อ ค้ำประกัน ร่วมลงทุน ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้บริการที่จำเป็นอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๑๒ ให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๑ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

        (๑) ให้กู้ยืมหรือร่วมให้กู้ยืมเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้

        (๒) ร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

        (๓) ให้คำแนะนำด้านการเงิน เทคนิค วิชาการ การพัฒนาการผลิต การตลาด การบริหาร การจัดการ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับบริการเกี่ยวกับการเงิน การบริหาร การจัดการ หรือทางเทคนิค

        (๔) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร

        (๕) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพย์สิทธิ ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนา ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ หรือรับเป็นหลักประกันการชำระหนี้ แลกเปลี่ยน โอน รับโอน ตัวแทน นายหน้า หรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้

        (๖) มีบัญชีเงินฝากไว้กับสถาบันการเงินอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร

        (๗) ค้ำประกันหนี้

        (๘) ออกตราสารทางการเงิน

        (๙) รับรองตั๋วเงิน สอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

        (๑๐) ซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลด ขาย ขายลดหรือขายลดช่วงตามสารทางการเงิน หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้รับประโยชน์แห่งตราสารนั้น

        (๑๑) เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น ๆ เนื่องมาจากการให้กู้ยืมเงิน ซื้อ ซื้อลด รับช่วงซื้อลด การค้ำประกัน และการให้บริการอื่น ๆ

        (๑๒) การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ

        (๑๓) จัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจที่เป็นประโยชน์โดยตรงแก่กิจการของธนาคารโดยได้รับความเป็นชอบจากรัฐมนตรี

        (๑๔) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ โดยมีดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนด แต่การรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

        (๑๕) เป็นตัวแทนของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อจ่าย เรียกเก็บหรือรับชำระเงินประเภทใด ๆ ที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ธนาคารจ่าย เรียกเก็บ หรือรับชำระจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเป็นตัวแทนของบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้โดยต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร

        (๑๖) ให้เงินคงเหลืออยู่เปล่าของธนาคารในการลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

        (๑๗) จัดให้มีสวัสดิการตามสมควรแก่พนักงาน ลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

        (๑๘) ให้สินเชื่อหรือบริการทางการเงินในรูปอื่นที่เป็นประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

        (๑๙) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร


        มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ธนาคารกระทำการดังต่อไปนี้

        (๑) ลงทุนในกิจการใดที่กรรมการ กรรมการบริหาร หรือผู้จัดการของธนาคารเป็นหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการ หรือเป็นผู้ถือหุ้น หรือมีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ด้วยไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

        (๒) ให้สินเชื่อหรือประกันหนี้ใด ๆ ของบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังต่อไปนี้ หรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่บุคคล ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วหรือผู้สลักหลัง

(‏ก) กรรมการ กรรมการบริหาร หรือผู้จัดการ
(‏ข) คู่สมรสของกรรมการ กรรมการบริหาร หรือผู้จัดการ
(‏ค) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการ กรรมการบริหาร หรือผู้จัดการ
(‏ง) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตาม (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) เป็นหุ้นส่วน
(‏จ) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตาม (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) เป็นหุ้นส่วนจำพวก

ไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดรวมกันเกินร้อยละสามสิบของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

(‏ฉ) บริษัทที่บุคคลตาม (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ง) หรือ (จ)

ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

(ช) บริษัทที่บุคคลตาม (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ง) หรือ (จ) หรือบริษัทตาม (ฉ) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

        (๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กรรมการ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับเนื่องแต่การกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของธนาคาร ทั้งนี้ นอกจากเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด บำเหน็จรางวัลประจำปีตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตลอดจนเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ซึ่งพึงจ่ายตามข้อบังคับของธนาคาร

        (๔) ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(‏ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการ พนักงานและ

ลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์เพื่อกิจการของธนาคาร

(‏ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้ จากการประกันสินเชื่อ หรือจากการซื้อ

อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจำนองหรือซึ่งเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาด

        บรรดาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกเป็นของธนาคารตาม (ข) จะต้องจำหน่ายภายในห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคาร หรือภายในกำหนดเวลามากกว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ตาม (ก)

        การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคก่อน ให้กระทำโดยวิธีการขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ คณะกรรมการและการจัดการ

____________________


        มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

        ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้จัดการ รองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ


        มาตรา ๑๕ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ

        (๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร ยกเว้นผู้จัดการ

        (๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

        (๓) เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

        (๔) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการของธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นที่ได้กระทำหรือมีส่วนในการกระทำอันเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต

        (๕) เป็นข้าราชการการเมืองหรือเป็นผู้มีตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

        (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ


        มาตรา ๑๖ กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

        ในกรณีที่มีการเลือกตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งไว้แล้ว

        เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่

        กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน


        มาตรา ๑๗ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๖ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

        (๑) ตาย

        (๒) ลาออก

        (๓) เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕

        (๔) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมทั้งหมด

        (๕) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐


        มาตรา ๑๘ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ เข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่าหกสิบวัน

        มติของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่

        บุคคลที่เข้าเป็นกรรมการแทนตามวรรคหนึ่ง อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน


        มาตรา ๑๙ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


        มาตรา ๒๐ กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้แจ้งการมีส่วนได้เสียของตนให้คณะกรรมการทราบ และห้ามมิให้ผู้นั้นร่วมประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว


        มาตรา ๒๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๑ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

        (๑) การออกข้อบังคับว่าด้วยหุ้นของธนาคาร

        (๒) การออกข้อบังคับว่าด้วยการให้กู้เงิน การค้ำประกันหนี้ การขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ การรับจำนำ การรับจำนอง และการประกอบธุรกิจอื่นของธนาคาร

        (๓) การออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานและการดำเนินกิจการของธนาคาร

        (๔) การออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร

        (๕) การออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน ทรัพย์สิน การบัญชี รวมทั้งการตรวจสอบภายในของธนาคาร

        (๖) การออกข้อบังคับว่าด้วยสวัสดิการพนักงาน ลูกจ้างของธนาคารและครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

        (๗) การตั้งสาขาหรือสำนักงานผู้แทนของธนาคาร


        มาตรา ๒๒ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารอื่นอีกไม่เกินสามคน และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง

        ให้กรรมการบริหารที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่ลักษณะต้องห้าม การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารด้วยโดยอนุโลม


        มาตรา ๒๓ ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ

        (๑) มีสัญชาติไทย

        (๒) มีประสบการณ์ในด้านการบริหารตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

        (๓) มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการธนาคาร การเศรษฐกิจ การอุตสาหกรรม หรือกฎหมาย

        (๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) และ

        (๕) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน หรือลูกจ้างของบุคคลอื่น

        การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดเงื่อนไขอื่นในการทดลองปฏิบัติงาน หรือการทำงาน และการประเมินผลการทำงานในหน้าที่ผู้จัดการให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ซึ่งคณะกรรมการกำหนดโดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้าง คณะกรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสองคราวติดต่อกัน

        ในการว่าจ้างผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในนามธนาคาร


        มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานของธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งจะต้องไม่ก้าวล่วงต่ออำนาจหน้าที่ของผู้จัดการตามมาตรา ๒๕

        คณะกรรมการบริหารต้องรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการทุกรอบสามเดือน


        มาตรา ๒๕ ให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นโยบายและข้อบังคับ รวมทั้งกิจการอื่นที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารกำหนด


        มาตรา ๒๖ ให้ผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของธนาคารและมีอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับของธนาคาร


        มาตรา ๒๗ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของธนาคารและเพื่อการที่ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร


        มาตรา ๒๘ เมื่อตำแหน่งผู้จัดการว่างลง หรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราวให้รองผู้จัดการเป็นผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการ แล้วแต่กรณี

        ในกรณีที่ไม่มีรองผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของธนาคารคนหนึ่งในระดับหรือตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคารเป็นผู้รักษาการหรือทำการแทนผู้จัดการ แล้วแต่กรณี

        ให้ผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้จัดการ


        มาตรา ๒๙ เพื่อประโยชน์ในการกำกับควบคุมและการตรวจสอบกิจการภายในของธนาคารให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบไม่เกินห้าคน เพื่อตรวจสอบการดำเนินกิจการของธนาคารและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย


        มาตรา ๓๐ ในระหว่างที่ธนาคารมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณให้ประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการบริหาร ได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด


        มาตรา ๓๑ กรรมการหรือกรรมการบริหารต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ธนาคาร หากมีการดำเนินการ โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมทำกิจการนั้น หรือกิจการดังกล่าวได้กระทำไปโดยมิได้อาศัยมติของที่ประชุมคณะกรรมการหรือได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการโดยปรากฏในรายงานการประชุม หรือได้ทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่วันที่มีการรับรองรายงานการประชุม

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ การกำกับ การดำเนินงาน และการควบคุม

_______________________


        มาตรา ๓๒ ในระหว่างที่ธนาคารมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคาร เพื่อการนี้จะสั่งให้ธนาคารชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของธนาคารซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้ธนาคารปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีและสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารได้

        เมื่อธนาคารไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงของธนาคารและมีอำนาจตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารได้ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติการดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้


        มาตรา ๓๓ ให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ธนาคารได้รับความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๒ หรือตามข้อตกลงที่ธนาคารทำไว้กับรัฐบาล กระทรวงการคลังอาจพิจารณาชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วและให้ยื่นขอรับการชดเชยความเสียหายดังกล่าวในรอบปีบัญชีถัดไป

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ การประชุมผู้ถือหุ้น

___________________


        มาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมสามัญของผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี เพื่อพิจารณากิจการดังต่อไปนี้

        (๑) รายงานกิจการประจำปีของธนาคาร

        (๒) อนุมัติงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน

        (๓) อนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิ

        (๔) ตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี

        (๕) เลือกตั้งกรรมการ

        (๖) เรื่องอื่น ๆ


        มาตรา ๓๖ คณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้นเมื่อใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร


        มาตรา ๓๗ องค์ประชุมสามัญและวิสามัญของผู้ถือหุ้นจะต้องประกอบด้วยผู้ถือหุ้น หรือผู้แทนของผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด

 

[แก้ไข]
หมวด ๖ การให้กู้ยืมเงิน

__________________


        มาตรา ๓๘ การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร ในข้อบังคับนั้น ให้กำหนดลักษณะของผู้กู้ วัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน ระยะเวลาการชำระเงินกู้ จำนวนขั้นสูงของเงินกู้ การให้มีหรือยกเว้นหลักประกันเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชำระหนี้เงินกู้ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

[แก้ไข]
หมวด ๗ การจัดหาเงินทุน

____________________


        มาตรา ๓๙ ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานของธนาคาร ให้ธนาคารมีอำนาจ

        (๑) กู้ยืมเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

        (๒) ออกตราสารทางการเงิน

        (๓) ขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามข้อบังคับของธนาคาร

        (๔) รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น


        มาตรา ๔๐ ในระหว่างที่ธนาคารมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ธนาคารอาจขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ที่ธนาคารกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศหรือภายในประเทศได้แต่จำนวนเงินกู้ที่ธนาคารจะขอให้รัฐบาลค้ำประกันเมื่อรวมกับต้นเงินกู้ที่การค้ำประกันของรัฐบาลยังค้างอยู่ต้องไม่เกินสิบสองเท่าของเงินกองทุนของธนาคาร

        การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท เพื่อทราบยอดรวมของเงินกู้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้วิธีเทียบค่าโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ทำสัญญา

 

[แก้ไข]
หมวด ๘ การจัดสรรกำไร

___________________


        มาตรา ๔๑ กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลบำเหน็จรางวัลประจำปีตามมาตรา ๓๐ และเงินสำรอง ให้โอนเข้าบัญชีกำไรสะสม


        มาตรา ๔๒ ทุกคราวที่ธนาคารจ่ายเงินปันผล ให้ธนาคารจัดสรรกำไรสุทธิไว้เป็นเงินสำรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่จ่าย

        เมื่อเงินสำรองตามวรรคหนึ่งมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว หรือมากกว่านั้นธนาคารจะงดการจัดสรรหรือลดจำนวนเงินที่จะต้องจัดสรรเป็นเงินสำรองก็ได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๙ การสอบบัญชีและรายงาน

____________________


        มาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการสอบบัญชีของธนาคารอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง


        มาตรา ๔๔ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี ให้คณะกรรมการเสนองบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา และให้คณะกรรมการเสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมกันด้วย


        มาตรา ๔๕ ให้ธนาคารเสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุล และบัญชีกำไร ขาดทุนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี

        รายงานตามวรรคหนึ่งให้กล่าวถึงผลงานของธนาคารในปีที่ล่วงมาแล้ว คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของธนาคาร และแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป

 

[แก้ไข]
หมวด ๑๐ บทเบ็ดเสร็จ

____________________


        มาตรา ๔๖ เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าธนาคารมีความพร้อมและสถานะมั่นคงและที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบด้วยแล้วให้คณะกรรมการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน หุ้นและผู้ถือหุ้น การประชุมผู้ถือหุ้น บัญชีและรายงาน และหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มาใช้บังคับแก่ธนาคารด้วยโดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

______________________


        มาตรา ๔๗ ให้โอนบรรดากิจการ สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน กำไรสะสม เงินสำรอง ตลอดจนสิทธิและความรับผิดของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของธนาคาร

        ให้ทุนที่โอนมาตามวรรคหนึ่งเป็นทุนเรือนหุ้นของธนาคาร และให้ผู้ถือหุ้นของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารตามจำนวยหุ้นที่โอนมาตามวรรคหนึ่ง โดยให้ถือว่าใบหุ้นของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นใบหุ้นของธนาคารจนกว่าจะมีการออกใบหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้น


        มาตรา ๔๘ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมทำหน้าที่คณะกรรมการ และให้นัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการ ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง


        มาตรา ๔๙ ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้จัดการของธนาคารโดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำงาน การพ้นจากตำแหน่ง การเลิกจ้าง การประเมินผลการทำงาน และค่าจ้างหรือผลประโยชน์อื่นตามสัญญาจ้างที่ทำไว้ต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม และไม่ให้ถือว่าการเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดการของธนาคารตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้าง และให้ถือว่าระยะเวลาทำงานในขณะที่เป็นผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นระยะเวลาที่ทำงานให้แก่ธนาคาร


        มาตรา ๕๐ ให้พนักงานและลูกจ้างของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน และให้ธนาคารกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของบุคคลดังกล่าวใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        การเปลี่ยนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้าง และให้ถือว่าระยะเวลาทำงานในขณะที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นระยะเวลาที่ทำงานให้แก่ธนาคาร


        มาตรา ๕๑ ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งจดทะเบียนแล้วที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ยังคงอยู่ต่อไป โดยให้ธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้มีฐานะเป็นนายจ้าง

 

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี


        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวิสาหกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นฐานการผลิต จึงสมควรจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของประเทศได้อย่างเป็นระบบ โดยการให้บริการทางการเงิน เทคนิค การตลาด และการจัดการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้