พระราชบัญญัติบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก

พระราชบัญญัติบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก
ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
พ.ศ. ๒๔๙๘
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ พ.ศ. ๒๔๙๘”

        มาตรา ๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

        มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรืออนุสัญญา หรือแย้งหรือขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรืออนุสัญญา มิให้นำมาใช้บังคับแก่เชลยศึก

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

         “เชลยศึก” หมายความว่า บุคคลที่ระบุไว้ในข้อ ๔ แห่งอนุสัญญา

        มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

[แก้ไข]
ส่วนที่ ๑ ความผิดที่เชลยศึกกระทำ

_____________

        มาตรา ๖ กฎหมาย ข้อบังคับ และคำสั่งที่ใช้บังคับในกองทหารไทย ให้ใช้บังคับแก่เชลยศึก และเมื่อเชลยศึกกระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ และคำสั่งนั้นๆ อาจนำวิธีการทางศาลและทางวินัยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดนั้นๆ มาใช้แก่เชลยศึกได้ แต่ต้องไม่ขัดต่ออนุสัญญา

        ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษและมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสั่งลงทัณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดแก่เชลยศึก เว้นแต่จะเป็นโทษหรือทัณฑ์ที่ได้บัญญัติไว้สำหรับผู้สังกัดกองทหารไทยซึ่งได้กระทำความผิดอย่างเดียวกัน

        มาตรา ๗ ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดที่เชลยศึกกระทำ เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายที่ใช้อยู่เวลานั้นบัญญัติให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาผู้สังกัดกองทหารไทยได้ จึงให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดซึ่งเชลยศึกกระทำนั้น

        มาตรา ๘ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษเชลยศึกโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่เชลยศึกในการต่อสู้คดี หรือโดยไม่ให้ได้รับการช่วยเหลือตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑๐๕ แห่งอนุสัญญา

        มาตรา ๙ ทัณฑ์ทางวินัยที่จะพึงลงแก่เชลยศึกนั้น ให้มีได้เฉพาะดังต่อไปนี้

         (๑) ปรับไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบของเงินจ่ายล่วงหน้า และเงินค่าจ้างแรงงานสำหรับระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน ซึ่งเชลยศึกหากจะได้รับ ตามข้อ ๖๐ และข้อ ๖๒ แห่งอนุสัญญา

         (๒) งดเอกสิทธิ์ที่ให้ได้รับนอกเหนือจากผลปฏิบัติที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา

         (๓) ให้ทำงานเหน็ดเหนื่อยไม่เกินวันละสองชั่วโมง

         (๔) ขัง

        มิให้ใช้การลงทัณฑ์ที่ระบุไว้ใน (๓) แก่นายทหารสัญญาบัตร

        การลงทัณฑ์ครั้งหนึ่งจะต้องมีกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบวัน ระยะเวลาขังขณะรอการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยหรือคำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยนั้น ให้หักออกจากกำหนดเวลาในคำสั่งลงทัณฑ์เชลยศึก

        กำหนดเวลาอย่างสูงสามสิบวันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้จะเพิ่มขึ้นมิได้ แม้ว่าเชลยศึกจะต้องได้รับทัณฑ์สำหรับกรรมหลายกรรมด้วยกันในขณะที่ถูกสั่งให้ลงทัณฑ์นั้น ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมหลายกรรมนั้นจะเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่

        ระยะเวลาระหว่างการออกคำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยและการบังคับตามคำสั่งลงทัณฑ์จะต้องไม่เกินหนึ่งเดือน

        ในกรณีที่มีการออกคำสั่งลงทัณฑ์เชลยศึกทางวินัยอีก การบังคับตามคำสั่งลงทัณฑ์สองคราวต่อเนื่องกัน หากว่าคราวใดคราวหนึ่งมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสิบวัน ให้เว้นระยะห่างกันอย่างน้อยสามวัน

        มาตรา ๑๐ ถ้ามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเชลยศึก ห้ามมิให้บังคับตามคำพิพากษาก่อนครบกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษา หรือในกรณีที่มีรัฐซึ่งทำหน้าที่คุ้มครอง นับแต่วันที่รัฐนั้นได้รับทราบการแจ้งตามที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๐๗ แห่งอนุสัญญา

        มาตรา ๑๑ เชลยศึกที่หลบหนีไปได้ตามความหมายของข้อ ๙๑ แห่งอนุสัญญาแล้วถูกจับตัวได้ ไม่ต้องรับโทษหรือทัณฑ์ใดๆ สำหรับการหลบหนีนั้น

        เชลยศึกที่หลบหนีและถูกจับตัวได้ก่อนที่หลบหนีไปได้ตามความหมายของข้อ ๙๑ แห่งอนุสัญญา จะต้องรับผิดสำหรับการหลบหนีนั้นเพียงทัณฑ์ทางวินัยเท่านั้น

        ในกรณีที่เชลยศึกถูกฟ้องต่อศาลสำหรับความผิดที่ได้กระทำในระหว่างหลบหนีหรือพยายามหลบหนี มิให้ถือเอาการหลบหนีหรือพยายามหลบหนีเป็นเหตุลงโทษให้หนักขึ้น ไม่ว่าการหลบหนีหรือพยายามหนีนั้นจะได้กระทำมาแล้วกี่ครั้ง

        บรรดาความผิดที่เชลยศึกกระทำด้วยเจตนาเพียงเพื่อให้สะดวกแก่การหลบหนีของตน และความผิดนั้นมิได้ก่อให้เกิดการประทุษร้ายแก่ชีวิตหรือร่างกาย เช่น ความผิดที่กระทำต่อทรัพย์สมบัติสาธารณะ การลักทรัพย์โดยไม่มีเจตนาที่จะให้ตนร่ำรวย การปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารปลอม การสวมเครื่องแต่งกายพลเรือนนั้น ย่อมก่อให้เกิดความรับผิดเพียงทัณฑ์ทางวินัยเท่านั้น

        เชลยศึกที่ให้อุปการะแก่การหลบหนีหรือพยายามหลบหนี จะต้องรับผิดสำหรับการกระทำนั้นเพียงทัณฑ์ทางวินัยเท่านั้น

[แก้ไข]
ส่วนที่ ๒ ความผิดที่กระทำต่อเชลยศึก

_____________

        มาตรา ๑๒ ผู้ใดกระทำการทดลองชนิดใดๆ แก่เชลยศึกในทางแพทย์ทางชีววิทยา หรือทางวิทยาศาสตร์ อันไม่เป็นการสมควรแก่เหตุในการรักษาพยาบาลเชลยศึกนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท และจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

        มาตรา ๑๓ ผู้ใดขู่เข็ญ ดูหมิ่น หรือกระทำให้เชลยศึกได้รับความอัปยศหรืออัปมานในตัวตนและเกียรติยศ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

        มาตรา ๑๔ ผู้ใดทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือบังคับเชลยศึกด้วยประการใดๆ เพื่อจะได้มาซึ่งข้อความใดๆ จากเชลยศึก หรือคุกคาม ดูหมิ่น หรือให้ได้รับผลปฏิบัติใดอันเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ หรือเสื่อมเสียประโยชน์ไม่ว่าประการใดๆ ในกรณีที่เชลยศึกไม่ยอมให้คำตอบมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

        มาตรา ๑๕ ผู้ใดบังคับเชลยศึกให้เข้าประจำการในกองทหารศัตรูของเชลยศึกมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

        มาตรา ๑๖ ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เชลยศึกมิได้รับการพิจารณาคดีโดยเที่ยงธรรมหรือตามระเบียบที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

        มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

[แก้ไข]
ส่วนที่ ๓ ความผิดที่กระทำในกรณีการสู้รบกันที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ

_____________

        มาตรา ๑๘ ในกรณีการสู้รบกันที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ ผู้ใดกระทำการใดๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษตามที่ระบุไว้ในมาตรานั้นๆ

        มาตรา ๑๙ ในกรณีการสู้รบกันที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ ผู้ใดจับบุคคลไว้เป็นตัวประกัน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ยกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเห็นสมควรตรากฎหมายขึ้น เพื่ออนุวัติตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก