พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526

พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2526

 

เป็นปีที่ 38 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

______________________


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

         โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

         มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526

         มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        บัตร หมายความว่า บัตรประจำตัวประชาชน

        ผู้ถือบัตร หมายความว่า ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัตร

         ทะเบียนบ้าน หมายความว่า ทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

        เจ้าพนักงานออกบัตร หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        เจ้าพนักงานตรวจบัตร หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา 5 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ใด ต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่นั้น เว้นแต่จะเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะขอมีบัตรให้เจ้าพนักงานออกบัตรออกบัตรให้

        มาตรา 6 บัตรให้ใช้ได้หกปีนับแต่วันออกบัตร เว้นแต่บัตรที่ยังใช้ได้ในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ให้คงใช้ได้ตลอดชีวิต

        ในบัตรอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (1) ชื่อ ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รูปถ่ายและเลขหมายประจำตัวของผู้ถือบัตร

         (2) ลายมือชื่อหรือตราลายมือชื่อ และตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานออกบัตรและวันออกบัตร ขนาด สี และลักษณะของบัตร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

         มาตรา 7 ในการขอมีบัตร ผู้ขอต้องยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

         (1) เก้าสิบวันนับแต่วันที่มีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์

         (2) หกสิบวันนับแต่วันที่ได้สัญชาติไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

         (3) หกสิบวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

         (4) หกสิบวันนับแต่วันที่พ้นสภาพจากการได้รับยกเว้น

        ในกรณีที่บัตรหมดอายุ ผู้ถือบัตรต้องขอมีบัตรภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ

         ในกรณีที่บัตรหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตร แล้วแต่กรณี ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่บัตรนั้นหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด

        ในกรณีที่ผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุล แล้วแต่กรณี

         รัฐมนตรีอาจขยายกำหนดเวลาตามความในมาตรานี้ได้ตามที่เห็นสมควรโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 8 การขอมีบัตร การขอบัตรใหม่ การขอเปลี่ยนบัตรการออกบัตร การออกใบรับ และการออกใบแทนใบรับ ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

        เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอ และเห็นว่าคำขอนั้นมีรายการถูกต้องครบถ้วนและผู้ขอได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถ่ายรูปผู้ขอและออกใบรับให้แก่ผู้ขอ

        ในกรณีใบรับหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญให้ออกใบแทนใบรับให้แก่ผู้ขอ

        ใบรับหรือใบแทนใบรับให้ใช้ได้เสมือนบัตร ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับ ในการใช้ใบรับหรือใบแทน ใบรับ ให้ใช้ร่วมกันกับบัตรเดิม เว้นแต่ในกรณีขอมีบัตรเป็นครั้งแรก บัตรหายหรือถูกทำลายทั้งหมด

        มาตรา 9 ผู้ถือบัตรผู้ใดเสียสัญชาติไทยเมื่อใด ไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้บัตรนั้นทันที และต้องส่งมอบบัตรนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสียสัญชาติไทย

         มาตรา 10 ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตรได้ที่สำนักงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ที่ว่าการอำเภอหรือเขต หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ในเวลาราชการก็ได้ และจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดและรับรองสำเนาด้วยก็ได้

        มาตรา 11 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        มาตรา 12 ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองร้อยบาท

        มาตรา 13 ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่ส่งมอบบัตรตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 14 ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

        มาตรา 15 ผู้ใดนำบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

         มาตรา 16 ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับของตนไปใช้ในทางทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 17 ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

        มาตรา 18 บรรดาคำขอที่ยื่นตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 19 บรรดาบัตรและใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ให้ถือว่าเป็นบัตรหรือใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับบัตรที่หมดอายุแล้วให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร และให้ผู้ถือบัตรขอมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบรอบวันเกิด และให้นำมาตรา 12 มาใช้บังคับ

        มาตรา 20 ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงใช้ได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 21 ผู้ใดมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเป็นบุคคลซึ่งต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 5 ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 5 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        การกำหนดตามวรรคหนึ่งรัฐมนตรีจะกำหนดโดยคำนึงถึงอายุของผู้ขอจากมากไปหาน้อย และท้องที่ที่จะให้บุคคลมายื่นคำขอด้วยก็ได้

        มาตรา 22 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        มาตรา 23 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พลเอก ป. ติณสูลานนท์

        นายกรัฐมนตรี

 

อัตราค่าธรรมเนียม

         (1) การออกบัตรตามมาตรา 5 วรรคสอง ฉบับละ 20 บาท

         (2) การออกบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 7 วรรคสาม หรือวรรคสี่ ฉบับละ 20 บาท

         (3) การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ 20 บาท

         (4) การขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 20 บาท

         (5) การคัดและรับรองสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 40 บาท

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และมีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ไม่ทันสมัยและไม่เหมาะสมกับ สภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้