พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542
___________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542"
มาตรา 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
"หน่วยราชการ" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม
"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า หน่วยงานอื่นของรัฐนอกจากหน่วยราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
"รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
"ราชการส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า ราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
"เจ้าหน้าที่" หมายความว่า พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 4 ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ระเบียบหรือประกาศนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
[แก้ไข]
หมวด 1 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
_____________________________
มาตรา 5 ให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจำนวนไม่เกินสามคน
มาตรา 6 การสรรหาและการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ สรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนสามสิบเอ็ดคน ประกอบด้วย
(ก) ผู้แทนของพรรคการเมือง หรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสิบเก้าคน ซึ่งต้องเลือกให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ข) อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดจำนวนสี่คน ผู้แทนศาลฎีกาจำนวนสี่คน
(2) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจำนวนสามเท่าของจำนวนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่จะพึงมีได้ตามรัฐธรรมนูญ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยให้เรียงรายชื่อตามลำดับตัวอักษร พร้อมประวัติ วุฒิ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานของบุคคลดังกล่าว และต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น
(3) ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วเพื่อมีมติเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตาม (2) ให้เหลือจำนวนสองในสาม ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับในการนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่จำนวนผู้ได้รับเลือกดังกล่าวมีไม่ครบตาม (3) วรรคหนึ่ง ให้นำรายชื่อผู้ไม่ได้รับเลือกในคราวแรกนั้นมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเลือกอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไป และในการนี้ให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนที่กำหนดตาม (3) วรรคหนึ่ง เป็นผู้ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ถ้ามีผู้ได้คะแนนเสียงเท่ากันในลำดับใด อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนที่กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกต่อประธานวุฒิสภาภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกเสร็จสิ้น
(4) ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภา เพื่อมีมติเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตาม (3) จำนวนไม่เกินสามคน ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด และมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา ตามลำดับ เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินสามคน ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
(5) ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตาม (4) ให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ และให้ดำเนินการตาม (1) (2) และ (3) ใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้ง ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติใน (4) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 7 ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่วุฒิสภาเลือกตามมาตรา 6 (4) ยังมีไม่ถึงจำนวนสามคน สภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการเลือกผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพิ่มเติมเสนอต่อประธานวุฒิสภาก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 6 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 8 ให้ประธานวุฒิสภานำรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามมาตรา 6 หรือมาตรา 7 ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต่อไป
มาตรา 9 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้นใหม่
มาตรา 10 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องเป็นผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
มาตรา 11 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเสนอชื่อ
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) ไม่เคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(5) ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(6) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(7) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองผู้มีตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสามปีก่อนวันสรรหาตามมาตรา 6 (2)
(8) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(9) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(10) ไม่เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(11) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(12) ไม่เคยถูกวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(13) ไม่เคยถูกวุฒิสภาหรือมีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 12 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้อง
(1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือของหน่วยงานของรัฐ
(3) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(4) ไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใดในกรณีที่วุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) โดยได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อตนได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตนได้เลิกประกอบวิชาชีพอิสระดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออก หรือเลิกประกอบวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยรับเลือกให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและให้นำบทบัญญัติมาตรา 14 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 13 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11
(4) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 12
(5) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(6) วุฒิสภามีมติให้พ่นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
มาตรา 14 ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 6 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 15 เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
[แก้ไข]
หมวด 2 อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
___________________________________
มาตรา 16 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี
(ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชน โดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
(ค) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(2) จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
มาตรา 17 ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 16 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
มาตรา 18 ในกรณีที่มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหลายคน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาร่วมกันพิจารณาแบ่งงานตามสายงาน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ และรับผิดชอบตามขอบเขตของงานที่ได้รับมอบหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาร่วมกันกำหนด เว้นแต่กรณีตามมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 21 วรรคสอง มาตรา 27 (5) และ (6) มาตรา 30 วรรคสอง มาตรา 31 วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 48 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน
ในการประชุมแต่ละครั้งเพื่อดำเนินการในเรื่องที่กำหนดให้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันตามวรรคหนึ่ง ให้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา 19 บุคคลและคณะบุคคลย่อมมีสิทธิร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
การร้องเรียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องเรียนที่จะดำเนินการตามกฎหมายอื่น
มาตรา 20 การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องทำเป็นหนังสือ และ
(1) ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน
(2) ระบุเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียนพร้อมด้วยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนตามสมควร
(3) ใช้ถ้อยคำสุภาพ
(4) ลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการร้องเรียนด้วยวาจาก็ได้ ระเบียบดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 21 การเสนอคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะเสนอโดยนำส่งด้วยตนเอง ส่งทางไปรษณีย์ มอบให้บุคคลอื่นนำส่งต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือส่งคำร้องเรียนต่อสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้นำส่งต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็ได้
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอคำร้องเรียนด้วยวิธีการอื่น ๆ ก็ได้ ระเบียบดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 22 ในกรณีที่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้สอบสวน หรือพิจารณาเรื่องใด และเห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะส่งเรื่องนั้นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อดำเนินการก็ได้ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแจ้งผลการดำเนินการเบื้องต้นต่อคณะกรรมาธิการ
มาตรา 23 เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รับเรื่องจากคณะกรรมาธิการตามมาตรา 22 แล้ว แม้ภายหลังคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนั้นต่อไป
มาตรา 24 เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาวินิจฉัยว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ไม่ให้รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติการพิจารณา
(1) เรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งคณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เว้นแต่การปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 16 (1)
(2) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว
(3) เรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 16 (1)
(4) เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือการลงโทษทางวินัยของข้าราชการพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(5) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20
มาตรา 25 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจไม่รับพิจารณาหรืออาจยุติการพิจารณาเรื่อง ดังต่อไปนี้
(1) เรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(2) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนมิได้มีส่วนได้เสียและการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(3) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการร้องเรียน และการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(4) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม หรือได้รับการชดใช้ความเสียหายอย่างเหมาะสมแล้วและการพิจารณาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(5) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่แสดงพยานหลักฐาน หรือไม่ดำเนินการตามหนังสือที่ได้รับจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนตายและการพิจารณาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(7) เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเคยสรุปผลการพิจารณาแล้ว
มาตรา 26 เรื่องใดที่ไม่ให้รับไว้พิจารณาตามมาตรา 24 และเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจไม่รับพิจารณาตามมาตรา 25 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะส่งเรื่องนั้นไปให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้
มาตรา 27 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) ให้หัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตาม (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(3) ขอให้ศาลส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(4) ตรวจสถานที่ที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียน โดยแจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ทราบล่วงหน้าในเวลาอันควร
(5) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การรับคำร้องเรียนไว้พิจารณา และระเบียบว่าด้วยการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น
(6) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางของพยานบุคคล และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ หรือเรื่องอื่นใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ระเบียบตาม (5) และ (6) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 28 ในการใช้อำนาจตามมาตรา 27 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่อาจสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดต่อไปได้ให้ยุติเรื่องนั้น และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารายงานให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทราบ
มาตรา 29 เมื่อมีการร้องเรียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้าและต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียนข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องชี้แจง และแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนได้ตามสมควร
เรื่องใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสั่งไม่รับไว้พิจารณา หรือให้ยุติเรื่อง ให้แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ไม่รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติเรื่อง และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการจะส่งคำสั่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนั้นทราบด้วยก็ได้
เหตุผลตามวรรคสองให้ระบุข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด และในกรณีให้ยุติเรื่องเพราะเหตุที่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่าการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นมิได้เป็นไปตามมาตรา 16 (1) (ก) หรือ (ข) ให้ชี้แจงเหตุผลให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมโดยละเอียดให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วย
มาตรา 30 เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดเสร็จแล้ว ให้จัดทำรายงานสรุปข้อเท็จจริง พร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปรากฏว่าการกระทำในเรื่องใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นได้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือความไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือล้าสมัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอแนะต่อหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่0เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี ให้ส่งรายงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย
มาตรา 31 ให้กรณีที่ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามความเห็น หรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเรื่องใดในเวลาอันควรให้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจส่งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ควบคุม หรือกำกับดูแลหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อให้สั่งการตามควรแก่กรณีก็ได้
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และระยะเวลาได้ล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่ปฏิบัติตามความเห็น หรือข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ หรือเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนก็ได้
รายงานดังกล่าวให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนด
มาตรา 32 เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า เรื่องใดมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือมีมูลความผิดทางอาญา หรือมีมูลความผิดทางวินัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนั้น ๆ และผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนและผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทราบทุกสามเดือน
มาตรา 33 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทำรายงานประจำปีเสนอต่อวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ในรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ผลการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ พร้อมทั้งข้อสังเกต หรือข้อเสนอแนะที่เสนอต่อหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(2) ผลการปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการไปแล้ว
(3) การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(4) อุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
รายงานประจำปีตามวรรคหนึ่งให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนด
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นสมควรรายงานให้วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรทราบเป็นพิเศษเฉพาะเรื่องเพราะเป็นกรณีรีบด่วนหรือจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ให้กระทำได้
มาตรา 34 การจัดทำรายงานตามมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 33 ให้กระทำเป็นการสรุปโดยมิให้ระบุรายละเอียดอันเป็นการเปิดเผยความลับของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น
มาตรา 35 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง หรือทางอาญา เนื่องจากการที่ตนได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 36 ผู้ที่ให้ถ้อยคำ หรือให้วัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือผู้ที่จัดทำและเผยแพร่รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 33 ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการที่ตนเปิดเผยข้อมูล หรือให้วัตถุ เอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐาน หรือจัดทำและเผยแพร่ รายงาน แล้วแต่กรณี
มาตรา 37 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราช-บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะมอบหมาย หรือเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ หรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือพิจารณาสอบสวน หรือเป็นการรายงานตามอำนาจหน้าที่ หรือการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
[แก้ไข]
หมวด 3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
________________________________
มาตรา 39 ให้มีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
กิจการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา 40 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบงานธุรการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(2) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(3) เผยแพร่วิชาการและให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับสิทธิที่จะร้องเรียนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(4) ปฏิบัติการอื่นตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามอบหมาย
มาตรา 41 ในการกำกับดูแลสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจออกระเบียบ หรือประกาศเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และดำเนินการอื่นในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(2) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ รองเลขาธิการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(3) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัย และการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษ สำหรับเลขาธิการ รองเลขาธิการและพนักงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รวมทั้งวิธีการ และเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(4) การคัดเลือก การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่าตอบแทน ตลอดจนการกำหนดเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 46
(5) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(6) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เลขาธิการ รองเลขาธิการ พนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
มาตรา 42 ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขึ้นตรงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้
มาตรา 43 เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิประสบการณ์และความสำเร็จในการบริหารตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนด
เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา 44 เลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลงานโดยทั่วไปของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้มีอำนาจ ดังนี้
(1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาออกจากตำแหน่ง
(2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือลูกจ้างในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนด และเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศ หรือมติของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
มาตรา 45 ในกิจการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนด
ระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 46 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจขอให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นแล้วแต่กรณี
ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการไปปฏิบัติงานใด ๆ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญเหมือนเต็มเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี
มาตรา 47 ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างตามมาตรา 46 ขอกลับเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในสังกัดเดิมภายในกำหนดเวลาที่อนุมัติ ให้ผู้มีอำนาจและแต่งตั้งสั่งบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนเหมือนกรณีข้าราชการผู้ซึ่งได้รับอนุมัติให้ออกจากราชการไปปฏิบัติงานใด ๆ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญเหมือนเต็มเวลาราชการเพื่อขอกลับเข้ารับราชการ หรือตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติตามมาตรา 46 แล้วแต่กรณี
มาตรา 48 ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนองบประมาณรายจ่ายต่อคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจนำความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารวมไว้ในรายงานการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วยก็ได้
มาตรา 49 ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีอำนาจในการปกครองดูแล บำรุง รักษาทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา 50 ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีแล้วส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้ทำการตรวจสอบ รับรองบัญชีและการเงินทุกประเภท รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า
[แก้ไข]
หมวด 4 บทกำหนดโทษ
_______________________________
มาตรา 51 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 52 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 27 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 53 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล
_____________________________________
มาตรา 54 ในวาระเริ่มแรก ให้จัดให้มีการดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีการสรรหา และเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามมาตรา 6 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
(2) ให้วุฒิสภาดำเนินการให้มีการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามมาตรา 6 (4) และ (5) ภายใน เก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
กำหนดวันตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
มาตรา 55 ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ได้รับเลือกตามมาตรา 54 มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และมิให้นำความในมาตรา 9 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับ
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ได้รับเลือกตามมาตรา 54 และพ้นจากตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง หรือพ้นจากตำแหน่งในกรณีอื่นก่อนครบวาระตามมาตรา 13 อาจได้รับเลือกและแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้อีก และมิให้นำความในมาตรา 9 วรรคหนึ่งและมาตรา 11 (4) มาใช้บังคับ
ให้นำความในมาตรา 9 มาใช้บังคับกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ได้รับเลือกและแต่งตั้งเป็นคราวที่สองตามวรรคสองด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 56 ให้จัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยธุรการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้สำหรับสำนักงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจ-การแผ่นดินของรัฐสภา
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร-ไทย บัญญัติให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้มีการกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้