พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เป็นปีที่ ๓๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยปุ๋ย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “ปุ๋ย” หมายความว่า สารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช

         “ปุ๋ยเคมี” หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสมและปุ๋ยเชิงประกอบ และหมายความตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือยิปซั่ม

         “ปุ๋ยอินทรีย์” หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากอินทรีย์วัตถุซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ บด หมัก ร่อน หรือวิธีการอื่นแต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี

         “ปุ๋ยเชิงเดี่ยว” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดียว ได้แก่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต หรือปุ๋ยโปแตช

         “ปุ๋ยเชิงผสม” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีชนิดหรือประเภทต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามต้องการ

         “ปุ๋ยเชิงประกอบ” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมีและมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป

         “ธาตุอาหาร” หมายความว่า ธาตุที่มีอยู่ในปุ๋ยและสามารถเป็นอาหารแก่พืชได้

         “ธาตุอาหารหลัก” หมายความว่า ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซียม

         “ธาตุอาหารรอง” หมายความว่า ธาตุอาหารมักเนเซียม คัลเซียม และกำมะถัน

         “ธาตุอาหารเสริม” หมายความว่า ธาตุอาหารเหล็ก มังกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม คลอรีน หรือธาตุอาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

         “ปริมาณธาตุอาหารรับรอง” หมายความว่า ปริมาณขั้นต่ำของธาตุอาหารหลักที่ผู้ผลิตหรือผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีรับรองในฉลากว่ามีอยู่ในปุ๋ยเคมีที่ตนผลิต นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี โดยคิดเป็นจำนวนร้อยละของน้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมี

         “สารเป็นพิษ” หมายความว่า สารเคมีหรือสิ่งอื่นที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่คน สัตว์ พืช หรือทรัพย์อื่นได้

         “ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดสูตรและปริมาณขั้นต่ำหรือขั้นสูงของธาตุอาหารหรือสารเป็นพิษ และลักษณะจำเป็นอย่างอื่นของปุ๋ยเคมีดังกล่าวแต่ละชนิด

         “ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่ล่วงอายุหรือถูกกระทบกระเทือนด้วยปัจจัยใดๆ อันทำให้เสื่อมคุณภาพโดยธาตุอาหารลดน้อยลง หรือเปลี่ยนสภาพไป

         “ฉลาก” หมายความรวมถึงรูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี

         “นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีโดยมีการขนถ่ายหรือเปลี่ยนยานพาหนะ

         “ผลิต” หมายความว่า ทำ รวบรวม ผสม แปรสภาพ ปรุงแต่ง เปลี่ยนภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุ หรือแบ่งบรรจุซึ่งปุ๋ยเคมี

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และยกเว้นค่าธรรมเนียม เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ คณะกรรมการปุ๋ย
_____________
        มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการปุ๋ย” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมวิชาการเกษตรสองคน ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรหนึ่งคน ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์หนึ่งคน ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดินหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์หนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้ผู้แทนกรมวิชาการเกษตรคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ

        ให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการปุ๋ย

        มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

         (๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

        ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

        มาตรา ๘ การประชุมของคณะกรรมการปุ๋ยต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการ และผู้ซึ่งประธานกรรมการมอบหมายไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการปุ๋ยมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่ง หรือหลายคณะเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการปุ๋ยมอบหมาย และให้นำความในมาตรา ๘ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

        มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการปุ๋ยมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่อธิบดีหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ในเรื่อง

         (๑) การอนุญาตการผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า การขายปุ๋ยเคมี การนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร และการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ตลอดจนการพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาตหรือการเพิกถอนทะเบียน ดังกล่าว

         (๒) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า การขายปุ๋ยเคมี การนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร การนำปุ๋ยเคมีมาเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ และการตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานที่ขาย สถานที่นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรและสถานที่เก็บซึ่งปุ๋ยเคมี

         (๓) การออกประกาศตามมาตรา ๓๔ และการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๒

         (๔) เรื่องอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

        มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการปุ๋ยมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

[แก้ไข]
หมวด ๒ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี
_____________
        มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย มีไว้เพื่อขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำผ่าน ซึ่งปุ๋ยเคมี เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และสำหรับกรณีผู้ผลิตและผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีที่ได้ขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามมาตรา ๓๕ แล้วด้วย

        การขออนุญาต การอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปุ๋ย มีอำนาจยกเว้นการขอรับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าตามมาตรา ๑๒ ให้แก่ผู้ทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เพื่อผลิตแร่ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมี ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        ผู้ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งผู้ใดประสงค์จะผลิตปุ๋ยเคมีดังกล่าว ให้ยื่นคำขอรับหนังสืออนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการปุ๋ย

        ในกรณีที่ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตตามวรรคสองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเสียได้

        มาตรา ๑๔ บทบัญญัติมาตรา ๑๒ ไม่ใช้บังคับแก่การนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการนำผ่านซึ่งปุ๋ยเคมีครั้งหนึ่งในปริมาณไม่เกินชนิดละห้าสิบกิโลกรัม

        มาตรา ๑๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมี หรือนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขอรับใบอนุญาต

         (๑) เป็นเจ้าของกิจการ

         (๒) มีถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานในประเทศไทย

         (๓) มีสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า สถานที่ขายปุ๋ยเคมี สถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร หรือสถานที่เก็บปุ๋ยเคมี

         (๔) ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจของผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว หรือผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตยังไม่ครบหนึ่งปี

        ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ขอรับใบอนุญาต ต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) และต้องมีผู้ดำเนินกิจการซึ่งมีคุณสมบัติตาม (๒)

        มาตรา ๑๖ ประเภทของใบอนุญาต มีดังนี้

         (๑) ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า

         (๒) ใบอนุญาตขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมี

         (๓) ใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร

         (๔) ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งปุ๋ยเคมี

        ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตตาม (๑) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) สำหรับปุ๋ยเคมีที่ตนผลิต และผู้รับใบอนุญาตตาม (๓) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) สำหรับปุ๋ยเคมีที่ตนนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๑๗ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตด้วย

        ให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับคุ้มกันตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตด้วย เว้นแต่ผู้รับใบอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้

        มาตรา ๑๘ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ ให้ใช้ได้ในระยะเวลาดังนี้

         (๑) ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ให้ใช้ได้สามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

         (๒) ใบอนุญาตขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมี ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

         (๓) ใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต แต่มิให้เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

         (๔) ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งปุ๋ยเคมี ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต แต่มิให้เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

        ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต จะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว จะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น

        การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๑๙ ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้ เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์

[แก้ไข]
หมวด ๓ หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี
_____________
        มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต

         (๑) ผลิต หรือขายปุ๋ยเคมีนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่งตรงต่อผู้รับใบอนุญาตขาย หรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมี

         (๒) ผลิตปุ๋ยเคมีไม่ตรงตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

        มาตรา ๒๑ ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าปฏิบัติดังนี้

         (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร แสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด

         (๒) แสดงใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ทำการ ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

         (๓) จัดให้มีการวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีทุกครั้งที่ผลิตขึ้นก่อนนำออกจากสถานที่ผลิต โดยมีหลักฐานแสดงรายละเอียดของการวิเคราะห์ทุกครั้ง ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่าสิบปี

         (๔) จัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้น โดยผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้ารับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก และในฉลากต้องแสดง

         (ก) ชื่อปุ๋ยทางการค้า และมีคำว่าปุ๋ยเคมี

         (ข) เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี

         (ค) ปริมาณธาตุอาหารรับรอง

         (ง) ชนิดและปริมาณของธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม ถ้ามี

         (จ) น้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก

         (ฉ) ถ้าปุ๋ยเคมีมีวัตถุ หรือสิ่งอื่นผสมอยู่ด้วย ต้องแจ้งชื่อและปริมาณของวัตถุหรือสิ่งที่ผสมอยู่เป็นร้อยละของน้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมี

         (ช) ชื่อผู้ผลิตและที่ตั้งสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า

         (ซ) ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่ผสมอยู่ในปุ๋ยเคมี ถ้ามี

         (ฌ) ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลาก

         (๕) จัดให้มีเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ เอกสารกำกับปุ๋ยเคมีถ้าเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีภาษาไทยด้วย

         (๖) จัดให้มีคำชี้แจง วิธีใช้ และคำเตือนการใช้ปุ๋ยเคมีในเอกสารกำกับปุ๋ยเคมี ในกรณีที่เป็นปุ๋ยเคมีซึ่งมีสารเป็นพิษผสมอยู่ด้วย

        ความใน (๔) และ (๕) ไม่ใช้บังคับแก่ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ซึ่งขายปุ๋ยเคมีที่ตนผลิตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้ารายอื่น โดยมิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อ

        มาตรา ๒๒ ให้ผู้รับใบอนุญาตขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมีปฏิบัติดังนี้

         (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร แสดงว่าเป็นสถานที่ขายปุ๋ยเคมี

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด

         (๒) จัดให้มีการแยกเก็บปุ๋ยเคมีเป็นส่วนสัดต่างหากจากเครื่องบริโภคตามสมควร

         (๓) รักษาฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี และเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ (๔) (๕) และ (๖) หรือมาตรา ๒๓ (๔)และ (๕) แล้วแต่กรณี ให้คงอยู่โดยครบถ้วนและชัดเจน

         (๔) ในกรณีที่ผู้ขายแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเพื่อขายปลีก ผู้ขายต้องจัดเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีซึ่งมีข้อความตรงกับเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีที่แบ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้ง

         (๕) รักษาภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อย ถ้าภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีชำรุด ถ้าจำเป็น ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมีเปลี่ยนภาชนะ หรือหีบห่อบรรจุได้ และจัดให้มีเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีมีข้อความตรงกับฉลากเดิมที่ชำรุด

        มาตรา ๒๓ ให้ผู้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรปฏิบัติดังนี้

         (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร แสดงว่าเป็นสถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด

         (๒) แสดงใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ทำการที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

         (๓) จัดให้มีใบรับรองของผู้ผลิตปุ๋ยเคมีแสดงรายละเอียดการวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีทุกครั้งที่นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

         (๔) จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ (๔) โดยอนุโลม

         (๕) จัดให้มีเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ เอกสารกำกับปุ๋ยเคมี ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีภาษาไทยด้วย

        ความใน (๔) และ (๕) ไม่ใช้บังคับแก่ผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีที่มิได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ

        มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๒๕ ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า สถานที่ขายปุ๋ยเคมี หรือสถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๒๖ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะย้ายสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า สถานที่ขายปุ๋ยเคมี สถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรหรือสถานที่เก็บปุ๋ยเคมี แล้วแต่กรณี ต้องแจ้งการย้ายสถานที่ดังกล่าวเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ย้าย

        มาตรา ๒๗ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดเลิกกิจการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องแจ้งการเลิกกิจการเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลิกกิจการ และให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่วันเลิกกิจการตามที่แจ้งไว้นั้น

        มาตรา ๒๘ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้แจ้งการเลิกกิจการ ต้องขายหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีของตนที่เหลืออยู่ให้หมดภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันเลิกกิจการ เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะผ่อนผันขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้

        เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้แจ้งการเลิกกิจการยังจัดการขายหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่ไม่หมด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่นั้นออกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นใดตามที่อธิบดีเห็นสมควร เงินที่ได้จากการขายปุ๋ยเคมีดังกล่าว เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว ให้คืนแก่เจ้าของปุ๋ยเคมีหรือผู้ซึ่งมีสิทธิรับเงินนั้น

        มาตรา ๒๙ ถ้าผู้รับใบอนุญาตตาย และมีบุคคลผู้ซึ่งมีคุณสมบัติอาจเป็นผู้รับใบอนุญาตได้ตามพระราชบัญญัตินี้ แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย เพื่อขอดำเนินกิจการที่ผู้ตายได้รับอนุญาตนั้นต่อไป ให้ผู้แสดงความจำนงนั้นดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าผู้แสดงความจำนงเป็นผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย

[แก้ไข]
หมวด ๔ การควบคุมปุ๋ยเคมี
_____________
        มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมี ต่อไปนี้

         (๑) ปุ๋ยเคมีปลอม

         (๒) ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน

         (๓) ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ เว้นแต่กรณี ตามมาตรา ๓๑

         (๔) ปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้

         (๕) ปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน

         (๖) ปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษ ที่อาจเป็นอันตรายแก่คน สัตว์ พืช หรือทรัพย์อื่นผสมอยู่ด้วยเกินอัตราส่วนที่มีในปุ๋ยเคมีมาตรฐาน

        มาตรา ๓๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดมีปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพไว้ในครอบครอง ถ้าประสงค์จะมีไว้เพื่อขาย หรือขาย ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๓๒ ปุ๋ยเคมีหรือวัตถุที่มีลักษณะต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม

         (๑) ปุ๋ยเคมีหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นปุ๋ยเคมีแท้

         (๒) ปุ๋ยเคมีที่แสดงชื่อว่าเป็นปุ๋ยเคมีอื่น ซึ่งไม่ตรงกับความจริง

         (๓) ปุ๋ยเคมีที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือที่ตั้งสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ซึ่งไม่ตรงกับความจริง

         (๔) ปุ๋ยเคมีที่แสดงว่าเป็นปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือเป็นปุ๋ยเคมีตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งไม่ตรงกับความจริง

         (๕) ปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีปริมาณธาตุอาหารรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือระบุไว้ในฉลาก

        มาตรา ๓๓ ปุ๋ยเคมีที่มีลักษณะต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน

         (๑) ปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีปริมาณธาตุอาหารรับรองต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ต่ำสุดของปุ๋ยเคมีมาตรฐาน แต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าวในมาตรา ๓๒ (๕)

         (๒) ปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์หรือมีลักษณะอย่างอื่นที่สำคัญต่อคุณภาพของปุ๋ยเคมี ผิดไปจากเกณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือผิดไปจากเกณฑ์ของปุ๋ยเคมีมาตรฐาน

[แก้ไข]
หมวด ๕ การประกาศ การขึ้นทะเบียน และการโฆษณาเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี
_____________
        มาตรา ๓๔ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปุ๋ยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีปฏิบัติดังนี้

         (๑) ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน โดยกำหนดปริมาณขั้นต่ำหรือขั้นสูงของปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสารเป็นพิษที่ให้มีในปุ๋ยเคมี และลักษณะจำเป็นอย่างอื่นของปุ๋ยเคมีมาตรฐานแต่ละชนิด

        การประกาศกำหนด เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกปุ๋ยเคมีมาตรฐานให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

         (๒) ชื่อปุ๋ยเคมีที่ต้องจัดให้มีคำชี้แจง วิธีใช้ และมีคำเตือนการใช้ปุ๋ยเคมีไว้ในเอกสารกำกับปุ๋ยเคมี

         (๓) วัตถุที่ใช้ทำเป็นภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า รวมทั้งวิธีปิดผนึกหรือเย็บภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี

         (๔) น้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมีที่จะบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเพื่อการค้า

         (๕) เกณฑ์คลาดเคลื่อนของปริมาณธาตุอาหารที่มีในปุ๋ยเคมีที่อนุญาตให้คลาดเคลื่อนหรือแตกต่างในการนำ การเตรียมการ และการวิเคราะห์ตัวอย่างปุ๋ยเคมี เพื่อตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารรับรอง

        มาตรา ๓๕ ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือผู้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรผู้ใดประสงค์จะผลิตหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีชนิดอื่นใด นอกจากปุ๋ยเคมีมาตรฐาน ต้องนำปุ๋ยเคมีชนิดนั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีแล้ว จึงจะผลิตหรือนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้

        มาตรา ๓๖ ผู้ขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามมาตรา ๓๕ ต้องแจ้งรายละเอียดดังนี้

         (๑) ชื่อปุ๋ยเคมี

         (๒) ตัวอย่างปุ๋ยเคมีที่ขอขึ้นทะเบียนในปริมาณไม่น้อยกว่าห้าสิบกิโลกรัม

         (๓) ชื่อและปริมาณของวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยเคมี

         (๔) ปริมาณธาตุอาหารรับรอง

         (๕) ชนิดและปริมาณของธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม ถ้ามี

         (๖) ขนาดบรรจุและภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ

         (๗) ชื่อผู้ผลิตและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมี

         (๘) วิธีวิเคราะห์ปุ๋ยเคมี

         (๙) วิธีการผลิตปุ๋ยเคมีโดยย่อ

         (๑๐) ฉลาก

         (๑๑) เอกสารกำกับปุ๋ยเคมี

         (๑๒) รายงานการวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีของห้องทดลองของทางราชการ

         (๑๓) รายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและสรรพคุณ

        มาตรา ๓๗ การแก้ไขรายการทะเบียนปุ๋ยเคมี จะกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

        มาตรา ๓๘ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน การขอแก้ไขรายการทะเบียนหรือการแก้ไขรายการทะเบียนซึ่งปุ๋ยเคมีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปุ๋ย

        มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี เมื่อคณะกรรมการปุ๋ยเห็นว่า

         (๑) รายละเอียดในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๖ หรือการขอแก้ไขรายการทะเบียนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๘

         (๒) ปุ๋ยเคมีที่ขอขึ้นทะเบียนนั้นไม่สามารถเชื่อถือในสรรพคุณได้

         (๓) เป็นปุ๋ยเคมีที่ใช้ชื่อทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดจากความจริง

         (๔) เป็นปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหรือสารเป็นพิษใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมีมาตรฐาน

         (๕) เป็นปุ๋ยเคมีปลอมหรือปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน

        คำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นที่สุด

        มาตรา ๔๐ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ให้มีอายุสามปีนับแต่วันออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

        มาตรา ๔๑ ปุ๋ยเคมีที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว หากภายหลังปรากฏว่าปุ๋ยเคมีนั้นอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือเป็นปุ๋ยเคมีปลอม หรือเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปุ๋ยมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนปุ๋ยเคมีนั้นได้ การเพิกถอนให้กระทำเป็นหนังสือและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ถูกสั่งเพิกถอนทะเบียนต้องส่งใบสำคัญการขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งเพิกถอนทะเบียน

        คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        มาตรา ๔๒ ในกรณีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และยื่นคำขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย หรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี และการออกใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปุ๋ย

        มาตรา ๔๓ ผู้โฆษณาขายปุ๋ยเคมีจะต้อง

         (๑) ไม่แสดงสรรพคุณปุ๋ยเคมีเป็นเท็จหรือเกินความจริง

         (๒) ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยเคมีหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยเคมี ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ยเคมี หรือมีแต่ไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจ

         (๓) ไม่มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยเคมีโดยบุคคลอื่น

[แก้ไข]
หมวด ๖ พนักงานเจ้าหน้าที่
_____________
        มาตรา ๔๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

         (๑) เข้าไปในสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า สถานที่ขายปุ๋ยเคมี สถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร สถานที่เก็บปุ๋ยเคมีของผู้รับใบอนุญาต หรือสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ในระหว่างเวลาใดๆ ที่ทำการ

         (๒) ตรวจสอบยานพาหนะหรือเข้าไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆเมื่อมีกรณีหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

         (๓) นำปุ๋ยเคมีในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ

         (๔) ยึดหรืออายัดปุ๋ยเคมี ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเอกสารที่เกี่ยวกับปุ๋ยเคมี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี

        ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าและผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา ๔๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

        มาตรา ๔๖ ปุ๋ยเคมีรวมทั้งภาชนะ หรือหีบห่อบรรจุ และเอกสารที่ได้ยึด หรืออายัดไว้ตามมาตรา ๔๔ ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลโดยคำพิพากษาถึงที่สุดไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด หรืออายัด หรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่พิพากษาให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตรเพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร

        ถ้าสิ่งที่ยึด หรืออายัด ไว้นั้นเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินราคาตลาดของปุ๋ยเคมี พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติของอธิบดีจะจัดการขายทอดตลาดปุ๋ยเคมีนั้นรวมทั้งภาชนะ หรือหีบห่อบรรจุและเอกสารเสียก่อนถึงกำหนดก็ได้ ได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดเงินนั้นไว้แทน

        มาตรา ๔๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา ๔๘ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติการไม่ถูกต้องเกี่ยวกับฉลาก ภาชนะ หรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี หรืออื่นๆ ที่ผู้รับใบอนุญาตพึงปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งคำเตือนเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำเตือนนั้น ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในคำเตือนนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามคำเตือนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

[แก้ไข]
หมวด ๗ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต
_____________
        มาตรา ๔๙ เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน หรือในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับใบอนุญาตต่อศาลว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้รอคำพิพากษาอันถึงที่สุดก็ได้

        ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น และระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นจะขอรับใบอนุญาตใดๆตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้

        มาตรา ๕๐ เมื่อปรากฏต่ออธิบดีว่า ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๘ หรือกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้หลายครั้งหรือครั้งเดียวแต่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

        ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องหยุดประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้นและจะขอรับใบอนุญาตใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็ได้ สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

        มาตรา ๕๑ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว ให้ปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า สถานที่ขายปุ๋ยเคมี สถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง

        มาตรา ๕๒ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตก่อนกำหนดเวลาได้เมื่อเป็นที่พอใจว่าผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกพักใช้ใบอนุญาตได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประกาศซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว

        มาตรา ๕๓ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือแก้ไขคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในทางที่เป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์ได้

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๕๔ ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องขายหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีของตนที่เหลืออยู่ให้หมดภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือวันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะผ่อนผันขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้

        เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏว่าผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตยังจัดการขายหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่ไม่หมด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่นั้นออกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นใดตามที่อธิบดีเห็นสมควร เงินที่ได้จากการขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายแล้วให้คืนให้แก่เจ้าของปุ๋ยเคมีหรือผู้ซึ่งมีสิทธิรับเงินนั้น

[แก้ไข]
หมวด ๘ ปุ๋ยอินทรีย์
_____________
        มาตรา ๕๕ ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ต้องปฏิบัติดังนี้

         (๑) แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือวันเริ่มดำเนินกิจการโดยแสดง

         (ก) ชื่อปุ๋ยอินทรีย์

         (ข) เครื่องหมายการค้า

         (ค) สถานที่ผลิต สถานที่เก็บ สถานที่ขาย และสถานที่ทำการ

         (๒) ถ้าผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าเปลี่ยนแปลงรายการที่แจ้งไว้ตาม (๑) ประการใด ให้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว

[แก้ไข]
หมวด ๙ บทกำหนดโทษ
_____________
        มาตรา ๕๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการปุ๋ยหรือขัดขวาง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๕๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๕๘ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ (๑) มาตรา ๒๖ หรือมาตรา ๒๗ หรือไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท

        มาตรา ๕๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ (๒) มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำผ่าน ซึ่งปุ๋ยเคมี ภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้วโดยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ตลอดเวลาที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

        มาตรา ๖๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๖๒ ผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท

        มาตรา ๖๓ ผู้ใดขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

        ถ้าผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

        มาตรา ๖๔ ผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนหรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายแก่คน สัตว์ พืชหรือทรัพย์อื่นผสมอยู่ด้วยเกินอัตราส่วนที่มีในปุ๋ยเคมีมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

        มาตรา ๖๕ ผู้ใดขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายแก่คน สัตว์ พืชหรือทรัพย์อื่นผสมอยู่ด้วยเกินอัตราส่วนที่มีในปุ๋ยเคมีมาตรฐานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

        ถ้าผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนหรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายแก่คน สัตว์ พืชหรือทรัพย์อื่นผสมอยู่ด้วยเกินอัตราส่วนที่มีในปุ๋ยเคมีมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าหมื่นบาท

        มาตรา ๖๖ ผู้ใดผลิต หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

        มาตรา ๖๗ ผู้ใดขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามหมื่นบาท

        ถ้าผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

        มาตรา ๖๘ ผู้ใดขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๓) หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๙ ผู้ใดโฆษณาขายปุ๋ยเคมีอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๗๑ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙ เป็นนิติบุคคล ผู้ดำเนินกิจการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

        มาตรา ๗๒ เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ใดเนื่องจากได้กระทำความผิดตามมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ หรือมาตรา ๖๘ ให้ศาลสั่งริบปุ๋ยเคมี เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี รวมทั้งภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีนั้นให้แก่กรมวิชาการเกษตร เพื่อทำลายเสียหรือจัดการตามที่เห็นสมควร

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล
_____________
        มาตรา ๗๓ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว ให้ผู้ผลิต ผู้ขายหรือมีไว้เพื่อขาย ผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๒ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ผู้นั้นประกอบกิจการนั้นไปพลางก่อนได้จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ

        มาตรา ๗๔ ปุ๋ยเคมีที่ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรในระหว่างที่พนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้ออกใบอนุญาตหรือยังมิได้สั่งไม่อนุญาตตามคำขอตามมาตรา ๗๓ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๗๕ เมื่อผู้ผลิตหรือผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีตามมาตรา ๗๓ ผู้ใดที่ได้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว และได้ยื่นคำขอรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ให้ผู้นั้นดำเนินกิจการที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตต่อไปได้จนกว่าจะได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบถึงการไม่รับขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามมาตรา ๓๙ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

        ถ้าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งประสงค์จะเลิกกิจการที่ตนได้รับอนุญาตหรือได้ยื่นคำขอรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามพระราชบัญญัตินี้ไว้แล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ให้ผู้รับใบอนุญาตนั้นขายหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีของตนที่เหลืออยู่หรือปุ๋ยเคมีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับขึ้นทะเบียนดังกล่าวให้หมดภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้แจ้งการเลิกกิจการหรือวันที่ได้ทราบถึงการไม่รับขึ้นทะเบียน แล้วแต่กรณี เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะผ่อนผันขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้

        เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคสอง หากปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตขาย หรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่ไม่หมด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำปุ๋ยเคมีที่เหลืออยู่หรือปุ๋ยเคมีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับขึ้นทะเบียนนั้นออกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นใดตามที่อธิบดีเห็นสมควร เงินที่ได้จากการขายปุ๋ยเคมีดังกล่าว เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายแล้วให้คืนแก่เจ้าของปุ๋ยเคมีหรือผู้ซึ่งมีสิทธิรับเงินนั้น

 

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สัญญา ธรรมศักดิ์

นายกรัฐมนตรี

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม
_____________
         (๑) ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท

         (๒) ใบอนุญาตขายหรือมีไว้เพื่อขายปุ๋ยเคมี ฉบับละ ๑๐๐ บาท

         (๓) ใบอนุญาตนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

         (๔) ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งปุ๋ยเคมี ฉบับละ ๒๐๐ บาท

         (๕) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๒๐ บาท

         (๖) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

         (๗) ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ฉบับละ ๒๐ บาท

         (๘) ค่าวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีที่ขอใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ธาตุอาหารละ ๒๐๐ บาท

         (๙) ค่าวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีที่ผลิตเพื่อการค้าขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ธาตุอาหารละ ๒๐๐ บาท

         (๑๐) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ


หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นอาหารพืชหรือบำรุงดินเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น และปัจจุบันนี้มีการสั่งปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมาจำหน่ายและผสมเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรในปริมาณมากขึ้นทุกปี แต่ปรากฏว่าปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น มักจะมีปุ๋ยเคมีปลอม ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ทั้งน้ำหนักปุ๋ยเคมีก็น้อยกว่าที่แจ้งไว้ในฉลาก ปริมาณธาตุอาหารพืชไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อความที่แจ้งไว้ในฉลาก เป็นการเอาเปรียบแก่เกษตรกรและหวังผลกำไรเกินควร โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นการเสียหายแก่นโยบายการส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลอีกด้วย สมควรมีกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยเพื่อควบคุมการผลิต การขาย และการนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นไปโดยสุจริตรวมทั้งควบคุมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรตามสมควร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ