พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498

พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2498
เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการให้เหมาะสม

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พุทธศักราช 2478 พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479 และบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมอัยการ

        รองอธิบดี หมายความว่า รองอธิบดีกรมอัยการ

        พนักงานอัยการ หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมอัยการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดี

        ดำเนินคดี หมายความว่า ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ในทางอรรถคดีของพนักงานอัยการ

        เขต หมายความว่า เขตท้องที่ของกรมอัยการ

        มาตรา 5 พนักงานอัยการได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้

1. อธิบดี
2. รองอธิบดี
3. อัยการพิเศษฝ่ายปรึกษา
4. อัยการพิเศษฝ่ายคดี
5. อัยการพิเศษฝ่ายวิชาการ
6. อัยการพิเศษประจำเขต
7. อัยการประจำกรม
8. อัยการจังหวัด
9. อัยการประจำกอง
10. อัยการจังหวัดผู้ช่วย
11. อัยการผู้ช่วย และ
12. ผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

        มาตรา 6 ให้มีพนักงานอัยการไว้เป็นทนายแผ่นดินประจำศาลยุติธรรมชั้นต้นทุกศาล

        มาตรา 7 การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานอัยการให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 8 การแต่งตั้งพนักงานอัยการจะต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา

        มาตรา 9 ในเขตหนึ่ง ๆ ให้มีพนักงานอัยการนายหนึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการอัยการประจำเขต เรียกว่า อัยการพิเศษประจำเขต

        ในท้องที่ที่ตั้งศาลจังหวัด ศาลแขวง หรือศาลคดีเด็กและเยาวชนแต่ละศาล ให้มีพนักงานอัยการนายหนึ่งเป็นหัวหน้า เรียกว่า อัยการจังหวัดและให้มีผู้ช่วย เรียกว่า อัยการจังหวัดผู้ช่วย และ อัยการผู้ช่วย

        มาตรา 10 ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำอยู่ในราชการส่วนกลางเป็นพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นทุกศาล ให้อธิบดีหรือรองอธิบดี หรืออัยการพิเศษฝ่ายคดีที่ได้รับมอบหมายหน้าที่จากอธิบดี เป็นหัวหน้าในการปฏิบัติราชการของพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นนั้น

        มาตรา 11 พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

         (1) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ

         (2) ในคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวงกับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ

         (3) ในคดีแพ่งหรืออาญาซึ่งเจ้าพนักงานถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรืออาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าร่วมกับเจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดีเมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างก็ได้

         (4) ในคดีแพ่งที่เทศบาลหรือสุขาภิบาลเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยซึ่งมิใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างก็ได้

         (5) ในคดีแพ่งที่นิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย และมิใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างก็ได้

         (6) ในคดีที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้

         (7) ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้

         (8) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ

        มาตรา 12 อธิบดีและรองอธิบดีมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลอัยการพิเศษประจำเขตมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลภายในเขต พนักงานอัยการผู้อื่นมีอำนาจดำเนินคดีได้เฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำ เว้นแต่

         (1) เมื่ออธิบดีได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่งไปช่วยราชการในอีกท้องที่หนึ่งชั่วคราว หรือให้ไปดำเนินคดีใดเฉพาะเรื่อง หรือเมื่ออัยการพิเศษประจำเขตได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่งภายในเขตไปช่วยราชการในอีกท้องที่หนึ่งชั่วคราว หรือให้ไปดำเนินคดีใดโดยเฉพาะเรื่องภายในเขต และอธิบดีหรืออัยการพิเศษประจำเขต แล้วแต่กรณี ได้แจ้งให้ศาลแห่งท้องที่นั้นทราบแล้วพนักงานอัยการผู้นั้นมีอำนาจดำเนินคดีได้ตลอดถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

         (2) เมื่อคดีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินไว้ในศาลชั้นต้น ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา พนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีนั้น หรือ พนักงานอัยการผู้อื่นซึ่งประจำศาลชั้นต้นนั้น หรือพนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำอยู่ในราชการส่วนกลาง มีอำนาจดำเนินคดีในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้

         (3) ในคดีที่ศาลส่งประเด็นไปสืบพยานยังศาลอื่น หรือโอนคดีไปพิจารณายังศาลอื่น พนักงานอัยการประจำศาลอื่นนั้น หรือพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีมาแต่ต้น หรือพนักงานอัยการซึ่งประจำศาลที่ดำเนินคดีมาแต่ต้นมีอำนาจดำเนินคดีนั้นในศาลที่สืบพยานตามประเด็นหรือศาลที่รับโอนคดีนั้นได้

        มาตรา 13 ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมายเฉพาะในคดีที่ต้องตั้งต้นที่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลใด ๆ นอกจากพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นยินยอมมาให้การต่อพนักงานอัยการ โดยจะให้สาบานหรือปฏิญาณตัวก็ได้

        มาตรา 14 ในการออกหมายเรียกตามความในมาตรา 13 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 56 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 15 ในการใช้อำนาจหรือกระทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจทำคำสั่งเฉพาะเรื่อง หรือวางระเบียบไว้ให้พนักงานอัยการปฏิบัติการได้

        มาตรา 16 ในการปฏิบัติราชการนอกจากการใช้อำนาจหรือกระทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการอยู่ในส่วนภูมิภาคฟังบังคับบัญชาอัยการพิเศษประจำเขตและผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ไม่ลบล้างอำนาจของอธิบดี

        มาตรา 17 รัฐมนตรีมีอำนาจทำคำสั่งหรือวางระเบียบให้พนักงานอัยการทำหน้าที่อื่นใดนอกจากหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นได้ คำสั่งนั้น ๆ จะเป็นคำสั่งเฉพาะเรื่องหรือจะวางเป็นระเบียบไว้ให้พนักงานอัยการทำหน้าที่อย่างใดก็ได้ เว้นแต่คำสั่งหรือระเบียบนั้น ๆ จะขัดต่องานในหน้าที่หรืออาจทำให้งานในหน้าที่เสื่อมทรามได้

        มาตรา 18 ถ้าพนักงานอัยการผู้เป็นหัวหน้าไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้พนักงานอัยการผู้เป็นหัวหน้านั้นแต่งตั้งพนักงานอัยการอื่นรักษาการแทนในส่วนราชการนั้น แต่ถ้ามิได้แต่งตั้งผู้ใดไว้ก็ให้พนักงานอัยการผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนรักษาการแทน

        แต่ทั้งนี้ อธิบดีหรือรัฐมนตรีอาจสั่งเปลี่ยนแปลงได้

        มาตรา 18 ทวิ ถ้าตำแหน่งพนักงานอัยการตามมาตรา 5 ว่างลงอธิบดีจะแต่งตั้งพนักงานอัยการนายหนึ่งรักษาการในตำแหน่งนั้นเป็นการชั่วคราวก็ได้ ถ้าตำแหน่งที่ว่างนั้นเป็นตำแหน่งอธิบดี รัฐมนตรีจะแต่งตั้งพนักงานอัยการนายหนึ่งรักษาการในตำแหน่งอธิบดีเป็นการชั่วคราวก็ได้

        ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ก็ให้ผู้รักษาการในตำแหน่งทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่อย่างนั้น ในระหว่างที่รักษาการในตำแหน่งได้ด้วย

        มาตรา 19 ในกรณีที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบกระทรวงหรือกรม ประสงค์จะแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดให้ดำเนินคดีแพ่งในศาลใดศาลหนึ่งหรือหลายศาล ซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของตนเป็นประจำหรือเฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง ให้แจ้งให้อธิบดีทราบ เมื่ออธิบดีเห็นชอบในคุณสมบัติของข้าราชการผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้ง และอธิบดีได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ก็ให้ข้าราชการผู้นั้นมีอำนาจดำเนินคดีแทนได้ตลอดถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

        ข้าราชการผู้ที่จะดำเนินคดีดังว่ามาในวรรคก่อน ต้องเป็นเนติบัณฑิตหรือได้รับปริญญาตรี หรือปริญญากฎหมายในต่างประเทศที่เนติบัณฑิตยสภายอมเทียบว่าเสมอด้วยเนติบัณฑิตและเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตย-สภา

        มาตรา 20 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้         กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        จอมพล ป. พิบูลสงคราม

        นายกรัฐมนตรี


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พุทธศักราช 2478 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479 ได้บัญญัติขึ้นในสมัยที่ยังมิได้มีกฎหมายแบ่งส่วนราชการเป็นภาค และในปัจจุบันนี้ตำแหน่งของพนักงานอัยการบางตำแหน่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมแห่งการบริหารราชการ ซึ่งเป็นเหตุให้มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติบางมาตราหมดความจำเป็นที่จะคงให้บัญญัติไว้ในขณะนี้ เช่น บทบัญญัติเฉพาะกาล เป็นต้น จึงเป็นการสมควรที่จะปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้พนักงานอัยการในส่วนราชการประจำภาคได้มีอำนาจดำเนินคดีภายในเขตภาค และให้พนักงานอัยการได้มีอำนาจหน้าที่ตรงตามตำแหน่ง

        พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2500

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการอัยการภาค ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำภาคได้ถูกยกเลิกโดยกฎหมายให้เลิกภาค แต่ส่วนราชการประจำภาคแต่เดิมยังมีความจำเป็นในทางวิชาการเกี่ยวกับงานอัยการ และงานที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้อำนวยการอัยการภาค มาเป็นผู้อำนวยการอัยการเขต เพื่อทำหน้าที่พนักงานอัยการประจำเขต โดยได้เสนอพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ออกเป็นเขต เป็นส่วนหนึ่งแล้ว

         [รก.2500/98/1481/19 พฤศจิกายน 2500]

        พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากชื่อตำแหน่งของพนักงานอัยการผู้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ กรมอัยการส่วนกลางและประจำเขต ซึ่งเรียกว่า ผู้อำนวยการกอง และ ผู้อำนวยการอัยการเขต ยังไม่เหมาะสม จึงสมควรให้เรียกชื่อเสียใหม่ว่า อัยการพิเศษฝ่ายคดี อัยการพิเศษฝ่ายปรึกษา อัยการพิเศษฝ่ายวิชาการ และ อัยการพิเศษประจำเขต โดยลำดับ เพื่อให้ตรงตามสายงานและให้สอดคล้องกับคำที่เรียกตำแหน่งอื่น ๆ ของพนักงานอัยการ

         [รก.2502/110/598/1 ธันวาคม 2502]

        พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2507

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรปรับปรุงตำแหน่งพนักงานอัยการบางตำแหน่งเพื่อให้มีการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และโดยที่กฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการยังไม่มีบทบัญญัติให้ตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งพนักงานอัยการเมื่อว่างลง จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการ

         [รก.2507/74/543/11 สิงหาคม 2507]

        พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงเกี่ยวกับการให้พนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาคดีในศาลแขวงแล้วแต่ความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ไม่บังคับถึงพนักงานอัยการในศาลแขวง จึงต้องแก้ไขมาตรา 9 ให้บังคับถึงพนักงานอัยการในศาลแขวงด้วย

         [รก.2517/175/17พ/18 ตุลาคม 2517]