พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
____________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยพรรคการเมือง

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า"พระราชบัญญัติ พรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535"


        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของ มาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524

        "ให้มีสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง ในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียน ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง และปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้"


        มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน

        มาตรา 26 สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ

        (1) ตาย

        (2) ลาออก

        (3) พรรคการเมืองสั่งให้ออกตามข้อบังคับ

        (4) พรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสิ้นสภาพเพราะ การรวมพรรคการเมือง

        (5) ศาลมีคำสั่งให้ยุบเลิกพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

        การสิ้นสุดของสมาชิกภาพตาม (3) ในกรณีที่สมาชิกนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วย มติของพรรคการเมืองต้องเป็นมติของที่ประชุมรวมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสาม ในสี่ของจำนวนคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองนั้นทั้งหมด การ ลงมติตามวรรคนี้ให้ลงคะแนนเสียงโดยวิธีเปิดเผยเท่านั้น

        ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งรายงาน หรือเอกสารเกี่ยวกับการมีมติตามวรรคสองไปยังนายทะเบียน ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ"


        มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 28ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524

        " มาตรา 28ทวิ พรรคการเมืองต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริงเก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง และพร้อมที่จะให้นายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตรวจสอบได้

        ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีที่ผ่านมาพร้อมด้วยรายชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของสมาชิกดังกล่าวตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดให้นายทะเบียนทราบภายในเดือน มกราคมของทุกปี

        ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้ง นายทะเบียนภายในระยะเวลาดังกล่าวตามวรรคสอง ให้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด"


        มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของ มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524

        "ให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองจัดส่งสำเนาบัญชีแสดงทรัพย์สิน และหนี้สินของพรรคการเมืองที่มีผู้สอบบัญชีรับรองต่อนายทะเบียนเป็นประจำทุกหกเดือนและให้ นายทะเบียนเก็บสำเนาบัญชีดังกล่าวไว้ที่สำนักงานนายทะเบียนเพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้ปละในกรณีที่ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหาร ผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรค การเมืองผู้ใดได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบำรุงพรรคการเมืองจากบุคคลภายนอกหรือเงินบำรุง พรรคการเมืองโดยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นต้องนำเงินนั้นเข้าบัญชีรายรับของพรรคการเมืองนั้นภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่รับเงินนั้นด้วย"


        มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        " มาตรา 46 พรรคการเมืองย่อมเลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

        (1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับของพรรคการเมือง

        (2) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงห้าพันคน หรือมีสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละห้าสิบ คนไม่ถึงห้าจังหวัดของแต่ละภาค ทั้งนี้ เป็นเวลาติดต่อกันหกเดือน

        (3) ไม่ส่งหรือส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบคน

        (4) ไม่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งทั่วไป

        (5) พรรคการเมืองสิ้นสภาพเพราะการรวมพรรคการเมือง

        (6) มีคำสิ่งศาลยุบเลิกพรรคการเมืองตาม มาตรา 48

        (7) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 31 หรือ มาตรา 32

        เมื่อมีกรณีที่พรรคการเมืองต้องเลิกตามวรรคหนึ่ง นอกจาก (6) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือ ผู้มีอำนาจทำการแทนหัวหน้าพรรคการเมือง แจ้งเหตุที่พรรคการเมืองต้องเลิกต่อนายทะเบียนภายใน เจ็ดวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิก"


        มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน

        " มาตรา 49 ในกรณีที่พรรคการเมืองเลิกตาม มาตรา 46 นอกจากกรณีตาม มาตรา 46 (5) ให้ หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบดุลรวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับ การเงินของพรรคการเมืองต่อ นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิก และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็น ผู้ชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่เสร็จให้ขอขยายเวลาได้อีก ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

        ในการชำระบัญชีเมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่าย ในการชำระบัญชีแล้วยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใด ให้ โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของพรรคการเมือง ถ้าในข้อบังคับไม่ได้ระบุก็ให้ ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของรัฐ

        ให้นำบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 5 ว่าด้วยการชำระ บัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดมาใช้บังคับแก่การชำระบัญชี พรรคการเมืองโดยอนุโลม"


        มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น หมวด 3ทวิ การรวมพรรคการเมือง มาตรา 49ทวิ มาตรา 49ตรี มาตรา 49จัตวา มาตรา 49เบญจ และ มาตรา 49ฉ แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 หมวด 3ทวิ การรวมพรรคการเมือง

        " มาตรา 49ทวิ การรวมพรรคการเมืองอาจเป็นการรวมกันเพื่อตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่หรืออาจ เป็นการรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลักก็ได้

        " มาตรา 49ตรี ในกรณีที่การรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมกันเพื่อตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ให้ พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง

        เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบ ให้รวมกันแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองและ กรรมการบริหารของพรรคการเมืองจำนวนพรรคละสิบคนประชุมร่วมกันเพื่อกระทำการเกี่ยวกับ พรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่ ดังนี้

        (1) การกำหนดแนวนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายและวิธีดำเนินการ

        (2) การกำหนดข้อบังคับของพรรคการเมือง

        เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุก พรรคการเมืองที่จะรวมกันเพื่อประชุมตั้งพรรคการเมือง การเรียกประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้ สมาชิกของพรรคการเมืองที่จะรวมกันทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ดำเนินการต่อไป ตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งและการจดทะเบียนพรรคการเมือง

        " มาตรา 49จัตวา เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ตั้งตาม มาตรา 49ตรี นั้นแล้ว ให้พรรคการเมืองที่รวมเข้ากันเป็นอันสิ้นสภาพ โดยให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัด พรรคการเมืองเดิมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้น และสมาชิกพรรค การเมืองเดิมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้น และให้บรรดาทรัพย์สิน หนี้สินสิทธิและความรับผิด ของพรรคการเมืองเดิมโอนไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นไป

        " มาตรา 49เบญจ ให้พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่สามครั้งเป็น อย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งพรรคการเมืองรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ด้วยจดหมายลงทะเบียน ไปรษณีย์เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการที่ได้จดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่

        " มาตรา 49ฉ ในกรณีที่การรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมพรรคการเมืองหนึ่งเข้าเป็นพรรคเดียวกันกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ ของแต่ละพรรคการเมือง

        เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบ ให้รวมกันแล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

        (1) ให้สมาชิกพรรคการเมืองที่จะรวมเข้ากับพรรคการเมือง ที่เป็นหลักสมัครเป็นสมาชิกพรรค การเมืองที่เป็นหลักภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองของตน เห็นชอบกับการรวมพรรคการเมือง

        (2) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (1) แล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะรวมเข้าเป็นพรรค เดียวกันกับอีกพรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคการเมือง ของพรรคการเมืองที่เป็นหลักใน การรวมกันร่วมกันแจ้งการรวมพรรคการเมืองต่อนายทะเบียน ในการนี้ ให้ถือว่า พรรคการเมืองที่รวมเข้ากับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลักนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่มีการแจ้งต่อ นายทะเบียน และให้นำ มาตรา 49จัตวา และ มาตรา 49เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ห้ามมิให้ถือว่าการสมัครเป็นสมาชิกของอีก พรรคการเมืองหนึ่งพร้อมกันเพื่อดำเนินการรวม พรรคการเมืองตามวรรคสองเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามให้ต้องขาดจากสมาชิกภาพและไม่เป็นความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้ และถ้าไม่มีการแจ้งการรวมพรรคการเมืองตามวรรคสอง (2) ให้ถือว่าการสมัครเป็น สมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นหลักนั้นเป็นโมฆะ

        ในกรณีมีการแจ้งการรวมพรรคต่อนายทะเบียนตามมาตรานี้แล้ว ให้นายทะเบียนประกาศการรวม พรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา"


        มาตรา 10 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        "มาตรา 51 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 26 วรรคสาม มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคหนึ่ง มาตรา 28ทวิ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสองหรือ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท"


        มาตรา 11 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        "มาตรา 52 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนซึ่งสั่งตาม มาตรา 28 วรรคสาม หรือ มาตรา 28ทวิ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"


        มาตรา 12 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        "มาตรา 54 หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองผู้ใดไม่จัดให้ทำบัญชี หรือไม่จัดส่งสำเนาบัญชีให้นายทะเบียนตาม มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือไม่จัดให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลตาม มาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"


        มาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 54ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524

        "มาตรา 54ทวิ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหาร ผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดได้รับเงินอุดหนุน หรือเงินบำรุงพรรคการเมืองจากบุคคลภายนอกหรือ เงินเพื่อบำรุงพรรคการเมืองโดยวิธีการอื่นใด และไม่นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีรายรับของ พรรคการเมืองตาม มาตรา 35 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        อานันท์ ปันยารชุน

        นายกรัฐมนตรี


        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ประกอบกับมีบทบัญญัติบางประการยังไม่เหมาะสมสมควร ที่จะปรับปรุงเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (ร.จ. เล่ม 109 ตอนที่ 3 หน้า 1 วันที่ 15 มกราคม 2535)