พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐

พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “มาตรวิทยา” หมายความว่า กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสอบเทียบปรับตั้งความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาณหรือวิเคราะห์ทดสอบ

         “มาตรฐานแห่งชาติ” หมายความว่า มาตรฐานของระบบเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ ที่มีวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้งานตามวิธีการมาตรฐานสากล และมีความสอบกลับได้กับมาตรฐานสากล เพื่อใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานที่มีความถูกต้องสูงสุดของประเทศ

         “การพัฒนาระบบมาตรวิทยา” หมายความว่า การศึกษา ค้นคว้า และวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ เพื่อให้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงดังกล่าวมีความถูกต้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัด การจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด

         “การวัดปริมาณ” หมายความว่า การวัดปริมาณของหน่วยวัดทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดให้ใช้เป็นหน่วยวัดสากล เช่น ปริมาณความยาว มวล เวลา กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ ความเข้มของแสง เสียง และปริมาณสาร

         “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ

         “สถาบัน” หมายความว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

         “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถด้านมาตรวิทยาเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา ๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) กำหนดแผนหลักและเสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบมาตรวิทยาต่อคณะรัฐมนตรี

         (๒) พิจารณาและเสนอต่อรัฐมนตรีในการออกประกาศตามมาตรา ๑๑ และในการกำหนดระเบียบตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๘

         (๓) กำหนดระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายเงินกองทุนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๒

         (๔) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและบุคคลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง และการดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ

         (๕) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้ง การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การสงเคราะห์หรือสวัสดิการ การออกจากงาน วินัย และการลงโทษของพนักงาน

         (๖) อนุมัติแผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสถาบัน

         (๗) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

        มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ

         (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

        มาตรา ๘ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และให้นำมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๑๐ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

        มาตรา ๑๑ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณที่มีความถูกต้องตามมาตรฐานสากล ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

         (๑) กำหนดให้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้อ้างอิงความถูกต้องตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ถือเป็นมาตรฐานแห่งชาติ

         (๒) กำหนดหน่วยการวัดปริมาณที่ใช้ในกิจการประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

         (๓) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง และการดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ

         (๔) กำหนดกิจการอื่นใดอันจำเป็นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๑๒ ให้จัดตั้งสถาบันขึ้นเรียกว่า “สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ” และให้สถาบันนี้เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี*

        กิจการของสถาบันไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

        สถาบันไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น และรายได้ของสถาบันไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

        มาตรา ๑๓ สถาบันมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาและงานธุรการให้แก่คณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานด้านการกำหนดแผน การจัดการ และให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานและบุคคลต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

         (๒) พัฒนาระบบมาตรวิทยา จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานแห่งชาติ วัสดุอ้างอิง มาตรฐานของประเทศทุกสาขา เพื่อให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล รวมถึงการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่มาตรฐานแห่งชาติ

         (๓) ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพด้านมาตรวิทยาและความสามารถของห้องปฏิบัติการสอบเทียบ

        มาตรา ๑๔ สถาบันมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการต่างๆ ภายในวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๓ และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง

         (๑) บริหารกองทุนตามกฎหมาย และระเบียบซึ่งรัฐมนตรีกำหนด

         (๒) ศึกษาสำรวจและวิเคราะห์ทางวิชาต่างๆ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการและมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

         (๓) ออกใบรับรองตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่สถาบันกำหนดสำหรับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณที่ได้ทำการสอบเทียบแล้วว่ามีความถูกต้องตามมาตรฐานแห่งชาติ

         (๔) ศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรวิทยาของภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมด้านนี้ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนกับนานาประเทศ

         (๕) สนับสนุนห้องปฏิบัติการสอบเทียบของผู้ประกอบการภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมมาตรวิทยาและระบบการถ่ายทอดความถูกต้อง การให้บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีการวัดและการให้บริการอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา

         (๖) สนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัดระบบการถ่ายทอดความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด ความสอบกลับได้ตลอดจนการจัดโครงการลงทุนและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรับเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยาจากต่างประเทศ เพื่อให้ระบบมาตรวิทยาของประเทศมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในระบบมาตรวิทยาสากล

         (๗) ดำเนินงานและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาของประเทศ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

         (๘) กระทำการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบัน และตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

         (๙) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม แลกเปลี่ยน โอน รับโอน และขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีใดๆ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหลักทรัพย์ต่างๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบหรืออุทิศให้

         (๑๐) รับค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด และค่าบริการในการให้บริการ รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

         (๑๑) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด และความสอบกลับได้

         (๑๒) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด ความสอบกลับได้ และการประดิษฐ์หรือพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การวัด หรือความรู้เทคโนโลยีที่ใช้เป็นมาตรฐานในกิจการด้านมาตรวิทยา

         (๑๓) เข้าร่วมกิจการหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ

         (๑๔) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ เพื่อการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการวัด และการบริการสอบเทียบความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด

         (๑๕) กระทำการอื่นใดอันจำเป็นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

        การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน หรือการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด หากเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในระเบียบ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

        มาตรา ๑๕ ให้สถาบันมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

        ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

        ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๑๖ ผู้อำนวยการต้อง

         (๑) มีสัญชาติไทย

         (๒) มีความสามารถในการบริหารและความรู้ด้านมาตรวิทยา

         (๓) สามารถทำงานให้สถาบันได้เต็มเวลา

         (๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๗) ไม่เป็นข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ

        มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ผู้อำนวยการอาจพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะกรรมการให้ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

         (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖

        มาตรา ๑๘ ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริการกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน และตามนโยบาย ข้อบังคับ และระเบียบที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีกำหนดกับมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

        ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของสถาบัน

        มาตรา ๑๙ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนสถาบัน และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบหมายให้พนักงานคนหนึ่งคนใดปฏิบัติการบางอย่างแทนได้ ในเมื่อไม่ขัดต่อระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        การกระทำของผู้อำนวยการที่ฝ่าฝืนระเบียบตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ผูกพันสถาบัน เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

        ระเบียบที่จำกัดอำนาจของผู้อำนวยการในการทำกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๒๐ เมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลงให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานในสถาบันคนหนึ่งคนใดเป็นผู้ทำการแทนชั่วคราว

        ในการทำการแทนผู้อำนวยการตามมาตรานี้ให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ

        มาตรา ๒๑ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสถาบันเรียกว่า “กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา” ประกอบด้วย

         (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

         (๒) เงินและทรัพย์สินในส่วนที่ได้รับโอนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

         (๓) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี*

         (๔) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดินประจำปี

         (๕) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

         (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้สมทบกองทุน

         (๗) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน

         (๘) ผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด ความสอบกลับได้ และจากค่าบริการ

         (๙) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน

        ในกรณีกองทุนมีจำนวนเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบัน และค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม และกองทุนไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเข้าสมทบกองทุนตามจำนวนที่จำเป็น

        มาตรา ๒๒ การใช้จ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในกิจการดังต่อไปนี้

         (๑) การดำเนินงานและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรวิทยา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การติดตามประเมินผล การเผยแพร่ผลงานวิจัย และการส่งเสริมการนำผลงานไปใช้ประโยชน์

         (๒) การบริหารกองทุน

         (๓) การดำเนินงานของสถาบัน

         (๔) การดำเนินงานของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการตลอดจนเงินเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคคลดังกล่าว

        มาตรา ๒๓ ให้สถาบันวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการ

        ให้สถาบันจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของทุกปี

        รอบระยะเวลาบัญชีปกติให้นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมและสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี เฉพาะในปีแรกให้เริ่มนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีนั้น

        ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสถาบันทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

        มาตรา ๒๔ ให้สถาบันจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอรัฐมนตรี โดยแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชีรวมทั้งแสดงผลงานของสถาบันในปีที่ล่วงมาแล้วด้วย

        มาตรา ๒๕ ในระยะเริ่มแรกเมื่อยังไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามมาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม* คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ทำการแทนชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ

        มาตรา ๒๖ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณ รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านมาตรวิทยาที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของสถาบัน

        พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการที่โอนไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่สมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันให้แจ้งความจำนงต่อผู้บังคับบัญชาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        ให้พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งโอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสถาบัน โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมและให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะยุบเลิกตำแหน่ง โดยให้มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ และหรือค่าชดเชยตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยและเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน แล้วแต่กรณี

        เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามข้อบังคับสถาบันพนักงานผู้ใดซึ่งโอนไปตามมาตรานี้ประสงค์ที่จะให้นับเวลาทำงานในขณะที่เป็นพนักงานก่อนที่จะมีการโอนเป็นเวลาทำงานของพนักงานของสถาบัน ก็ให้มีสิทธิกระทำได้โดยแสดงความจำนงว่าไม่ขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ที่ได้รับอยู่เดิม

        การไม่ขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ตามวรรคสี่ จะต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่โอน

        ทั้งนี้ การโอนตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีและสถาบันจะได้ตกลงกัน

        มาตรา ๒๗ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการมาตรวิทยาและการรับรองห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และโครงการปรับปรุงและขยายงานมาตรวิทยาทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของสถาบัน

        ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการที่โอนไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันและได้แจ้งความจำนงต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้นไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบัน

        ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างตามวรรคสอง ซึ่งโอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสถาบัน โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิม

        การโอนข้าราชการตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

        การโอนลูกจ้างตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ

        ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างซึ่งโอนไปตามวรรคสอง ได้รับบำเหน็จบำนาญหรือค่าตอบแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างแล้วแต่กรณี

        เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญตามข้อบังคับสถาบัน ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดซึ่งโอนไปตามวรรคสองประสงค์จะให้นับเวลาราชการหรือเวลาทำงานในขณะที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างก่อนที่มีการโอนเป็นเวลาทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบัน แล้วแต่กรณีก็ให้มีสิทธิกระทำได้โดยแสดงความจำนงว่าไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญที่ได้รับอยู่เดิม

        การไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญตามวรรคเจ็ด จะต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่โอนสำหรับกรณีของข้าราชการให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับกรณีของลูกจ้างให้กระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อผู้ว่าจ้างเพื่อส่งต่อไปให้กระทรวงการคลังทราบ

        ทั้งนี้ การโอนตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีและสถาบันจะได้ตกลงกัน

        มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        ประกาศและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศ        ในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากงานในด้านพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศไทยยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบดำเนินการ ทำให้การวัด การตรวจสอบ การทดสอบ การสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการผลิตและการควบคุมคุณภาพยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ นอกจากนี้การแข่งขันในการทางการค้าระหว่างประเทศกำลังทวีมากขึ้น ทำให้ต้องจัดให้มีมาตรการในการสร้างระบบและมาตรฐานในการวัดปริมาณของประเทศให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องพัฒนาและส่งเสริมงานในด้านมาตรวิทยาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานในด้านนี้ แต่เนื่องจากยังต้องผูกพันกับกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการไม่มีความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการรับการถ่ายทอดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สมควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะการบริหารงานเป็นอิสระมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศสำหรับงานด้านนี้ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยมีกองทุนซึ่งประกอบด้วยทุนจากภาครัฐและแหล่งทุนอื่นๆ เป็นทุนในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

        มาตรา ๘๑ ในพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้แก้ไขคำว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็น “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” คำว่า “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็น “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” และคำว่า “ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็น “ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก