พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔

พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หมายความว่า การดำเนินกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถทางการผลิตและการบริการตลอดจนระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน

         “การวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้าที่มุ่งจะนำผลไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและบริการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าเพื่อนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกรรมวิธีการผลิตใหม่ ตลอดจนบริการหรือกิจกรรมใหม่ โดยรวมถึงการเผยแพร่และพัฒนาผลของการศึกษาค้นคว้าจนถึงขั้นการผลิตเชิงธุรกิจ

         “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

         “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

         “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการไม่เกินยี่สิบสองคน โดยให้แต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งมิใช่ข้าราชการจำนวนฝ่ายละเท่าๆ กัน และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา ๕ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงานและโดยเฉพาะมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

         (๑) พิจารณาอนุมัติแผนหลักเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงาน

         (๒) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการดำเนินงานของสำนักงานในการบริหารกองทุนและพิจารณาจัดสรรทุนสำหรับกิจกรรมหลักต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในการพัฒนาประเทศ

         (๓) วางมาตรการ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับกองทุนเพื่อสนับสนุนการรับและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

         (๔) อนุมัติแผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสำนักงาน

         (๕) จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางขึ้นในสำนักงานโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนากิจกรรมใดเป็นกรณีพิเศษ

         (๖) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงาน และข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานของสำนักงาน รวมถึงระเบียบข้อบังคับด้านการเงิน

         (๗) กำหนดจำนวน ตำแหน่ง ระยะเวลาจ้าง อัตราเงินเดือน ค่าจ้างและเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้าง

         (๘) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน วินัย การลงโทษและการอุทธรณ์ การลงโทษทางวินัย การร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้างรวมทั้งการบริหารงานบุคคลโดยทั่วไป

         (๙) ออกข้อบังคับว่าด้วยการคัดเลือกผู้อำนวยการ การปฏิบัติงานของผู้อำนวยการและการมอบให้ผู้อื่นรักษาการแทนหรือปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ

         (๑๐) ออกข้อบังคับว่าด้วยสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่พนักงานและลูกจ้าง

        มาตรา ๖ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

        ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

        เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

         (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        มาตรา ๘ การประชุมคณะกรรมการทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

        ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๙ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

        มาตรา ๑๐ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

        การดำเนินการตามมาตรา ๕ (๗) (๘) และ (๑๐) ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการ

        การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคสอง ให้มีตัวแทนพนักงานหรือลูกจ้างซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพนักงานและลูกจ้างเป็นอนุกรรมการสองคน

        การประชุมคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๑๑ ให้จัดตั้งสำนักงานขึ้นเรียกว่า “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” และให้สำนักงานนี้เป็นนิติบุคคลที่กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ไม่ใช้บังคับ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) บริหารกองทุนตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการ

         (๒) สำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผน โครงการ และมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ แล้วนำเสนอต่อรัฐมนตรี

         (๓) ดำเนินการวิจัย พัฒนาและดำเนินการด้านวิศวกรรม และสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมของภาครัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมด้านนี้ระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนนานาประเทศเพื่อพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์

         (๔) ดำเนินการและสนับสนุนการให้บริการในการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบมาตรฐานและความถูกต้องของอุปกรณ์ การให้บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี และสนับสนุนการให้บริการอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         (๕) สนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการเลือกและรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศตลอดจนการจัดการโครงการลงทุนและโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม และเพื่อเกื้อกูลการสร้างเสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยีของประเทศ

         (๖) ดำเนินการและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน

         (๗) กระทำการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานและตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        มาตรา ๑๒ ให้สำนักงานมีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๑ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

         (๑) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม แลกเปลี่ยนโอน รับโอน และขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีใดๆ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์รวมทั้งหลักทรัพย์ต่างๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบหรืออุทิศให้

         (๒) รับค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา ค่าตอบแทนการให้ใช้หรือการโอนสิทธิบัตร และค่าบริการในการให้บริการ รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น

         (๓) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม

         (๔) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         (๕) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         (๖) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินหรือการลงทุนทั้งนี้ เพื่อการวิจัยและพัฒนา และการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        การกู้ยืมเงินหรือการลงทุน ถ้าเป็นจำนวนเงินเกินวงเงินที่รัฐมนตรีกำหนดต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

         (๗) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน

        มาตรา ๑๓ ให้สำนักงานมีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๑๔ ให้ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

        นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะกรรมการให้ออกด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๑๕ ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

         (๑) บริหารงานของสำนักงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของคณะกรรมการ

         (๒) รับผิดชอบในการดำเนินงานและบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่ง

         (๓) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานระดับรองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการฝ่าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

         (๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ ระเบียบ หรือมติของคณะกรรมการ

        มาตรา ๑๖ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสำนักงาน และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๑๗ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานเรียกว่า “กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประกอบด้วย

         (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

         (๒) เงินและทรัพย์สินในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ได้รับโอนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

         (๓) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

         (๔) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดินประจำปี

         (๕) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ

         (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน

         (๗) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและค่าตอบแทนการให้ใช้หรือการโอนสิทธิบัตร

         (๘) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน

        ในกรณีกองทุนมีจำนวนเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานและค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม รัฐพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเข้าสมทบกองทุนเท่าจำนวนที่จำเป็น

        มาตรา ๑๘ รายได้ของกองทุนและของสำนักงานให้นำเข้าสมทบกองทุนโดยไม่ต้องส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

        มาตรา ๑๙ ให้สำนักงานวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการ แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

        มาตรา ๒๐ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี

        ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

        มาตรา ๒๑ ทุกๆ ปีให้สำนักงานจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอรัฐมนตรี โดยแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแสดงผลงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมาด้วย

        ให้รัฐมนตรีเสนอรายงานประจำปีตามวรรคหนึ่งต่อคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานนั้นต่อรัฐสภาเพื่อทราบ

        มาตรา ๒๒ ให้จัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน

        มาตรา ๒๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ งบประมาณ รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ไปเป็นของสำนักงานโดยให้พนักงานและลูกจ้างดังกล่าวดำรงตำแหน่งที่ดำรงอยู่และได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงาน แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้ และให้ถือว่าเวลาทำงานของบุคคลดังกล่าวในโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเป็นเวลาทำงานติดต่อกันกับเวลาทำงานในสำนักงานนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๒๔ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสำนักงาน

        ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการที่โอนไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน และได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้นไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน แต่ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดและสำนักงานจะได้ตกลงกัน

        ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานแล้วแต่กรณี ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานแต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้

        การโอนข้าราชการตามมาตรานี้ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการ เพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

        การโอนลูกจ้างตามมาตรานี้ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง

        เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญตามข้อบังคับของสำนักงาน ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดที่โอนไปตามมาตรานี้ประสงค์จะให้นับเวลาราชการหรือเวลาทำงานในขณะที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างก่อนที่มีการโอนเป็นเวลาทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน แล้วแต่กรณี ก็ให้มีสิทธิกระทำได้โดยแสดงความจำนงว่าไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญ

        การไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญตามวรรคหก จะต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่โอน สำหรับกรณีของข้าราชการให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับกรณีของลูกจ้างให้กระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อผู้ว่าจ้างเพื่อส่งต่อไปให้กระทรวงการคลังทราบ

        มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลตำรวจเอก เภา สารสิน
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ: - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การที่รัฐบาลจะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเพิ่มสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐบาลและภาคเอกชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เกื้อหนุนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการเสริมสร้างองค์กรและกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาเท่านั้น หากต้องเสริมสร้างสมรรถนะทางวิศวกรรมและสมรรถนะทางเทคโนโลยีอื่นๆ ตลอดจนการบริการทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย จึงจะสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาการผลิต การบริการ และกิจกรรมต่อเนื่องต่างๆ ทั้งทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งช่วยให้ภาคการผลิตสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องครอบคลุมกิจกรรมหลายประเภทและต้องอาศัยทุนจำนวนมากทั้งจากภาครัฐบาลและจากแหล่งทุนอื่นทั้งภายในและต่างประเทศด้วย การระดมทุนและการบริหารทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ สำหรับพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ต้องใช้ความชำนาญการพิเศษ ไม่อาจอาศัยองค์กรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระและความคล่องตัวสูงโดยไม่ผูกพันไว้กับกฎระเบียบการปฏิบัติและข้อบังคับปกติของราชการและรัฐวิสาหกิจ และเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพสูงและสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เกื้อหนุนองค์กรต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งสามารถประสานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนให้บรรลุประโยชน์ร่วมสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาครัฐบาลและภาคเอกชน และการจัดตั้งกองทุนนี้จะครอบคลุมถึงการจัดตั้งศูนย์แห่งชาติเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะสาขา และการจัดตั้งองค์กรพิเศษอื่นเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะด้านด้วย

        เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ [๒]

        มาตรา ๘๒ ในพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้แก้ไขคำว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน” เป็น “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” และคำว่า “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน” เป็น “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก