พระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ. ๒๕๑๘

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ. ๒๕๑๘

พระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ. ๒๕๑๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
เป็นปีที่ ๓๐ ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘"

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

        "พันธุ์พืช" หมายความว่า พันธุ์ หรือกลุ่มของพืชที่มีพันธุกรรมและลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนหรือคล้ายคลึงกันและมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นในพืชชนิดเดียวกันที่สามารถตรวจสอบได้

        "เมล็ดพันธุ์" หมายความว่า เมล็ด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชที่ใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ เช่น ต้น ตอ หน่อ เหง้า กิ่ง แขนง ตา ราก หัวดอก หรือผล

        "เมล็ดพันธุ์ควบคุม" หมายความว่า เมล็ดพันธุ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        "เมล็ดพันธุ์รับรอง" หมายความว่า เมล็ดพันธุ์ที่ได้ผ่านการทดสอบ ตรวจหรือวิเคราะห์คุณภาพหรือคุณสมบัติและอธิบดีออกหนังสือรับรองให้

        "พันธุ์พืชขึ้นทะเบียน" หมายความว่า พันธุ์พืชที่ผ่านการพิจารณาขึ้นทะเบียนและอธิบดีออกหนังสือรับรองให้

        "พันธุ์พืชรับรอง" หมายความว่า พันธุ์พืชขึ้นทะเบียนที่ผ่านการพิจารณารับรองให้เป็นพันธุ์พืชรับรองและอธิบดีออกหนังสือรับรองให้

        "พืชสงวน" หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพืชสงวน

        "พืชต้องห้าม" หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพืชต้องห้าม

        "พืชอนุรักษ์" หมายความว่า พืชชนิดที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ ซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        "การขยายพันธุ์เทียม" หมายความว่า การขยายพันธุ์ที่ไม่ใช่การขยายพันธุ์โดยธรรมชาติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

        "ฉลาก" หมายความรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ อันแสดงไว้ที่ภาชนะบรรจุ

        "ภาชนะบรรจุ" หมายความว่า วัตถุใด ๆ ที่ใช้บรรจุหรือห่อหุ้มเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ

        "รวบรวม" หมายความว่า รวบรวมเมล็ดพันธุ์เพื่อคัดเลือกหรือบรรจุในภาชนะบรรจุ

        "ขาย" หมายความว่า จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขาย

        "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

        "ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร

        "นำผ่าน" หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร โดยมีการขนถ่ายหรือเปลี่ยนยานพาหนะ

        "สถานที่" หมายความว่า ที่ อาคารหรือส่วนของอาคาร และหมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ด้วย

        "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการพันธุ์พืช

        "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

         (มาตรา ๓ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือส่วนราชการอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง

(๑) เมล็ดพันธุ์ควบคุม
(๒) พืชสงวน
(๓) พืชต้องห้าม

         (มาตรา ๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่น และออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ คณะกรรมการพันธุ์พืช

        มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการพันธุ์พืช" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมศุลกากร และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ

         (มาตรา ๖ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีแต่อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน

        มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษา วิจัย หรือปฏิบัติการเกี่ยวกับพืชที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

         (มาตรา ๑๐ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๑๑ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการควบคุม การส่งเสริมและการออกประกาศเกี่ยวกับพืช
(๒) ให้คำแนะนำ หรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับพืช

         (มาตรา ๑๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของพืชชนิดใดให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        มาตรา ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ควบคุมให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๑) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) (๒) หรือ (๓)แจ้งชนิดชื่อพันธุ์และปริมาณของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่รวบรวมและแหล่งรวบรวม
(๒) กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ วิธีเก็บหรือวิธีรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ปฏิบัติ
(๓) กำหนดชนิดและอัตราส่วนของวัตถุที่ใช้ หรือมี หรือผสม หรือเจือปนในเมล็ดพันธุ์ควบคุมและกำหนดวัตถุหรือสิ่งที่เป็นศัตรูพืชซึ่งห้ามใช้ หรือมีหรือผสม หรือเจือปนในเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ปฏิบัติ
(๔) กำหนดสารเคมีอันตรายที่ใช้ผสมในเมล็ดพันธุ์ควบคุม โดยระบุชื่อสามัญและชื่อทางเคมีและอัตราส่วนของสารเคมีนั้น เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ปฏิบัติ
(๕) กำหนดว่าเมล็ดพันธุ์ควบคุมชนิดใด และชื่อพันธุ์ใดที่ต้องบรรจุในภาชนะบรรจุ กำหนดวัตถุที่จะใช้สำหรับเป็นภาชนะบรรจุ และวิธีการบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุม เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ปฏิบัติ
(๖) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗(๑) หรือ (๒)รวบรวมขายเมล็ดควบคุมเฉพาะที่เป็นเมล็ดพันธุ์รับรอง
(๗) กำหนดชนิดพันธุ์และปริมาณของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่อนุญาตให้นำเข้า

        การออกประกาศตามมาตรานี้ ต้องระบุระยะเวลาใช้บังคับไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันประกาศ

        มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ควบคุมไว้ในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

        การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ควบคุมซึ่งขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ตนปลูกเองให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือผู้รับใบอนุญาตส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์รายอื่นเพื่อใช้เพาะปลูกเองโดยมิได้มีการโฆษณา

        มาตรา ๑๕ เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของพืชชนิดใดให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามมาตรา ๑๒ แล้ว ให้ผู้รวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าอยู่ในวันประกาศ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๔ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ผู้นั้นประกอบกิจการไปพลางก่อนได้ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้นั้นประกอบกิจการต่อไปจนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ และให้นำความในมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๑๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้รวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขอใบอนุญาต

(๑) เป็นผู้มีฐานะดีพอที่จะดำเนินกิจการได้
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๓) มีถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานในประเทศไทย
(๔) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) มีสถานที่ที่เหมาะสมในการรวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามที่ขอรับใบอนุญาต
(๖) ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจของผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว หรือผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตยังไม่ครบสองปี

        ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีลักษณะตาม (๑) (๓) (๕) และ (๖) และต้องมีผู้ดำเนินกิจการซึ่งเข้าลักษณะตาม (๒) (๓) และ (๔) ด้วย

        มาตรา ๑๗ ประเภทของใบอนุญาตสำหรับเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีดังนี้

(๑) ใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า
(๒) ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม
(๓) ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า
(๔) ใบอนุญาตส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า
(๕) ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า

        ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๑) (๓) หรือ (๔) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) สำหรับเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ตนรวบรวมนำเข้าหรือส่งออกด้วยแล้วแต่กรณี

         (ชื่อหมวด ๒ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๑๘ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตด้วย

        ให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการคุ้มกันตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตด้วย เว้นแต่ผู้รับใบอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้

        มาตรา ๑๙ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ออกใบอนุญาต เว้นแต่ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ใบอนุญาตส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตแต่มิให้กำหนดเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต จะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น

        การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

         (มาตรา ๑๙ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๒๐ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม ก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์

         (มาตรา ๒๐ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า

(๑) บรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมในภาชนะบรรจุนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือ
(๒) ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่บรรจุในภาชนะบรรจุไม่ตรงตามฉลาก

        มาตรา ๒๒ ให้ผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าปฏิบัติดังนี้

(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) จัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่รวบรวมขึ้น และในฉลากต้องแสดง
(ก) ชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ควบคุม และมีคำว่า "เมล็ดพันธุ์ควบคุม"
(ข) เครื่องหมายการค้าสำหรับเมล็ดพันธุ์ควบคุม
(ค) ชื่อผู้รวบรวมและแหล่งรวบรวม
(ง) น้ำหนักสุทธิของเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามระบบเมตริก
(จ) อัตราความงอกของเมล็ดพันธุ์ควบคุม และระบุวันเดือนปีที่ทดสอบ
(ฉ) เดือนและปีที่รวบรวมหรือนำเข้า
(ช) อายุความงอกของเมล็ดพันธุ์ควบคุม เดือนและปีที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์
(ซ) ถ้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีวัตถุอื่นผสมอยู่ด้วย ต้องแจ้งชื่อและอัตราส่วนของวัตถุนั้นที่ผสมอยู่ในเมล็ดพันธุ์ควบคุม
(ฌ) ถ้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีสารเคมีอันตรายตามมาตรา ๑๓ผสมอยู่ด้วย ต้องแจ้งชื่อและอัตราส่วนของสารเคมีอันตรายที่ผสมอยู่ในเมล็ดพันธุ์ควบคุม ทั้งต้องแสดงเครื่องหมายหัวกะโหลกกับกระดูกไขว้ และมีคำว่า "อันตราย" ด้วยอักษรสีแดงไว้ด้วย
(ญ) ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีเห็นสมควรประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุเพิ่มเติมในฉลาก

        มาตรา ๒๓ ให้ผู้รับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธ์ควบคุมเพื่อการค้าปฏิบัติดังนี้

(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่นำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) นำใบรับรองของผู้รวบรวมจากประเทศซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(๓) นำตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้าทุกคราวมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในปริมาณพอสมควร เพื่อทำการทดสอบภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
(๔) จัดให้มีฉลากที่ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้าตามมาตรา ๒๒(๒) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้านำเมล็ดพันธุ์นั้นมาแบ่งบรรจุในภาชนะบรรจุเอง ต้องจัดให้มีฉลากที่ภาชนะบรรจุตามมาตรา ๒๒(๒) ด้วย

        มาตรา ๒๔ ให้ผู้รับใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมปฏิบัติดังนี้

(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม

        ลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) ดูแลฉลากที่ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามมาตรา ๒๒(๒)ให้คงอยู่ครบถ้วนและชัดเจน"

         (ชื่อหมวด ๓ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๒๕ ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายภายในอาคารที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

        มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนในอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตย้ายสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า สถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม สถานที่นำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า สถานที่ส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ควบคุม ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

         (มาตรา ๒๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ การรับรองและการควบคุม

        มาตรา ๒๘ ผู้ใดประสงค์จะได้หนังสือรับรองพืชชนิดใดให้เป็นเมล็ดพันธุ์รับรอง พันธุ์พืชขึ้นทะเบียน หรือพันธุ์พืชรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

        การขอให้ออกหนังสือรับรองและการออกหนังสือรับรอง ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๒๘ ทวิ ในกรณีที่มีผู้ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ทำการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ ผู้ขอจะต้องเสียค่าป่วยการ ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๒๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของพืชชนิดใดให้เป็นพืชสงวน

        มาตรา ๒๙ ทวิ ให้พืชที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ ซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๒๙ ตรี ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์และซากของพืชอนุรักษ์ เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

        การขออนุญาต การออกหนังสืออนุญาต และการปฏิบัติในการนำเข้าส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        หนังสืออนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์ ให้ใช้ได้ไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสืออนุญาต

        มาตรา ๒๙ จัตวา ผู้ใดประสงค์จะขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์เพื่อการค้าให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือเพื่อขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ต่อกรมวิชาการเกษตร

        การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ให้ใช้ได้ห้าปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

        มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกซึ่งพืชสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลอง หรือวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น

        มาตรา ๓๑ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำหรือส่งพืชสงวนชนิดใดและในปริมาณเท่าใด ออกนอกเขตท้องที่ใดหรือนำหรือส่งพืชดังกล่าวไปยังท้องที่ใดในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๓๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชนิด และชื่อพันธุ์ของพืชชนิดใดให้เป็นพืชต้องห้าม

        มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าซึ่งพืชต้องห้าม

        มาตรา ๓๔ เมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณะต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ

(๑) เมล็ดพันธุ์ที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ตามที่แสดงไว้ในฉลาก
(๒) เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓

        มาตรา ๓๕ เมล็ดพันธุ์หรือวัตถุที่ทำเทียมเมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณะต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ปลอมปน

(๑) เมล็ดพันธุ์หรือวัตถุที่ทำเทียมเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์แท้
(๒) เมล็ดพันธ์ที่แสดงชนิด ชื่อพันธุ์ เครื่องหมายการค้า แหล่งรวบรวมหรือระบุวันเดือนปีที่รวบรวม หรือนำเข้า ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
(๓) เมล็ดพันธุ์ที่มีเมล็ดพันธุ์อื่นหรือวัตถุอื่นผสมหรือเจือปนอยู่เกินปริมาณที่แจ้งไว้ในฉลากหรือเกินอัตราส่วนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓

        มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ

        มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ปลอมปน

        มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ควบคุมอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดในคุณภาพของเมล็ดพันธุ์นั้น

         (ชื่อหมวด ๔ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๒๙ ทวิ มาตรา ๒๙ ตรีมาตรา ๒๙ จัตวา มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ แก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ พนักงานเจ้าหน้าที่

        มาตรา ๓๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสาร หรือวัตถุใด ๆเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และมีอำนาจเข้าไปในสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า สถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม สถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ในระหว่างเวลาทำการ หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกเมล็ดพันธุ์หรือพืชอนุรักษ์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เพื่อ

(๑) ตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ พืชอนุรักษ์ ภาชนะบรรจุ ฉลาก สมุดบัญชีหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ หรือพืชอนุรักษ์
(๒) นำเมล็ดพันธุ์ หรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพเมล็ดพันธ์ปลอมปน หรือพืชอนุรักษ์ ในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อทดสอบ ตรวจ หรือวิเคราะห์
(๓) ค้น ยึด หรืออายัดเมล็ดพันธุ์ พืชอนุรักษ์ ภาชนะบรรจุ ฉลาก สมุดบัญชีหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ หรือพืชอนุรักษ์

        ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

         (มาตรา ๓๙ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๓๙ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นคลังสินค้ายานพาหนะ กระเป๋า หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืชที่ประกาศตามกฎหมายว่าด้วยการกักพืชภายในด่านศุลกากร ด่านตรวจ ด่านพรมแดน เขตศุลกากร และทางอนุมัติซึ่งประกาศตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

         (มาตรา ๓๙ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๓๙ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรือส่งกลับพืชอนุรักษ์ที่นำเข้าโดยไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ยึดพืชอนุรักษ์ให้พืชอนุรักษ์ที่ถูกยึดตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร สำหรับการส่งกลับต้องได้รับความยินยอมจากประเทศต้นทางของพืชอนุรักษ์ และประเทศต้นทางต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งสิ้น ถ้าประเทศต้นทางของพืชอนุรักษ์ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยินยอมออกค่าใช้จ่าย ให้พืชอนุรักษ์ดังกล่าวตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร

         (มาตรา ๓๙ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๔๐ในการค้น พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพยายามมิให้มีการเสียหายและกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้

        มาตรา ๔๑ สิ่งของที่ยึดได้ในการค้น ให้ห่อหรือบรรจุหีบห่อและประทับตรา หรือทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญ

        มาตรา ๔๒ การค้นในสถานที่หรือในยานพาหนะตามมาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๓๙ ทวิ ก่อนลงมือค้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และให้ค้นต่อหน้าผู้รับใบอนุญาต ผู้รับหนังสืออนุญาต ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลที่ทำงานในสถานที่นั้น หรือผู้ครอบครองยานพาหนะ หรือถ้าหาบุคคลดังกล่าวนั้นไม่ได้ ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ขอร้องมาเป็นพยาน

สิ่งของใดที่ได้ยึดหรืออายัดต้องให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้รับหนังสืออนุญาตผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลที่ทำงานในสถานที่นั้น ผู้ครอบครองยานพาหนะ หรือพยาน แล้วแต่กรณี ดูเพื่อให้รับรองว่าสิ่งของนั้นได้ค้นได้ในสถานที่ หรือในยานพาหนะนั้น ถ้าบุคคลดังกล่าวนั้นไม่ยอมรับรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นบันทึกไว้

         (มาตรา ๔๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๔๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นบันทึกรายละเอียดแห่งการค้นและทำบัญชีรายละเอียดสิ่งของที่ค้น ยึดหรืออายัดไว้

        บันทึกการค้นและบัญชีดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้อ่านให้ผู้รับใบอนุญาตผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลที่ทำงานในสถานที่นั้น ผู้ครอบครองยานพาหนะ หรือพยาน แล้วแต่กรณี ฟังและให้บุคคลดังกล่าวนั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้ ถ้าไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นบันทึกไว้

        มาตรา ๔๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลดังกล่าวในมาตรา ๔๒

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๔๕ เมล็ดพันธุ์ พืชอนุรักษ์ ภาชนะบรรจุ ฉลาก สมุดบัญชี หรือเอกสารใด ๆ ที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๓๙(๓) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลโดยคำพิพากษาถึงที่สุดไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรืออายัด หรือวันที่ทราบคำสั่ง เด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่พิพากษาให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตรเพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร

         (มาตรา ๔๕ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๖ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

        ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น และระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้

        มาตรา ๔๗ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจสั่งถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตก่อนกำหนดเวลาได้ เมื่อเป็นที่พอใจว่าผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว

        มาตรา ๔๘ เมื่อปรากฏต่ออธิบดีว่า ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ หรือในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใดกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้หลายครั้ง หรือครั้งเดียวแต่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

        ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ต้องหยุดประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น และจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็ได้สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

        มาตรา ๔๙ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว ให้ปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง

        มาตรา ๕๐ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือแก้ไขคำสั่งอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ในทางที่เป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์ได้

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๕๑ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมของตนที่เหลืออยู่แก่ผู้รับใบอนุญาตอื่นหรือแก่ผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรก็ได้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้นับตั้งแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะผ่อนผันขยายเวลาให้อีกแต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน

         (มาตรา ๕๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

[แก้ไข]
หมวด ๗ สถิติพันธุ์พืช

        มาตรา ๕๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับพันธุ์พืชชนิดใดชนิดหนึ่งในท้องที่ใดได้ตามที่เห็นสมควร

        เมื่อได้ประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งมีอาชีพเกี่ยวกับพันธุ์พืชดังกล่าวกรอกรายการข้อความ และจำนวนเกี่ยวกับสถิติตามแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนดและให้อธิบดีกำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่นไว้ในแบบพิมพ์ด้วย

        มาตรา ๕๓ บุคคลซึ่งได้รับคำสั่งตามมาตรา ๕๒ วรรคสอง ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความและจำนวนตามความเป็นจริงพร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในแบบพิมพ์

        มาตรา ๕๔ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การเก็บสถิติพันธุ์พืชให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับคำสั่งในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบรายการข้อความและจำนวนเกี่ยวกับสถิติพันธุ์พืช และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำสั่งหรือผู้แทนตอบคำถามอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้

        ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้นำความในมาตรา ๔๔วรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
หมวด ๘ บทกำหนดโทษ

        มาตรา ๕๕ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศซึ่งออกตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๕๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๕๗ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดรวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว โดยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกินหนึ่งร้อยบาทตลอดเวลาที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

         (มาตรา ๕๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๕๘ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดยังขืนประกอบกิจการตามใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว ภายหลังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๑๙ แล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๕๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๗วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท

        มาตรา ๖๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๖๑ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ ตรี หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         (มาตรา ๖๑ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๖๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๓ ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๖ ผู้ใดโฆษณาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ควบคุมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ หรือขัดขวาง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร หรือวัตถุใด ๆ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือเรียกตามมาตรา ๓๙

        ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         (มาตรา ๖๖ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๖๖ ทวิ ผู้ใดขัดขวางไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         (มาตรา ๖๖ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๖๗ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖วรรคสองแล้ว ยังขืนประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๘ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผู้ใดขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมของตนที่เหลืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในมาตรา ๕๑ หรือขายภายหลังระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

         (มาตรา ๖๘ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

        มาตรา ๖๙ ผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๓ ไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        มาตรา ๗๐ ผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        มาตรา ๗๑ เมื่อศาลเห็นว่ามีการกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามมาตรา ๑๓(๓) หรือ (๔) หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๓๗ แม้ศาลจะเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดก็ให้ศาลสั่งริบเมล็ดพันธุ์ เครื่องมืออุปกรณ์และภาชนะที่ใช้เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นเสียทั้งสิ้น บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตรเพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร

         (มาตรา ๗๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี


         (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๔๐ ฉบับพิเศษ หน้า ๕ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘)

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

๑. ใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ฉบับละ ๔๐๐ บาท
๒. ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม ฉบับละ ๒๐๐ บาท
๓. ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ฉบับละ ๔๐๐ บาท
๔. ใบอนุญาตส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ฉบับละ ๔๐๐ บาท
๕. ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ฉบับละ ๒๐๐ บาท
๖. ค่าทดสอบ ตรวจ หรือวิเคราะห์คุณภาพหรือคุณสมบัติของเมล็ดพันธุ์เพื่อออกหนังสือรับรองตัวอย่างละ ๔๐๐ บาท
๗. หนังสือรับรองพืชชนิดใดให้เป็นเมล็ดพันธุ์รับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน หรือพันธุ์พืชรับรองฉบับละ ๑๐๐ บาท
๘. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐ บาท
๙. การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ
๑๐. หนังสืออนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์ ฉบับละ ๒๐๐ บาท
๑๑. ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

(อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติพันธุ์พืช แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕)

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ปรากฏว่าการเพาะปลูกของเกษตรกรให้ผลต่อไร่น้อยกว่าที่ควรจะได้รับมากและผลิตผลยังมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ สินค้าเกษตรของประเทศไทยจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบทั้งในด้านคุณภาพและราคา อันเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศโดยตรง

        ทั้งนี้ ก็เพราะประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมและการควบคุมการใช้พันธุ์พืชที่ดี ทั้งยังปล่อยให้มีการประกอบการค้าพันธุ์พืชโดยเสรีไม่มีการควบคุมแต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้มีผู้สั่งพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศและมีการผลิตพันธุ์พืชจำหน่ายแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และปรากฏว่ามีการจำหน่ายพันธุ์พืชเสื่อมคุณภาพและพันธุ์พืชปลอมปนอยู่เสมอ นอกจากนั้นก็ยังมีการโฆษณาเท็จหรือเกินความเป็นจริงเกี่ยวกับคุณภาพของพันธุ์พืชเป็นการหลอกลวงให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย

        ฉะนั้นเพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ และผู้ประกอบการค้าพันธุ์พืชสามารถดำเนินกิจการไปด้วยดี

        สมควรมีกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญรุ่งเรือง และมีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

        จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

[แก้ไข] พระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

         (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๔๐ หน้า ๓๙ วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕)

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืชที่ใช้บังคับอยู่ยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีธรรมชาติ และในการกำหนดความหมายของพันธุ์พืชยังไม่ตรงตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช การรับรองพันธุ์พืช เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการคิด ค้น และปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ๆ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๖ ซึ่งอนุสัญญามีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองพืชป่ามิให้สูญพันธุ์ไปจากโลกโดยการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์พืชป่านอกเหนือจากวิธีธรรมชาติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้