พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒

พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒
พระราชบัญญัติ
มาตราชั่งตวงวัด
พ.ศ. ๒๕๔๒
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัด

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

         (๑) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖

         (๒) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖

         (๓) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

         (๔) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๑ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕

         (๕) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๖

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “มาตราชั่งตวงวัด” หมายความว่า หน่วยที่กำหนดให้รู้ขนาดหรืออัตราเทียบส่วนใดๆ ของปริมาณต่างๆ

         “เครื่องชั่งตวงวัด” หมายความว่า เครื่องชั่ง เครื่องตวง และเครื่องวัด

         “เครื่องชั่ง” หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้ชั่งแสดงน้ำหนัก และให้หมายความรวมถึงตุ้มน้ำหนักที่ใช้ในการชั่งและส่วนประกอบของเครื่องชั่งที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

         “เครื่องตวง” หมายความว่า เครื่องที่มีลักษณะเป็นภาชนะสำหรับใช้ตวงแสดงปริมาตรของสิ่งของ และให้หมายความรวมถึงส่วนประกอบของเครื่องตวงที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

         “เครื่องวัด” หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้วัดแสดงปริมาณหรือหน่วยของสิ่งใดๆ แต่ไม่ใช่เครื่องชั่งหรือเครื่องตวง และให้หมายความรวมถึงส่วนประกอบของเครื่องวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

         “การให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับทำการชั่ง ตวงหรือวัด สินค้าของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

         “สินค้าหีบห่อ” หมายความว่า สินค้าที่ได้บรรจุหรือมีสิ่งหุ้มห่อซึ่งเจตนาจะซื้อ ขายหรือจำหน่ายกันตามปริมาณที่บรรจุหรือหุ้มห่อไว้นั้น ไม่ว่าจะซื้อ ขายหรือจำหน่ายสิ่งที่ใช้บรรจุหรือสิ่งหุ้มห่อด้วยหรือไม่ก็ตาม

         “ผู้บรรจุ” หมายความว่า ผู้ผลิตสินค้าหีบห่อ และให้หมายความรวมถึงผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผู้แบ่งบรรจุซึ่งสินค้าหีบห่อ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้แบ่งขายหรือจำหน่ายสินค้าจากสิ่งที่ใช้บรรจุหรือสิ่งหุ้มห่อโดยมีเจตนามิให้เป็นสินค้าหีบห่ออีกต่อไป

         “สำนักงานกลาง” หมายความว่า สำนักงานกลางชั่งตวงวัด

         “สำนักงานสาขา” หมายความว่า สำนักงานสาขาของสำนักงานกลาง

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามตามพระราชบัญญัตินี้

         “นายตรวจชั่งตวงวัด” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการค้าภายใน*

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายตรวจชั่งตวงวัด ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้กับกำหนดกิจการอื่นและออกประกาศตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ บททั่วไป

______

        มาตรา ๖ ให้จัดตั้งสำนักงานกลางชั่งตวงวัดขึ้นในกรมการค้าภายใน* กระทรวงพาณิชย์ โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน*เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) เก็บรักษาแบบมาตราชั่งตวงวัด

         (๒) ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจและใบอนุญาต

         (๓) ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัด

         (๔) จดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว

         (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๗ รัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในท้องที่ที่เห็นสมควรและจะให้มีเขตอำนาจตลอดถึงท้องที่อื่นด้วยก็ได้

        รัฐมนตรีจะกำหนดให้สำนักงานสาขามีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้

        การจัดตั้งสำนักงานสาขาตามวรรคหนึ่งและการกำหนดอำนาจหน้าที่ตามวรรคสอง ให้ทำเป็นประกาศโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๘ เครื่องชั่งและเครื่องตวงที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่เครื่องชั่งและเครื่องตวงทุกชนิด เว้นแต่เครื่องชั่งและเครื่องตวงที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ยกเว้น

        เครื่องวัดที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้แก่เครื่องวัดที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๙ การชั่ง การตวงและการวัดทั้งปวง ให้ใช้มาตราชั่งตวงวัดในระบบเมตริกหรือในระบบประเพณีที่เทียบเข้าหาระบบเมตริกตามที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๑๐ ในการซื้อขายหรือจำหน่ายสินค้าใดๆ ในท้องที่ใด ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรให้ใช้มาตราชั่งตวงวัดเฉพาะในระบบเมตริกตามมาตรา ๙ หรือให้กระทำโดยการชั่ง การตวงหรือการวัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนด

        ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ต้องใช้มาตราชั่งตวงวัดในระบบอื่นนอกจากที่กำหนดในมาตรา ๙ หรือในกรณีที่ต้องใช้เครื่องชั่งตวงวัดอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๖ สำหรับในทางวิชาชีพหรือในทางวิทยาศาสตร์ ให้ใช้มาตราชั่งตวงวัดในระบบนั้นหรือให้ใช้เครื่องชั่งตวงวัดนั้นได้เมื่อรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายอนุญาต

[แก้ไข]
หมวด ๒ แบบมาตราชั่งตวงวัด

______

        มาตรา ๑๒ เครื่องชั่งตวงวัดต้องได้รับการตรวจสอบความเที่ยงกับแบบมาตราชั่งตวงวัดตามพระราชบัญญัตินี้

        แบบมาตราชั่งตวงวัดตามวรรคหนึ่ง ให้เรียกชื่อย่อว่า “แบบมาตรา” และแบ่งออกเป็นแบบมาตราชั้นหนึ่ง แบบมาตราชั้นสอง และแบบมาตราชั้นสาม

        แบบมาตราชั้นหนึ่ง ได้แก่ แบบมาตราที่สำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศกำหนดให้ใช้หรือรับรองความเที่ยงแล้ว

        แบบมาตราชั้นสอง ได้แก่ แบบมาตราที่ได้ตรวจสอบความเที่ยงกับแบบมาตราชั้นหนึ่งแล้ว

        แบบมาตราชั้นสาม ได้แก่ แบบมาตราที่ได้ตรวจสอบความเที่ยงกับแบบมาตราชั้นสองแล้ว

        มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีจัดให้มีแบบมาตราชั้นหนึ่งไว้สำหรับใช้ตรวจสอบความเที่ยงของแบบมาตราชั้นสอง

        ในกรณีที่ไม่อาจจัดหาแบบมาตราชั้นหนึ่งชนิดใดได้ ให้รัฐมนตรีจัดให้มีแบบมาตราชั้นหนึ่งชนิดนั้นขึ้นได้ตามที่เห็นสมควร และให้ถือว่าแบบมาตราที่รัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นนั้นเป็นแบบมาตราชั้นหนึ่ง

        มาตรา ๑๔ ให้สำนักงานกลางจัดให้มีแบบมาตราชั้นสองไว้สำหรับใช้ตรวจสอบความเที่ยงของแบบมาตราชั้นสาม

        มาตรา ๑๕ ให้สำนักงานกลางและสำนักงานสาขาจัดให้มีแบบมาตราชั้นสามไว้สำหรับใช้ตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัด

[แก้ไข]
หมวด ๓ เครื่องชั่งตวงวัด

______

        มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีกำหนดชนิดและลักษณะของเครื่องชั่งตวงวัด และรายละเอียดวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องชั่งตวงวัดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๗ ผู้ใดจะประกอบธุรกิจในการผลิต นำเข้า ขาย ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือให้บริการชั่งตวงหรือวัด ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งและตรวจสอบว่าถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงให้แก่ผู้แจ้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

        ในกรณีที่การแจ้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้แจ้งไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้แจ้งได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้การแจ้งตามวรรคหนึ่งเป็นอันสิ้นผล

        ในกรณีที่ผู้แจ้งได้แก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้แจ้งภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งที่ถูกต้อง

        ผู้ได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประกอบธุรกิจตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๘ ในกรณีที่หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย

        มาตรา ๑๙ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจหรือใบแทนหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิต สำนักงานนำเข้า สถานที่ขาย สถานที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด หรือสถานที่ให้บริการชั่งตวงหรือวัด แล้วแต่กรณีเว้นแต่อยู่ในระหว่างการขอรับใบแทนหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๘

        มาตรา ๒๐ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม ถ้าผู้ที่ได้รับคำสั่งไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

        ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        มาตรา ๒๑ ผู้ประกอบธุรกิจต้องประกอบกิจการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจในการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัดออกหนังสือแสดงผลการชั่งการตวงหรือการวัดให้แก่ผู้ขอรับบริการชั่ง ตวงหรือวัดทุกครั้ง ในหนังสือดังกล่าวให้มีลายมือชื่อผู้ควบคุมการชั่ง การตวงหรือการวัด พร้อมทั้งระบุวัน เวลาและสถานที่ที่ทำการชั่ง ตวงหรือวัดด้วย

        มาตรา ๒๓ อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดข้อปฏิบัติในการบำรุงรักษาเครื่องชั่งตวงวัด และการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัดหรือผู้ควบคุมการชั่ง การตวงหรือการวัดถือปฏิบัติ

        ในกรณีที่มีการปฏิบัติผิดข้อปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งเป็นหนังสือให้ทำการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด

        มาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจในการขายเครื่องชั่งตวงวัดขายหรือจำหน่ายเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่มีการให้คำรับรองตามมาตรา ๓๐ หรือที่คำรับรองสิ้นอายุแล้วตามมาตรา ๓๓ เว้นแต่เครื่องชั่งตวงวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ยกเว้นการให้คำรับรองตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง

        มาตรา ๒๕ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้อื่น หรือการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด หรือการใช้เครื่องชั่งตวงวัดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าตอบแทน ค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่มีการให้คำรับรองตามมาตรา ๓๐ หรือที่คำรับรองสิ้นอายุแล้วตามมาตรา ๓๓ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ยกเว้นการให้คำรับรองตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง หรือไม่ก็ตาม

        รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องชั่งตวงวัดเพื่อให้ผู้ใช้เครื่องชั่งตวงวัดถือปฏิบัติ

        มาตรา ๒๖ ความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้ในกิจการตามมาตรา ๒๕ ต้องอยู่ภายในอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และเป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่มีการให้คำรับรองแล้ว ให้ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดมีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ติดตั้งเสร็จ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัดนั้นใหม่

        มาตรา ๒๘ ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย ผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือผู้ให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด เปลี่ยนแปลงสถานที่ผลิต สำนักงานนำเข้า สถานที่ขาย สถานที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือสถานที่ให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด หรือมีสถานที่ผลิต สำนักงานนำเข้า สถานที่ขาย สถานที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือสถานที่ให้บริการชั่ง ตวงหรือวัดหลายแห่ง ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงหรือการประกอบกิจการสำหรับสถานที่หรือสำนักงานนั้นๆ ทุกแห่ง

        ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย ผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือผู้ให้บริการชั่งตวงหรือวัดมีสถานที่เก็บเครื่องชั่งตวงวัด ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่ผลิต สำนักงานนำเข้า สถานที่ขาย สถานที่ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดหรือสถานที่ให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด ต้องแจ้งสถานที่เก็บนั้นด้วยทุกแห่ง

[แก้ไข]
หมวด ๔ การให้คำรับรอง

______

        มาตรา ๒๙ เครื่องชั่งตวงวัดต้องได้รับการตรวจสอบและได้รับคำรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่

        บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่เครื่องชั่งตวงวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ยกเว้นการให้คำรับรอง

        มาตรา ๓๐ การตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัด ให้ดำเนินการโดยตรวจสอบเทียบกับแบบมาตรา เมื่อตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำรับรอง

        การให้คำรับรองให้กระทำโดยวิธีดังนี้

         (๑) ประทับหรือแสดงเครื่องหมายคำรับรองของสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่เครื่องชั่งตวงวัด และออกหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองประจำเครื่องชั่งตวงวัดทุกเครื่อง

         (๒) ในกรณีเครื่องชั่งตวงวัดซึ่งโดยสภาพไม่สามารถประทับหรือแสดงเครื่องหมายคำรับรองได้ หรือเมื่อประทับหรือแสดงเครื่องหมายคำรับรองแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องชั่งตวงวัดนั้น จะออกหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองอย่างเดียวก็ได้

        ในกรณีที่เครื่องชั่งตวงวัดซึ่งใช้ด้วยกันเป็นชุด จะออกหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองรวมกันเป็นฉบับเดียวก็ได้

        หนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองจะทำเป็นแถบผนึกติดไว้ที่เครื่องชั่งตวงวัดก็ได้

        เครื่องหมายคำรับรองและหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองตามวรรคสองให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๑ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้คำรับรอง อธิบดีอาจขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสำนักงาน หรือองค์การชั่งตวงวัดของรัฐต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัด และให้คำรับรองได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ถือว่าเป็นการตรวจสอบเทียบกับแบบมาตราและการให้คำรับรองตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง

        มาตรา ๓๒ คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดมีสองอย่าง คำรับรองสำหรับเครื่องชั่งตวงวัดที่ยังไม่เคยให้คำรับรองมาก่อนให้เรียกว่าคำรับรองชั้นแรก คำรับรองซ้ำภายหลังการให้คำรับรองชั้นแรกแล้วให้เรียกว่าคำรับรองชั้นหลัง การให้คำรับรองชั้นแรกและการให้คำรับรองชั้นหลังนั้นความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัด ต้องอยู่ภายในอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดในกฎกระทรวงห้ามการให้คำรับรองชั้นหลังสำหรับเครื่องชั่งตวงวัดชนิดใดก็ได้

        มาตรา ๓๓ คำรับรองสำหรับเครื่องชั่งตวงวัดชนิดใดให้มีอายุเท่าใดให้กำหนดในกฎกระทรวง ในการให้คำรับรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับหรือแสดงวันสิ้นอายุของคำรับรองไว้ที่เครื่องชั่งตวงวัดและที่หนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองสำหรับเครื่องชั่งตวงวัดนั้น

        มาตรา ๓๔ ให้ผู้ประกอบธุรกิจต่อไปนี้นำเครื่องชั่งตวงวัดมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อให้คำรับรองตามมาตรา ๓๐ ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๖

         (๑) ผู้ผลิตเครื่องชั่งตวงวัด เว้นแต่กรณีผลิตเพื่อการส่งออกตามมาตรา ๖๕

         (๒) ผู้นำเข้าเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่มีการให้คำรับรอง

         (๓) ผู้ขายเครื่องชั่งตวงวัดที่ได้เครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่มีการให้คำรับรองมาไว้ในครอบครอง

         (๔) ผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด


        มาตรา ๓๕ ผู้ใดนำเครื่องชั่งตวงวัดที่มิใช่เป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ยกเว้นตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง เข้ามาในราชอาณาจักร ก่อนรับมอบเครื่องชั่งตวงวัดนั้นไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

        ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควร จะประกาศกำหนดให้ผู้นำเครื่องชั่งตวงวัดใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งก็ได้

        มาตรา ๓๖ การขอให้ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อให้คำรับรองตามมาตรา ๓๔ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขา

        ในกรณีตามมาตรา ๓๔ (๑) และ (๒) ให้ยื่นคำขอก่อนนำเครื่องชั่งตวงวัดออกจำหน่าย แต่อย่างช้าต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผลิตหรือรับมอบไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

        ในกรณีตามมาตรา ๓๔ (๓) ให้ยื่นคำขอก่อนนำเครื่องชั่งตวงวัดออกจำหน่ายแต่อย่างช้าต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้เครื่องชั่งตวงวัดมาไว้ในครอบครอง

        ในกรณีตามมาตรา ๓๔ (๔) ให้ยื่นคำขอก่อนส่งมอบเครื่องชั่งตวงวัดให้เจ้าของ หรือก่อนนำเครื่องชั่งตวงวัดออกจำหน่าย แต่อย่างช้าต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันซ่อมเสร็จ

        ระยะเวลาที่กำหนดในมาตรานี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจขยายได้ตามความจำเป็นเมื่อมีคำขอ

        มาตรา ๓๗ ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่มีการให้คำรับรองต้องยื่นคำขอให้ทำการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อให้คำรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขา ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้เครื่องชั่งตวงวัดมาไว้ในครอบครอง

        ระยะเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจขยายได้ตามความจำเป็นเมื่อมีคำขอ

        มาตรา ๓๘ ในกรณีเครื่องชั่งตวงวัดที่จะต้องตรวจสอบติดตรึงกับที่หรือยากแก่การเคลื่อนย้ายหรือมีจำนวนมาก ผู้ยื่นคำขอจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบนอกสถานที่สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาก็ได้ โดยเสียค่าทำการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง

        มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ปรากฏว่าเครื่องชั่งตวงวัดใดที่ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้คำรับรอง เป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าพอจะแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้สั่งให้ผู้ยื่นคำขอทำการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วตรวจสอบใหม่

        ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายเครื่องชั่งตวงวัดนั้น หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้เครื่องชั่งตวงวัดนั้นใช้ได้ต่อไป ถ้าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีเครื่องหมายคำรับรองประทับหรือแสดงอยู่แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายเครื่องหมายคำรับรองหรือประทับเครื่องหมายแสดงว่าคำรับรองเดิมใช้ไม่ได้แล้ว

        เครื่องหมายแสดงว่าคำรับรองเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ให้กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๔๐ ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดมีเครื่องหมายเฉพาะตัว และให้ประทับหรือแสดงเครื่องหมายนั้นไว้ที่เครื่องชั่งตวงวัดก่อนขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้คำรับรอง

        ในกรณีที่เครื่องชั่งตวงวัดซึ่งโดยสภาพไม่สามารถประทับหรือแสดงเครื่องหมายเฉพาะตัวได้ หรือเมื่อประทับหรือแสดงเครื่องหมายเฉพาะตัวแล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องชั่งตวงวัดนั้น การประทับหรือแสดงเครื่องหมายดังกล่าวจะกระทำด้วยวิธีอื่นแทนก็ได้

        การประทับหรือแสดงเครื่องหมายเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานกลาง

        เครื่องหมายเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่ง ให้จดทะเบียนไว้ที่สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และห้ามมิให้สำนักงานกลางและสำนักงานสาขารับจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัวที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายเฉพาะตัวที่บุคคลอื่นได้แจ้งไว้ก่อนแล้วหรือที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

        มาตรา ๔๑ ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดจะขออนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อมก็ได้

        การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวให้กำหนดเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ด้วย

        มาตรา ๔๒ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๑ ต้องตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานกลางกำหนด

        มาตรา ๔๓ ใบอนุญาตให้ใช้ได้ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต แต่ต้องไม่เกินคราวละห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ทำการตามใบอนุญาตต่อไปได้จนกว่าอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตนั้น

        การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๔๔ ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่ออกใบอนุญาต หรือสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาต

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ก่อนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในกรณีสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาต รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ทำการตามใบอนุญาตไปพลางก่อนได้เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์

        มาตรา ๔๕ ใบอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้รับใบอนุญาต

        มาตรา ๔๖ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามเงื่อนไขในการอนุญาตที่กำหนดในกฎกระทรวง อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน

        มาตรา ๔๗ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามมาตรา ๗๔ หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

        ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๔๘ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตหรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดของผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง

        มาตรา ๔๙ ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือแก้ไขคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ก่อนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ทำการตามใบอนุญาตไปพลางก่อนได้เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์

        มาตรา ๕๐ ถ้าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕๑ ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตหรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดของผู้รับใบอนุญาตเว้นแต่อยู่ในระหว่างการขอรับใบแทนใบอนุญาตตามมาตรา ๕๐

[แก้ไข]
หมวด ๕ อำนาจหน้าที่ของนายตรวจชั่งตวงวัด

______

        มาตรา ๕๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้นายตรวจชั่งตวงวัดมีอำนาจ

         (๑) เข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่ขาย หรือสถานที่เก็บเครื่องชั่งตวงวัดหรือสินค้าหีบห่อชนิดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ผู้บรรจุต้องปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดหรือสินค้าหีบห่อนั้น

         (๒) เข้าไปในสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้ในกิจการดังระบุไว้ในมาตรา ๒๕

         (๓) ค้นสถานที่หรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗๐ หรือมาตรา ๒๗๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการงาน และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน หรือทำลายเครื่องชั่งตวงวัด หรือสินค้าหีบห่อที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และการค้นในเวลาดังกล่าวข้างต้นยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้

         (๔) ยึดหรืออายัดเครื่องชั่งตวงวัดหรือสินค้าหีบห่อที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ใน (๓)

        ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) นายตรวจชั่งตวงวัดจะนำข้าราชการหรือลูกจ้างในสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาไปช่วยปฏิบัติงานด้วยก็ได้

        มาตรา ๕๓ เครื่องชั่งตวงวัดที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๕๒ (๔) หากปรากฏว่าไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ให้สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาส่งคืนหรือถอนการอายัดเครื่องชั่งตวงวัดนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรืออายัด

        เครื่องชั่งตวงวัดที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ขอรับคืนภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมการค้าภายใน*และให้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        เครื่องชั่งตวงวัดที่อายัดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ ให้นายตรวจชั่งตวงวัดถอนการอายัดโดยมิชักช้า

        มาตรา ๕๔ สินค้าหีบห่อที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๕๒ (๔) นายตรวจชั่งตวงวัดมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแก้ไขหีบห่อนั้นให้ถูกต้อง หรือจะสั่งให้ทำลายหีบห่อของสินค้านั้นแล้วคืนสินค้าให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้

        ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายตรวจชั่งตวงวัดตามวรรคหนึ่ง นายตรวจชั่งตวงวัดมีอำนาจทำลายหีบห่อของสินค้านั้น แล้วคืนสินค้าให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการคืนสินค้านั้นแต่ในกรณีทำลายหีบห่อแล้ว ถ้าสินค้านั้นโดยสภาพไม่อาจคืนได้จะแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองถ่ายสินค้าจากหีบห่อนั้นแล้ว นำสินค้าคืนไปภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันที่แจ้ง หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตาม ให้สินค้านั้นตกเป็นของกรมการค้าภายใน*และให้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๕๕ เครื่องชั่งตวงวัดหรือสินค้าหีบห่อที่ยึดไว้ตามมาตรา ๕๒ (๔) ถ้าขณะยึดไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครองและไม่มีผู้ใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด ให้ตกเป็นของกรมการค้าภายใน*และให้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๕๖ สินค้าหีบห่อที่ยึดไว้ตามมาตรา ๕๒ (๔) ถ้าเป็นของเสียง่ายหรือถ้าเก็บรักษาไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินสมควร อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะจัดการขายหรือจำหน่ายสินค้าหีบห่อนั้นก่อนถึงกำหนดตามมาตรา ๕๕ ก็ได้ ได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนสินค้าหีบห่อนั้น

        การขายหรือจำหน่ายสินค้าหีบห่อตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๕๗ ในกรณีที่นายตรวจชั่งตวงวัดตรวจพบเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเครื่องชั่งตวงวัดที่ความเที่ยงของเครื่องผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายตรวจชั่งตวงวัดมีอำนาจทำลายเครื่องหมายคำรับรองและทำเครื่องหมายห้ามใช้เครื่องชั่งตวงวัดนั้นจนกว่าจะได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องและนำไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้คำรับรองใหม่ หรือยึดเครื่องชั่งตวงวัดนั้นแล้วนำส่งสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขา

        เครื่องชั่งตวงวัดที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด ให้เครื่องชั่งตวงวัดนั้นตกเป็นของกรมการค้าภายใน* และให้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาขอรับเครื่องชั่งตวงวัดนั้นคืนภายในกำหนด ให้สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาคืนเครื่องชั่งตวงวัดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด แต่ถ้าสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาพิจารณาเห็นว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้หรือมีสภาพไม่สมควรจะใช้เป็นเครื่องชั่งตวงวัดต่อไป ก็ให้ตกเป็นของกรมการค้าภายใน*และให้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๕๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายตรวจชั่งตวงวัดตามมาตรา ๕๒ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา ๕๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นายตรวจชั่งตวงวัดต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวนายตรวจชั่งตวงวัด ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๖๐ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายตรวจชั่งตวงวัดเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา ๖๑ เพื่อประโยชน์ในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายตรวจชั่งตวงวัดเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[แก้ไข]
หมวด ๖ สินค้าหีบห่อ

______

        มาตรา ๖๒ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดชนิดของสินค้าหีบห่อที่ผู้บรรจุต้อง

         (๑) แสดงปริมาณของสินค้าที่หีบห่อ

         (๒) แสดงปริมาณของสินค้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด หรือ

         (๓) บรรจุสินค้าตามปริมาณที่กำหนด

        ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๖๓ การแสดงปริมาณของสินค้าตามมาตรา ๖๒ หรือที่ผู้บรรจุแสดงไว้ที่หีบห่อต้องแสดงให้ถูกต้องตรงกับปริมาณของสินค้าในหีบห่อ

        การแสดงปริมาณของสินค้าที่หีบห่อโดยคลาดเคลื่อนไม่เกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ถือว่าเป็นการแสดงปริมาณที่ถูกต้อง

        มาตรา ๖๔ บรรดาสินค้าหีบห่อที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรที่แสดงปริมาณของสินค้าตามมาตราชั่งตวงวัดของต่างประเทศ ผู้นำเข้าต้องแสดงปริมาณของสินค้าตามมาตราชั่งตวงวัดตามพระราชบัญญัตินี้ และตามวิธีการและอัตราเปรียบเทียบมาตราชั่งตวงวัดของต่างประเทศกับมาตราชั่งตวงวัดตามพระราชบัญญัตินี้ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

        การแสดงปริมาณของสินค้าตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำก่อนรับมอบสินค้าไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เว้นแต่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้กระทำภายหลังตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

[แก้ไข]
หมวด ๗ เครื่องชั่งตวงวัดเพื่อการส่งออก

______

        มาตรา ๖๕ ผู้ผลิตเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตและการส่งออกซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        บรรดาเครื่องชั่งตวงวัดที่ผลิตเพื่อการส่งออกตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับการยกเว้นการให้คำรับรองตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ แต่ผู้ผลิตจะนำเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าวมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้คำรับรองก็ได้

[แก้ไข]
หมวด ๘ บทกำหนดโทษ

______

        มาตรา ๖๖ ผู้ใดใช้มาตราชั่งตวงวัดอื่นนอกจากที่กำหนดในมาตรา ๙ ในการซื้อ ขายหรือจำหน่ายสินค้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๖๗ ผู้ใดใช้มาตราชั่งตวงวัด หรือทำการชั่งตวงวัดในการซื้อขายหรือจำหน่ายสินค้า โดยไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๖๘ ผู้ใดประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ โดยไม่มีหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๖๙ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ หรือผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๗๐ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๘ หรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๑ ในการประกอบธุรกิจการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด ถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๗๒ ในการประกอบธุรกิจการให้บริการชั่ง ตวงหรือวัด ตามมาตรา ๑๗ ผู้ใดออกหนังสือแสดงผลการชั่ง ตวงหรือวัดอันเป็นเท็จเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๓ ผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดชนิดติดตรึงอยู่กับที่ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

        มาตรา ๗๔ ผู้ใด

         (๑) ปลอมแปลงหรือแก้ไขเครื่องหมายคำรับรองหรือหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองของสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขา

         (๒) นำเครื่องหมายคำรับรองของสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาจากเครื่องชั่งตวงวัดเครื่องหนึ่งไปใช้กับเครื่องชั่งตวงวัดอีกเครื่องหนึ่ง หรือ

         (๓) ลบเครื่องหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แสดงว่าเครื่องหมายคำรับรองเดิมใช้ไม่ได้แล้ว

        ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินสองแสนแปดหมื่นบาท

        มาตรา ๗๕ ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เครื่องชั่งตวงวัดที่มีการให้คำรับรองตามมาตรา ๓๐ แสดงน้ำหนัก ปริมาตร ปริมาณ หรือหน่วยใดๆ ผิดไปจากที่ได้รับการตรวจสอบความเที่ยงกับแบบมาตราเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท

        มาตรา ๗๖ ผู้ใดโดยรู้ว่าได้มีการกระทำแก่เครื่องชั่งตวงวัดอันเป็นความผิดตามมาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๕

         (๑) ขายหรือจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายซึ่งเครื่องชั่งตวงวัดนั้น หรือ

         (๒) ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งตวงวัดนั้นในกิจการตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง

        ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๕ แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๗๗ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๑ ผู้ใด นำเครื่องหมายคำรับรองหรือหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองของสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่รับไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ไปใช้เพื่อให้การรับรองในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๘ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๑ ผู้ใด นำเครื่องหมายคำรับรองหรือหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองของสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่รับไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ไปใช้กับเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนเองมิได้ผลิตหรือซ่อม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๙ ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๐ ผู้ใด

         (๑) ถอน ทำลาย ทำให้เสียหายซึ่งเครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่นายตรวจชั่งตวงวัดทำไว้ เพื่อแสดงการยึดหรืออายัดตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือ

         (๒) ถอน ทำลาย ทำให้เสียหายซึ่งเครื่องหมายห้ามใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่นายตรวจชั่งตวงวัดทำไว้ตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะกระทำโดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

        ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๑ ผู้ประกอบธุรกิจในการผลิต นำเข้า ขาย หรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๒ ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่นายตรวจชั่งตวงวัดซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๘๓ ผู้บรรจุผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีที่กำหนดตามมาตรา ๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๔ ผู้บรรจุผู้ใดบรรจุสินค้าหีบห่อโดยรู้ว่าปริมาณของสินค้าที่บรรจุในหีบห่อไม่ถูกต้องตามที่แสดงไว้ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๕ ผู้ใดขายหรือจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายซึ่งสินค้าหีบห่อที่แสดงปริมาณไว้ โดยรู้ว่าปริมาณของสินค้าที่บรรจุในหีบห่อไม่ถูกต้องตามที่แสดงไว้ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘๖ ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าหีบห่อที่ไม่มีการแสดงปริมาณของสินค้าตามมาตรา ๖๒ (๑) หรือมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๘๗ ผู้นำเข้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าและอัตราเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำหนดตามมาตรา ๖๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๘๘ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

        มาตรา ๘๙ ถ้าเจ้าพนักงานต่อไปนี้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก หรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือที่มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้มีอำนาจเปรียบเทียบดังนี้

         (๑) อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดในกรุงเทพมหานคร

         (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดในจังหวัดอื่น

        เมื่อผู้ต้องหาในชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ดำเนินคดีต่อไป

        มาตรา ๙๐ ในกรณีที่นายตรวจชั่งตวงวัดเป็นผู้จับกุมผู้ต้องหาในความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามพระราชบัญญัตินี้ และผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย แล้วแต่กรณี จะปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างรอการเปรียบเทียบหรือรอการชำระเงินค่าปรับโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๙๑ ในกรณีที่พนักงานสอบสวนพบว่าผู้ใดกระทำความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามพระราชบัญญัตินี้ และผู้นั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายแล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ และให้นำมาตรา ๙๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

______

        มาตรา ๙๒ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่ออกตามบทกฎหมายที่ให้ยกเลิกตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คงใช้ได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๙๓ บรรดาเครื่องชั่งตวงวัดที่มีการให้คำรับรองแล้วตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ให้ถือว่ามีการให้คำรับรองตามพระราชบัญญัตินี้

        บรรดาอาชญาบัตรที่ออกตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ให้ถือเป็นหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๙๔ ผู้ใดประกอบธุรกิจการให้บริการชั่งตวงหรือวัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไป ให้แจ้งการประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้แจ้งการประกอบธุรกิจแล้วให้ถือว่าผู้นั้นได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

______

(๑) การประกอบธุรกิจ
(ก) การผลิต
เครื่องชั่ง ปีละ ๔,๐๐๐ บาท
เครื่องตวง ปีละ ๒,๐๐๐ บาท
เครื่องวัด ปีละ ๒,๐๐๐ บาท
(ข) การนำเข้า
เครื่องชั่ง ปีละ ๘,๐๐๐ บาท
เครื่องตวง ปีละ ๔,๐๐๐ บาท
เครื่องวัด ปีละ ๔,๐๐๐ บาท
(ค) การขาย
เครื่องชั่ง ปีละ ๑,๐๐๐ บาท
เครื่องตวง ปีละ ๕๐๐ บาท
เครื่องวัด ปีละ ๕๐๐ บาท
(ง) การซ่อม
เครื่องชั่ง ปีละ ๑,๐๐๐ บาท
เครื่องตวง ปีละ ๕๐๐ บาท
เครื่องวัด ปีละ ๕๐๐ บาท
(จ) การให้บริการชั่ง ปีละ ๑,๐๐๐ บาท
(ฉ) การให้บริการตวง ปีละ ๕๐๐ บาท
(ช) การให้บริการวัด ปีละ ๕๐๐ บาท
(๒) การตรวจสอบและการให้คำรับรองชั้นแรก
เครื่องชั่ง
(ก) เครื่องชั่ง
แสดงน้ำหนักไม่เกิน ๒๐ กิโลกรัม เครื่องละ ๒๐๐ บาท
แสดงน้ำหนักเกิน ๒๐ กิโลกรัม
แต่ไม่เกิน ๑๐๐ กิโลกรัม เครื่องละ ๕๐๐ บาท
แสดงน้ำหนักเกิน ๑๐๐ กิโลกรัม
แต่ไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลกรัม เครื่องละ ๑,๐๐๐ บาท
แสดงน้ำหนักเกิน ๒,๐๐๐ กิโลกรัม
แต่ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลกรัม เครื่องละ ๓,๐๐๐ บาท
แสดงน้ำหนักเกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลกรัม เครื่องละ ๑๐,๐๐๐ บาท
(ข) ตุ้มน้ำหนักและตุ้มถ่วง
น้ำหนักไม่เกิน ๑ กิโลกรัม ตุ้มละ ๕๐ บาท
น้ำหนักเกิน ๑ กิโลกรัม
แต่ไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัม ตุ้มละ ๑๐๐ บาท
น้ำหนักเกิน ๑๐ กิโลกรัม ตุ้มละ ๒๐๐ บาท
เครื่องตวง
แสดงปริมาตรไม่เกิน ๑๐๐ ลิตร เครื่องละ ๕๐ บาท
แสดงปริมาตรเกิน ๑๐๐ ลิตร
แต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ ลิตร เครื่องละ ๕๐๐ บาท
แสดงปริมาตรเกิน ๑,๐๐๐ ลิตร
ให้เรียกเก็บ ๑,๐๐๐ ลิตรแรก ๕๐๐ บาท
๑,๐๐๐ ลิตรต่อไป ๑,๐๐๐ ลิตรละ ๑๐๐ บาท
เศษของ ๑,๐๐๐ ลิตร ให้คิดเท่ากับ
๑,๐๐๐ ลิตร แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน
๑๐,๐๐๐ บาท
เครื่องวัด
(ก) เครื่องวัดความยาว
แสดงความยาวไม่เกิน ๑๐ เมตร เครื่องละ ๕๐ บาท
แสดงความยาวเกิน ๑๐ เมตร เครื่องละ ๒๐๐ บาท
(ข) เครื่องวัดปริมาตร เครื่องละ ๕,๐๐๐ บาท
(ค) เครื่องวัดอย่างอื่น เครื่องละ ๓,๐๐๐ บาท
(๓) การตรวจสอบและการให้คำรับรองชั้นหลัง ร้อยละห้าสิบของค่าธรรมเนียมตาม (๒)
(๔) การตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัด เท่ากับค่าธรรมเนียมตาม (๒)
(๕) การออกหนังสือรายงานผลการตรวจสอบ
ความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัด ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
(๖) ใบอนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อม
เป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรอง ปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท
(๗) การต่ออายุใบอนุญาต เท่ากับค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
(๘) การออกใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท

[แก้ไข]
บัญชีมาตราชั่งตวงวัดตามมาตรา ๙

______

        ก. มาตราชั่งตวงวัดในระบบเมตริก

         (๑) หน่วยมูลฐานของความยาวให้เป็นเมตร คือ ความยาวของทางเดินของแสงในสุญญากาศในช่วงเวลา ๑ ใน ๒๙๙,๗๙๒,๔๕๘ ของหนึ่งวินาที

        ให้จำนวนหน่วยของความยาวเป็นดังต่อไปนี้

ภาพ:จำนวนหน่วย1.jpg

         (๒) หน่วยของพื้นที่ให้เป็นตารางเมตร คือ พื้นที่ตารางเหลี่ยมมีด้านกว้างยาวด้านละหนึ่งเมตร

        ให้จำนวนหน่วยของพื้นที่เป็นดังต่อไปนี้

ภาพ:จำนวนหน่วย2.jpg

         (๓) หน่วยของปริมาตรให้เป็นลูกบาศก์เมตร คือ ปริมาตรที่บรรจุอยู่ในลูกบาศก์ มีด้านกว้างยาวและสูงด้านละหนึ่งเมตร

         ให้จำนวนหน่วยของปริมาตรเป็นดังต่อไปนี้

ภาพ:จำนวนหน่วย3.jpg

         (๔) หน่วยของความจุให้เป็นลิตร คือ ปริมาตรของน้ำบริสุทธิ์หนักหนึ่งกิโลกรัม ณ อุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส เมื่อความกดบรรยากาศปกติ

        ให้จำนวนหน่วยของความจุเป็นดังต่อไปนี้

ภาพ:จำนวนหน่วย4.jpg

        เพื่อประโยชน์ในการแสดงปริมาตรให้ถือว่าหนึ่งลิตรเท่ากับหนึ่งลูกบาศก์เดซิเมตร

         (๕) หน่วยมูลฐานของมวลสารให้เป็นกิโลกรัม คือ มวลสารซึ่งเท่ากับมวลสารแบบประถมระหว่างประเทศของกิโลกรัม

         ให้จำนวนหน่วยของมวลสารเป็นดังต่อไปนี้

ภาพ:จำนวนหน่วย5.jpg

        เพื่อประโยชน์ในการแสดงน้ำหนัก ให้ถือว่าจำนวนหน่วยของมวลสารแห่งสิ่งใดเป็นจำนวนหน่วยของน้ำหนักแห่งสิ่งนั้น

         (๖) หน่วยมูลฐานของเวลาให้เป็นวินาที คือ ระยะเวลาเท่ากับ

        ๙,๑๙๒,๖๓๑,๗๗๐ คาบของการแผ่รังสีที่สมนัยกับการเปลี่ยนระดับไฮเปอร์ไฟน์สองระดับของอะตอมซีเซียม-๑๓๓ ในสถานะพื้นฐาน

         (๗) หน่วยมูลฐานของกระแสไฟฟ้าให้เป็นแอมแปร์ คือ ปริมาณของกระแสไฟฟ้า ซึ่งถ้ารักษาให้คงที่อยู่ในตัวนำสองเส้นที่มีความยาวอนันต์ มีพื้นที่ภาคตัดขวางกลมเล็กมากจนไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง และวางอยู่คู่ขนานห่างกันหนึ่งเมตรในสุญญากาศแล้ว จะทำให้เกิดแรงระหว่างตัวนำทั้งสองเท่ากับ ๒ x ๑๐-๗ นิวตัน ต่อความยาวหนึ่งเมตร

         (๘) หน่วยมูลฐานของอุณหภูมิทางเทอร์โมไดนามิกส์ให้เป็นเคลวิน ซึ่งเท่ากับ ๑ ใน ๒๗๓.๑๖ ของอุณหภูมิทางเทอร์โมไดนามิกส์ของจุดสามสภาวะของน้ำ         หน่วยเคลวินให้ใช้สำหรับแสดงช่วงอุณหภูมิ หรือความแตกต่างของอุณหภูมิด้วย

         ในกิจการทั้งปวง ให้ใช้หน่วยอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียสได้

        อุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียสเท่ากับอุณหภูมิทางเทอร์โมไดนามิกส์ลบด้วย ๒๗๓.๑๕

         (๙) หน่วยมูลฐานของปริมาณสารให้เป็นโมล คือ ปริมาณสารของระบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบมูลฐาน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจำนวนอะตอมใน ๐.๐๑๒ กิโลกรัม ของคาร์บอน-๑๒ เมื่อใช้โมลต้องระบุองค์ประกอบมูลฐาน ซึ่งอาจจะเป็นอะตอมโมเลกุล ไอออนอิเล็กตรอน อนุภาคอื่นๆ หรือกลุ่มของอนุภาคตามที่กำหนด

         (๑๐) หน่วยมูลฐานของความเข้มแห่งการส่องสว่างให้เป็นแคนเดลา คือ ความเข้มแห่งการส่องสว่าง ในทิศทางที่กำหนดให้ของแหล่งกำเนิด ซึ่งแผ่รังสีเอกรงค์ด้วยความถี่ ๕๔๐ x ๑๐๑๒ เฮิรตซ์ และมีความเข้มแผ่รังสีในทิศทางนั้นเท่ากับ ๑ ใน ๖๘๓ วัตต์ ต่อสเตอเรเดียน

        ข. มาตราชั่งตวงวัดในระบบประเพณีที่เทียบเข้าหาระบบเมตริก

ภาพ:จำนวนหน่วย6.jpg

ภาพ:จำนวนหน่วย7.jpg

ภาพ:จำนวนหน่วย8.jpg

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ได้ใช้บังคับมานานแล้ว แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง แต่บทบัญญัติบางประการยังไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดเสียใหม่ เพื่อลดมาตรการควบคุมของรัฐมาเป็นการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องชั่งตวงวัดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจในการผลิตเครื่องชั่งตวงวัดเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • ระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

        มาตรา ๘๙ ในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.๒๕๔๒ ให้แก้ไขคำว่า “กรมทะเบียนการค้า” เป็น “กรมการค้าภายใน” และคำว่า “อธิบดีกรมทะเบียนการค้า” เป็น “อธิบดีกรมการค้าภายใน”

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

        พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจในการเป็นนายตรวจชั่งตวงวัดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นนายตรวจชั่งตวงวัดได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๑๑/๒๑ เมษายน ๒๕๔๒
  • มาตรา ๔ นิยามคำว่า “นายตรวจชั่งตวงวัด”แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา