พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2498
เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498"

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        "คลื่นแฮรตเซียน"(2) หมายความว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ระหว่างสิบกิโลเฮิตซ์ถึงสามล้านเมกกาเฮิตซ์ และให้หมายความรวมถึงกระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ระหว่างสิบกิโลเฮิตซ์ถึงสามล้านเมกกาเฮิตซ์ด้วย

        "วิทยุกระจายเสียง"(3) หมายความว่า การส่งหรือการรับเสียงด้วยคลื่นแฮรตเซียน ไม่ว่าโดยวิธีการแพร่กระจายไปในบรรยากาศหรือโดยวิธีการใช้สายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า หรือทั้งสองวิธีการรวมกัน

        "วิทยุโทรทัศน์"(4) หมายความว่า การส่งหรือการรับภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวในลักษณะไม่ถาวรด้วยคลื่นแฮรตเซียน ไม่ว่าโดยวิธีการแพร่กระจายไปในบรรยากาศ หรือโดยวิธีการใช้สายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า หรือทั้งสองวิธีการรวมกัน

        "เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง" หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้รับวิทยุกระจายเสียง

        "เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์" หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้รับวิทยุโทรทัศน์ ไม่ว่าจะมีเสียงด้วยหรือไม่ก็ตาม

        "ทำ" หมายความรวมตลอดถึงการประกอบขึ้น การแปรสภาพ หรือการกลับสร้างใหม่

        "นำเข้า" หมายความว่า นำเข้าในราชอาณาจักร

        "นำออก" หมายความว่า นำออกนอกราชอาณาจักร

        "ค้า" หมายความรวมตลอดถึงการเก็บไว้ การซ่อม การแลกเปลี่ยนการใช้หรือแสดงตัวอย่างและการกระทำอย่างอื่น เพื่อกิจการค้า

        "เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

        "นายทะเบียน" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ทำการแทนเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

(1) กรมประชาสัมพันธ์
(2) กรมไปรษณีย์โทรเลข
(3) กระทรวงกลาโหม
(4) กระทรวงทบวงกรมอื่นใด และนิติบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        แต่ในการดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ส่วนราชการหรือนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 25 (2)

        มาตรา 5(2) ห้ามมิให้ผู้ใดส่งวิทยุกระจายเสียงหรือส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์จากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

        การส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่กระทำโดยการทำให้คลื่นแฮรตเซียนแพร่กระจายไปในบรรยากาศ ถ้าได้ทำการส่งโดยมีรายการแน่นอนสม่ำเสมอหรือเป็นประจำ และบุคคลอื่นสามารถรับการส่งวิทยุ นั้นได้โดยใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงหรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ที่ผู้ส่งจัดหาให้หรือที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ให้ถือว่าการส่งวิทยุนั้นเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชนตามความในวรรคหนึ่ง

        การส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่กระทำโดยการทำให้คลื่นแฮรตเซียนผ่านไปทางสายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า ถ้าได้ทำการส่งโดยมีรายการแน่นอนสม่ำเสมอหรือเป็นประจำ และบุคคลอื่นสามารถรับการส่งวิทยุนั้นได้โดยใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงหรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ที่ผู้ส่งจัดหาให้หรือที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ไม่ว่าเครื่องรับนั้นจะมีความจำเป็นต้องดัดแปลงหรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม และถ้าการส่งวิทยุนั้นได้กระทำตามลักษณะหรือขอบเขตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าการส่งวิทยุนั้นเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชนตามความในวรรคหนึ่ง

        กฎกระทรวงที่ออกตามความในวรรคสาม ให้ใช้บังคับในวันที่ระบุในกฎกระทรวง แต่จะใช้บังคับก่อนเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ กฎกระทรวงที่ออกมาเปลี่ยนแปลงลักษณะและขอบเขตของการส่งวิทยุตามที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้แล้ว ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวดำเนินการต่อไปได้จนกว่าอายุใบอนุญาตนั้นจะสิ้นสุดลง

        มาตรา 6(3) ห้ามมิให้ผู้ใดทำหรือค้าเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี         มาตรา 7(4) ห้ามมิให้ผู้ใดทำเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี

        มาตรา 8(5) ห้ามมิให้ผู้ใดค้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี

        มาตรา 9 ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) ใบอนุญาตให้ดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียง หรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก
(2) ใบอนุญาตให้ทำ ให้ใช้ได้เก้าสิบวันนับแต่วันออก
(3) ใบอนุญาตให้มี ให้ใช้ได้ตลอดระยะเวลาการครอบครองของผู้รับใบอนุญาต
(4) ใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ใช้ได้หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก
(5) ใบอนุญาตให้นำออก ให้ใช้ได้สามสิบวันนับแต่วันออก
(6) ใบอนุญาตให้ค้า ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก

        มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือจัดให้ส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์อันตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ หรือที่มิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน

        มาตรา 11 เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อป้องกันราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเฉพาะกาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดไว้ เอาไปใช้ ห้ามการใช้ หรือห้ามการยักย้ายซึ่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องดังกล่าวนี้ของบุคคลใด ๆ ในระหว่างเวลาและภายในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น

        มาตรา 12 ผู้ใดกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุกระจายเสียง หรือการวิทยุโทรทัศน์ โดยมิได้เจตนา เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต นายทะเบียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำนั้น หรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ในการกระทำนั้นเสีย หรือให้ย้ายสิ่งดังกล่าวนั้นออกไปให้พ้นเขตรบกวนได้

        มาตรา 13 เพื่อตรวจเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องดังกล่าวนี้ บริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ สิ่งที่ก่อให้เกิดการรบกวน หรือขัดขวางต่อการวิทยุกระจายเสียงหรือการวิทยุโทรทัศน์ หรือใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต นายทะเบียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อาจเข้าไปในอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะของบุคคลใด ๆ ได้ ในเวลาอันสมควร

        มาตรา 14 ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงออกตามความในพระราช-บัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต มีอำนาจสั่งเพิกถอน หรือพักใช้ใบอนุญาตของผู้นั้นเสียได้

        ผู้รับใบอนุญาตอาจอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันถูกเพิกถอนหรือพักใช้ คำชี้ขาดของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่สุด

        มาตรา 15 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี มีอำนาจทำการเปรียบเทียบได้

        มาตรา 16 เมื่อมีคำพิพากษาว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะสั่งริบสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมประชาสัมพันธ์ด้วยก็ได้

        มาตรา 17(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 25 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันอีกวันละสองพันบาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง

        มาตรา 18(2) (ยกเลิก)

        มาตรา 19(3) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ในกรณีทำเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         มาตรา 20(4) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ในกรณีค้าเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 21(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 22(2) ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต นายทะเบียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         มาตรา 22 ทวิ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

        มาตรา 23 บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกไว้ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสารในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นกำหนดอายุใบอนุญาตนั้น ๆ

        มาตรา 24 ผู้ใดมีเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องดังกล่าวนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งยังไม่ได้รับใบอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าได้ขอใบอนุญาตเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือนายทะเบียนแล้วแต่กรณี ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 25(4) ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และนายทะเบียน และออกกฎกระทรวงกำหนด

(1) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เงื่อนไขการดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงและบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ของผู้รับใบอนุญาตตามพระราช-บัญญัตินี้ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการและการควบคุมด้านรายการ
(ข) กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการและการควบคุมการโฆษณาและบริการธุรกิจ
(ค) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ว่าด้วยวิทยุคมนาคม รวมทั้งกฎกระทรวงระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(ง) กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ผู้รับใบอนุญาตจะรับเข้าเป็น หรือให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดรายการ หรือผู้ดำเนินรายการในการส่งวิทยุกระจายเสียงและส่งวิทยุโทรทัศน์
(จ) กำหนดเวลาให้สถานีทำการถ่ายทอดหรือออกอากาศรายการที่กำหนด
(ฉ) กำหนดเงื่อนไข ข้อบังคับ หรือระเบียบที่จำเป็นต้องปฏิบัติในการส่งวิทยุกระจายเสียงและส่งวิทยุโทรทัศน์
(3) หลักเกณฑ์และวิธีการเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต
(4) ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้
(5) กิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

______

 

(1) ใบอนุญาตให้ดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียง ฉบับละ 10,000 บาท
(2) ใบอนุญาตให้ดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ฉบับละ 25,000 บาท
(3) ใบอนุญาตให้ทำเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง
หรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ
แห่งเครื่องดังกล่าวนี้ ฉบับละ 400 บาท
(4) ใบอนุญาตให้ค้าเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง
หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง
(ก) ทำการค้าและนำเข้าเพื่อการค้าด้วย ฉบับละ 4,000 บาท
(ข) ทำการค้าแต่อย่างเดียว
1. ในกรุงเทพมหานคร ฉบับละ 3,000 บาท
2. ในจังหวัดอื่น
ในเขตเทศบาลนคร ฉบับละ 2,500 บาท
ในเขตเทศบาลเมือง ฉบับละ 2,000 บาท
นอกเขตเทศบาลนคร
หรือเทศบาลเมือง ฉบับละ 1,500 บาท
3. เร่ขาย ฉบับละ 1,000 บาท
(5) ใบอนุญาตให้ค้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์
หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์
(ก) ทำการค้าและนำเข้าเพื่อการค้าด้วย ฉบับละ 10,000 บาท
(ข) ทำการค้าแต่อย่างเดียว
1. ในกรุงเทพมหานคร ฉบับละ 7,500 บาท
2. ในจังหวัดอื่น
ในเขตเทศบาลนคร ฉบับละ 6,000 บาท
ในเขตเทศบาลเมือง ฉบับละ 5,000 บาท
นอกเขตเทศบาลนคร
หรือเทศบาลเมือง ฉบับละ 4,000 บาท
3. เร่ขาย ฉบับละ 2,500 บาท
(6) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 50 บาท

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะให้การวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เจริญวิวัฒนาการไปตามกาลสมัย และมุ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนแห่งเครื่องเหล่านี้ยิ่งขึ้น โดยจดทะเบียนเพียงครั้งเดียวใช้ได้ตลอดอายุการครอบครองของผู้รับใบอนุญาต และโดยที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงได้บัญญัติรวมไว้ ในกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสารจึงได้แยกจากกันเป็นเอกเทศ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้รักษากฎหมาย และประชาชน จึงจำต้องตรากฎหมายในเรื่องนี้ขึ้นไว้โดยเฉพาะ


[แก้ไข] พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์เป็นปัจจัยสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชน จึงเป็นการสมควรที่จะให้ประชาชนมี นำเข้า หรือนำออก ซึ่ง เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต นอกจากนั้น ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ไม่เปิดโอกาสให้พ่อค้าทำการค้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ได้ นอกจากจะทำการค้าในนามของกระทรวงทบวงกรมหรือนิติบุคคลที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งสมควรแก้ไขเปิดโอกาสให้พ่อค้าทำการค้าได้ด้วย จึงจำต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498

         [รก.2502/43/1/7 เมษายน 2502]


[แก้ไข] พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เดิมนั้นได้ใช้มาเป็นเวลานานเกือบยี่สิบปีแล้ว สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้ขึ้น

         [รก.2521/53/5/17 พฤษภาคม 2521]


[แก้ไข] พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530

        มาตรา 11 ให้บทนิยามคำว่า "บริการส่งวิทยุกระจายเสียง" และ "บริการส่งวิทยุโทรทัศน์" ตามมาตรา 3 และบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับอยู่ต่อไปสำหรับการบริการส่งวิทยุกระจายเสียงและการบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ที่กระทำโดยการทำให้คลื่นแฮรตเซียนผ่านไปทางสายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า ทั้งนี้ จนกว่ากฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือขอบเขตการส่งวิทยุดังกล่าว ที่ออกตามความในมาตรา 5 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับ


หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และโดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีในด้านนี้ได้วิวัฒนาการไปเป็นอันมากบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตและควบคุมการดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงและบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่ใช้บังคับอยู่มีลักษณะที่ไม่ชัดเจนก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมายทำให้การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายไม่สามารถดำเนินไปได้ตามความมุ่งหมายและโดยที่ปรากฏว่าอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน ในการนี้สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2530/166/1/21 สิงหาคม 2530]