พระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐

พระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
_______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “ร่างรัฐธรรมนูญ” หมายความว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

         “ออกเสียง” หมายความว่า ออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

         “ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หมายความว่า ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

         “ผู้มีสิทธิออกเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตามประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ

         “หน่วยออกเสียง” หมายความว่า หน่วยออกเสียงตามประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ

         “ที่ออกเสียง” หมายความว่า ที่ออกเสียงตามประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ

         “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑

        มาตรา ๔ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับมอบหมายจากสภาร่างรัฐธรรมนูญตามประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงแล้ว ให้ถือว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๐ (๑)แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑

        ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ และตามที่กำหนดไว้ในประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้นำความในมาตรา ๒๔ และมาตรา ๔๒แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

        มาตรา ๕ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑

        มาตรา ๖ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จังหวัด คณะกรรมการประจำ หน่วยออกเสียง กรรมการประจำ หน่วยออกเสียงคณะอนุกรรมการ หรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งในการปฏิบัติตามประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๘ ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

        ถ้าผู้กระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกเสียงต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้u3591 .แต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

        มาตรา ๙ ผู้ใดกระทำการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง ดังต่อไปนี้

(๑) ออกเสียงหรือพยายามออกเสียง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้น
(๒) ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงมาออกเสียง
(๓) นำบัตรออกเสียงออกไปจากที่ออกเสียง
(๔) ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียง เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรของตน
(๕) ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง เพราะเหตุที่ผู้นั้นขัดขวางการออกเสียง ตามข้อ ๒๐ วรรคสอง แห่งประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(๖) นำบัตรออกเสียงใส่ในหีบบัตรออกเสียงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงโดยผิดไปจากความจริงหรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความจริง
(๗) กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถใช้สิทธิได้หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไป ณ ที่ออกเสียง หรือเข้าไป ณ ที่ออกเสียงหรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าว ภายในกำหนดเวลาการลงคะแนนออกเสียง
(๘) ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง

        ผู้กระทำตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้กระทำตาม (๖) (๗) หรือ (๘) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

        มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๒) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง
(๓) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง
(๔) เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์นำไป หรือขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
(๕) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

 

(๖) เรียกทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

        ผู้กระทำตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาทและผู้กระทำตาม (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

        มาตรา ๑๑ ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลาสามวันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๑๒ กรรมการประจำหน่วยออกเสียงผู้ใดจงใจนับบัตรออกเสียงหรือคะแนนในการออกเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใด ๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรออกเสียงให้ผิดไปจากความจริงหรือทำรายงานการออกเสียงไม่ตรงความจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

        มาตรา ๑๓ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีประกาศสภาร่าง รัฐธรรมนูญ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียง ประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศใช้บังคับตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ แล้ว โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้จัดและควบคุมการออกเสียงประชามติ แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจของ คณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการรักษาความเรียบร้อยในการ ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น และเห็นชอบเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ