พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535

พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสวนป่า

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535"

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        "สวนป่า" หมายความว่า ที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 5 เพื่อทำการ ปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ที่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

         "ต้นไม้" หมายความว่า ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่แล้วหรือปลูกขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้และหมายความรวมถึงต้นไม้ที่ขึ้นอยู่แล้วหรือปลูกขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างอื่นแต่อาจใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ได้ด้วย

        "ไม้" หมายความว่า ต้นไม้ และหมายความรวมถึง

(1) ส่วนใด ๆ ของต้นไม้ ไม่ว่าจะถูกตัด ทอน เลื่อย ใส ผ่า ถาก ขุด อัด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดหรือไม่ และ
(2) ไม้แปรรูป สิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วย ต้นไม้ หรือส่วนใด ๆ ของต้นไม้

        "ตรา" หมายความรวมถึงเครื่องหมายหรือวัตถุใด ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อตี ตอก หรือประทับที่ไม้

        "หนังสือรับรองการแจ้ง" หมายความรวมถึงสำเนาหรือภาพถ่ายของ หนังสือรับรองการแจ้งที่พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้รับรองถูกต้อง

        "ผู้ทำสวนป่า" หมายความว่า ผู้ได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า และหมายความรวมถึงผู้ยื่นคำขอรับโอนทะเบียนสวนป่าด้วย

        "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายคว ามว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        "นายทะเบียน" หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสำหรับกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายสำหรับจังหวัดอื่น

        "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 ที่ดินที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นที่ดินประเภทหนึ่งประเภทใด ดังต่อไปนี้

(1) ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(2) ที่ดินที่มีหนังสือของทางราชการรับรองว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในระยะเวลาที่อาจขอรับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากได้มีการครอบครองและเข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพไว้แล้ว
(3) ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีหลักฐานการอนุญาต การเช่าหรือเช่าซื้อ
(4) ที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติให้บุคคลเข้าทำการปลูกป่าในเขตปรับปรุง

ป่าสงวนแห่งชาติ หรือเข้าทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือไม้ยืนต้นในเขตป่าเสื่อมโทรม

(5) ที่ดินที่ได้ดำเนินการเพื่อการปลูกป่าอยู่แล้วโดยทบวงการเมืองรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

        มาตรา 5 ผู้มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 4 ประสงค์จะใช้ที่ดินนั้นทำสวนป่าเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด และเมื่อได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ยื่นคำขออาจดำเนินการไปก่อนได้จนกว่านายทะเบียนจะสั่งรับหรือไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าตามมาตรา 6

        ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อที่ดินที่ขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าและที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินตามมาตรา 4 (1) ผู้ยื่นคำขอต้องมีหลักฐานการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งหนังสือยินยอมของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ที่แสดงว่าอนุญาตให้ทำสวนป่าได้

        มาตรา 6 ให้นายทะเบียนพิจารณาและแจ้งการสั่งรับหรือไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอตามมาตรา 5 หรือได้รับรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรา 7 แล้วแต่กรณี

        การสั่งรับขึ้นทะเบียนและการออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดิน เป็นสวนป่า ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งดังกล่าว คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        มาตรา 7 ก่อนรับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าตามมาตรา 6 หากที่ดินที่ขอขึ้นทะเบียน เป็นที่ดินตามมาตรา 4 (4) ให้นายทะเบียนสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและทำรายงานเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง สภาพที่ดิน ชนิด ขนาด ปริมาณ และจำนวนของไม้ ตลอดจนรายละเอียดของที่ดินที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าและในกรณีที่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือไม้ที่การทำไม้ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งในรายงานดังกล่าวให้แจ้งชัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้รายงานผลการตรวจสอบต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

        เมื่อได้รับรายงานผลการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนสั่งให้ผู้ยื่นคำขอเก็บหาของป่า แผ้วถางป่า ตัด โค่น เก็บริบ สุมเผา ทำลาย หรือสงวนไว้ซึ่งไม้หรือของป่าดังกล่าว โดยผู้ยื่นคำขอเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        ไม้และของป่าที่ได้มาตามวรรคสอง ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

        มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการเก็บหาข้อมูลทางวิชาการป่าไม้ การเก็บสถิติของการเจริญเติบโตของไม้ การประเมินผลการทำสวนป่า ตลอดจนเพื่อติดตามผลการปฏิบัติการตามพระราชบัญ ญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสวนป่าเพื่อตรวจสอบหรือให้คำแนะนำได้

        ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องและให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 9 ผู้ทำสวนป่าต้องจัดให้มีตราเพื่อแสดงการเป็นเจ้าของไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า และจะนำตราออกใช้ได้เมื่อได้นำขึ้นทะเบียนแล้ว

        ตราที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตี ตอก หรือประทับที่ไม้ซึ่งผู้ทำสวนป่าจะตัดหรือโค่นต้องเป็นตราที่มีการรับรองจากนายทะเบียนโดยมีเครื่องหมายที่นายทะเบียนทำกำกับไว้ด้วย

        การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การสั่งรับขึ้นทะเบียน การออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนและการรับรองตรา ตลอดจนวิธีตี ตอก หรือประทับหรือแสดงตราตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดี กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        มาตรา 10 ในการทำไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า ผู้ทำสวนป่าอาจตัดหรือโค่นไม้ แปรรูปไม้ ค้าไม้ มีไม้ไว้ใ นครอบครอง และนำไม้เคลื่อนที่ผ่านด่านป่าไม้ได้ แต่การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

        มาตรา 11 ก่อนการตัดหรือโค่นไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า ให้ผู้ทำสวนป่าแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกหนังสือรับรองการแจ้ง และเมื่อแจ้งแล้วให้ผู้ทำสวนป่าดำเนินการตัดหรือโค่นไม้ดังกล่าวได้

        การแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ในการนี้ นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นใดที่ผู้ทำสวนป่าต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการตัด หรือโค่นไม้ การตี ตอก หรือประทับตราที่ไม้ไว้ด้วยก็ได้

        มาตรา 12 ในการตัดหรือโค่นไม้ ผู้ทำสวนป่าต้องเก็บรักษาหนังสือรับรองการแจ้งไว้ที่สวนป่าเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดเวลาที่ทำการตัดหรือโค่นไม้

        มาตรา 13 ไม้ที่จะนำเคลื่อนที่ออกจากสวนป่า ต้องมีรอยตราตี ตอก หรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของ และในการนำเคลื่อนที่ ผู้ทำสวนป่าต้องมีหนังสือรับรองการ แจ้งตลอดจนบัญชีแสดงรายการไม้กำกับไปด้วยตลอดเวลาที่นำเคลื่อนที่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        มาตรา 14 บรรดาไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

        มาตรา 15 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการตัดหรือโค่นไม้ในสวนป่า ตลอดจนการนำเคลื่อนที่ไม้ออกจากสวนป่า ผู้ทำสวนป่าต้องเก็บรักษาหนังสือรับรองการแจ้ง บัญชีแสดงรายการไม้และเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับการดังกล่าวไว้ที่สวนป่าเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา 16 ในกรณีที่หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าหรือหนังสือรับรองการแจ้ง สูญหาย ชำรุด หรือถูกทำลาย ให้ผู้ทำสวนป่ายื่นคำขอใบแทนหนังสือรับรองดังกล่าวต่อนายทะเบียน

        การขอและการออกใบแทนหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา 17 ในกรณีที่ผู้ทำสวนป่าประสงค์จะ ยกเลิกตรา ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับนำตราดังกล่าวไปทำลายต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่

        ในกรณีที่ตราของผู้ทำสวนป่าบุบสลายในสาระสำคัญหรือสูญหายให้ผู้ทำสวนป่าแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการบุบสลายหรือสูญหาย และในกรณีที่ตราบุบสลาย ให้นำตราดังกล่าวไปทำลายต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมกับการแจ้งด้วย

        การแจ้งการยกเลิกตรา การสั่งยกเลิกตรา และการแก้ไขทะเบียนตรา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        มาตรา 18 ในกรณีที่ผู้ทำสวนป่าไม่ประสงค์จะทำสวนป่าต่อไปให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับนำตราไปทำลายต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้ถือว่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าของผู้ทำสวนป่าดังกล่าวสิ้นสุดลง

        มาตรา 19 ในกรณีที่ผู้ทำสวนป่าตายหรือโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่ทำสวนป่าให้แก่บุคคลอื่น หรือผู้ทำสวนป่าซึ่งมีสิทธิตามสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อในที่ดินที่ทำสวนป่าถูกเลิกสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ หากทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ทำสวนป่า ผู้ รับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่มีการเลิกสัญญาเช่า หรือเช่าซื้อแล้วแต่กรณี ประสงค์จะทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวต่อไป ให้แจ้งการขอรับโอนทะเบียนสวนป่าต่อนายทะเบียนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ทำสวนป่า ตาย หรือมีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือมีการเลิกสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ แล้วแต่กรณี หากไม่แจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่านั้นสิ้นสุดลง

        ให้ผู้รับโอนทะเบียนสวนป่าตามวรรคหนึ่ง รับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้ทำสวนป่าเดิม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา 20 การทำลายตราตามมาตรา 17 และมาตรา 18 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        มาตรา 21 บรรดาไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า หากบุคคลใดรับโอนต้องมีหลักฐานแสดงการได้มาโดยชอบตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        ไม้ที่มีการโอนตามวรรคหนึ่ง ผู้รับโอนอาจค้า มีไว้ในครอบครอง หรือนำเคลื่อนที่ผ่านด่านป่าไม้ได้ แต่การแปรรูปไม้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

        ให้ถือว่าไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าเป็นไม้ที่ผู้รับอนุญาตตามหมวด 4 การควบคุมการแปรรูปไม้ แห่งพระราช-บัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 อาจมีไว้ในครอบครองได้

        มาตรา 22 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา 23 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 24 ผู้ใดใช้ตราตี ตอก หรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของไม้ที่มิได้มาจากการทำสวนป่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 25 ผู้ใดใช้ตราตี ตอก หรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 วรรคสาม หรือเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 11 วรรคสอง หรือนำไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าเคลื่อนที่โดยไม่มีรอยตราตี ตอก หรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของ หรือไม่มีบัญชีแสดงรายการไม้กำกับไม้ที่นำเคลื่อนที่ตามมาตรา 13 หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 26 ผู้ทำสวนป่าผู้ใดไม่เก็บรักษาหนังสือรับรองการแจ้งไว้ที่สวนป่าตามมาตรา 12 หรือไม่เก็บรักษาหนังสือรับรองการแจ้ง บัญชีแสดงรายการไม้ หรือเอกสารสำคัญตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 15 หรือไม่แจ้งการบุบสลายในสาระสำคัญหรือการสูญหายของตรา หรือไม่นำตราที่บุบสลายไปทำลายตามมาตรา 17 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 27 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดนั้น

        มาตรา 28 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อการค้าในที่ดินของรัฐและของเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนี้มิได้มีบทบัญญัติรองรับและคุ้มครองสิทธิการทำไม้หวงห้ามที่ได้จากการปลูกสร้างสวนป่า สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสวนป่า เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการ ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีงานทำและผลิตไม้เพื่อเป็นสินค้า ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ทำไม้ให้มีปริมาณมากขึ้น และเพื่อให้ ผู้ที่จะทำการปลูกสร้างสวนป่ามีความมั่นใจในสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับจากการปลูกสร้างสวนป่า เช่น การได้รับ ยกเว้นค่าภาคหลวงและการไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎเกณฑ์บางประการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้