พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๓

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๓

พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๓
พระราชบัญญัติ
สถานพยาบาลสัตว์
พ.ศ. ๒๕๓๓
______________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
เป็นปีที่ ๔๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๓”

        มาตรา ๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “สถานพยาบาลสัตว์” หมายความว่า สถานที่รวมตลอดถึงยานพาหนะ ซึ่งจัดไว้เพื่อการบำบัดโรคสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์โดยกระทำเป็นปกติ ธุระไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ แต่ไม่รวมถึงสถานที่ขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยาซึ่งประกอบธุรกิจการขายยาโดยเฉพาะ

         “สัตว์ป่วย” หมายความว่า สัตว์ที่จัดให้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลสัตว์

         “ที่พักสัตว์ป่วย” หมายความว่า กรง คอก หรือที่สำหรับใช้กักสัตว์ป่วย

         “เจ้าของสัตว์” หมายความรวมถึงผู้เลี้ยงหรือผู้ครอบครองสัตว์ด้วย

         “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์

         “ผู้ดำเนินการ” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์

         “ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “ผู้อนุญาต” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้เป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต

         “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่สถานพยาบาลสัตว์ของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลสัตว์อื่นซึ่งรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นกับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ การจัดตั้งและการดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์

______________________


        มาตรา ๖ สถานพยาบาลสัตว์มี ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้

         (๑) สถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน

         (๒) สถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน

        ลักษณะของสถานพยาบาลสัตว์แต่ละประเภทตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๗ ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ใบอนุญาตนั้นจะกำหนดสาขาและชั้นของการประกอบการบำบัดโรคสัตว์ และจะกำหนดระเบียบที่ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้

        มาตรา ๘ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ได้ต่อเมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาต

         (๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (ก) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

         (ข) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

         (ค) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (ง) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (จ) ไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และ

         (ฉ) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๒) มีสถานพยาบาลสัตว์ตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง

         (๓) มีเครื่องมือและเครื่องใช้ตลอดจนยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลสัตว์นั้นอย่างเพียงพอตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ๔) มีผู้ดำเนินการ และ

         (๕) มีผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์สำหรับสถานพยาบาลสัตว์ตามสาขา ชั้น และจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑) ด้วย

        มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ใบอนุญาตนั้นจะกำหนดสาขาและชั้นของการประกอบการบำบัดโรคสัตว์และจะกำหนดระเบียบที่ผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้

        มาตรา ๑๐ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ได้ต่อเมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาต

         (๑) เป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

         (๒) ไม่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์เป็นจำนวนสองแห่งอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนอยู่แล้วหนึ่งแห่ง จะอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนอีกไม่ได้ เว้นแต่จะอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน และ

         (๓) เป็นผู้ที่สามารถควบคุมดูแลกิจการของสถานพยาบาลสัตว์นั้นได้โดยใกล้ชิด

        มาตรา ๑๑ ผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ และผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์นั้นจะเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้

        มาตรา ๑๒ การออกใบอนุญาตหรือการไม่ออกใบอนุญาตตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้อนุญาตได้รับคำขอที่มีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ในกรณีที่ไม่ออกใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันไม่อนุญาต

        มาตรา ๑๓ ใบอนุญาตตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ ให้มีอายุสามปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตให้ยื่นคำขอเสียก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตพร้อมกับการยื่นคำขอแล้ว ให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าผู้อนุญาตจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้นการขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้คืนค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตตามส่วนโดยคำนวณเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาตจนถึงวันสิ้นอายุของใบอนุญาตที่ขอต่ออายุนั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตและรัฐมนตรีได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อน ถ้ารัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ ให้นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ เศษของหนึ่งเดือนถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือนถ้าไม่ถึงสิบห้าวันให้ปัดทิ้ง

        มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ผู้อนุญาตไม่ออกใบอนุญาตตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ในกรณีที่ผู้อนุญาตไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้ เมื่อผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตร้องขอ

        มาตรา ๑๕ ในกรณีที่ใบอนุญาตตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ ชำรุดสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับอนุญาตแจ้งต่อผู้อนุญาตและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบการชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด ๒ การควบคุมสถานพยาบาลสัตว์

______________________


        มาตรา ๑๖ ผู้รับอนุญาตต้องจัดให้มีป้ายชื่อสถานพยาบาลสัตว์กับป้ายชื่อและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์แสดงไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาลสัตว์นั้น

        ลักษณะและรายละเอียดที่จะต้องแสดงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๗ ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาลสัตว์นั้น

        มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการโฆษณาหรือประกาศ หรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้ง หรือกิจการของสถานพยาบาลสัตว์ คุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ เพื่อชักชวนให้นำสัตว์ป่วยมารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลสัตว์ของตน โดยใช้ข้อความเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

        มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการของสถานพยาบาลสัตว์ให้แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือดัดแปลงต่อเติมอาคารสถานพยาบาลสัตว์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในกิจการสถานพยาบาลสัตว์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต

        มาตรา ๒๐ การเปลี่ยนชื่อสถานพยาบาลสัตว์และการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินการ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต

        มาตรา ๒๑ การย้ายสถานพยาบาลสัตว์ไปจัดตั้ง ณ ที่อื่นนอกจากที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต ในกรณีเช่นนี้ให้ดำเนินการเสมือนผู้ขออนุญาตจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ใหม่

        มาตรา ๒๒ ผู้รับอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเลิกกิจการสถานพยาบาลสัตว์ ต้องแจ้งเป็นหนังสือและจัดทำรายงานที่จะปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์ป่วยส่งให้ผู้อนุญาตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

        เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ผู้อนุญาตจะสั่งให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนเลิกกิจการก็ได้

        มาตรา ๒๓ ผู้ดำเนินการต้องดูแลมิให้บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์ซึ่งตนเป็นผู้ดำเนินการและมิให้มีการประกอบการบำบัดโรคสัตว์ผิดสาขาหรือชั้นตามที่กำหนดในใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์

        มาตรา ๒๔ ผู้ดำเนินการต้องดูแลมิให้มีการรับสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนเกินจำนวนที่พักสัตว์ป่วยตามที่กำหนดในใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินซึ่งหากไม่รับไว้อาจเกิดอันตรายแก่สัตว์ป่วย

        มาตรา ๒๕ ผู้ดำเนินการต้องดูแลสถานพยาบาลสัตว์ให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสมแก่การใช้เป็นสถานพยาบาลสัตว์

        มาตรา ๒๖ ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามสาขา ชั้น และจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาอยู่ประจำสถานพยาบาลสัตว์ตลอดเวลาทำการ

        มาตรา ๒๗ ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับสถานพยาบาลสัตว์ให้เพียงพออยู่เสมอ

        มาตรา ๒๘ ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์และสัตว์ป่วยกับเอกสารที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสัตว์ตามที่อธิบดีกำหนด และต้องเก็บรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้ไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันจัดทำ

        มาตรา ๒๙ ผู้ดำเนินการมีหน้าที่จัดทำสถิติสัตว์ป่วยจากหลักฐานการบำบัดโรคสัตว์ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๓๐ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์ ผู้ดำเนินการต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น

        มาตรา ๓๑ ถ้าผู้ดำเนินการพ้นจากหน้าที่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เกินเจ็ดวัน ผู้ดำเนินการหรือผู้รับอนุญาตต้องมอบหมายให้ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ ดำเนินการแทน ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ดำเนินการแทนหรือผู้รับอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ให้ดำเนินการแทน

        ผู้ดำเนินการแทนตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ดำเนินการ

[แก้ไข]
หมวด ๓ พนักงานเจ้าหน้าที่

______________________

        มาตรา ๓๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

         (๑) เข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นสถานพยาบาลสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

         (๒) เข้าไปในสถานพยาบาลสัตว์ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

         (๓) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลสัตว์ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินคดี

         (๔) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

        มาตรา ๓๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๒ ให้ผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ในสถานพยาบาลสัตว์ และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลสัตว์นั้น อำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา ๓๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

[แก้ไข]
หมวด ๔ การปิดสถานพยาบาลสัตว์และการเพิกถอนใบอนุญาต

______________________

        มาตรา ๓๖ เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการปฏิบัติการไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการแล้วแต่กรณี ปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่เห็นสมควร แต่ทั้งนี้ไม่เป็นเหตุลบล้างความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๓๗ ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งปิดสถานพยาบาลสัตว์เป็นการชั่วคราว เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ

         (๑) ไม่ปฏิบัติการตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา ๓๖

         (๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป หรือ

         (๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

        คำสั่งปิดสถานพยาบาลสัตว์ตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาตามที่ผู้อนุญาตเห็นสมควร แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่แจ้งให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการทราบ แล้วแต่กรณี แต่ผู้อนุญาตจะเพิกถอนคำสั่งปิดสถานพยาบาลสัตว์ก่อนครบกำหนดเวลาก็ได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๓๘ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๐ แล้วแต่กรณี หรือมีกรณีตามมาตรา ๓๗ (๑) (๒) หรือ (๓) และผู้อนุญาตเห็นว่าเป็นการร้ายแรงอันอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อการรักษาพยาบาลสัตว์ ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นได้

        มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งให้ปิดสถานพยาบาลสัตว์ตามมาตรา ๓๗ หรือให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๓๘ ให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งพร้อมกับส่งคำสั่งไปยังผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ แล้วแต่กรณี

        หนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการจัดทำรายงานที่จะปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์ป่วย ส่งให้ผู้อนุญาตทราบโดยเร็ว เพื่อผู้อนุญาตจะสั่งการให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์ป่วยนั้น

        ถ้าไม่พบตัวผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ หรือผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานพยาบาลสัตว์ และให้ถือว่าผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการนั้นได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ได้ปิดคำสั่ง

        คำสั่งของผู้อนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือโดยวิธีอื่นใดอีกด้วยก็ได้

        มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการที่ถูกสั่งปิดสถานพยาบาลสัตว์เป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๓๗ หรือที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๓๘ ประกอบกิจการสถานพยาบาลสัตว์นับแต่วันที่ทราบคำสั่งให้ปิดสถานพยาบาลสัตว์เป็นการชั่วคราวหรือคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๔๑ ผู้ใดถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จะขอรับใบอนุญาตใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๔๒ คำสั่งของผู้อนุญาตที่ได้สั่งตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ แล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

        คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        การอุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้น

[แก้ไข]
หมวด ๕ บทกำหนดโทษ

______________________

        มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบบรรดาสิ่งของที่ใช้ในการดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ด้วยก็ได้

        มาตรา ๔๔ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท

        มาตรา ๔๕ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๔๖ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

        มาตรา ๔๗ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๔๘ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๒ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๔๙ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

        มาตรา ๕๐ ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๕๑ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้ผู้อนุญาตหรือผู้ซึ่งผู้อนุญาตมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

______________________

        มาตรา ๕๒ ผู้ใดจัดตั้งหรือดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์หรือใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ แล้วแต่กรณี ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๕ มาตรา ๗ และมาตรา ๙ ใช้บังคับ ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ ให้ผู้นั้นประกอบกิจการไปพลางก่อนได้ แต่ถ้าผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่ง

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

______________________

        ๑. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ฉบับละ ๓๐๐ บาท

        ๒. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนไม่เกิน ๑๐ ที่ ฉบับละ ๕๐๐ บาทเกิน ๑๐ ที่ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

        ๓. ค่าต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ให้เก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตาม ๑

        ๔. ค่าต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ให้เก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตาม ๒

        ๕. ใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ฉบับละ ๒๐๐ บาท

        ๖. ใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ฉบับละ ๔๐๐ บาท

        ๗. ค่าต่ออายุใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ให้เก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตาม ๕

        ๘. ค่าต่ออายุใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ให้เก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตาม ๖

        ๙. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๒๐๐ บาท

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีการจัดตั้งและดำเนินกิจการสถานพยาบาลสัตว์มากขึ้น และมีการโฆษณาที่อาจทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าสถานพยาบาลสัตว์นั้น มีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ทั้งในทางอายุรกรรม ศัลยกรรมและสูติกรรม ตลอดจนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ต่างๆ โดยใช้ชื่อว่าสัตวแพทย์คลินิก คลินิกรักษาสัตว์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ ทั้งๆ ที่สถานที่นั้นไม่มีสัตวแพทย์ปริญญาประจำสถานพยาบาลสัตว์เหล่านั้น หรือจัดให้มีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบการบำบัดโรคสัตว์เป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ จนเป็นเหตุให้เจ้าของสัตว์หลงเชื่อในคำชักชวนโฆษณาอันไม่เป็นความจริง นอกจากนั้นสถานที่ดังกล่าวบางแห่งไม่เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานพยาบาลสัตว์ เนื่องจากโรคสัตว์บางชนิดสามารถติดต่อถึงคนได้ อันเป็นอันตรายต่อเจ้าของสัตว์และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ที่ป่วยทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของสัตว์ และสถานพยาบาลสัตว์ก็ไม่ถูกสุขลักษณะและขาดผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ สมควรที่จะควบคุมการจัดตั้งและการดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก