พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.๒๕๔๓

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.๒๕๔๓

พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.๒๕๔๓
พระราชบัญญัติ
สถาปนิก
พ.ศ. ๒๕๔๓
__________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “วิชาชีพสถาปัตยกรรม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ และสาขาสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

         “วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่กำหนดในกฎกระทรวง

         “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัตินี้

         “ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาสถาปนิก

         “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาสถาปนิก

         “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาสถาปนิก

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาสถาปนิก

         “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาสถาปนิก

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑สภาสถาปนิก

__________________________

        มาตรา ๖ ให้มีสภาสถาปนิก มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้สภาสถาปนิกเป็นนิติบุคคล

        มาตรา ๗ สภาสถาปนิกมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

         (๒) ส่งเสริมความสามัคคีและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสมาชิก

         (๓) ส่งเสริมสวัสดิการและผดุงเกียรติของสมาชิก

         (๔) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

         (๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางด้านวิชาการต่างๆ แก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม

         (๖) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งด้านเทคโนโลยี

         (๗) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย

         (๘) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๘ สภาสถาปนิกมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๒) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

         (๓) รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๔) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๕) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๖) ออกข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วย

         (ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๖)

         (ข) การรับสมัครเป็นสมาชิก ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก

         (ค) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๒

         (ง) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาตการเพิกถอนใบอนุญาตและการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (จ) คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง

         (ฉ) หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละระดับตามมาตรา ๔๖

         (ช) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๙

         (ซ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

         (ฌ) มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (ญ) การประชุมของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

         (ฎ) การใดๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

        ข้อบังคับสภาสถาปนิกนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

         (๗) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก

        มาตรา ๙ สภาสถาปนิกอาจมีรายได้ดังนี้

         (๑) ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

         (๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

         (๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภาสถาปนิก

         (๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาสถาปนิก

         (๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

        มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาสถาปนิกและมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

[แก้ไข]
หมวด ๒สมาชิก

__________________________

        มาตรา ๑๑ สมาชิกสภาสถาปนิกมีสามประเภทดังนี้

         (๑) สมาชิกสามัญ

         (๒) สมาชิกวิสามัญ

         (๓) สมาชิกกิตติมศักดิ์

        มาตรา ๑๒ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

         (๒) มีสัญชาติไทย

         (๓) มีความรู้ในวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยได้รับปริญญา อนุปริญญาประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สภาสถาปนิกรับรอง

         (๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

         (๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

         (๖) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        สมาชิกวิสามัญต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกแต่งตั้ง

        มาตรา ๑๓ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้

         (๑) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

         (๒) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

         (๓) แสดงความเห็นและซักถามเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิกต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิก คณะกรรมการต้องพิจารณา และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า

         (๔) เลือก รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการ

         (๕) ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกและค่าบำรุงตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

         (๖) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้

        สมาชิกวิสามัญ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ตาม (๒) และ (๔)

        มาตรา ๑๔ สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดเมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา๑๒ สำหรับกรณีสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ แล้วแต่กรณี

         (๔) ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

         (๕) ไม่ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกหรือค่าบำรุง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

         (๖) สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๖๔

        มาตรา ๑๕ ให้มีการประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้ง

        การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

        มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่ตามที่จำเป็น

        สมาชิกสามัญอาจขอให้ประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก ในการนี้ คณะกรรมการต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำร้องขอ

        มาตรา ๑๗ ในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก ถ้าสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยคนและการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิกก็ให้งดประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป โดยให้นายกสภาสถาปนิกเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งภายในสี่สิบห้าวัน

        มาตรา ๑๘ ในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก ให้นายกสภาสถาปนิกเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาสถาปนิกผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาปนิกและอุปนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        มาตรา ๑๙ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี กิจการอันพึงกระทำได้แก่

         (๑) ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการ

         (๒) พิจารณาและอนุมัติงบดุลประจำปีของสภาสถาปนิก

         (๓) ตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี

        มาตรา ๒๐ ให้มีผู้ตรวจคนหนึ่งหรือหลายคนตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกแต่งตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก

        คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        ผู้ตรวจมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการแล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

        มาตรา ๒๑ ในการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้ผู้ตรวจมีอำนาจเข้าไปตรวจในสถานที่ทำการงานต่างๆ ของสภาสถาปนิกในระหว่างเวลาทำงานได้และให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ตรวจตามควรแก่กรณี

        มาตรา ๒๒ กรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่สภาสถาปนิก ลูกจ้าง และตัวแทนของสภาสถาปนิกมีหน้าที่ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งตนเก็บรักษาหรืออยู่ในอำนาจของตนให้แก่ผู้ตรวจ และให้คำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ในกิจการของสภาสถาปนิก ทั้งนี้ เมื่อผู้ตรวจร้องขอ

        มาตรา ๒๓ ในกรณีที่พบว่าคณะกรรมการมิได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานประจำปีหรือดำเนินงานไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก ให้ผู้ตรวจแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกหรือสมาชิกสามัญตามที่ตนเห็นสมควรเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

[แก้ไข]
หมวด ๓คณะกรรมการ

__________________________

        มาตรา ๒๔ ให้มีคณะกรรมการสภาสถาปนิกประกอบด้วย

         (๑) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และมิได้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนสิบคน

         (๒) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนห้าคน

         (๓) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญโดยการเสนอชื่อของรัฐมนตรี จำนวนห้าคน

        ในการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสัดส่วนของสมาชิกสามัญจากสาขาสถาปัตยกรรมควบคุมต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม

        มาตรา ๒๕ เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการและทราบผลการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ แล้ว ให้สภานายกพิเศษกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสามสิบวัน และให้ถือว่าวันประชุมดังกล่าวเป็นวันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งกรรมการ

        มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สองตำแหน่งละหนึ่งคน

        ให้นายกสภาสถาปนิกเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เหรัญญิกตำแหน่งละหนึ่งคนและอาจเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

        ให้นายกสภาสถาปนิกมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการ เหรัญญิก และตำแหน่งอื่นตามวรรคสองออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

        นายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง ให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง

        เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาปนิกพ้นจากหน้าที่ ให้เลขาธิการ เหรัญญิกและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่งด้วย

        มาตรา ๒๗ กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิกมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีหรือระดับวุฒิสถาปนิก

         (๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

         (๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

        มาตรา ๒๘ กรรมการให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

        ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการใหม่

        มาตรา ๒๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔

         (๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗

         (๓) ลาออก

         (๔) สภาสถาปนิกมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

         (๕) ตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน

         (๖) รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๖๙

        มาตรา ๓๐ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงก่อนครบวาระให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๔ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง แต่ถ้าวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันคณะกรรมการจะให้มีการเลือกกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

        ในกรณีตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่เก้าสิบวันขึ้นไปให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่าง

        ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกหรือเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        มาตรา ๓๑ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ (๓) ว่างลงก่อนครบวาระให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง แต่ถ้าวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะมีการแต่งตั้งแทนหรือไม่ก็ได้

        ให้ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        มาตรา ๓๒ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๑) และ (๒) การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา ๒๖ และการเลือกหรือการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๐ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๓๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) บริหารและดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสภาสถาปนิก

         (๒) สอดส่องดูแลและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

         (๓) ออกระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการใดๆ ตามที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมอบหมาย

         (๔) กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาสถาปนิก

         (๕) วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา ๖๒

        มาตรา ๓๔ นายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง เลขาธิการ และเหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) นายกสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่

         (ก) เป็นผู้แทนสภาสถาปนิกในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

         (ข) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

         (ค) ดำเนินกิจการของสภาสถาปนิกให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ

         (๒) อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยนายกสภาสถาปนิกในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาสถาปนิก ตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาสถาปนิกเมื่อนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

         (๓) อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สองเป็นผู้ช่วยนายกสภาสถาปนิกในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาสถาปนิก ตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาสถาปนิกเมื่อนายกสภาสถาปนิก และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่งไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

         (๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่

         (ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาสถาปนิกทุกระดับ

         (ข) เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

         (ค) ดำเนินการตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย

         (๕) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงิน และการงบประมาณของสภาสถาปนิก

        นายกสภาสถาปนิกอาจมอบหมายให้อุปนายก กรรมการ เลขาธิการ เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่ของสภาสถาปนิกกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

[แก้ไข]
หมวด ๔การดำเนินการของคณะกรรมการ

__________________________

        มาตรา ๓๕ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

        ให้นายกสภาสถาปนิกเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกสภาสถาปนิกผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาปนิกและอุปนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        ในกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๔ (๓) มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มาประชุม

        มาตรา ๓๖ สภานายกพิเศษจะเข้าร่วมการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาสถาปนิกในเรื่องใดๆ ก็ได้

        มาตรา ๓๗ ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินงานได้

        ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายได้และรายจ่ายประจำปีซึ่งผู้สอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีรับรองเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน

        มาตรา ๓๘ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้

        การประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการ

        มาตรา ๓๙ ให้มีสำนักงานสภาสถาปนิกทำหน้าที่ธุรการต่างๆ ให้แก่คณะกรรมการและสภาสถาปนิก

        มาตรา ๔๐ ให้นายกสภาสถาปนิกแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกตามมติของคณะกรรมการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) มีสัญชาติไทย

         (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์

         (๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

         (๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๕) คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๔๑ การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดค่าจ้าง และเงื่อนไขอื่นในการทำงานในหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกให้เป็นไปตามแบบสัญญาจ้างที่สภาสถาปนิกกำหนด

        มาตรา ๔๒ หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

         (๑) ควบคุมรับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของสภาสถาปนิก

         (๒) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ได้รับใบอนุญาต และทะเบียนอื่นๆ ของสภาสถาปนิก

         (๓) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภาสถาปนิก

         (๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือเลขาธิการมอบหมาย

[แก้ไข]
หมวด ๕ข้อบังคับสภาสถาปนิก

__________________________

        มาตรา ๔๓ ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการหรือสมาชิกสามัญ

        การเสนอร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกของสมาชิกสามัญจะกระทำได้เมื่อมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนรับรอง

        ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สภาสถาปนิกเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกที่มีการเสนอตามความเหมาะสมแก่กรณี การพิจารณาร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกจะเสนอเป็นวาระจรไม่ได้แต่ต้องกำหนดเป็นวาระในหนังสือนัดประชุมให้ชัดเจนและแนบร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกที่เสนอไปพร้อมกันด้วย

        มาตรา ๔๔ เมื่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมีมติให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมให้นายกสภาสถาปนิกเสนอร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกสภาสถาปนิกเสนอให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับนั้น

        ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการยับยั้ง ในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้ถือว่าร่างข้อบังคับนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแล้ว

[แก้ไข]
หมวด ๖การควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

__________________________

        มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาสถาปนิก

        มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขามี ๔ ระดับคือ

         (๑) วุฒิสถาปนิก

         (๒) สามัญสถาปนิก

         (๓) ภาคีสถาปนิก

         (๔) ภาคีสถาปนิกพิเศษ

        หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๔๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ทั้งนี้ รวมถึง การใช้ จ้างวานหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขานั้นๆ จากสภาสถาปนิกหรือสถาบันที่สภาสถาปนิกรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๔๘ การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๔๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกและถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

        ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนเป็นของคนต่างด้าวจำนวนเท่าใดนิติบุคคลนั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

         (๑) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร

         (๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการผู้จัดการของบริษัทหรือผู้มีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียวของนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๕๑ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายหรือพบการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมของผู้ได้รับใบอนุญาต มีสิทธิกล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อสภาสถาปนิก

        กรรมการหรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมว่าผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมโดยแจ้งเรื่องต่อสภาสถาปนิก

        สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งหรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด

        การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๕๒ เมื่อสภาสถาปนิกได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษ ตามมาตรา ๕๑ ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า

        มาตรา ๕๓ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ประกอบด้วยประธานกรรมการจรรยาบรรณคนหนึ่งและกรรมการจรรยาบรรณตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามคน

        ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกจากสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

         (๒) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ

        มาตรา ๕๔ กรรมการจรรยาบรรณให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

        ให้กรรมการจรรยาบรรณที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณใหม่

        มาตรา ๕๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการจรรยาบรรณพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) ลาออก

         (๒) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔

         (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง

         (๔) สภาสถาปนิกมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

        มาตรา ๕๖ เมื่อตำแหน่งกรรมการจรรยาบรรณว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่วาระของกรรมการจรรยาบรรณเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะดำเนินการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือไม่ก็ได้

        ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        มาตรา ๕๗ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

        วิธีพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ

        มาตรา ๕๘ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการจรรยาบรรณได้

        การปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ

        มาตรา ๕๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจรรยาบรรณ และคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้ง ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แต่ถ้าเป็นการมีคำสั่งต่อบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษหรือผู้ซึ่งสภานายกพิเศษมอบหมาย

        ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา ๖๐ ให้ประธานกรรมการจรรยาบรรณมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มพิจารณา

        ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆ ส่งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณหรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากประธานกรรมการจรรยาบรรณ หรือภายในเวลาที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนด

        มาตรา ๖๑ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

         (๑) ยกข้อกล่าวหา

         (๒) ตักเตือน

         (๓) ภาคทัณฑ์

         (๔) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี

         (๕) เพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา ๖๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๖๑ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดต่อคณะกรรมการได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย

        การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

        คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้ทำเป็นคำสั่งสภาสถาปนิกพร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาดและให้ถือเป็นที่สุด

        มาตรา ๖๓ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาสถาปนิกที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้น

        มาตรา ๖๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๖๓ ให้สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นนับแต่วันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด

        มาตรา ๖๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะยื่นขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล ให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้บริหารของนิติบุคคลและพนักงานหรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต และห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้บริหารของนิติบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

[แก้ไข]
หมวด ๗การกำกับดูแล

__________________________

        มาตรา ๖๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของสภาสถาปนิกและการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๒) สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาสถาปนิกและการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

         (๓) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิกและจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการก็ได้

         (๔) สั่งเป็นหนังสือให้สภาสถาปนิกระงับหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก กฎหมาย หรือข้อบังคับสภาสถาปนิก

        มาตรา ๖๗ เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานในสำนักงานของสภาสถาปนิก หรือในสถานที่ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมได้ในระหว่างเวลาทำการ หรือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา ๖๘ ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๖๙ เมื่อปรากฏว่าสภาสถาปนิกไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๖ หรือมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ นายกสภาสถาปนิก หรือกรรมการคนหนึ่งคนใดกระทำการอันผิดวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก หรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาสถาปนิก ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการนายกสภาสถาปนิก หรือกรรมการคนนั้นพ้นจากตำแหน่ง

        ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสามัญจำนวนห้าคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วแล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

        คำสั่งของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด

        มาตรา ๗๐ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๙ ให้กรรมการทั้งคณะของสภาสถาปนิกพ้นจากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลจากสมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกเท่ากับจำนวนกรรมการที่จะมีได้ตามมาตรา ๒๔ เป็นกรรมการชั่วคราวแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับวันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง

        ให้กรรมการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเพียงเท่าที่จำเป็นและดำเนินการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการชั่วคราว เพื่อให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา ๒๔

        เมื่อกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว ให้กรรมการชั่วคราวซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

[แก้ไข]
หมวด ๘บทกำหนดโทษ

__________________________

        มาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๕๙ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๗๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลให้หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในการกระทำความผิดนั้น และสำหรับนิติบุคคลต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของอัตราโทษปรับสำหรับความผิดนั้นด้วย

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

__________________________

        มาตรา ๗๕ ให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามมาตรา ๒๔ และให้มีอำนาจออกข้อบังคับสภาสถาปนิกตามมาตรา ๘ (๖) เท่าที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นการชั่วคราว ข้อบังคับดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนั้น ทั้งนี้ โดยไม่ให้นำมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับ

        ให้สำนักงาน ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานสภาสถาปนิกตามมาตรา ๓๙ และให้นายทะเบียน ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกตามมาตรา ๔๒ เป็นการชั่วคราวไปจนกว่าสำนักงานสภาสถาปนิกจะมีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕

        ในวาระแรกมิให้นำความในมาตรา ๒๗ (๑) มาใช้บังคับแก่สถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ที่มีวุฒิและผลงานไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ตามเงื่อนไขที่ ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ กำหนด

        การเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๗๖ ให้ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทภาคีสถาปนิก สามัญสถาปนิก และวุฒิสถาปนิกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมพ.ศ. ๒๕๐๘ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นสมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ประเภทใบอนุญาตพิเศษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ อยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

        เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามใบอนุญาตหรือพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วแต่กำหนดระยะเวลาใดจะยาวกว่า ให้สมาชิกภาพของสมาชิกตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นอันสิ้นสุดลง เว้นแต่จะสมัครและได้เป็นสมาชิกของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้ถือว่าปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับรองแล้วเป็นปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่สภาสถาปนิกให้การรับรองตามมาตรา ๘ (๓)

        มาตรา ๗๗ ให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทวุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก หรือใบอนุญาตพิเศษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับวุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก หรือภาคีสถาปนิกพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

        เพื่อประโยชน์ตามมาตรา ๒๗ (๑) ให้ถือว่ากำหนดเวลาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทสามัญสถาปนิก ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นกำหนดเวลาที่ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๗๘ คำขอรับใบอนุญาตซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามความในวรรคก่อนเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกตามความในมาตรา ๗๖ โดยอนุโลม

        มาตรา ๗๙ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๘๐ ให้ถือว่าการกระทำผิดมรรยาทหรือข้อกำหนดและเงื่อนไข ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        ในกรณีที่มีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดมรรยาท หรือข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

__________________________

         (๑) ค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

บุคคลธรรมดา

(ก) ระดับวุฒิสถาปนิก ๑๐,๐๐๐ บาท
(ข) ระดับสามัญสถาปนิก ๗,๕๐๐ บาท
(ค) ระดับภาคีสถาปนิก ๕,๐๐๐ บาท
(ง) ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ ๕,๐๐๐ บาท

นิติบุคคล

ค่าใบอนุญาตนิติบุคคล ๑๐๐,๐๐๐ บาท

         (๒) ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่ ขอต่ออายุใบอนุญาต

ก่อนใบอนุญาตหมด

อายุบุคคลธรรมดา

(ก) ระดับวุฒิสถาปนิก ๓,๐๐๐ บาท
(ข) ระดับสามัญสถาปนิก ๒,๐๐๐ บาท
(ค) ระดับภาคีสถาปนิก ๑,๐๐๐ บาท
(ง) ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ ๑,๐๐๐ บาท

        สำหรับผู้ที่ขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ

ให้เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม ๒,๐๐๐ บาท

นิติบุคคล

         (ก) ค่าต่อใบอนุญาตนิติบุคคลที่ขอต่ออายุใบอนุญาต

ก่อนใบอนุญาตหมดอายุ ๓๐,๐๐๐ บาท

         (ข) ค่าต่อใบอนุญาตนิติบุคคลที่ขอต่ออายุใบอนุญาต

หลังจากใบอนุญาตหมดอายุ ๕๐,๐๐๐ บาท

         (๓) ค่าหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบ

วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ๑๐,๐๐๐ บาท

         (๔) ค่าใบแทนใบอนุญาตหรือหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต

บุคคลธรรมดา ๕๐๐ บาท
นิติบุคคล ๕,๐๐๐ บาท

         (๕) ค่าทดสอบความรู้ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่วิทยาการด้านสถาปัตยกรรมมีการพัฒนาในเนื้อหาและวัตถุประสงค์แตกต่างจากเดิมจนครอบคลุมการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมให้มีประโยชน์ใช้สอย ความงาม และมั่นคง เพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้มีภาระที่ต้องควบคุมดูแลมากกว่าเดิมและการรวมตัวของสถาปนิกในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพก็ได้ดำเนินการมาจนมั่นคงเป็นที่ประจักษ์ในผลงานแล้ว สมควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรวมตัวกันตั้งองค์กรวิชาชีพเพื่อช่วยรัฐในการควบคุมดูแลมาตรฐานความรู้และการประกอบวิชาชีพให้สามารถดำเนินการควบคุมได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจากนโยบายเปิดเสรีในการค้าและบริการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้ต้องเร่งการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการประกอบวิชาชีพให้พร้อมกับการแข่งขันกับต่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก