พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔

พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔
_____________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หมายความว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

         “ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หมายความว่า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        “สินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว” หมายความว่า สินค้าเฉพาะที่จำหน่ายหรือบริการที่เกี่ยวกับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวโดยไม่รวมถึงสินค้าหรือบริการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

        “สภา”หมายความว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        “คณะกรรมการ”หมายความว่า คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        “ผู้อำนวยการ”หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “พนักงานเจ้าหน้าที่”หมายความว่าผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

_____________

        มาตรา ๕ ให้จัดตั้งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

        ให้สภาเป็นนิติบุคคล

        มาตรา ๖ สภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในด้านการประสานงานอย่างมีระบบระหว่างรัฐกับเอกชนและเอกชนกับเอกชนด้วยกัน


         (๒) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๓) ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

         (๔) ส่งเสริมให้มีจรรยามารยาทในการท่องเที่ยว

         (๕) ส่งเสริมให้มีระบบการรับรองคุณภาพ ระบบมาตรฐานและระบบประกันคุณภาพของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

         (๖) ควบคุมดูแลให้สมาชิกผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำเนินการอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรมและมีจรรยาบรรณ

         (๗) ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง อบรม และเผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้แก่สมาชิก หรือจัดเป็นบริการแก่บุคคลทั่วไป

         (๘) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อสมาชิกและบุคคลทั่วไปทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

         (๙) เสนอความเห็นหรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๐) ให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจการด้านการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

         (๑๑) คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๒) ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างสมาชิกด้วยกัน

         (๑๓) ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๔) ดำเนินกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๕) ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

        มาตรา ๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ห้ามสภากระทำการใด ๆ ดังต่อไปนี้

         (๑) แข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการจำกัดทางการค้าเพื่อการผูกขาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

         (๒) ลิดรอนสิทธิ์ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๓) ดำเนินการอันอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

         (๔) กดราคาสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ตกต่ำหรือทำให้สูงเกินสมควรหรือทำให้ปั่นป่วนเกี่ยวกับราคาสินค้าหรือค่าบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๕) ให้กู้ยืมเงินหรือให้เงินแก่สมาชิกหรือบุคคลอื่นใดเว้นแต่เป็นการให้กู้ยืมเพื่อเป็นการสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้างหรือครอบครัวของพนักงานและลูกจ้าง หรือเป็นการให้เพื่อการกุศลสาธารณะตามข้อบังคับ

         (๖)แบ่งปันรายได้ให้แก่สมาชิก

        มาตรา ๘ ให้สภามีสำนักงานใหญ่หนึ่งแห่งในท้องที่ที่สภากำหนด และมีสำนักงานสาขาได้ตามความจำเป็น

        การจัดตั้งสำนักงานสาขาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

        มาตรา ๙ สภาอาจมีรายได้ดังนี้

         (๑) ค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง ค่าบำรุงพิเศษ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เรียกเก็บจากสมาชิก

         (๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

         (๓) ผลประโยชน์จากการจัดการเงินและทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภา

         (๔) เงินรายได้อื่น

         (๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

        มาตรา ๑๐ หามบุคคลใดนอกจากสภาใช้ชื่อที่เป็นภาษาไทยว่า “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือภาษาต่างประเทศที่มีความหมายในทำนองเดียวกันหรืออ่านออกเสียงว่า “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือใช้ชื่อในทำนองเดียวกันจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภา

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ สมาชิก

_____________


        มาตรา ๑๑ สมาชิกสภามีสามประเภท

         (๑) สมาชิกสามัญ

         (๒) สมาชิกวิสามัญ

         (๓) สมาชิกกิตติมศักดิ์

        สมาชิกทั้งสามประเภทมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา ๑๒ สมาชิกสามัญ ได้แก่ สมาคมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจการเพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยกรรมการสมาคมทั้งหมดจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง และสมาชิกของสมาคมทั้งหมดจำนวนเกินกึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย

        มาตรา ๑๓ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่

         (๑) สมาคมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจการเพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มิใช่สมาคมตามมาตรา ๑๒ หรือสมาคมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจการเพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ

         (๒) นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายซึ่งประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ

         (๓) บุคคลซึ่งมีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับ

        มาตรา ๑๔ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือผู้ซึ่งทำประโยชน์ให้แก่สภาหรือการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการเชิญมาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

[แก้ไข]
หมวด ๓ คณะกรรมการ

_____________


        มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย

         (๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหนึ่งคน

         (๒) กรรมการประเภทเลือกตั้งจำนวนสามในสี่ของจำนวนกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งรวมกัน ซึ่งที่ประชุมสมาชิกสามัญเลือกตั้งจากผู้แทนสมาชิกสามัญ และ

         (๓) กรรมการประเภทแต่งตั้งจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งรวมกัน ซึ่งกรรมการประเภทเลือกตั้งตาม (๒) แต่งตั้งจากสมาชิกวิสามัญ หรือผู้แทนสมาชิกวิสามัญ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์

        ให้กรรมการตาม (๑) (๒) และ (๓) เลือกกรรมการตาม (๒) หรือ (๓) เป็นประธานสภา รองประธานสภา และตำแหน่งอื่นๆ ตามความจำเป็น

        ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาและรองประธานสภาต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด

        ให้ผู้อำนวยการเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

        จำนวนรวมกันของกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้ง สัดส่วนกรรมการของสมาชิกแต่ละประเภท วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) และวิธีการเลือกประธานสภา รองประธานสภา และตำแหน่งอื่นๆ ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

        มาตรา ๑๖ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาตามมาตรา ๖ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) เสนอความเห็นและให้คำปรึกษาต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๒) กำหนดเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เพื่อรับรองคุณภาพของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

         (๓) ออกข้อบังคับว่าด้วย

         (ก) การกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครสมาชิก สิทธิหน้าที่ของสมาชิก คุณสมบัติอื่นของสมาชิกวิสามัญตามมาตรา ๑๓ (๓) วินัยและการลงโทษสมาชิก และการพ้นจากสมาชิกภาพรวมทั้งการอุทธรณ์

         (ข) การกำหนดจำนวนรวมกันของกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งสัดส่วนกรรมการของสมาชิกแต่ละประเภท วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๒) และ (๓) และวิธีการเลือกประธานสภา รองประธานสภา และตำแหน่งอื่นๆ

         (ค) การกำหนดค่างทะเบียน ค่าบำรุง ค่าบำรุงพิเศษ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการที่เรียกเก็บจากสมาชิก

         (ง) การบัญชี การเงิน และทรัพย์สินของสภา

         (จ) จรรยาบรรณของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (ฉ)วิธีปฏิบัติเพื่อให้มีการรับรองคุณภาพของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

         (ช) การจัดตั้งสำนักงานสาขาของสภา

         (ซ) การประชุมและการดําเนินงานของคณะกรรมการ และการประชุมของที่ประชุมสภา

         (ฌ) การดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

         (ญ) การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้างและเงินบำเหน็จรางวัลของพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง

         (ฎ) การสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนครอบครัวของบุคคลดังกล่าว หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

         (๔) ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่สมาชิกในการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๕) พิจารณาบุคคลเพื่อเสนอประธานสภาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ รวมทั้งกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินสวัสดิการของผู้อำนวยการ

         (๖) แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

         (๗) ออกระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการของสภา

        การกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ตาม (๒) ข้อบังคับตาม (๓) (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) (ฉ) (ช) (ซ) และ (ฌ) และระเบียบหรือข้อบังคับตาม (๗) ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาก่อน จึงจะใช้บังคับได้

        การกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตาม (๓) (จ) และ (ฉ) เมื่อที่ประชุมสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เสนอนายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะใช้บังคับได้ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วยก็ให้เป็นอันตกไป

        มาตรา ๑๗ กรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสภา

         (๒) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๓) เป็นข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานอื่นของรัฐ หรือข้าราชการการเมือง ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๕ (๓) หรือมาตรา ๓๙

         (๔) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (๕) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) เคยได้รับโทษจำคุกโดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๗) เป็นบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เคยถูกสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพิกถอนการประกอบวิชาชีพหรือการประกอบธุรกิจ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

        มาตรา ๑๘ กรรมการประเภทเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

        ให้กรรมการประเภทแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับวาระของกรรมการประเภทเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        ประธานสภาจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

        นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง กรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) ที่ประชุมสภามีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญ

         (๔) พ้นจากการเป็นผู้แทนสมาชิกสามัญหรือผู้แทนสมาชิกวิสามัญนั้น หรือสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกกิตติมศักดิ์นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ

         (๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗

         (๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือ ความผิดลหุโทษ

         (๗) นายกรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแห่งตามมาตรา ๓๘

        มาตรา ๑๙ เมื่อกรรมการประเภทเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการประเภทนั้นแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าวาระของกรรมการผู้นั้นเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

        เมื่อกรรมการประเภทแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้กรรมการประเภทเลือกตั้งแต่งตั้งกรรมการประเภทนั้นแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าวาระของกรรมการผู้นั้นเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน กรรมการประเภทเลือกตั้งจะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

        ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

        มาตรา ๒๐ เมื่อกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่เพียงเท่าที่จำเป็นพลางก่อนจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

        คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมสมาชิกสามัญเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๒) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง และให้กรรมการชุดที่ได้รับเลือกตั้งนั้นแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง

        ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งรวมกัน ให้กรรมการที่เหลืออยู่กระทำการในนามของคณะกรรมการต่อไปได้ แต่เฉพาะการจัดให้มีการประชุมสมาชิกสามัญเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง

        ในกรณีที่กรรมการประเภทเลือกตั้งและกรรมการประเภทแต่งตั้งทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันในกรณีอื่น ให้นำมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๒๑ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง

        การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

        ในการประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสภาไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานสภาไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม

        มติของที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุม ให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้ามีการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับตัวกรรมการ หรือส่วนได้เสียของกรรมการผู้ใด ให้กรรมการผู้นั้นมีสิทธิชี้แจงในเรื่องนั้นแต่ไม่มีสิทธิออกเสียง

        มาตรา ๒๒ ให้ประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ที่ประชุมสภากำหนด

        ให้ที่ปรึกษาและอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา

        มาตรา ๒๓ ให้ประธานสภาแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามมติของคณะกรรมการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

         (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

         (๒) มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๓) สามารถทำงานให้แก่สภาได้เต็มเวลา

         (๔) ไม่เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (๖) ไม่เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๗) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๘) ไม่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานอื่นของรัฐหรือกรรมการ

         (๙) ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภา

        มาตรา ๒๔ ให้ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๒๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๔ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด

         (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๓

        มาตรา ๒๖ ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของสภา และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสภา

         (๒) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิกและทะเบียนอื่นๆ ของสภา

         (๓) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภา

         (๔) รวบรวมข้อมูล สถิติ และศึกษาวิจัยเรื่องอันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประธานสภาและคณะกรรมการมอบหมาย

        ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อสภาและคณะกรรมการในการบริหารกิจการของสภา

        มาตรา ๒๗ เมื่อผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลงให้ประธานสภาแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งตามมติของคณะกรรมการเป็นผู้รักษาการชั่วคราว ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้รักษาการมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ

        ในกรณีที่ตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลง ให้ประธานสภาดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามมาตรา ๒๓ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง

        มาตรา ๒๘ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ประธานสภาเป็นผู้แทนของสภา และเพื่อการนี้ ประธานสภาจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการ ผู้อำนวยการ หรือพนักงานดำเนินกิจการบางอย่างแทนก็ได้ ในเมื่อกิจการนั้นไม่ขัดต่อระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้

        การดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ การดำเนินกิจการสภา

_____________

        มาตรา ๒๙ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมสภาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การประชุม เช่นนี้เรียกว่าประชุมสามัญ และอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีวาระการประชุมในเรื่องดังต่อไปนี้

         (๑) ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปีตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง

         (๒) รับรองรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายรับและรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง

        การประชุมสภาคราวอื่นนอกจากการประชุมตามวรรคหนึ่ง เรียกว่าประชุมวิสามัญ


        มาตรา ๓๐ เมื่อมีเหตุจำเป็น คณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้

        สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญจะทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมวิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

        ในกรณีที่สมาชิกสามัญเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการเรียกประชุมวิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับหนังสือร้องขอ หากคณะกรรมการไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญมีสิทธิเรียกประชุมวิสามัญได้

        มาตรา ๓๑ ในการประชุมสามัญและการประชุมวิสามัญต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

        มติของที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมากของสมาชิกสามัญที่มาประชุม

        สมาชิกสามัญคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        ในการประชุมสามัญและการประชุมวิสามัญ ให้ประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม และให้นำความในมาตรา ๒๑ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา ๓๒ สมาชิกวิสามัญและสมาชิกกิตติมศักดิ์มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในการประชุมสามัญและการประชุมวิสามัญได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

        มาตรา ๓๓ ในการดำเนินการของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อที่ประชุมสามัญ เมื่อที่ประชุมสามัญเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินการได้

        ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายรับและรายจ่ายประจำปีซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรอง เสนอต่อที่ประชุมสามัญภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมสามัญรับรองแล้ว

        มาตรา ๓๔ ผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง ให้ที่ประชุมสามัญแต่งตั้งจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี และต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการ พนักงานลูกจ้าง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่

        ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชี และเอกสารหลักฐานของสภาและขอคำชี้แจงจากประธานสภา กรรมการ ผู้อำนวยการ พนักงานลูกจ้าง และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

        ให้ผู้สอบบัญชีได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ที่ประชุมสามัญกำหนด

[แก้ไข]
หมวด ๕ การควบคุมของรัฐ

_____________

 

        มาตรา ๓๕ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้

         (๑) กำกับดูแลให้คณะกรรมการดำเนินการตามมาตรา ๑๖

         (๒)สั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการการดำเนินงานของสภา

         (๓) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาและจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของสภาหรือคณะกรรมการด้วยก็ได้

         (๔) สั่งเป็นหนังสือให้สภาหรือกรรมการระงับหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายนโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ หรือวัตถุประสงค์ของสภา

        มาตรา ๓๖ ในการปฏิบัติการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานในสำนักงานของสภาได้ในระหว่างเวลาทำการหรือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ

        ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๓๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด

        มาตรา ๓๘ เมื่อปรากฏว่าสภาหรือกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๕ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาหรือเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการทั้งคณะหรือกรรมการคนใดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง

        กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดหกปีนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

        มาตรา ๓๙ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญหรือผู้แทนสมาชิกวิสามัญตามจำนวนอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง เป็นคณะกรรมการชั่วคราวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง และให้นำความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ให้คณะกรรมการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาเพียงเท่าที่จำเป็นและจัดให้มีการประชุมสมาชิกสามัญเพื่อเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๒) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราว และให้นำความในมาตรา ๒๐ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        เมื่อคณะกรรมการคณะใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว ให้คณะกรรมการชั่วคราว ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งพ้นจากหน้าที่

 

[แก้ไข]
หมวด ๖ บทกำหนดโทษ

_____________


        มาตรา ๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๔๑ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_____________


        มาตรา ๔๒ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย จำนวนสี่คน สมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทยจำนวนสี่คน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย สมาคมพาต้า (ไทย) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ และสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ แห่งละหนึ่งคน เป็นคณะกรรมการก่อตั้งเพื่อทำหน้าที่ตามบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๓

        มาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการก่อตั้งตามมาตรา ๔๒ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) ออกระเบียบชั่วคราวว่าด้วยการรับสมัครสมาชิกและค่าลงทะเบียนสมาชิกและดำเนินการรับสมัครสมาชิกภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

         (๒) จัดทำระเบียบชั่วคราวว่าด้วยจำนวนกรรมการ สัดส่วนของผู้แทนสมาชิกสามัญที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๒) และการแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓)

         (๓) จัดให้มีการประชุมสมาชิกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันตาม (๑) เพื่ออนุมัติระเบียบชั่วคราวตาม (๒)

         (๔) เลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๒) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมสมาชิกอนุมัติระเบียบชั่วคราวตาม (๓)

         (๕)ปฏิบัติการอื่นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้คณะกรรมการก่อตั้งพ้นจากหน้าที่ เมื่อได้มีการเลือกตั้งกรรมการตาม (๔) แล้ว เพื่อให้กรรมการประเภทเลือกตั้งชุดใหม่ดำเนินการตามมาตรา ๔๔ ต่อไป

        มาตรา ๔๔ ให้กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๔๓ (๔) แต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓) และจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง เพื่อให้มีการเลือกประธานสภา รองประธานสภา และตำแหน่งอื่นๆ ตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง และจัดให้มีการประชุมสามัญครั้งแรกภายในหกสิบวัน นับแต่วันเลือกประธานสภา รองประธานสภา และตำแหน่งอื่นๆ

        ในการประชุมสามัญตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๓ และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปีสำหรับปีแรกด้วย

        มาตรา ๔๕ ให้ผู้ที่ใช้ชื่อซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เลิกใช้ชื่อดังกล่าวนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และในระหว่างเวลาดังกล่าวมิให้นำมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงสมควรให้มีการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหลาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการประสานงานอย่างมีระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน เสนอแนะแนวนโยบายที่สำคัญส่งเสริมให้มีระบบการรับรองคุณภาพ ระบบมาตรฐาน และระบบประกันคุณภาพของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณเพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้มีการพัฒนาก้าวหน้า จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้