พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2472

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2472

พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2472

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า

        โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแสดงสิทธิของรัฐบาลสยามในการที่จะส่งตัวบุคคลที่ต้องหาหรือที่พิจารณาเป็นสัตย์ว่ากระทำผิดมีโทษอาชญาภายในเขตอำนาจศาลของต่างประเทศให้แก่ประเทศนั้น ๆ แม้จะไม่มีสัญญาทางพระราช ไมตรีกำหนดให้ส่งก็ดี และทั้งสมควรจะกำหนดวิธีการอันจะพึงปฏิบัติในเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้งหลายให้ดำเนินเป็นระเบียบเดียวกันสืบไป

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยบทมาตราต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2472

        มาตรา 2(1) ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรุงสยาม เท่าที่ไม่แย้งกับข้อความในหนังสือสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือในประกาศกระแสพระบรมราชโองการที่ได้ออก เกี่ยวกับหนังสือสัญญา อนุสัญญา และความตกลงนั้น ๆ

        มาตรา 4 แม้จะไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ดี ถ้ารัฐบาลสยามพิจารณาเห็นเป็นการสมควร ก็อาจส่งตัวบุคคลผู้ต้องหาหรือที่พิจารณาเป็นสัตย์ว่ากระทำผิดมีโทษอาชญาภายในเขตอำนาจศาลของต่างประเทศใด ๆ ให้แก่ประเทศนั้น ๆ ได้ แต่การกระทำผิดเช่นว่านี้ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายสยามกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

        มาตรา 5 เมื่อมีการร้องขอให้ส่งบุคคลใดข้ามแดน ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ซึ่งศาลของประเทศใดได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อย หรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนแล้ว ท่านว่าจะไม่ส่งตัวบุคคลนั้นให้ไป

        มาตรา 6 การส่งผู้ร้ายข้ามแดนย่อมเริ่มด้วยมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศโดยทางทูตของรัฐบาลนั้นมายังรัฐบาลสยามให้ส่งบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งข้ามแดน หรือถ้าไม่มีทูตก็โดยทางเจ้าพนักงานกงสุลผู้มีหน้าที่

        มาตรา 7 คำร้องขอให้ส่งบุคคลข้ามแดนนั้น ต้องมีหลักฐานส่งมาประกอบ คือ

(ก) ในกรณีขอให้ส่งบุคคลที่ได้พิจารณาเป็นสัตย์ว่าได้กระทำความผิดมีโทษอาชญา ต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิจารณาคดีนั้น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับรองโดยชอบ
(ข) ในกรณีขอให้ส่งบุคคลผู้ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดมีโทษอาชญาต้องมีหมายสั่งจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ หรือสำเนาหมายสั่งจับนั้นซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับรองโดยชอบ กับต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอเช่นที่จะสั่งขังผู้ต้องหาเพื่อส่งไปให้ศาลพิจารณาได้ หากว่าความผิดนั้นได้กระทำในกรุงสยาม

        มาตรา 8 นอกจากรัฐบาลสยามจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น คำร้องขอกับทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมาด้วยนั้น ให้จัดส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาล กระทรวงมหาดไทยจะสั่งให้จับจำเลยหรือจะขอให้ศาลออกหมายสั่งจับก็ได้

        มาตรา 9 เมื่อมีคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาสู่ศาล ศาลต้องแจ้งมายังเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและดำเนินการไต่สวนต่อไป

        มาตรา 10 ถ้าเป็นการเร่งร้อน รัฐบาลต่างประเทศจะขอให้จับและคุมขังจำเลยไว้พลางก่อนก็ได้ คำร้องขอนี้ต้องแถลงประเภทความผิดให้ชัดแจ้งและว่าได้ออกหมายสั่งจับแล้วด้วย เมื่อได้รับคำร้องขอดังว่านี้ นอกจากรัฐบาลสยามจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบ กระทรวงมหาดไทยจะสั่งให้จับจำเลยหรือจะขอให้ศาลออกหมายสั่งจับก็ได้ และต้องนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลซึ่งมีหน้าที่โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้

        ในระหว่างที่คำร้องขอตามระเบียบกับหนังสือหลักฐานอันจำเป็นนั้นยังมิได้มาถึง ให้ศาลสั่งขังจำเลยไว้ถ้าหากว่า

(ก) มีพยานหลักฐาน (ซึ่งอาจมีอยู่ในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศก็ได้) ว่าได้ออกหมายสั่งจับแล้ว กับทั้งประเภทความผิดที่กล่าวหาเป็นฐานใดก็ได้แถลงไว้โดยชัดแจ้งด้วยแล้ว
(ข) ความผิดที่กล่าวหานั้นอยู่ในประเภทที่จะส่งตัวจำเลยข้ามแดนได้และ
(ค) ความผิดนั้นไม่ใช่เป็นความผิดอันมีลักษณะในทางการเมือง

        ถ้าศาลมิได้รับคำร้องขอตามระเบียบกับหนังสือหลักฐานอันจำเป็นนั้นภายในเวลาสองเดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลได้สั่งขังจำเลยไว้ หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ศาลจะเห็นมีเหตุพอสมควรสั่งต่อไปแล้ว ให้ปล่อยตัวจำเลยไป

        มาตรา 11 เมื่อจับจำเลยได้แล้ว ต้องนำตัวขึ้นสู่ศาลโดยมิชักช้าเกินจำเป็นและต้องดำเนินการไต่สวนตามวิธีพิจารณาความอาชญาในกฎหมายสยามเท่าที่สุดที่จะเป็นได้ ศาลจะสั่งให้เลื่อนการไต่สวนไปเป็นครั้งคราวตามคำขอของ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอก็ได้ แต่ในคดีเหล่านี้ศาลไม่ควรอนุญาตให้จำเลยมีประกัน

        มาตรา 12 ศาลจะต้องเป็นที่พอใจว่า

(1) จำเลยเป็นตัวบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนแน่แล้ว
(2) มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งขังผู้ต้องหาเพื่อส่งไปให้ศาลพิจารณาได้ หากว่าความผิดนั้นได้กระทำในกรุงสยาม
(3) ความผิดนั้นอยู่ในประเภทที่จะส่งตัวจำเลยข้ามแดนได้ และไม่ใช่เป็นความผิดอันมีลักษณะในทางการเมือง

        พยานหลักฐานนั้นจะเป็นพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล หรือจะเป็นถ้อยคำพยานที่ได้จดบันทึกส่งมา (ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับรองว่าถูกต้อง) ก็ได้

        มาตรา 13 ศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานข้อต่อสู้ฝ่ายจำเลยนอกจากในข้อต่อไปนี้ คือ

(1) จำเลยไม่ใช่ตัวบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน
(2) ความผิดนั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะส่งข้ามแดนได้ หรือว่าเป็นความผิดอันมีลักษณะในทางการเมือง
(3) การที่ขอให้ส่งข้ามแดนนั้น ความจริงเพื่อประสงค์จะเอาตัวไปลงโทษสำหรับความผิดอย่างอื่นอันมีลักษณะในทางการเมือง
(4) สัญชาติของจำเลย

        มาตรา 14 ถ้าศาลพิเคราะห์เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอก็ให้สั่งปล่อยจำเลยไปในเมื่อสิ้นระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้อ่านคำสั่งปล่อยนั้น เว้นแต่ภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมงนั้น พนักงานอัยการจะได้แจ้งความจำนงว่าจะอุทธรณ์ ส่วนฟ้องอุทธรณ์จะต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวัน และในระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลสั่งขังจำเลยไว้

        มาตรา 15 ถ้าศาลเป็นที่พอใจว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอ ก็ให้ออกคำสั่งอนุญาตให้ขังจำเลยไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนต่อไป แต่มิให้ส่งตัวจำเลยออกไปนอกประเทศก่อนครบกำหนดสิบห้าวัน และภายในกำหนดนั้นจำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้

        ถ้ามิได้ส่งตัวจำเลยข้ามแดนภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันที่คำสั่งของศาลถึงที่สุด หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ศาลจะเห็นมีเหตุพอสมควรสั่งต่อไปแล้ว ให้ปล่อยตัวจำเลยไป

        มาตรา 16 เมื่อใดศาลพิเคราะห์เห็นว่าจำเลยเป็นคนในบังคับสยามก็ดี หรือมีข้อสงสัยหรือมีความยุ่งยากในเรื่องระเบียบอันเกี่ยวกับการรับรองเอกสารหรือวิธีการทำคำขอให้ส่งข้ามแดนก็ดี ให้ศาลรายงานหารือเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก่อนที่จะออกคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลย

        มาตรา 17 คดีอุทธรณ์ในเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตกเป็นหน้าที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา และเมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้วให้เป็นอันถึงที่สุดทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

        แต่ถ้าหากว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างได้วินิจฉัยไว้มีพยานหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะออกคำสั่งนั้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไข ศาลอุทธรณ์พึงพิจารณาแต่เพียงว่าศาลล่างมีพยานหลักฐานพอที่จะให้อำนาจออกคำสั่งเช่นนั้น และเพื่อการนี้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจตรวจพิจารณาพยานหลักฐานและวินิจฉัยคำโต้เถียงในข้อเหล่านี้ คือ

(1) เรื่องสัญชาติของจำเลย
(2) ความผิดที่กล่าวหานั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะส่งข้ามแดนได้
(3) ความผิดนั้นมีลักษณะในทางการเมือง หรือว่าการที่ขอให้ส่งข้ามแดนนั้น แท้จริงเป็นไปเพื่อประสงค์จะเอาตัวจำเลยไปลงโทษสำหรับความผิดอย่างอื่นอันมีลักษณะในทางการเมือง หรือ
(4) ไม่มีพยานหลักฐานแสดงต่อศาลล่างพอที่จะให้ศาลนั้นใช้ดุลพินิจได้ว่าควรจะออกคำสั่งนั้นหรือไม่

        ประกาศมา ณ วันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2472 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน