พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.๒๕๒๔

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.๒๕๒๔

พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.๒๕๒๔
พระราชบัญญัติ
ส่งเสริมกิจการฮัจย์
พ.ศ. ๒๕๒๔
__________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. ๒๕๒๔”

        มาตรา ๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๑ ลงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕

        บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “กิจการฮัจย์” หมายความว่า กิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามเพื่อไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบียไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการการอำนวยความสะดวกหรือความปลอดภัยก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง ระหว่างประกอบพิธีฮัจย์หรือการเดินทางกลับถึงภูมิลำเนา รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการดังกล่าวตามที่คณะกรรมการกำหนด

         “อะมีรุ้ลฮัจย์” หรือ “รออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์” (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) หมายความว่า บุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการของประเทศไทยนำชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

         “การรับจัดบริการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างขนส่งหรือรวบรวมบุคคลและสัมภาระในการรับจ้างขนส่งโดยพาหนะใดๆ จากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในกิจการฮัจย์

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

         “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

        มาตรา ๔ ทวิ ให้จุฬาราชมนตรีเป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ในปีใดที่จุฬาราชมนตรีไม่ประสงค์จะเดินทางไปเป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้สมควรเป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) จำนวนสามคน เพื่อให้จุฬาราชมนตรีนำเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งเป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) จำนวนหนึ่งคน

        มาตรา ๔ ตรี ให้อะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการของประเทศไทยนำชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในกิจการที่ต้องทำเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจย์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

         (๒) เป็นผู้ควบคุมดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

         (๓) เป็นผู้ประสานงานในการปฏิบัติงานของคณะเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อกิจการฮัจย์

         (๔) ให้คำปรึกษาหารือแก่คณะกรรมการ

         (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๕ กิจการดังต่อไปนี้ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

         (๑) การรับจัดบริการขนส่ง

         (๒) การจัดบริการอื่นที่เกี่ยวกับกิจการฮัจย์ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

         (๓) การโฆษณาหรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการชักชวนเพื่อให้ใช้หรือรับบริการตาม (๑) หรือ (๒) อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยผู้กระทำมิได้เป็นตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ตาม (๑) และ (๒)

        การอนุญาตของคณะกรรมการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม*เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม*เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมตำรวจ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์* ผู้แทนกรมประมวลข่าวกลาง ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นไม่เกินสี่คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ

        ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

        ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น

        มาตรา ๙ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๑๐ การประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใดๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในอันที่จะให้ความคุ้มครองผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักประกัน

         (๒) กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใดๆ ในการควบคุมกิจการ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา ๕

         (๓) ปฏิบัติการอื่นใดอันอยู่ในขอบเขตแห่งกิจการฮัจย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจไว้

        ระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการตาม (๒) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

        มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในขอบเขตแห่งกิจการฮัจย์ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        มาตรา ๑๓ ให้นำมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การประชุมอนุกรรมการโดยอนุโลม

        มาตรา ๑๔ ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่งและให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

         (๒) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         (๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้และตามระเบียบ ข้อบังคับของคณะกรรมการ

         (๔) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ

        มาตรา ๑๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ (๑) หรือ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๑๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๑๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใดๆ ซึ่งออกตามมาตรา ๑๑ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

        มาตรา ๑๘ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด และต้องระวางโทษเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้นหรือได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว

        มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

 

 

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นศาสนบัญญัติอันจำเป็นในทางศาสนาอิสลาม และมีชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์แต่ละปีเป็นจำนวนมาก ในการนี้รัฐบาลได้ให้ความอนุเคราะห์ส่งเสริมการไปประกอบพิธีฮัจย์ตลอดมาแต่ยังมีอุปสรรคบางประการทางกฎหมายที่สมควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้องสมบูรณ์ทั้งในทางหลักศาสนา ความสะดวก ปลอดภัย มีหลักประกันในการเดินทาง และป้องกันการหาประโยชน์อันมิชอบทั้งให้สมประโยชน์ในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

        พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๒

         หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันไม่มีผู้ทำหน้าที่เป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) สำหรับเป็นผู้นำของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้เกิดความยากลำบากแก่ผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในเรื่องการขอใบอนุญาตเข้าเมือง การเดินทาง ที่พัก และมีอุปสรรคอื่นๆอีกมาก ดังนั้นเพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ไปแสวงบุญ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สมควรกำหนดให้จุฬาราชมนตรีหรือผู้ที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งเป็นผู้ทำหน้าที่ อะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) มีหน้าที่ควบคุมดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก