พระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ. 2503

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ. 2503

พระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ. 2503
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2503
เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าขาออก

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ. 2503

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก

        ประธานกรรมการ หมายความว่า ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก

        กรรมการ หมายความว่า กรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก และหมายความรวมถึงประธานกรรมการด้วย

        สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมสินค้าขาออก

        มาตรา 4(2) ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก เรียกโดยย่อว่า ก.ส.อ. ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่เกินเก้าคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กับเลขาธิการสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการ

        ให้อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมเศรษฐกิจ อธิบดีกรมกสิกรรม อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและบุคคลอื่นซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินเจ็ดคน เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

        มาตรา 5 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสินค้าขาออก
(2) ตรวจสอบและควบคุมการส่งสินค้าขาออก
(3) แนะนำให้ใช้มาตราการใด ๆ ในอันที่จะส่งเสริมสินค้าขาออกหรือเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า

        มาตรา 6 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 ให้กรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งสถิติและรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การส่งเสริมสินค้าขาออก หรือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานของสินค้าขาออก
(2) มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณา

        ให้ประธานกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติการตามอำนาจในมาตรานี้ทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ โดยทำเอกสารการมอบหมายให้ไว้ประจำตัวเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น

        เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการตามความในวรรคก่อน ต้องแสดงเอกสารการมอบหมายนั้นเมื่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

        มาตรา 6 ทวิ(1) การส่งหนังสือเรียกตามมาตรา 6(2) ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักงานของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกก็ได้

        ถ้าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือเรียกโดยปราศจากเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของสำนักงานชอบที่จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าพนักงานตำรวจไปด้วยเพื่อเป็นพยาน และถ้าบุคคลนั้นยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับอยู่อีก ก็ให้วางหนังสือเรียกไว้ ณ ที่นั้น

        ถ้าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียก ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักงานของบุคคลนั้น จะส่งให้แก่บุคคลใดที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกนั้นก็ได้

        ถ้าไม่พบบุคคลใด หรือพบ แต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับไว้แทน แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกยังอยู่ ณ ที่นั้น แต่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับ ให้ปิดหนังสือเรียกไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักงานนั้น

        เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้ปฏิบัติการตามวิธีการดังกล่าวในวรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่แล้ว ให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกได้รับหนังสือเรียกนั้นแล้ว

        มาตรา 7 กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา 8 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 7 กรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

        เมื่อกรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้

        กรรมการหรือที่ปรึกษาผู้ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเท่าผู้ที่ตนแทน

        มาตรา 9 ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        มาตรา 10 การประชุมทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 11 คณะกรรมการจะตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

        มาตรา 12 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก โดยจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการและปฏิบัติงานธุรการอื่น ๆ

        มาตรา 13 ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ที่เรียกให้มาหรือให้ส่งตามมาตรา 6(2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 14 ห้ามมิให้กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการตามมาตรา 6 เปิดเผยข้อความ หรือตัวเลข หรือสถิติใด ๆ ที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ในประการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ราชการ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือพิจารณาคดี

        ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนความในวรรคก่อน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 15 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ถ. กิตติขจร
รองนายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การส่งสินค้าขาออกเป็นกิจการสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐจะต้องจัดให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจจากต่างประเทศ จึงสมควรจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสินค้าขาออก และมาตรฐานสินค้าเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายดังกล่าวแล้ว

พระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2509 หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออกได้มีการติดต่อประสานงานกับกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ สมควรให้อธิบดีกรมเศรษฐกิจเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออกด้วยอีกผู้หนึ่ง และเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องบางประการเกี่ยวกับการส่งหนังสือเรียกบุคคลตามมาตรา 6(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 จึงสมควรตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

[รก.2509/79/1พ./19 กันยายน 2509]