พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
_______________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535"

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 4 มาตรา 7 ถึงมาตรา 16 มาตรา 17 ถึงมาตรา 31 มาตรา 262 มาตรา 263 มาตรา 318 ถึงมาตรา 320 และมาตรา 332 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517
(2) พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        "หลักทรัพย์" หมายความว่า

(1) ตั๋วเงินคลัง
(2) พันธบัตร
(3) ตั๋วเงิน
(4) หุ้น
(5) หุ้นกู้
(6) หน่วยลงทุนอันได้แก่ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม
(7) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
(8) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้
(9) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
(10) ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด

        "ตั๋วเงิน" หมายความว่า ตั๋วเงินที่ออกเพื่อจัดหาเงินทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

        "หุ้นกู้" หมายความว่า ตราสารแห่งหนี้ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดที่แบ่งเป็นหน่วยแต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่ากันและกำหนดประโยชน์ตอบแทนไว้เป็นการล่วงหน้าในอัตราเท่ากันทุกหน่วย โดยบริษัทออกให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ซื้อเพื่อแสดงสิทธิ ที่จะได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นของผู้ถือตราสารดังกล่าวแต่ไม่รวมถึงตั๋วเงิน

        "ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์" หมายความว่า ผู้ทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชน

        "หนังสือชี้ชวน" หมายความว่า เอกสารใด ๆ ที่ออกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณาชี้ชวนให้บุคคลอื่นจองซื้อหรือซื้อหลักทรัพย์ที่ตนหรือบุคคลอื่นออกหรือเสนอขาย

        "บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ

        "บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตาม พระราชบัญญัตินี้

        "ธุรกิจหลักทรัพย์" หมายความว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทดังต่อไปนี้

(1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
(2) การค้าหลักทรัพย์
(3) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
(4) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
(5) การจัดการกองทุนรวม
(6) การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(7) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

        "การเป็น นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์" หมายความว่า การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนอื่น

        "การค้าหลักทรัพย์" หมายความว่า การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติโดยกระทำนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

        "การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน" หมายความว่า การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ใด ๆ เป็นทางค้าปกติ ทั้งนี้ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

        "การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์" หมายความว่า การรับหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทหรือเจ้าของหลักทรัพย์ไปเสนอขายต่อประชาชน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม

        "การจัดการกองทุนรวม" หมายความว่า การจัดการลงทุนตามโครงการจัดการกองทุนรวมโดยการออกหน่วยลงทุนของแต่ละโครงการจำหน่ายแก่ประชาชนเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนนั้นไปทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือไปหาดอกผลโดยวิธีอื่น

        "การจัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า การจัดการเงินทุนของบุคคลตั้งแต่ห้าคน หรือคณะบุคคลตั้งแต่ หนึ่งคณะขึ้นไป ที่ได้มอบหมายให้จัดการลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการจัดการกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

        "หลักทรัพย์จดทะเบียน" หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์

        "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

        "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 5 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในการออกใบอนุญาตและการให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและการสั่งการให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป และในกรณีที่ไม่อนุญาตหรือไม่ให้ความเห็นชอบให้แจ้งเหตุผลให้ผู้ยื่นขอทราบด้วย

        มาตรา 6 การลงลายมือชื่อของกรรมการหรือนายทะเบียนในใบหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้ จะใช้เครื่องจักรประทับหรือโดยวิธีอื่นใดแทนตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

        มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด 1 การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

_______________

[แก้ไข]
หมวด 2 การออกหลักทรัพย์ของบริษัท

_______________

[แก้ไข]
หมวด 3 การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน

_______________

[แก้ไข]
หมวด 4 ธุรกิจหลักทรัพย์

_______________

[แก้ไข]
หมวด 5 ตลาดหลักทรัพย์

_______________

[แก้ไข]
หมวด 6 ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ล่วงหน้า

_______________

[แก้ไข]
หมวด 7 องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์

_______________

[แก้ไข]
หมวด 8 การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ

_______________

[แก้ไข]
หมวด 9 คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

_______________

[แก้ไข]
หมวด 10 การกำกับและควบคุม

_______________

[แก้ไข]
หมวด 11 พนักงานเจ้าหน้าที่

_______________

[แก้ไข]
หมวด 12 บทกำหนดโทษ

_______________

[แก้ไข]
หมวด 13 บทเฉพาะกาล