พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมและประสานงานคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507

พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507
_____________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2507

เป็นปีที่ 19 ในรัชกาลปัจจุบัน


         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยหอพัก

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า `พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507'


        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2507 เป็นต้นไป และเมื่อจะให้ใช้บังคับในท้องที่อื่นใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


         มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        `หอพัก' หมายความว่า สถานที่ที่จัดขึ้นเพื่อรับผู้พักตามพระราชบัญญัตินี้

        `ผู้พัก' หมายความว่า ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและเข้าอยู่ในหอพักโดยให้ทรัพย์สินตอบแทน

        `เจ้าของหอพัก' หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหอพัก

        `ผู้จัดการหอพัก' หมายความว่า ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจการหอพัก

        `นายทะเบียน' ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ในจังหวัดอื่น หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ที่หอพักตั้งอยู่

        `พนักงานเจ้าหน้าที่' หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        `รัฐมนตรี' หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่หอพัก ดังต่อไปนี้

         (1) หอพักของกระทรวงทบวงกรม

         (2) หอพักที่รับผู้พักน้อยกว่าห้าคน

         (3) หอพักที่รับผู้พักโดยไม่เรียกทรัพย์สินตอบแทน

         (4) หอพักตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด 1 การตั้งหอพัก

        มาตรา 6 หอพักมี 2 ประเภท คือ

         (1) หอพักชาย สำหรับผู้พักที่เป็นผู้ชาย

         (2) หอพักหญิง สำหรับผู้พักที่เป็นผู้หญิง


        มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งหอพัก เว้นแต่ผู้นั้นจะเป็นเจ้าของหอพักและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน


        มาตรา 8 เจ้าของหอพักต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

         (1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

         (2) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

         (3) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (4) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

         (5) ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรงหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง

        ในกรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของหอพัก นิติบุคคลนั้นต้องตั้งผู้แทนซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคก่อนให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้แทน


        มาตรา 9 หอพักอย่างน้อยต้องมีห้องนอน ห้องต้อนรับผู้เยี่ยมเยียนห้องอาหาร ห้องน้ำและห้องส้วม ซึ่งมีสภาพถูกสุขลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 10 เจ้าของหอพักต้องจัดให้มีระเบียบประจำหอพักซึ่งอย่างน้อยให้มีข้อกำหนดดังต่อไปนี้

         (1) หลักเกณฑ์การรับผู้พัก

         (2) อัตราค่าเช่าหอพัก ค่าอาหารและค่าบริการอื่น ๆ

         (3) เวลาเข้าออกหอพัก

         (4) การเยี่ยมผู้พัก

         (5) การรักษาพยาบาล

         (6) การค้างแรมที่อื่น

         (7) การห้ามผู้พักมิให้ก่อความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง

        ระเบียบประจำหอพักให้ใช้ได้เมื่อนายทะเบียนได้เห็นชอบแล้ว

        การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบประจำหอพักต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน


        มาตรา 11 การขออนุญาตตั้งหอพักและการออกใบอนุญาตให้ตั้งหอพักให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 12 ใบอนุญาตให้ตั้งหอพักให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต

        การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 13 ในกรณีนายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนายทะเบียนแจ้งการไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด


        มาตรา 14 ในกรณีใบอนุญาตให้ตั้งหอพักสูญหายหรือถูกทำลายในสารสำคัญให้เจ้าของหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย


        มาตรา 15 เจ้าของหอพักต้องแสดงใบอนุญาตให้ตั้งหอพักไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหอพัก


        มาตรา 16 เจ้าของหอพักต้องจัดให้มีป้ายคำว่า หอพัก ชื่อของหอพักและประเภทหอพักชายหรือหอพักหญิง เป็นภาษาไทยขนาดใหญ่พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ ณ หอพัก ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร


        มาตรา 17 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหอพักให้เจ้าของหอพักแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันก่อนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม

 

[แก้ไข]
หมวด 2 การจัดการหอพัก

_____________


        มาตรา 18 หอพักจะดำเนินกิจการได้ ต้องมีผู้จัดการหอพัก


        มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดจัดการหอพัก เว้นแต่จะได้รับแต่งตั้งจากเจ้าของหอพักและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

        เจ้าของหอพักซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้จัดการหอพักเองก็ได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักด้วย


        มาตรา 20 ผู้จัดการหอพักต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเจ้าของหอพักตามมาตรา 8


        มาตรา 21 การขออนุญาตเป็นผู้จัดการหอพัก และการออกใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 22 ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต

        การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 23 ในกรณีนายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนายทะเบียนแจ้งการไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด


        มาตรา 24 ในกรณีใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้จัดการหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย


        มาตรา 25 ผู้จัดการหอพักต้องแสดงใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหอพัก ทั้งต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรา 15 และมาตรา 16 ด้วย


        มาตรา 26 ผู้จัดการหอพักต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้พักตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้

         (1) ชื่อและอายุของผู้พัก

         (2) ชื่อของโรงเรียนหรือสถานศึกษาของผู้พัก

         (3) ชื่อ และที่อยู่ของบิดามารดาและผู้ปกครองของผู้พัก

         (4) วันที่เข้าอยู่ในหอพักและวันที่ออกจากหอพัก

         (5) ลายมือชื่อผู้พัก

         การกรอกข้อความลงในสมุดทะเบียนผู้พัก ต้องกรอกทุกรายการ แล้วให้ผู้จัดการและผู้พักลงลายมือชื่อไว้ด้วย ถ้ารายการใดเขียนผิด ห้ามลบ แต่ให้ขีดฆ่าแก้ หรือตกเติม แล้วให้ผู้จัดการหอพักและผู้พักลงลายมือชื่อกำกับไว้


        มาตรา 27 ผู้จัดการหอพัก ต้องให้ความร่วมมือแก่สถานศึกษาของผู้พักในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาและความประพฤติของผู้พัก


        มาตรา 28 ผู้จัดการหอพัก ต้องไม่รับหรือยอมให้บุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 (2) (3) (4) หรือ (5) ทำงานในหอพัก และเฉพาะหอพักหญิงต้องใช้หญิงเท่านั้นเป็นผู้ทำงานในหอพัก


        มาตรา 29 เมื่อปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้พักตกอยู่หรือจะตกอยู่ในอันตรายเพราะเหตุเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใดก็ตาม ให้ผู้จัดการหอพักแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบโดยด่วน


         มาตรา 30 ผู้จัดการหอพักต้องควบคุมดูแลมิให้หญิงเข้าอยู่ในหอพักชายและมิให้ชายเข้าอยู่ในหอพักหญิง

[แก้ไข]
หมวด 3 อำนาจหน้าที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่

_____________


        มาตรา 31 นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในหอพักในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจตราควบคุมให้การปฏิบัติได้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ บุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นต้องให้ความสะดวกตามสมควร

        ในกรณีจำเป็น นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน มีอำนาจเข้าไปตรวจหอพักนอกเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้

         นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าตรวจหอพักจะต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดโดยกฎกระทรวงและพร้อมที่จะแสดงได้ด้วย


        มาตรา 32 นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพักจัดการหรือแก้ไขหอพัก หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนเห็นสมควร


        มาตรา 33 เมื่อปรากฏว่าเจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพัก แล้วแต่กรณี

         (1) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 หรือมาตรา 20

         (2) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 32 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

         (3) ดำเนินกิจการหอพักเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือเป็นภัยต่อประเทศชาติ

        นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพักนั้น หรือถ้าเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก หรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักโดยอนุมัติรัฐมนตรีก็ได้

        ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพักให้เจ้าของหอพักเป็นผู้จ่าย


         มาตรา 34 ในการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุม หรือดำเนินกิจการหอพัก ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหอพักและผู้จัดการหอพักทราบ

        เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งคำสั่งตามวรรคก่อนแล้ว ห้ามมิให้เจ้าของหอพักและผู้จัดการหอพักดำเนินกิจการต่อไป เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน

 

[แก้ไข]
หมวด 4 บทกำหนดโทษ

_____________

 

         มาตรา 35 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 36 เจ้าของหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือมาตรา 17 หรือผู้จัดการหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท


        มาตรา 37 ผู้จัดการหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        จอมพล ถนอม กิตติขจร

        นายกรัฐมนตรี

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

_____________

        1. ใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 200 บาท

        2. ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 100 บาท

        3. การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 100 บาท

        4. การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 50 บาท

        5. ใบแทนใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 20 บาท

        6. ใบแทนใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 20 บาท

 

 

        หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฏว่าเด็กและเยาวชน หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในจังหวัดพระนครหรือในจังหวัดใหญ่ ๆ บางจังหวัดและเข้าพักอยู่ในหอพักของเอกชน ได้ทวีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ บรรดาหอพักต่าง ๆ ของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นไม่มีกฎหมายควบคุม ผู้จัดตั้งหอพักได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการค้ามากกว่าเพื่อสวัสดิภาพ และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผิดศีลธรรมอันดี หรืออาจเป็นภัยต่อประเทศชาติ จึงสมควรให้มีกฎหมายควบคุมการจัดตั้งหอพักของเอกชน

 


        ในปัจจุบันได้มีมติให้มีการร่างพระราชบัญญติหอพักขึ้นใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่ชัดเจนและมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก


มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติหอพัก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

        คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติหอพัก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ เพื่อแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการหอพักในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยที่พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายส่วนล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เมื่อจะแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติในประเด็นตามที่เสนอมานี้ สมควรจะได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับเสียในคราวเดียวกัน จึงมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับร่างพระราชบัญญัติหอพัก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปพิจารณาดำเนินการ โดยรับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วย ดังนี้ คำนิยาม “หอพัก” ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่ชัดเจนและมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก สมควรพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงสมควรต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน

 

 

 

หลักการ

ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหอพัก

เหตุผล


         โดยที่พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.๒๕๐๗ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหอพักไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรกำหนดแนวทางและวิธีการในการกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการหอพักให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

[แก้ไข]
ร่างพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ....

…………………………………………

…………………………………………

…………………………………………


        ........................................................................................................

.......................................................................................................

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหอพัก

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย


        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ....”


        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗

[แก้ไข]
หมวด ๑ บททั่วไป

         มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “หอพัก” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการรับผู้พักเข้าพักอาศัย โดยรับค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สิน

         “ผู้พัก” หมายความว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีบริบูรณ์

         “นักเรียน” หมายความว่า ผู้ซึ่งกำลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

         “นิสิต นักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งกำลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

         “สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนที่ผู้พักกำลังศึกษาเล่าเรียน

         “ผู้ดำเนินกิจการหอพัก” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้

         “ผู้จัดการหอพัก” หมายความว่า ผู้จัดการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้

         “นายทะเบียน” หมายความว่า

         (๑) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล

         (๒) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

         (๓) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร

         (๔) นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา

         (๕) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นนอกจาก (๑) ถึง (๔) สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานส่วนท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งพนักงานส่วนท้องถิ่นแต่งตั้ง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “พนักงานส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และให้หมายความรวมถึงหัวหน้าผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงนั้น

        กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก

        มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านเด็กและเยาวชนจำนวนสามคน และผู้แทนสมาคมผู้ดำเนินกิจการหอพักจำนวนหนึ่งคน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นกรรมการและเลขานุการ

         คณะกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้


        มาตรา ๗ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน มาตรการและสิทธิประโยชน์แก่หอพักที่ได้การรับรองมาตรฐานดำเนินการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้

         (๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

         (๓) วางระเบียบเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานหอพัก และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการส่งเสริมกิจการหอพัก

         (๔) วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่

         (๕) ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานงานแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ปฏิบัติงานด้านดำเนินกิจการหอพัก รวมทั้งมีอำนาจเข้าไปตรวจหอพัก ทั้งของรัฐและเอกชน

         (๖) ติดตาม ประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานของการบังคับใช้และเสนอแนะปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้

         (๗) เปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

         (๘) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับหอพัก

         (๙) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานโดยอนุโลม


         มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน


         มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

         (๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

         (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๗) ขาดการประชุมติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร


        มาตรา ๑๐ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันตามมาตรา ๖ เป็นกรรมการแทนและให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน


        มาตรา ๑๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่


        มาตรา ๑๒ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม

        ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


        มาตรา ๑๓ ให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) ปฏิบัติงานธุรการทั่วไปของคณะกรรมการ

         (๒) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการหอพัก

         (๓) พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการในการกำหนดมาตรฐานกิจการหอพัก

         (๔) ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายรวมทั้งแผนงานในการส่งเสริมกิจการหอพัก แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ

         (๕) ปฏิบัติการอื่นตามมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ การดำเนินกิจการหอพัก

         มาตรา ๑๔ หอพักมี ๔ ประเภท คือ

         (๑) หอพักชาย สำหรับผู้พักที่เป็นชาย

         (๒) หอพักหญิง สำหรับผู้พักที่เป็นหญิง

         (๓) หอพักประจำ สำหรับผู้พักที่เป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษาเรียนประจำ โดยสถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินกิจการหอพัก

         (๔) หอพักสหศึกษา สำหรับผู้พักที่มีทั้งชายและหญิงพักอาศัยอยู่ในหอพักเดียวกัน โดยมีการแยกเป็นส่วนสัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

         ก. เป็นหอพักที่มีสองอาคารขึ้นไป มีผู้พักที่เป็นชายและผู้พักที่เป็นหญิงพักอาศัยอยู่ในแต่ละอาคารโดยจะใช้ห้องอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกในหอพักร่วมกันก็ได้

        ข. เป็นหอพักที่มีผู้พักที่เป็นชายและผู้พักที่เป็นหญิงพักอยู่ในอาคารเดียวกันแต่แยกชั้นที่พักและทางขึ้นลงมิให้ชายหญิงปะปนกัน โดยจะใช้ห้องอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกในหอพักร่วมกันก็ได้

         ในการกำหนดรูปแบบและวิธีการปฏิบัติตาม (๔) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        หากหอพักตาม (๑) (๒) และ (๔) มีนักเรียน นิสิตนักศึกษาเข้าพักไม่เต็มตามจำนวนห้องพัก กรณีเช่นว่านี้ให้รับบุคคลซึ่งมิใช่นักเรียน นิสิตนักศึกษาเข้าพักอาศัยด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นเพศเดียวกันกับผู้พัก


         มาตรา ๑๕ ให้พนักงานส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารแจ้งให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อประกอบกิจการหอพักแต่ละประเภททราบเกี่ยวกับลักษณะและประเภทของหอพักตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย


        มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการหอพัก โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินกิจการหอพักจากนายทะเบียน

        ผู้ดำเนินกิจการหอพักตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) และ(๔) ต้องแสดงใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหอพัก


        มาตรา ๑๗ ผู้ดำเนินกิจการหอพัก ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

         (๑) เป็นบุคคลสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

         (๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

         (๓) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (๔) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

         (๕) ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

        ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินกิจการหอพัก นิติบุคคลนั้นต้องตั้งผู้แทนซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้แทน

         มาตรา ๑๘ หอพักอย่างน้อยต้องจัดให้มีมาตรฐานในการจัดสถานที่ บริการและการจัดการดังต่อไปนี้


         (๑) ห้องนอนของผู้พัก ห้องน้ำและห้องส้วม          (๒) การบริการเพื่อส่งเสริมการศึกษาของผู้พัก เช่น สถานที่อ่านหนังสือ อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์กีฬา

         (๓) การบริการของหอพัก เช่น ห้องต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน ห้องอาหาร สาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย

         (๔) สิ่งแวดล้อมและสุขลักษณะ

         (๕) การจัดการด้านอื่นๆ ของหอพัก เช่น อัตราค่าเช่า การบริหารจัดการ การประกันภัย การมีส่วนร่วมของผู้พัก เป็นต้น

         หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานหอพักตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เว้นแต่มาตรฐานเรื่องใดได้กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่นแล้ว คณะกรรมการอาจไม่กำหนดก็ได้


        มาตรา ๑๙ การขออนุญาตจัดตั้งหอพักและการออกใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ให้นายทะเบียนคำนึงถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

         (๑) มีสถานที่ตั้งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

         (๒) ไม่อยู่ในสถานที่ล่อแหลมต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

         (๓) มีบริการสาธารณูปโภคที่เพียงพอ

         (๔) ความสอดคล้องกับมาตรฐานของอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและการสาธารณสุข

        การขอต่อใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุด ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การออก ใบแทนใบอนุญาต ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราตามท้ายพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๒๐ บรรดาค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าต่อใบอนุญาต ค่าใบแทนใบอนุญาต และรายได้อื่นๆให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

        มาตรา ๒๑ ใบอนุญาตให้ตั้งหอพักมีกำหนดสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ถือว่าผู้ยื่นคำขออยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาต

        กรณีมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการหอพัก ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการหอพักต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่มีการเปลี่ยนแปลง


        มาตรา ๒๒ ในกรณีนายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิ์อุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือ สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนในเขตจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากนายทะเบียนแจ้งการไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต

        คำวินิจฉัยของปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด


        มาตรา ๒๓ ในกรณีใบอนุญาตให้ตั้งหอพักสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญให้ผู้ดำเนินกิจการหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย


        มาตรา ๒๔ หอพักจะดำเนินกิจการได้ ต้องมีผู้จัดการหอพัก


        มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดจัดการหอพัก เว้นแต่จะได้รับแต่งตั้งจากผู้ดำเนินกิจการหอพักและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

        ในกรณีผู้ดำเนินกิจการหอพักซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้จัดการหอพักเองก็ได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักด้วย

        ผู้จัดการหอพักต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ดำเนินกิจการหอพักตามมาตรา ๑๗


        มาตรา ๒๖ การขออนุญาตเป็นผู้จัดการหอพัก และการออกใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๒๗ ให้นำมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับกับการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวโดยอนุโลม


        มาตรา ๒๘ ผู้ดำเนินกิจการหอพักต้องจัดให้มีระเบียบประจำหอพักปิดประกาศไว้โดยเปิดเผยซึ่งอย่างน้อยให้มีข้อกำหนดดังต่อไปนี้

         (๑) หลักเกณฑ์การรับผู้พัก

         (๒) อัตราค่าเช่าหอพัก เงินประกัน ค่าอาหารและค่าบริการอื่น ๆ

         (๓) เวลาเข้าออกหอพักและระบบรักษาความปลอดภัย

         (๔) การเยี่ยมผู้พัก

         (๕) การรักษาพยาบาล

         (๖) การค้างแรมที่อื่น

         (๗) การห้ามผู้พักมิให้ก่อความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง

         (๘) การห้ามเล่นการพนัน การเสพยาเสพติดและสุรา รวมถึงการมั่วสุมด้วย

         (๙) รายชื่อผู้ดำเนินกิจการหอพักอย่างน้อยหนึ่งคน

         ระเบียบประจำหอพักตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ได้เมื่อนายทะเบียนได้เห็นชอบแล้ว

         การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบประจำหอพัก ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนก่อนจึงจะประกาศใช้บังคับได้ เว้นแต่หอพักตามมาตรา ๑๔ (๓) ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายทะเบียน


         มาตรา ๒๙ ผู้ดำเนินกิจการหอพักที่ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีป้ายคำว่า หอพัก ชื่อของหอพักและประเภทหอพัก เป็นภาษาไทยขนาดใหญ่พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ ณ หอพักในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร

        ป้ายหอพักตามวรรคหนึ่ง ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย


        มาตรา ๓๐ การแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหอพัก ผู้ดำเนินกิจการหอพักต้องขออนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนก่อนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม เว้นแต่หอพักตามมาตรา ๑๔ (๓)ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายทะเบียน

        การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการพิจารณาของนายทะเบียนด้วย


         มาตรา ๓๑ ในกรณีที่มีการเลิกกิจการหอพัก ต้องได้รับความเห็นชอบในการเลิกกิจการเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ให้ผู้ดำเนินกิจการหอพักปิดประกาศการเลิกกิจการไว้ ณ ที่เปิดเผยในบริเวณหอพักไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนเลิกกิจการหอพัก และห้ามดำเนินกิจการหอพักต่อไป


         มาตรา ๓๒ ผู้ดำเนินกิจการหอพักและผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพ และความเป็นอยู่ของผู้พักที่อยู่ในหอพักตามระเบียบของหอพักและหลักเกณฑ์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


         มาตรา ๓๓ ผู้จัดการหอพักต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้พักตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และอย่างน้อยให้มีรายการ ดังต่อไปนี้

         (๑) ชื่อและอายุของผู้พัก

         (๒) ชื่อของโรงเรียนหรือสถานศึกษาของผู้พัก

         (๓) ชื่อ และที่อยู่ของบิดามารดาและผู้ปกครองของผู้พัก

         (๔) วันที่เข้าอยู่ในหอพักและวันที่ออกจากหอพัก

         (๕) ลายมือชื่อผู้พัก

        รายละเอียดตามวรรคหนึ่ง หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นปัจจุบันแล้วให้ผู้ดำเนินกิจการหอพักและผู้พักลงลายมือชื่อกำกับไว้


        มาตรา ๓๔ ผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ควบคุมดูแลมิให้หญิงเข้าอยู่ในห้องพักชาย และมิให้ชายเข้าอยู่ในห้องพักหญิง


        มาตรา ๓๕ ผู้ดำเนินกิจการหอพักหรือผู้จัดการหอพัก แล้วแต่กรณี ต้องไม่รับหรือยอมให้บุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๗ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ทำงานในหอพัก และเฉพาะหอพักหญิงหรือหอพักสหศึกษาในส่วนของผู้พักที่เป็นหญิงต้องใช้หญิงเท่านั้นเป็นผู้ทำงานในหอพัก


         มาตรา ๓๖ เมื่อปรากฏ ห¬รือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้พักตกอยู่หรือจะตกอยู่ในอันตรายเพราะเหตุเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใดก็ตาม ให้ผู้จัดการหอพักแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบโดยด่วน


        มาตรา ๓๗ หอพักตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) หรือ (๔) เมื่อได้รับการรับรองมาตรฐานหอพัก อาจได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากรัฐ ดังต่อไปนี้

         (๑) การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีอากร และค่าธรรมเนียม

         (๒) ค่าสาธารณูปโภค

         (๓) การอุดหนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์

         (๔) การสนับสนุนด้านวิชาการ และอื่นๆ

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ การควบคุมกิจการหอพัก

        มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (๑) เข้าไปในหอพักระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจและควบคุมให้การปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ โดยบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นต้องให้ความสะดวกตามสมควร

         (๒) เรียกผู้ดำเนินกิจการหอพัก ผู้จัดการหอพัก หรือบุคคลอื่นใดมาให้ถ้อยคำหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหอพัก

         (๓) สั่งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการหอพัก

         ในกรณีจำเป็นหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าหอพักใดมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าไปตรวจหอพักนอกเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้

         ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา ๓๙ เมื่อปรากฏว่าผู้ดำเนินกิจการหอพักหรือผู้จัดการหอพัก แล้วแต่กรณี

         (๑) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๗

         (๒)ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

         (๓) ดำเนินกิจการหอพักเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

         นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพักนั้น หรือถ้าเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งหอพัก หรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักโดยอนุมัติจากคณะกรรมการก็ได้

        ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพักให้ผู้ดำเนินกิจการหอพักเป็นผู้จ่าย


        มาตรา ๔๐ ในการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุม หรือดำเนินกิจการหอพักตามมาตรา ๓๙ ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินกิจการหอพัก หรือผู้จัดการหอพักทราบ

         เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้ผู้ดำเนินกิจการหอพักหรือผู้จัดการหอพักดำเนินกิจการต่อไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน


         มาตรา ๔๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ บทกำหนดโทษ

        มาตรา ๔๒ ผู้ใดดำเนินกิจการหอพักโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา ๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง


        มาตรา ๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะเลิกใช้

         มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


         มาตรา ๔๘ ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการหอพักซึ่งกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำ หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย


         มาตรา ๔๙ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อได้เปรียบเทียบแล้วให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลนั้นเป็นอันระงับไป

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

        มาตรา ๕๐ ให้หอพักที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.๒๕๐๗ ที่ดำเนินกิจการอยู่จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นหอพักตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๕๑ บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.๒๕๐๗ ให้คงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

................................................

         นายกรัฐมนตรี

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

        ๑. ใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ๑,๐๐๐ บาท

        ๒. ใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินกิจการการหอพัก ๑,๐๐๐ บาท

        ๓. ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ๕๐๐ บาท

        ๔. การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ๕๐๐ บาท

        ๕. การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินกิจการหอพัก ๕๐๐ บาท

        ๖. การต่อใบอนุญาตผู้จัดการหอพัก ๒๐๐ บาท

        ๗. ใบแทนใบอนุญาตให้ตั้งหอพักหรือใบแทนใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินกิจการหอพัก ๒๐๐ บาท

        ๘. ใบแทนใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ๑๐๐ บาท

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก