พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530
_______________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
เป็นปีที่ 42 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการนอกศาล

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการนอกศาล ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

[แก้ไข]
หมวด 1 สัญญาอนุญาโตตุลาการ

_______________


        มาตรา 5 สัญญาอนุญาโตตุลาการหมายถึง สัญญาหรือข้อตกลงในสัญญาที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้ซึ่งจะเป็นอนุญาโตตุลาการไว้หรือไม่ก็ตาม

        มาตรา 6 สัญญาอนุญาโตตุลาการจะมีผลผูกพันคู่กรณีได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีข้อสัญญาปรากฏอยู่ในเอกสารโต้ตอบทางจดหมาย โทรเลข โทรพิมพ์หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

        มาตรา 7 ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไป แม้ในภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

        มาตรา 8 เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดใด สัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดนั้นย่อมตกแก่ผู้รับโอนด้วย

        มาตรา 9 สัญญาอนุญาโตตุลาการจะกำหนดให้ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาที่สั้นกว่าอายุความตามกฎหมายก็ได้ แต่การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเท่านั้น หามีผลเป็นการตัดสิทธิฟ้องคดีตามข้อพิพาทนั้นต่อศาลไม่

        เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งขยายกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งได้ คำร้องนี้ให้ยื่นก่อนสิ้นกำหนดเวลาเช่นว่านั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

        มาตรา 10 ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย

 

[แก้ไข]
หมวด 2 อนุญาโตตุลาการและผู้ชี้ขาด

_______________


        มาตรา 11 อนุญาโตตุลาการอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการหลายคน ให้คู่กรณีตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละเท่ากัน

        ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการมิได้กำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้ให้คู่กรณีตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคนและให้อนุญาโตตุลาการดังกล่าวร่วมกันตั้งบุคคลภายนอกอีกหนึ่งคนร่วมเป็นอนุญาโตตุลาการด้วย

        มาตรา 12 ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นการตั้งอนุญาโตตุลาการต้องทำภายในกำหนดเวลาอันสมควร โดยได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับตั้งกับต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตั้งไว้เป็นสำคัญ

        มาตรา 13 ในกรณีที่บุคคลซึ่งจะเป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการมิได้ตั้งภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือภายในกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 12 หรือมีพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่เต็มใจจะตั้งอนุญาโตตุลาการ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนก็ได้

        มาตรา 14 เมื่อได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นโดยชอบแล้ว ห้ามมิให้ถอดถอนการตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น เว้นแต่คู่กรณีทุกฝ่ายจะได้ยินยอมด้วย

        อนุญาโตตุลาการซึ่งได้รับตั้งขึ้นโดยชอบอาจถูกคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ ถ้าเป็นอนุญาโตตุลาการที่ศาลหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้งคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ ถ้าเป็นอนุญาโตตุลาการซึ่งคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตั้ง คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ แต่คู่กรณีฝ่ายใดจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการซึ่งตนเป็นผู้ตั้งหรือร่วมตั้งหาได้ไม่ เว้นแต่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะมิได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการคัดค้านในขณะที่ตั้ง

        เหตุแห่งการคัดค้านตามวรรคสองได้แก่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือชี้ขาดข้อพิพาทเสียความยุติธรรมไป

        ในกรณีที่มีการคัดค้านตามวรรคสองให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมและถ้าการคัดค้านฟังขึ้น ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่แทนผู้ซึ่งถูกคัดค้านนั้นโดยวิธีเดียวกับการตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ซึ่งถูกคัดค้าน

        มาตรา 15 ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการกำหนดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการและบุคคลดังกล่าวนั้น ไม่ยินยอมรับการตั้งหรือตาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถก่อนยินยอม รับการตั้ง หรือก่อนตั้งแล้วแต่กรณี ให้ถือเสมือนว่าไม่มีการกำหนดตัวอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น

        ถ้าอนุญาโตตุลาการผู้ยินยอมรับการตั้งแล้วผู้ใดตาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่แทน โดยวิธีเดียวกับการตั้งอนุญาโตตุลาการผู้นั้น

        ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการผู้ยินยอมรับการตั้งแล้วผู้ใดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่เต็มใจปฏิบัติหน้าที่หรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาอันสมควร คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่แทนอนุญาโตตุลาการผู้นั้นได้

        มาตรา 16 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ถ้าไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ ให้อนุญาโตตุลาการตกลงร่วมกันตั้งบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นผู้ชี้ขาด ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการไม่สามารถตั้งผู้ชี้ขาดได้ ให้อนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่ง หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งตั้งผู้ชี้ขาด และให้นำมาตรา 14 และมาตรา 15 มาใช้บังคับแก่ผู้ชี้ขาดด้วยโดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
หมวด 3 วิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ

_______________


        มาตรา 17 ก่อนจะทำคำชี้ขาด ให้อนุญาโตตุลาการฟังคู่กรณีและมีอำนาจทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรในข้อพิพาทที่เสนอมานั้น

        ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินวิธีพิจารณาใด ๆ ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงหลักแห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ

        มาตรา 18 ในกรณีที่จำต้องอาศัยอำนาจศาลในการออกหมายเรียกพยาน ให้พยานสาบานตน ให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่กรณีในระหว่างการพิจารณา หรือให้ชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายใด อนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนพิจารณานั้นหากเป็นการพิจารณาของศาลแล้วศาลทำให้ได้ ก็ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องนั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการนั้น ๆ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 19 ในการดำเนินการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ คู่กรณีจะดำเนินการด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนหรือตั้งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนก็ได้

 

[แก้ไข]
หมวด 4 คำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาด

_______________


        มาตรา 20 คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่ออนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด แล้วแต่กรณี โดยระบุเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยทั้งปวงไว้โดยชัดแจ้งด้วย แต่จะกำหนดหรือชี้ขาดการใดให้เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณีไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดตามมาตรา 27 หรือเป็นการชี้ขาดให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันระหว่างคู่กรณี

        มาตรา 21 คำชี้ขาดจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้ายหรือผู้ชี้ขาดโดยชอบ เว้นแต่คู่กรณีได้ตกลงกำหนดเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

        กำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือกำหนดเวลาที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจตกลงกันขยายได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออนุญาโตตุลาการ หรือผู้ชี้ขาดยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และให้ศาลมีอำนาจสั่งขยายเวลาได้ตามที่เห็นสมควร

        ห้ามมิให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเหตุที่อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดมิได้ทำคำชี้ขาดให้เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองขึ้นเป็นเหตุคัดค้านการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่จะได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นโต้แย้งเป็นหนังสือต่ออนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดไว้ภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และก่อนที่จะมีการส่งสำเนาคำชี้ขาดไปถึงคู่กรณีฝ่ายนั้น

        เมื่อทำคำชี้ขาดเสร็จแล้ว อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน

        มาตรา 22 ภายใต้บังคับมาตรา 23 และสัญญาอนุญาโตตุลาการคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีเมื่อได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว

        ถ้าในคำชี้ขาดใดมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย เมื่ออนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขออนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

        มาตรา 23 ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดห้ามมิให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจและศาลได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น คำร้องขอนี้ให้ยื่นภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว

        เมื่อศาลได้รับคำร้องขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รีบทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาโดยด่วน ทั้งนี้ ต้องให้คู่กรณีฝ่ายที่จะถูกบังคับมีโอกาสคัดค้านก่อน

        มาตรา 24 ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำ หรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น

        ในกรณีที่คำชี้ขาดใดมีความบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญและอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เช่น การคำนวณตัวเลขหรือการกล่าวอ้างถึงบุคคลหรือทรัพย์สิ่งใดผิดพลาดไป ศาลอาจแก้ไขให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดที่ได้แก้ไขแล้วนั้นได้

        มาตรา 25 ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่ ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขต หรือศาลที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น

        มาตรา 26 ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เว้นแต่

        (1) มีข้ออ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดมิได้กระทำการโดยสุจริตหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล

        (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

        (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

        (4) ผู้พิพากษาซึ่งไต่สวนคดีนั้นมีความเห็นแย้ง หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ

        (5) เป็นคำสั่งที่เกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่กรณีในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 18

 

[แก้ไข]
หมวด 5 ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการ

_______________


        มาตรา 27 ในกรณีที่มิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาอนุญาโตตุลาการ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด แต่ไม่รวมถึงค่าทนายความและค่าใช้จ่ายของทนายความ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด แล้วแต่กรณี แต่ไม่ว่าจะได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือกำหนดไว้ในคำชี้ขาดเป็นประการใด ถ้าศาลที่มีเขตอำนาจเห็นสมควร อาจกำหนดให้ใหม่ตามความเป็นธรรมก็ได้

        ในกรณีที่มิได้กำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดไว้ในคำชี้ขาด คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดอาจยื่นคำร้องให้ศาลที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

 

[แก้ไข]
หมวด 6 การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ

_______________


        มาตรา 28 อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หมายถึง อนุญาโตตุลาการที่กระทำการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาททั้งหมดหรือโดยส่วนใหญ่นอกราชอาณาจักรไทยและคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญชาติไทย

        มาตรา 29 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยก็เฉพาะแต่คำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น

        คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญาอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

        มาตรา 30 เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามมาตรา 29 ให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่

        ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 23 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาของศาลโดยอนุโลม

        มาตรา 31 ผู้ซึ่งขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงด้วย

        (1) ต้นฉบับคำชี้ขาด หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

        (2) ต้นฉบับสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

        (3) คำแปลเป็นภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น โดยมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนทางทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรอง

        มาตรา 32 การขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครเจนีวา ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) นั้น ศาลจะพิพากษาบังคับให้เมื่อคู่กรณีที่ขอบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่าคำชี้ขาดดังกล่าวมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้

        (1) ได้ทำขึ้นในอาณาเขตของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครเจนีวา ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) และต้องเป็นคำชี้ขาดระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ในบังคับของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญานี้ด้วย

        (2) ได้ทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่อยู่ในบังคับของโปรโตคล ว่าด้วยข้อตกลงมอบให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ฉบับที่เปิดให้ลงนาม ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923)

        (3) ได้ทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญานั้น

        (4) ได้ทำขึ้นโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือตามข้อตกลงของคู่กรณี

        (5) ได้ทำขึ้นตามกระบวนวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการที่ชอบด้วยกฎหมาย

        (6) เป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่อาจเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ตามกฎหมายไทย

        (7) มีผลผูกพันเป็นยุติแล้วในประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้น

        (8) สามารถบังคับได้โดยไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายไทยหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

        มาตรา 33 ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 32 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่า

        (1) คำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนเสียแล้วในประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้น

        (2) ผู้ซึ่งจะถูกบังคับไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะมิได้รับการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ทราบถึงการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาอันสมควร หรือผู้ซึ่งจะถูกบังคับเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายและไม่มีผู้ดำเนินคดีแทนโดยชอบ หรือ

        (3) คำชี้ขาดมิได้วินิจฉัยให้ครบทุกประเด็นข้อพิพาทที่คู่กรณีเสนอ หรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ

        มาตรา 34 การขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือ และการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) นั้น ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธเสียได้ ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่า

        (1) คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

        (2) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายแห่งประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้นในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว

        (3) ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ซึ่งจะถูกบังคับนั้นไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น

        (4) คำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจบังคับตามคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยอยู่ในขอบเขตแห่งข้อตกลงนั้นให้ก็ได้

        (5) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด หรือวิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ มิได้เป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ หรือมิได้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่มิได้ตกลงกันไว้ หรือ

        (6) คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติ หรือได้ถูกเพิกถอน หรือระงับใช้เสียแล้วโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดแต่ถ้าเพียงแต่มีการยื่นเรื่องราวขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำการเพิกถอน หรือระงับใช้ซึ่งคำชี้ขาดนั้น ศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีขอบังคับตามคำชี้ขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร และหากคู่ความฝ่ายที่ขอบังคับตามคำชี้ขาดร้องขอ ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่จะถูกบังคับหาประกันที่เหมาะสมก่อนก็ได้

        มาตรา 35 ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทย หรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_______________


        มาตรา 36 บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พลเอก ป. ติณสูลานนท์

        นายกรัฐมนตรี

_________________________________


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันนี้ความนิยมของประชาชนในการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยทางอนุญาโตตุลาการนอกศาลมีมากขึ้น เพราะเป็นวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้โดยสะดวกรวดเร็วไม่สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะประนีประนอม อันจะช่วยลดจำนวนคดีความที่จะขึ้นสู่ศาลอีกด้วย แต่เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการนอกศาลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเพียงมาตรา 221 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตราเดียวเท่านั้น ซึ่งยังไม่ชัดเจนและรัดกุมพอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ อันเป็นผลให้ประชาชนผู้ประสงค์จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยทางอนุญาโตตุลาการนอกศาลต้องประสบกับปัญหาข้อขัดข้องอยู่เสมอ ประกอบกับประเทศไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการต่างประเทศอยู่หลายฉบับ แต่ยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายภายในรองรับไว้อย่างเป็นระบบ สมควรที่จะมีการบัญญัติกฎหมายเรื่องนี้ให้ละเอียดชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้