พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497
(2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515

        มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

        มาตรา 5 ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้

        มาตรา 6 การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล สั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกันหรือมีประกันและหลักประกันไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค

        มาตรา 7 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        มาตรา 8 ถ้าจำนวนเงินในเช็คแต่ละฉบับหรือหลายฉบับรวมกันไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้การฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คนั้นจะรวมฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาก็ได้การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 9 สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของ พนักงานสอบสวนหรือการดำเนินคดีของพนักงานอัยการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ได้ดำเนินการไปตามกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็น อันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีการควบคุมหรือขังผู้ต้องหามาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้รวมกับการควบคุมหรือขังผู้ต้องหา มาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ควบคุมหรือขังได้ไม่เกินกำหนดเวลาควบคุมหรือขังที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 10 สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ศาลนั้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปได้

        มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี


––––––––––––––––––––––––

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ใช้บังคับมานานแล้วบทบัญญัติที่มีอยู่ไม่เหมาะสมหลายประการ สมควรปรับปรุงให้มีบทบัญญัติชัดแจ้งว่า การออกเช็คที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อให้มีผลผูกพัน และบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น และกำหนดให้มีระวางโทษปรับเพียงไม่เกินหกหมื่นบาทเพื่อให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ทั้งให้การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำโดยไม่มีหลักประกันก็ได้ แต่ถ้าจะให้มีหลักประกัน หลักประกันนั้นจะต้องไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค นอกจากนี้สมควรกำหนดให้การฟ้องคดีแพ่งตามเช็คที่มีจำนวนเงินไม่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวสามารถฟ้องรวมไปกับคดีส่วนอาญาได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้