พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543

พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543”

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         “คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

[แก้ไข]
หมวด 1 สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        มาตรา 5 ให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนเก้าสิบเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และกลุ่มในภาคสังคมฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญตามจำนวนที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 6 การได้มาซึ่งสมาชิกตามมาตรา 5 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

         (1) เมื่อมีกรณีต้องเลือกสมาชิก ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำนวนยี่สิบเอ็ดคน ประกอบด้วย

(ก) ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน
(ข) ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน
(ค) อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสามคน
(ง) อธิการบดีของสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน
(จ) ผู้แทนสถาบันภาคการผลิต จำนวนสี่คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหนึ่งคน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหนึ่งคน ผู้แทนสมาคมธนาคารไทยหนึ่งคน และผู้แทนชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด หนึ่งคน
(ฉ) ผู้แทนสหภาพแรงงาน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน
(ช) ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินการโดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันจำนวนสี่คน ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละด้าน ๆ ละหนึ่งคนจากองค์กรภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์หลัก ดังต่อไปนี้
(1) ด้านการพัฒนาชุมชนชนบท การพัฒนาชุมชนเมือง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการเกษตรทางเลือก หรือการจัดการเทคโนโลยีที่เหมาะสม
(2) ด้านการพัฒนาชีวิตของเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์ หรือผู้ป่วย
(3) ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิของผู้บริโภค การส่งเสริมประชาธิปไตย หรือการพัฒนาแรงงาน
(4) ด้านการสาธารณสุข การศึกษา หรือศิลปวัฒนธรรม
(ซ) ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการด้านหนังสือพิมพ์ ด้านวิทยุกระจายเสียงและด้านวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเองกิจการละหนึ่งคน รวมเป็นสามคน

        ให้เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาองค์กรตาม (1) (ช) และ (ซ) ต้องเป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุให้มีการเลือกสมาชิก ถ้าองค์กรใดมีวัตถุประสงค์หลักหลายด้าน ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

        การเลือกกรรมการสรรหาตาม (1) (ฉ) (ช) และ (ซ) ให้ใช้วิธีการจัดส่งทางไปรษณีย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนมากที่สุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือก ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกมีคะแนนเท่ากันอันเป็นเหตุให้เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ ให้ใช้วิธีการจับสลาก

         (2) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาสรรหาสมาชิก โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาสมาชิก วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิก และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวนหกคณะ ดังต่อไปนี้

(ก) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการเกษตร
(ข) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการอุตสาหกรรม
(ค) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการบริการ
(ง) คณะอนุกรรมการกลุ่มในภาคสังคม
(จ) คณะอนุกรรมการกลุ่มในภาคฐานทรัพยากร
(ฉ) คณะอนุกรรมการกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ

        ให้คณะอนุกรรมการแต่ละคณะประกอบด้วย อนุกรรมการคณะละสิบสองคนซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือมีความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการด้านนั้น โดยมีผู้แทนภาคราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันภาคการผลิต สหภาพแรงงาน องค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินการโดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันและสื่อมวลชนในจำนวนที่เท่ากันบุคคลใดจะเป็นอนุกรรมการเกินกว่าหนึ่งคณะไม่ได้

        ให้คณะอนุกรรมการแต่ละคณะตาม (2) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) มีหน้าที่เสนอรายชื่อองค์กรที่มีคุณลักษณะและมีกิจกรรมที่เหมาะสมให้เป็นองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกของกลุ่มนั้น ๆ โดยให้คำนึงถึงองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมจริงและมีลักษณะการบริหารงานเป็นที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด

         (3) ให้องค์กรผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อสมาชิกแต่ละองค์กรเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมัครใจตามจำนวนที่คณะกรรมการสรรหากำหนด และให้คณะอนุกรรมการตาม (2) คัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมาดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสามเท่าของจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีได้ตามที่กำหนดสำหรับกลุ่มนั้น ๆ ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

         (4) ให้บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละกลุ่มตาม (3) ประชุมกัน เพื่อทำการคัดเลือกกันเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนดให้ได้บุคคลผู้ที่จะเป็นสมาชิก ตามจำนวนที่จะพึงมีได้ตามที่กำหนดสำหรับกลุ่มนั้น ๆ ทั้งนี้ ให้บุคคลผู้ได้รับคะแนนลำดับรองลงไปจำนวนสิบคนแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อสำรองของแต่ละกลุ่มนั้นๆ

         (5) เมื่อทุกกลุ่มได้คัดเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็นสมาชิกในกลุ่มของตนครบถ้วนทุกกลุ่มแล้ว ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการให้ประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา

        สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกที่คณะกรรมการสรรหากำหนดตาม(2) ต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนไปตามภาค อาชีพ เพศ และขนาดของกิจการโดยในกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกลุ่มการผลิตด้านการอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกจ้าง และในกลุ่มการผลิตด้านการบริการจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ค้าอิสระหรือผู้ประกอบกิจการด้วยตนเองรายย่อยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม

        ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ ความสามารถ และมีภูมิปัญญาอย่างแท้จริง โดยให้องค์กรผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อตามกลุ่มต่างๆ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการตาม (2) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อคณะอนุกรรมการตาม (2) (ฉ) และให้นำความใน (3) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้มีการเลือกสมาชิก

        มาตรา 7 สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

         (1) มีสัญชาติไทย

         (2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (3) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (4) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง

        มาตรา 8 ให้สมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีนับแต่วันประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา และอาจได้รับการเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

        สมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

        มาตรา 9 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (1) ตาย

         (2) ลาออก

         (3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7

         (4) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุมีความประพฤติในทางเสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่

        เมื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกที่มาจากกลุ่มใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามวรรคนึ่งให้บุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้นตามมาตรา 6 (4) ซึ่งได้รับคะแนนในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกแทนตำแหน่งที่ว่าง

        สมาชิกที่ได้รับเลือกเข้ามาแทนให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกที่ตนแทน แต่ถ้าเวลาเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวันไม่ต้องดำเนินการเพื่อหาสมาชิกใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง

[แก้ไข]
หมวด 2 อำนาจหน้าที่

        มาตรา 10 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

         (2) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามมาตรา 14 รวมทั้งแผนอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้

        มาตรา 11 ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกหรือบุคคลใด เพื่อทำการศึกษาหรือดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        มาตรา 12 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า การกำหนดนโยบายในเรื่องใดอาจกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม สมควรได้รับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในเรื่องนั้น ให้คณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้คำปรึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี

        มาตรา 13 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจพิจารณาศึกษาเรื่องที่เห็นว่าสมควรกำหนดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อจัดทำรายงานเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีได้

        ในกรณีที่เห็นสมควร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไปก็ได้

        มาตรา 14 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะดำเนินการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนการประกาศใช้

        เมื่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

        ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับแผนอื่นมีกฎหมายกำหนด ให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรขอความเห็นจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

        มาตรา 15 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอคำปรึกษาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามมาตรา 12 หรือเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนอื่นให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็น ตามมาตรา 14 ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาโดยเร็ว ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันก็ได้ และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

        การดำเนินการตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

        มาตรา 16 ความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต้องจัดทำเป็นรายงานแสดงความคิดเห็นของสมาชิกทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้าน พร้อมทั้งเหตุผลและข้อดีข้อเสียหรือผลกระทบของแนวทางการดำเนินการตามความเห็นที่เสนอ และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย

        มาตรา 17 ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะ หรือให้ความเห็นเพื่อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเปิดเผยเหตุผลให้สาธารณชนทราบด้วย

[แก้ไข]
หมวด 3 การดำเนินงาน

        มาตรา 18 ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีประธานสภาหนึ่งคนและรองประธานสภาสองคน

        เมื่อมีการประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรก ให้สมาชิกเลือกสมาชิกด้วยกันเองเป็นประธานสภาหนึ่งคน รองประธานสภาสองคน เพื่อทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่งและรองประธานสภาคนที่สอง

        มาตรา 19 ประธานสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) ดำเนินการประชุมและมีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ตามความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุม

         (2) ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของสภา

         (3) เป็นผู้แทนสภาในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

         (4) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

        มาตรา 20 รองประธานสภามีอำนาจและหน้าที่ช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภา หรือปฏิบัติการตามที่ประธานสภามอบหมาย

        มาตรา 21 การประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละสองครั้ง และในกรณีดังต่อไปนี้

         (1) คณะรัฐมนตรีขอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้คำปรึกษาในปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม

         (2) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควรให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาหรือกรณีที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม

         (3) เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนหนึ่งแผนใดตามมาตรา 10 (2)

         (4) เพื่อดำเนินกิจการภายในของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         (5) สมาชิกเข้าชื่อกันตั้งแต่ยี่สิบห้าคนขึ้นไปร้องขอให้เปิดประชุม

        มาตรา 22 การประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะขอให้ประชุมเป็นการลับหรือสมาชิกร้องขอตามข้อบังคับ

        การประชุมสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุมให้ประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสภาไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่หนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ถ้ารองประธานสภาคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่สองเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา

        การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 23 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะทำงานที่สภาแต่งตั้งอาจเชิญข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือให้จัดส่งเอกสาร หรือข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร

        ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือแก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะทำงานที่สภาแต่งตั้ง

        มาตรา 24 ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

        มาตรา 25 คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้บุคคลใดเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ เว้นแต่ในกรณีประชุมลับผู้ที่จะเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นได้ต้องได้รับอนุญาตจากประธานที่ประชุม

        มาตรา 26 ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมและข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่

        มาตรา 27 ให้มีสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เรื่องที่จะต้องเสนอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา

         (2) รับผิดชอบในงานธุรการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         (3) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

         (4) เป็นหน่วยงานทางวิชาการให้แก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         (5) ดำเนินการต่าง ๆ ในการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         (6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมายให้มีเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น ผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภา

        มาตรา 27 /1 ในการกำกับดูแลสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามมาตรา 27 วรรคสอง ให้ประธานสภามีอำนาจกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และวางระเบียบการปฏิบัติงานของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติงานให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

        เพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นไปตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภามีอำนาจสั่งให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน ปฏิบัติงานหรือยับยั้งการกระทำของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในส่วนที่ขัดแย้งกับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้

        ในกรณีที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานสภาที่สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายตามวรรคสองหรือกรณีอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาอาจแจ้งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้

        มาตรา 27 /2 ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรมอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

        ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกระเบียบการบริหารราชการทั่วไปของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้มีความคล่องตัวและสามารถปฏิบัติงานสอดคล้องกับภารกิจของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ด้วยทั้งนี้ องค์ประกอบที่มา อำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 28 ในวาระเริ่มแรก ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา 29 ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเท่าที่จำเป็น โดยให้จัดสรรไว้ในงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ให้แยกเป็นส่วนของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้โดยเฉพาะ

        มาตรา 30 เมื่อครบสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้