พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
__________________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
เป็นปีที่ 36 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ. 2524"


        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป


        มาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 6 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

        บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่ง ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน


        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        "สมาชิก" หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง

        "ที่อยู่" หมายความว่า ที่อยู่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

        "นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง

        "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


        มาตรา 6 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 7 ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป อาจรวมกันเป็นคณะผู้เริ่มจัดตั้ง พรรคการเมือง ซึ่งมีแนวนโยบายในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนาระหว่างชนในชาติ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือไม่ขัดต่อกฎหมายหรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการออกหนังสือเชิญชวนผู้อื่นให้สมัครเข้า เป็นสมาชิก เมื่อมีจำนวนผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกรวมกันจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วไม่ น้อยกว่าห้าพันคน ย่อมตั้งพรรคการเมืองได้ โดยจดทะเบียนต่อนายทะเบียนที่กระทรวงมหาดไทย

        สมาชิกจำนวนห้าพันคนดังกล่าวในวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ ในแต่ละภาคไม่น้อยกว่าภาคละห้าจังหวัด ตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดท้ายพระราชบัญญัตินี้ และมีจำนวนสมาชิกจังหวัดละไม่น้อยกว่าห้าสิบคน

        ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช


        มาตรา 8 ก่อนดำเนินการโฆษณาเชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกให้คณะผู้เริ่มจัดตั้ง พรรคการเมืองทำหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน ตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดพร้อมกับหนังสือ เชิญชวนสามฉบับ ซึ่งคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกฉบับ

        หนังสือเชิญชวนนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

        (1) ชื่อพรรคการเมือง

        (2) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง

        (3) แนวนโยบายพรรคการเมือง

        (4) ชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของผู้ซึ่งเป็นคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง


        มาตรา 9 เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งตาม มาตรา 8 แล้วเห็นว่าหนังสือเชิญชวนมีรายการครบถ้วน โดยมีชื่อ ภาพเครื่องหมายหรือแนวนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนาระหว่างชนในชาติ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 7 และ ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองไม่ซ้ำ หรือพ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ชื่อพรรคการเมืองหรือสภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นที่ ได้แจ้งไว้ตาม มาตรา 8 หรือของพรรคการเมืองอื่นที่ได้จดทะเบียนตาม มาตรา 23 ไว้ก่อนแล้ว ให้นายทะเบียนออกหนังสือรับรองการแจ้งให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

        เมื่อได้รับหนังสือรับรองการแจ้งแล้ว ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองมีสิทธิโฆษณา เชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิก และดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมืองได้ หนังสือรับรองการแจ้งนั้น ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันที่ออก


        มาตรา 10 ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า หนังสือเชิญชวนมีชื่อภาพเครื่องหมายหรือแนว นโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนา ระหว่างชนในชาติเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตาม มาตรา 7 และผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เหลือมีจำนวนไม่ถึงสิบห้าคน หรือชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของพรรคการเมืองซ้ำหรือพ้องกับชื่อหรือภาพ เครื่องหมายพรรคการเมืองอื่นที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองไว้ก่อน แล้ว ให้นายทะเบียนสั่งไม่รับแจ้งและบอกกล่าวเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลที่สั่งไม่รับแจ้งไปยัง คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง


        มาตรา 11 ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าหนังสือเชิญชวนมีรายการไม่ครบตาม มาตรา 8 หรือมีข้อความไม่ชัดเจนหรือบกพร่องให้นายทะเบียนบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังคณะผู้เริ่ม จัดตั้งพรรคการเมืองภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว เมื่อคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้แก้ไขภายในกำหนด เวลาดังกล่าวเป็นการถูกต้องแล้วให้นายทะเบียนออกหนังสือรับรองการแจ้งให้แก่คณะผู้เริ่ม จัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้แก้ไข ถ้าไม่แก้ไขหรือแก้ไขแล้วยังไม่ถูกต้อง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สั่งไม่รับแจ้งทันที และบอกกล่าวเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลไป ยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สั่งไม่รับแจ้ง


        มาตรา 12 ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมาย พรรคการเมืองคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในหนังสือเชิญชวนซ้ำหรือพ้องหรือมี ลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้ง ของพรรคการเมืองอื่นที่ได้แจ้งไว้ในวันเดียวกัน ให้นายทะเบียนดำเนินการต่อไปนี้

        (1) มีหนังสือบอกกล่าวไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรค การเมืองที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ทำความตกลงกันว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดจะเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อได้ตกลงกันเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียนรับแจ้งตามที่ได้ตกลงกัน การตกลงกันดังกล่าวให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว

        (2) ในกรณีที่คณะผู้เริ่มจัดตั้ง พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องยืนยันไม่ยอมตกลงกันหรือเมื่อ พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวใน (1) แล้วยังตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียน พิจารณารับแจ้งจาก คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เห็นว่ามีสิทธิที่จะใช้ชื่อหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นดี กว่าโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะ ใดมีจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งเคย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในนามของ พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ เคยใช้ชื่อหรือใช้ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นมากกว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง คณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า
(ข) ในกรณีที่จำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ก) มีจำนวนเท่ากัน คณะผู้เริ่ม จัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดมีจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในนามของพรรคการเมืองหรือกลุ่ม การเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยใช้ชื่อหรือใช้ภาพ เครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นมากกว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า
(ค) ในกรณีที่จำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ข) มีจำนวนเท่ากัน ให้ นายทะเบียนดำเนินการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมาย พรรคการเมืองโดยเปิดเผย

        ให้นายทะเบียนบอกกล่าวการรับแจ้งตาม (2) เป็นหนังสือไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้ง พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับแจ้ง


        มาตรา 13 คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ นายทะเบียนตาม มาตรา 12 มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด โดยยื่นต่อศาลแพ่ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว

        เมื่อศาลแพ่งได้รับคำร้องดังกล่าว ให้ดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้า แล้วให้รีบส่งสำ นวณและความเห็นไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้ นายทะเบียนปฏิบัติไปตามนั้นโดยไม่ชักช้า

        ในการพิจารณาของศาล ให้พิจารณาหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 12 (2) ประกอบด้วย

        การดำเนินคดีตามมาตรานี้ ให้นำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับ โดยอนุโลม และให้ได้รับการยกเว้นการเสียค่าฤชาธรรมเนียม


        มาตรา 14 ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งไม่รับแจ้งตาม มาตรา 10 หรือ มาตรา 11 คณะผู้ เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัย โดยยื่นต่อศาลแพ่งภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว และให้นำ มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสี่มาใช้บังคับ โดยอนุโลม


        มาตรา 15 เมื่อคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งจาก นายทะเบียนเชิญชวนผู้อื่น ให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ครบห้าพันคนซึ่งมีผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคไม่น้อยกว่าภาคละห้าจังหวัด และมีจำนวนสมาชิกจังหวัดละไม่น้อยกว่าห้าสิบคนแล้ว ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองนัดประชุมผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกการประชุมนี้ให้ เรียกว่าการประชุมตั้งพรรคการเมือง


        มาตรา 16 การเรียกประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้บรรดาผู้ลงชื่อเข้าเป็น สมาชิกทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งระเบียบ วาระการประชุมพร้อมทั้งบัญชีรายชื่อผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกทั้งหมดให้ผู้เข้าประชุมทราบด้วย


        มาตรา 17 การประชุมตั้งพรรคการเมือง ต้องมีผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน แต่ในจำนวนนี้ต้องมีผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกของแต่ละภาค ภาคละไม่น้อย กว่าห้าจังหวัด มาร่วมประชุมด้วย จึงจะเป็นองค์ประชุม


        มาตรา 18 กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งพรรคการเมือง คือ

        (1) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองซึ่ง ประกอบด้วยเป้าหมายและวิธีดำเนินการ

        (2) การกำหนดข้อบังคับของพรรคการเมือง

        (3) การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองตาม มาตรา 33


        มาตรา 19 ให้ที่ประชุมตั้งพรรคการเมืองเลือกผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มาประชุมคนใด คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม

        คำวินิจฉัยของที่ประชุมให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มาประชุม คนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียง เพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


        มาตรา 20 การลงคะแนนเสียงในที่ประชุมดังพรรคการเมืองให้ลงคะแนนโดยวิธี เปิดเผย เว้นแต่ผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งร้อยขอให้ลงคะแนนลับ ก็ให้ ลงคะแนนลับ


        มาตรา 21 ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตาม มาตรา 18 (3) ยื่น คำขอจดทะเบียนพรรคการเมืองตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับ หนังสือรับรองการแจ้งพร้อมทั้งส่งร่างนโยบายของพรรคการเมืองและร่างข้อบังคับของ พรรคการเมืองอย่างละสามฉบับ ทะเบียนประวัติผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกตามแบบที่นายทะเบียน กำหนด และสำเนารายงานการประชุมตั้งพรรคการเมือง

        แบบคำขอจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

        (1) ชื่อพรรคการเมือง

        (2) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง

        (3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง

        (4) ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองซึ่งใน วาระเริ่มแรกนี้ตั้งขึ้นโดยที่ประชุมของผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกตาม มาตรา 18 (3)

        (5) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกอย่างน้อยต้องมีเลขหมาย บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ใช้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกับบัตรประจำตัวประชาชน ชื่ออาชีพ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกเป็นรายจังหวัด


        มาตรา 22 ข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

        (1) ชื่อพรรคการเมือง

        (2) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง

        (3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง

        (4) การเลือกตั้ง ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุดและการออกตามวาระของ หัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการ พรรคการเมืองและกรรมการบริหารอื่น การกำหนดอำนาจหน้าที่ ให้คณะกรรมการบริหารและ กรรมการบริหารแต่ละคนปฏิบัติ

        (5) การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองและอำนาจหน้าที่

        (6) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง และการประชุมของสาขาพรรคการเมือง

        (7) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

        (8) ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก

        (9) การรับสมาชิกและการสั่งให้สมาชิกออก

        (10) วินัยและจรรยาบรรณของสมาชิก

        (11) วิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้า สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน เขตเลือกตั้งต่าง ๆ

        (12) การบริหารการคลังและการบัญชีของพรรคการเมือง และสาขาพรรคการเมือง


        มาตรา 23 เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอจดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว เห็นว่าคำขอ จดทะเบียนพรรคการเมืองถูกต้องตาม มาตรา 21 ข้อบังคับมีรายการครบถ้วนตาม มาตรา 22 และผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกตามทะเบียนพรรคการเมืองนั้น มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และจำนวนถูกต้องตาม มาตรา 7 ทั้งข้อความในเอกสารดังกล่าวนั้นไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนจดทะเบียน พรรคการเมือง และแจ้งเป็นหนังสือให้หัวหน้าพรรคการเมืองทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับคำขอจดทะเบียน


        มาตรา 24 ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนพรรคการเมืองให้นายทะเบียนแจ้ง เป็นหนังสือให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตาม มาตรา 21 ทราบภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียน

        ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตาม มาตรา 21 มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าการไม่ยอมรับ จดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นไปโดยมิชอบ และขอให้สั่ง ให้รับจดทะเบียน

        คำร้องตามวรรคสองให้ยื่นต่อศาลแพ่งภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แจ้งการไม่รับจดทะเบียน และให้นำ มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม


        มาตรา 25 การจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ให้ประกาศราชกิจจานุเบกษาโดยระบุที่ พรรคการเมือง ภาพเครื่ องหมายพรรคการเมือง ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และชื่อของหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของ พรรคการเมือง


        มาตรา 26 สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ

        (1) ตาย

        (2) ลาออก

        (3) พรรคการเมืองสั่งให้ออกตามข้อบังคับ

        (4) ศาลมีคำสั่งยุบเลิกพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

        การสิ้นสุดของสมาชิกภาพของสมาชิกตาม (3) ในกรณีที่สมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของ คณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น การลงมติตามวรรคนี้ให้ลงคะแนนเสียงโดยวิธีเปิดเผยเท่านั้น


        มาตรา 27 พรรคการเมืองใดที่มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปในจังหวัดใด ประสงค์จะตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้นในจังหวัดนั้นให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งการ จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง

        หนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และ อย่างน้อยจะต้องมีรายการแสดงที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง รายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของสมาชิก ผู้ดำเนินการสาขาพรรคการเมืองนั้น

        เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง แล้วให้บันทึกการจัดตั้งสาขา พรรคการเมืองนั้นลงในทะเบียนการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และให้ออกหนังสือรับรองการ แจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับแจ้ง


        มาตรา 28 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ นโยบาย หรือรายการตาม มาตรา 21(4) ที่ยื่นไว้ในการจดทะเบียน หรือรายละเอียดที่แจ้งไว้ในแบบตาม มาตรา 27 ให้หัวหน้าพรรคการเมือง แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้พิจารณาแก้ไขรายละเอียดดังกล่าว

        การเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่ง จะสมบูรณ์ต่อ เมื่อได้รับแจ้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลง จากนายทะเบียน และให้นำ มาตรา 23 และ มาตรา 24 มาใช้บังคับแก่การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลงของนายทะเบียนโดยอนุโลม

        ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลง ตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นภายในระยะเวลาที่ กำหนด

        การแก้ไขรายการที่เกี่ยวกับที่ได้ประกาศไว้ตาม มาตรา 25 ให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 29 ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามหมวดนี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจ เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารเพื่อการตรวจสอบได้


        มาตรา 30 ให้พรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการในทางการเมือง


        มาตรา 31 การดำเนินกิจการต่อไปนี้หลังจากที่จดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ให้ กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

        (1) การเปลี่ยนแปลงนโยบายของพรรคการเมือง

        (2) การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของพรรคการเมือง

        (3) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการ พรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมืองและกรรมการบริหารอื่น

        (4) กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 32 ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องประกอบด้วยสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับของพรรคการเมืองแต่ถ้าประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกต้องกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการเลือกตั้งและจำนวนผู้แทนสมาชิกไว้ด้วย


        มาตรา 33 ให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่งประกอบด้วยหัวหน้า พรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการ พรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่น อีกไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกโดยที่ ประชุมใหญ่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตาม นโยบายของพรรคการเมือง

        ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมือง ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหาร คนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้


        มาตรา 34 เมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหาร จัดให้พรรคการเมืองกระทำการใด ๆฝ่าฝืนนโยบายหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองอันอาจเป็นภัย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ แต่ลักษณะการกระทำยังไม่รุนแรง จนเป็นสาเหตุให้ต้องยุบเลิกพรรคการเมืองตาม มาตรา 48 ให้นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหาร และกรรมการบริหารนั้นระงับหรือจัดการแก้ไข การกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่นายทะเบียนเตือนเป็นหนังสือแก่บุคคล ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง ต้องส่งสำเนาหนังสือนั้นให้หัวหน้าพรรคการเมืองทราบโดยเร็ว

        ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหาร หรือกรรมการบริหารไม่ปฏิบัติการดังกล่าว ในวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไข การกระทำดังกล่าวหรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารทั้งคณะหรือบางคน ออกจากตำแหน่งได้

        คำร้องตามวรรคสองให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ มาตรา 13 วรรคสอง และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารทั้งคณะหรือ บางคนออกจากตำแหน่งผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ ศาลฎีกามีคำสั่ง


        มาตรา 35 หัวหน้าพรรคการเมืองและผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมือง ต้องจัดให้ ทำบัญชีของพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมืองต่อไปนี้ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง คือ

        (1) บัญชีแสดงจำนวนเงินที่พรรคการเมือง ได้รับและได้จ่ายทั้งรายการอันเป็นเหตุให้ รับหรือจ่ายเงินหรือหลักฐานการรับเงินและจ่ายเงินทุกครั้ง

        (2) บัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคการเมือง

        รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับมา โดยไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับ ยกเว้นการที่จะต้องเสียภาษีตาม ประมวลรัษฎากร


        มาตรา 36 หัวหน้าพรรคการเมืองต้องจัดให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลของ พรรคการเมืองอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือนงบดุลต้องมีรายการย่อแสดงจำนวนทรัพย์สิน และหนี้สินของพรรคการเมือง

        งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่ง หรือหลายคนตรวจสอบแล้ว เพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น

        ให้ส่งสำเนางบดุลไปยังสมาชิกที่มีชื่อ ในทะเบียนก่อนวันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สามวัน และให้มีสำเนางบดุลเปิดเผยไว้ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่อให้สมาชิกตรวจดู ได้ด้วย

        เมื่อที่ประชุมใหญ่รับรองงบดุลแล้ว ให้ส่งงบดุลนั้นต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวัน


        มาตรา 37 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหาร ผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมือง สมาชิกหรือบุคคลใด ๆ ในพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สอบบัญชีตามที่จำเป็น


        มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใดให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองใดหรือ สมาชิกผู้ใดเพื่อเป็นการจูงใจให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลาย ความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดิน หรือ กระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศหรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน


        มาตรา 39 ห้ามมิให้พรรคการเมืองใดหรือสมาชิกผู้ใดรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจากผู้ใด เพื่อกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคาม ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากร ของประเทศหรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน


        มาตรา 40 ห้ามมิให้พรรคการเมืองใด หรือสมาชิกผู้ใดรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองจาก

        (1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

        (2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจ หรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขา อยู่ในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทย

        (3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็น ผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า

        (4) องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการ เพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมีผู้จัดการ หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

        (5) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลที่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อ ดำเนินกิจการพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองจากบุคคล องค์การ หรือ นิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)


        มาตรา 41 ห้ามมิให้พรรคการเมืองใดรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็น สมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองหรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ ประโยชน์ของพรรคการเมือง


        มาตรา 42 ห้ามมิให้บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม มาตรา 40 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองใด หรือสมาชิกผู้ใดเพื่อ ดำเนินกิจการพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการทางการเมือง


        มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง


        มาตรา 44 ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินกว่าหนึ่ง พรรคการเมือง

        การลาออกจากสมาชิกให้ถือว่าสมบูรณ์ เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อหัวหน้าพรรคการเมือง


        มาตรา 45 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็น พรรคการเมือง หรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า "พรรคการเมือง" หรืออักษรต่างประเทศ ซึ่ง แปลหรืออ่านว่า "พรรคการเมือง" ในดวงตราป้าย ชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่น โดยมิได้เป็นพรรคการเมือง เว้นแต่ได้ใช้มาก่อนและขอจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมือง ภายใน เก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


        มาตรา 46 พรรคการเมืองย่อมเลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

        (1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับของพรรคการเมือง

        (2) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงห้าพันคน หรือมีสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละห้าสิบคนไม่ถึงห้าจังหวัดของแต่ละภาคทั้งนี้ เป็นเวลาติดต่อกันหกเดือน

        (3) ไม่ส่งหรือส่งสมาชิกสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้ง ทั่วไปไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้

        (4) มีคำสั่งศาลสั่งยุบเลิกพรรคการเมืองตาม มาตรา 48

        (5) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 31 หรือ มาตรา 32

        เมื่อมีกรณีที่พรรคการเมืองใดต้องเลิกตามวรรคหนึ่งนอกจาก (4) ให้ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้า พรรคการเมืองแจ้งต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิก

        เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งตามวรรคสอง หรือกรณีปรากฏต่อนายทะเบียน ให้ นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนและยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งยุบเลิกพรรคการเมือง ดังกล่าว

        คำร้องตามวรรคสองให้ ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสี่มา ใช้บังคับโดยอนุโลม

        ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยุบเลิกพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่ง การยุบเลิกพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 47 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลสั่งยุบเลิก

        (1) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

        (2) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย หรือ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ

        (3) การกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 39 มาตรา 40 หรือ มาตรา 41


        มาตรา 48 เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตาม มาตรา 47 หรือได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการ ตาม มาตรา 47 ให้แจ้งต่ออธิบดีกรมอัยการพร้อมด้วยหลักฐานถ้าอธิบดีกรมอัยการเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งยุบเลิกพรรคการเมืองดังกล่าว

        คำร้องตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ มาตรา 13 วรรคสอง และวรรคสี่ มา ใช้บังคับโดยอนุโลม

        ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยุบเลิกพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่ง การยุบเลิกพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา

        หากนายทะเบียนเห็นสมควรจะให้ระงับ การดำเนินการของพรรคการเมืองซึ่งกระทำการ ตาม มาตรา 47 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออธิบดีกรมอัยการขอให้ ศาลฎีกาสั่งระงับการกระทำดังกล่าว ของพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้


        มาตรา 49 ในกรณีที่พรรคการเมืองเลิกตาม มาตรา 46 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีแล้ว ยังมีทรัพย์ในเหลืออยู่เท่าใด ให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของพรรคการเมือง ถ้าในข้อบังคับ ไม่ได้ระบุ ก็ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของรัฐ


        มาตรา 50 ผู้ใดเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งพรรคการเมือง แจ้งรายนามสมาชิกตาม มาตรา 21 โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ประกาศหรือโฆษณาเชิญชวนผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกโดยไม่มี หนังสือรับรองการแจ้ง หรือประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ผิดไปจากรายการในหนังสือเชิญชวนซึ่ง ข้อความในประกาศหรือข้อความนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท


        มาตรา 51 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท


        มาตรา 52 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนซึ่งสั่งตาม มาตรา 28 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท


        มาตรา 53 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนซึ่งสั่งตาม มาตรา 29 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาท


        มาตรา 54 หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองผู้ใดไม่จัดให้ ทำบัญชีตาม มาตรา 35 หรือไม่จัดให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลตาม มาตรา 36 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท


        มาตรา 55 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหาร ผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมือง สมาชิกหรือบุคคลใด ไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สอบบัญชีตาม มาตรา 37 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท


        มาตรา 56 ผู้ใดมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีของพรรคการเมืองตาม มาตรา 35 ละเว้น การลงรายการในบัญชีลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชี หรือซ่อนเร้น หรือทำหลักฐานใน การลงบัญชีอันจะเป็นผลให้การแสดงที่มาของรายได้และการใช้จ่ายของพรรคการเมืองไม่ถูกต้อง ตามที่เป็นจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท


        มาตรา 57 หัวหน้าพรรคการเมือง หรือผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองผู้ใด โดยทุจริตไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 35 หรือ มาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนบาท


        มาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับ ตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 59 กรรมการบริหารผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองหรือสมาชิกผู้ใดจัดให้ พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 39 หรือ มาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 60 กรรมการบริหาร หรือผู้ดำเนินกิจการสาขาพรรคการเมืองผู้ใดรู้อยู่แล้วแต่ จัดให้พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่ เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 61 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้ฝ่าฝืนใดไม่มีสัญชาติไทย ให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยสั่งเนรเทศออกจากประเทศไทยด้วย


        มาตรา 62 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้ฝ่าฝืนใดไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยสั่งเพิกถอนสัญชาติไทยและเนรเทศออกจากประเทศไทยด้วย


        มาตรา 63 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท


        มาตรา 64 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละสองร้อยบาท จนกว่าจะเลิกใช้


        มาตรา 65 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 46 วรรคสอง ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาท


        มาตรา 66 ผู้ใดโดยเจตนาสมคบกันตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกับ พรรคการเมืองหรือเข้าลักษณะเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดทะเบียนพรรคการเมือง เว้นแต่ ในกรณีดำเนินกิจการเพื่อขอจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พลเอก ป. ติณสูลานนท์

        นายกรัฐมนตรี

 

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรมี กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อกำหนดระเบียบการจัดตั้งและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (ร.จ. เล่มที่ 98 ตอนที่ 111 หน้า 1 8 กรกฎาคม 2524)


        บัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด

        ก. ภาคกลาง มี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ตราด นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี อ่างทอง

        ข. ภาคใต้ มี กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี สงขลา

        ค. ภาคเหนือ มี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์

        ง. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี