พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และให้มีวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
"ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ" หมายความว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค
"คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ" หมายความว่า คดีแพ่งและคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
[แก้ไข] หมวด 1 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 5 ให้จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐมจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี แต่บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้
มาตรา 6 การจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องระบุเขตศาลและกำหนดที่ตั้งศาลนั้นไว้ด้วย
มาตรา 7 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
(1) ดคีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
(2) คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(3) คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
(4) คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(5) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศการประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
(6) คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว
(7) คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
(8) คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ
(9) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช
(10) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
(11) คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (3) ถึง (10) คดีที่มีอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 8 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้พิจารณาพิพากษา
มาตรา 9 ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด
มาตรา 10 คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคคู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอต่อศาลนั้น ให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้ยินยอมก่อน
มาตรา 11 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยอนุโลม
[แก้ไข] หมวด 2 ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 12 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศทุกศาล ให้มีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบตามจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด
มาตรา 13 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคศาลละหนึ่งคนและให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคตามจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด
มาตรา 14 ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 15 ผู้พิพากษาสมทบจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศซึ่งคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องมีคุณสมบัติตาม(1) ถึง (4) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (5) ถึง (9) ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
(3) ได้รับการอบรมในเรื่องความมุ่งหมายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและหน้าที่ตุลาการมาแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) มีความรู้ความชำนาญทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศ
(5) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(6) เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(7) เป็นผู้เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษาสมทบหรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
(9) เป็นข้าราชการการเมือง กรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจหรือทนายความ ผู้พิพากษาสมทบให้ดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกก็ได้ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาสมทบต้องปฏิญาณตนต่อหน้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรมและรักษาความลับในราชการ
มาตรา 16 ผู้พิพากษาสมทบพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ออกตามวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 15
(5) ขาดการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดถึงสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การเป็นผู้พิพากษาสมทบ
การพ้นจากตำแหน่งตาม (2) หรือ (3) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ถ้าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตาม (4) (5) หรือ (6) ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นตำแหน่ง
มาตรา 17 ในกรณีที่ตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระตามมาตรา 16 (1) จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งบุคคลซึ่งคณะกรรมการตุลาการคัดเลือกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ เว้นแต่วาระของผู้พิพากษาสมทบเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งบุคคลแทนก็ได้ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา 18 ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบขึ้นใหม่ หรือมีการแต่งตั้งแล้วแต่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งออกไปตามวาระคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ตนได้นั่งพิจารณาไว้ก่อนจนกว่าจะเสร็จคดีนั้น แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันครบกำหนดออกตามวาระ
มาตรา 19 ภายใต้บังคับมาตรา 20 และมาตรา 21 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคนและผู้พิพากษาสมทบอีกหนึ่งคนจึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีได้ ส่วนการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นจะต้องบังคับตามเสียงฝ่ายข้างมาก
มาตรา 20 ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศคนใดคนหนึ่งมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาหรือออกคำสั่งใด ๆนอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีได้
มาตรา 21 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นเป็นการสมควร จะให้ศาลอื่นหรือเจ้าพนักงานศาลทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งแทนได้ การสืบพยานหลักฐานดังกล่าวจะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้ในกรณีที่การสืบพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งเป็นการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ในดคีอาญาจะกระทำลับหลังจำเลยไม่ได้ ทั้งจะต้องให้จำเลยมีโอกาสถามค้านพยานบุคคลหรือคัดค้านพยานหลักฐานอื่นได้อย่างเต็มที่ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่อาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ตามมาตรา 172 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 22 ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค แล้วแต่กรณี หรือผู้ทำการแทนในตำแหน่งดังกล่าว กำหนดเวรปฏิบัติการของผู้พิพากษาสมทบซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบซึ่งนั่งพิจารณาคดีใดจะต้องพิจารณาคดีนั้นจนเสร็จเว้นแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น
ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้มีอำนาจตามวรรคหนึ่งจัดให้ผู้พิพากษาสมทบคนอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้พิพากษาสมทบจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พักและค่าตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 23 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การคัดค้านผู้พิพากษาสมทบโดยอนุโลม
มาตรา 24 ผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 25 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยสำหรับข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการมาใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาสมทบโดยอนุโลม
[แก้ไข] หมวด 3 วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา 26 กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 27 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว
มาตรา 28 ถ้าบุคคลใดเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาเมื่อมีคดีทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้น หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบหรือเป็นการยากที่จะนำมาสืบในภายหลังบุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้วให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วให้สืบพยานหลักฐานไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้ศาลเก็บรักษาไว้
มาตรา 29 ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา 28 ผู้ยื่นคำขอจะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อนโดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ให้นำมาตรา 261 ถึงมาตรา 263 และมาตรา 267 ถึงมาตรา 269 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้แก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา 30 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายข้อกำหนดนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 31 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
มาตรา 32 ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้มาให้ความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
มาตรา 33 ในดคีแพ่ง คู่ความจะแต่งตั้งบุคคลใดซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนก็ได้โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้
ถ้าคู่ความไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศที่พิจารณาคดี ศาลนั้นจะสั่งให้คู่ความแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นซึ่งจะเป็นการสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสารภายในเวลาที่ศาลกำหนดเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนก็ได้ ถ้าคู่ความไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดี แจ้งให้คู่ความมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นแทนการส่งโดยวิธีอื่นก็ได้การส่งคำคู่ความหรือเอกสาร โดยวิธีเช่นนี้ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศ
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความหรือการส่งโดยวิธีอื่นแทนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคนี้ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่งหรือสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน
มาตรา 34 ในคดีแพ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแจ้งกำหนดนัดพิจารณาให้คู่ความฝ่ายใดทราบแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายนั้นมารับทราบกำหนดนัดต่อไปจากศาลเองหากไม่มารับทราบ ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบกำหนดนัดต่อไปแล้ว
มาตรา 35 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย
มาตรา 36 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกันในความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และบางกรรมไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ
มาตรา 37 ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนด เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความร้องขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
[แก้ไข] หมวด 4 อุทธรณ์
มาตรา 38 ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
มาตรา 39 ในดคีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
(2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่ศาลรอการกำหนดโทษไว้
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินห้าพันบาท
มาตรา 40 ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 39 ถ้าผู้พิพากษาคนใด ซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์อุทธรณ์ อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป
มาตรา 41 ในคดีแพ่งที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินสองแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคแล้วแต่กรณี
มาตรา 42 การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือการขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคอนุญาตให้อุทธรณ์ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีคนใดคนหนึ่งหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลนั้น แล้วแต่กรณี พร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้นแล้ว ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลดังกล่าว แล้วแต่กรณี
มาตรา 43 ให้ประธานศาลฏีกาจัดตั้งแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขึ้นในศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่อุทธรณ์ขึ้นมาในการนี้ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว
มาตรา 44 ในคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกานั้น หากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมาย ให้พิพากษายกอุทธรณ์แต่ถ้าศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นก็ได้
มาตรา 45 ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศใน ศาลฎีกาโดยอนุโลม
[แก้ไข] บทเฉพาะกาล
มาตรา 46 คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นในวันเปิดทำการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาตามมาตรา 5 ให้ศาลชั้นต้นนั้นคงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จ โดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ถ้าคู่ความทุกฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนั้นไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเปิดทำการ ก็ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้นรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
มาตรา 47 ในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย ในคดีแพ่งโจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลจังหวัดที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้และในคดีอาญา โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนจำเลยก็ได้ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเห็นสมควรศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่โจทก์ยื่นคำฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในหมวด 3 มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นให้ศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นตามวรรคสอง มีอำนาจออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
บรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งโดยทั่วไป ซึ่งหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้และความ เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบุคคลภายนอกซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วย จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้น สมควรจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะโดยมีวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้