พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535
___________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        ธุรกิจนำเที่ยว หมายความว่า การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหรือการให้บริการหรือการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทาง สถานที่พักอาหาร ทัศนาจร และหรือมัคคุเทศก์ให้แก่นักท่องเที่ยว

        ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามพระราชบัญญัตินี้

        ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หมายความว่า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        นักท่องเที่ยว หมายความว่า บุคคลที่เดินทางจากท้องที่อันเป็นถิ่นที่อยู่โดยปกติของตนไปยังท้องที่อื่นเป็นการชั่วคราวด้วยความสมัครใจ และด้วยวัตถุประสงค์อันมิใช่เพื่อไปประกอบอาชีพหรือหารายได้ และให้หมายความรวมถึงผู้รับบริการหรือความสะดวกจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเสียค่าบริการด้วย

        มัคคุเทศก์ หมายความว่า ผู้ที่นำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ และให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานที่หรือบุคคลโดยได้รับค่าตอบแทน

        ค่าบริการ หมายความว่า ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวจ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสำหรับการจัด การให้บริการหรือการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทาง สถานที่พัก อาหาร และการทัศนาจรในลักษณะเป็นการเหมาจ่าย

        ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือ ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ แล้วแต่กรณี

        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ตามพระราชบัญญัตินี้

        การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หมายความว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        ผู้ว่าการ หมายความว่า ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        นายทะเบียน หมายความว่า นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานคร และนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัด ซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้ง

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ของส่วนราชการ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และของรัฐวิสาหกิจอื่นตามที่จะได้กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ การยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด 1 คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

___________________

        มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์คณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นรองประธานกรรมการ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน อธิบดีกรมศิลปากรหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน อธิบดีกรมเศรษฐกิจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทะเบียนการค้าหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทนเป็นกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจำนวนหกคน ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้แทนผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างน้อยสี่คน และให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา 7 ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแต่งตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

        ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

        เมื่อครบวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

        มาตรา 8 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตาม

        มาตรา 7 กรรมการซึ่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

         (1) ตาย

         (2) ลาออก

         (3) คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้พ้นจากตำแหน่ง

         (4) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

        มาตรา 9 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

        ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม

        ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 10 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) กำหนดแผนงานและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและ ควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

         (2) พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว การปฏิบัติหน้าที่ การแต่งกาย มารยาท และความประพฤติของมัคคุเทศก์ และการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยเสนอผ่านคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         (3) พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 21

         (4) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

         (5) วางระเบียบเกี่ยวกับการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝาก สำหรับหลักประกันที่เป็นเงินสดตามมาตรา 19

         (6) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        มาตรา 11 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

        ให้นำมาตรา 9 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

        มาตรา 12 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอาจเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น หรือให้บุคคลใดส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือสิ่งใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร

        มาตรา 13 ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับประโยชน์ ตอบแทนตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

[แก้ไข]
หมวด 2 ธุรกิจนำเที่ยว

___________________

        มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจนำเที่ยว เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

        การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแบบใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 15 ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

         (1) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา

(ก) มีสัญชาติไทย
(ข) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(ค) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
(ง) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(จ) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ฉ) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(ช) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
(ซ) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องถูกเพิกถอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

         (2) ถ้าเป็นนิติบุคคล

(ก) ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย
(ข) มีสำนักงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย
(ค) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ทุนของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และมีสัญชาติไทย และหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการต้องมีสัญชาติไทย
(ง) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย
(จ) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำกัดจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยและบริษัทจำกัดนั้นจะต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
(ฉ) หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้จัดการนิติบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1) (ข) (ค) (ง) (จ) (ฉ) (ช) และ (ซ)
(ช) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
(ซ) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องถูกเพิกถอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

        ทั้งนี้ ไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 16 ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 14 เป็นคนต่างด้าวภายใต้ความตกลงที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันอยู่กับรัฐบาลต่างประเทศมิให้นำความในมาตรา 15 (1) (ก) และ (2) (ค) (ง) และ (จ) มาใช้บังคับแก่ผู้นั้น

        มาตรา 17 ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งการออกหรือไม่ออกใบอนุญาตตามมาตรา 14 ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาต

        ในกรณีที่นายทะเบียนออกใบอนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบเพื่อมารับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและวางหลักประกันตามมาตรา 18 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่มารับใบอนุญาต ภายในเวลาดังกล่าวโดยไม่แจ้งเหตุผลหรือข้อขัดข้องให้นายทะเบียนทราบ ให้นายทะเบียนยกเลิกการออกใบอนุญาตนั้น

        ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาต ให้แสดงเหตุผลในหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบด้วย

        มาตรา 18 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องวางหลักประกันซึ่งได้แก่เงินสด หนังสือค้ำประกันของธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไทยค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ หลายอย่างรวมกันต่อผู้ว่าการ เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีอยู่กับนักท่องเที่ยวและหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตามจำนวนเงินประกันที่กำหนดในกฎกระทรวง

        การจัดการเกี่ยวกับดอกผลของหลักประกันและการเปลี่ยนหลักประกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 19 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยววางหลักประกันเป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ในนามของผู้ประกอบธุรกิจ นำเที่ยวแต่ละราย รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับดอกผลที่เกิดจากเงินฝากที่เป็นเงินสดนั้น ให้ตกเป็นของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่วางหลักประกัน

        มาตรา 20 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยววางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หนังสือค้ำประกันของธนาคารให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 21 ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนจากการรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการร้องเรียนของนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือความปรากฏต่อนายทะเบียนโดยประการอื่นว่า บุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวที่ได้ทำไว้กับบุคคลดังกล่าวให้นายทะเบียนดำเนินการดังต่อไปนี้

         (1) ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อนายทะเบียนได้ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นจริงตามนั้นและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นยังไม่ยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(ก) ถ้าจำนวนเงินค่าเสียหายไม่เกินวงเงินที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ให้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าการที่จะพิจารณาอนุมัติสั่งจ่ายได้เองให้นายทะเบียนเสนอเรื่องให้ผู้ว่าการพิจารณาอนุมัติสั่งจ่ายเงินค่าเสียหาย ดังกล่าวจากหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นได้วางไว้ตามมาตรา 18 ให้แก่นักท่องเที่ยวดังกล่าวโดยไม่ชักช้า แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นทราบ หรือให้ผู้ว่าการเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการพิจารณา ตามควรแก่กรณี
(ข) ถ้าจำนวนเงินค่าเสียหายเกินวงเงินที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องให้ผู้ว่าการพิจารณาอนุมัติสั่งจ่ายเงินค่าเสียหายในส่วนที่ไม่เกินวงเงินดังกล่าวให้แก่นักท่องเที่ยวผู้นั้นก่อน ส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกินวงเงินดังกล่าวให้นายทะเบียนเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นทราบโดยเร็ว

         (2) ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยหรือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลดังกล่าวตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนดถ้าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่มีหนังสือโต้แย้งมาภายในระยะเวลาที่กำหนดให้นายทะเบียนดำเนินการตาม (1) (ก) หรือ (ข) โดยอนุโลม แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีหนังสือโต้แย้งมาภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ว่าการเจรจาทำความตกลงกับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและผู้เสียหาย ถ้าตกลงกันได้ให้ผู้ว่าการจ่ายเงินจากหลักประกันให้แก่ผู้เสียหายตามที่ได้ตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ ผู้เสียหายและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดและให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

        เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) เสร็จแล้ว ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 32 แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้น ตามควรแก่กรณี

        มาตรา 22 นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของนายทะเบียนหรือของผู้ว่าการตามมาตรา 21 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ และให้นำ มาตรา 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 23 ในกรณีที่หลักประกันตามมาตรา 18 มีจำนวนลดลงเพราะได้ใช้จ่ายไปตามมาตรา 21 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องนำหลักประกันมาวางเพิ่มเติมให้ครบภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าการกำหนด

        มาตรา 24 ให้ผู้ว่าการคืนหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยววางไว้ตามมาตรา 18 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตหรือนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกการประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว

        ในหนังสือแจ้งการบอกเลิกการประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องรับรอง ด้วยว่าตนไม่มีหนี้เกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวที่จะต้องชำระให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

        ในกรณีที่ผู้ว่าการได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามวรรคหนึ่ง ยังมีหนี้เกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวที่จะต้องชำระให้แก่บุคคลดังกล่าวอยู่ ให้ผู้ว่าการรอการคืนหลักประกันไว้ก่อน

        มาตรา 25 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยว

        มาตรา 26 ในการโฆษณาการจัดบริการนำเที่ยวหรือรายละเอียดในการนำเที่ยวที่จะจัดในแต่ละปี ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดทำเป็นเอกสารซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีรายการดังนี้

         (1) ชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว สถานที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และเลขที่ใบอนุญาต

         (2) ระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการนำเที่ยว

         (3) อัตราค่าบริการ

         (4) ประเภทของยานพาหนะที่ใช้ในการให้บริการนำเที่ยว

         (5) จุดหมายปลายทางและที่แวะพัก รวมทั้งสถานที่สำคัญ ๆ ในการนำเที่ยว

         (6) ลักษณะและประเภทของที่พัก และจำนวนครั้งของอาหารที่จัดให้

        ก่อนเผยแพร่เอกสารตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องส่งเอกสารดังกล่าว ให้แก่นายทะเบียนอย่างน้อยสามฉบับ

        ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการในการจัดบริการนำเที่ยวที่ได้โฆษณาไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและนายทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

        มาตรา 27 ในระหว่างให้บริการนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องพยายามให้นักท่องเที่ยวได้รับบริการเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับที่ได้ตกลงกันไว้ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลง บริการนำเที่ยวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงนั้น

        มาตรา 28 ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

        ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

        การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดไม่ต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นเลิกประกอบธุรกิจนำเที่ยวตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุพร้อมทั้งส่งคืนใบอนุญาตแก่นายทะเบียนภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุและให้นำความในมาตรา 24 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 29 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตายและใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ ถ้าคู่สมรสหรือบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้นต่อไป ก็ให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุ แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาย

        ในระหว่างการประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสหรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีหน้าที่และความรับผิดชอบเสมือนผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว

        ถ้าคู่สมรสหรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้นต่อไป ให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาย

        มาตรา 30 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ ต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันเลิก

        ประกอบธุรกิจนำเที่ยว พร้อมทั้งส่งคืนใบอนุญาตแก่นายทะเบียนและให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปได้จนถึงวันเลิกประกอบธุรกิจนำเที่ยว

        มาตรา 31 ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาต หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่ออกใบอนุญาต หรือการไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นายทะเบียนเสนอหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว

        คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

        มาตรา 32 ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใด

         (1) มีกรณีตามมาตรา 21

         (2) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(1) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ผู้ว่าการ นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งตาม
(2) พระราชบัญญัตินี้

        ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินครั้งละหกเดือน

        ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระหว่างที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่ได้เว้นแต่จะได้อุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตต่อคณะกรรมการตามมาตรา 35

        มาตรา 33 เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

         (1) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 15

         (2) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23

         (3) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 32 มาแล้ว และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 (1) หรือ (2) อีก

        ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้นั้นส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา 34 ให้นายทะเบียนส่งหนังสือแจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบ ถ้าไม่สามารถส่งได้หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ยอมรับหนังสือดังกล่าว ให้ปิดหนังสือดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้น และให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดหนังสือดังกล่าว

        มาตรา 35 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการได้โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ทราบคำสั่งดังกล่าว และให้นายทะเบียนเสนอหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว

        คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

        การอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา 36 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตอีกจนกว่าจะพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา 37 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

        ถ้าใบอนุญาตชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบถึงการชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 38 ในการออกใบอนุญาตตามมาตรา 14 หรือใบแทนใบอนุญาตดังกล่าวให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด 3มัคคุเทศก์

___________________

        มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นมัคคุเทศก์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน

        การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแบบใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 40 ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

         (1) มีสัญชาติไทย

         (2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

         (3) เป็นผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการรับรอง

         (4) ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด

         (5) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (6) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (7) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์

         (8) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องถูกเพิกถอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

        มาตรา 41 ถ้าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 40 แล้วนายทะเบียนต้องออกใบอนุญาตให้โดยเร็ว

        ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งการออกใบอนุญาตหรือไม่ออกใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามมาตรา 39 ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาต

        ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาต ให้นายทะเบียนแสดงเหตุผลในหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบด้วย

         ในกรณีที่นายทะเบียนออกใบอนุญาต ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมารับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการออกใบอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นายทะเบียนมอบเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมกับใบอนุญาต

        เครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ซึ่งได้รับใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่มารับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่แจ้งเหตุผลหรือข้อขัดข้องให้นายทะเบียนทราบ ให้สันนิษฐานว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะรับใบอนุญาตดังกล่าว และให้นายทะเบียนยกเลิกการออกใบอนุญาตนั้น

        มาตรา 42 มัคคุเทศก์ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ การแต่งกาย มารยาท และความประพฤติของมัคคุเทศก์ และต้องติดเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ที่ได้รับใบอนุญาต และต้องมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ติดตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

        ถ้าเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ซึ่งได้รับใบอนุญาต และหรือใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ชำรุดสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้มัคคุเทศก์ผู้นั้นยื่นคำขอรับเครื่องหมายดังกล่าวและหรือใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงการชำรุดสูญหาย หรือถูกทำลายดังกล่าว

        การขอรับเครื่องหมายและหรือใบแทนใบอนุญาต และการออกเครื่องหมายและหรือใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 43 ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

        มัคคุเทศก์ซึ่งประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อนายทะเบียนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้วให้เป็นมัคคุเทศก์ต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

        ถ้าผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตยังมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 40 นายทะเบียนต้องต่ออายุใบอนุญาตให้

        การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มัคคุเทศก์ผู้ใดไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ให้เลิกเป็นมัคคุเทศก์ตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ และให้ส่งคืนใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์พร้อมกับเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ซึ่งได้รับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

        มาตรา 44 ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือมัคคุเทศก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยยื่นเป็นหนังสือ ต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่ออกใบอนุญาต หรือการไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นายทะเบียนเสนอคำอุทธรณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ดังกล่าว

         คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

        มาตรา 45 ในกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนจากการรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือจากการร้องเรียนของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือเมื่อความปรากฏต่อ นายทะเบียนโดยประการอื่นว่ามัคคุเทศก์ผู้ใด

         (1) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

         (2) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินครั้งละหกเดือน

        มัคคุเทศก์ซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะเป็นมัคคุเทศก์ในระหว่างที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตไม่ได้

        มาตรา 46 เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนว่ามัคคุเทศก์ผู้ใดมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

         (1) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 40

         (2) เป็นผู้เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 45 มาแล้ว และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45 (1) หรือ (2) อีก

        ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และมัคคุเทศก์ผู้นั้นต้องส่งคืนใบอนุญาตและเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา 47 คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้มัคคุเทศก์ทราบถ้าไม่สามารถส่งคำสั่งให้มัคคุเทศก์ได้ หรือมัคคุเทศก์ผู้นั้นไม่ยอมรับหนังสือแจ้งดังกล่าว ให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่ออกใบอนุญาตให้มัคคุเทศก์ผู้นั้นและให้ถือว่ามัคคุเทศก์ผู้นั้นได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือวันที่ปิดคำสั่ง แล้วแต่กรณี

        มาตรา 48 มัคคุเทศก์ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 45 หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามมาตรา 46 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ทราบคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจากนายทะเบียนและให้นายทะเบียนเสนอหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว

        คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

        การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

        มาตรา 49 ในการออกใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามมาตรา 39 หรือใบแทนใบอนุญาตดังกล่าว ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด 4การควบคุม

___________________

        มาตรา 50 ให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานครขึ้นมีฐานะเป็นหน่วยงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        มาตรา 51 ให้ผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนหนึ่งระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองเป็นนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในเขตกรุงเทพมหานคร

         ให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานครมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานคร

        ในระหว่างที่ยังไม่ได้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดตามมาตรา 52 ขึ้นในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และตามนโยบายของคณะกรรมการ

        มาตรา 52 เมื่อผู้ว่าการเห็นสมควรจัดตั้งสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดขึ้นในจังหวัดใด และจะให้มีเขตอำนาจครอบคลุมเขตจังหวัดใดบ้าง ให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแล้ว ให้ตราข้อบังคับจัดตั้งสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดขึ้นในจังหวัดนั้น พร้อมทั้งกำหนดเขตอำนาจของสำนักงาน ดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        ให้สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดเป็นหน่วยงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        มาตรา 53 ให้ผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนหนึ่งระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองเป็นนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัด มีหน้าที่ควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในเขตอำนาจของตน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และตามนโยบายของคณะกรรมการ

        ให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัด มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ จังหวัดดังกล่าว

        มาตรา 54 ในการควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมายมีอำนาจดังต่อไปนี้

         (1) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบใบอนุญาต สภาพ และลักษณะของสถานที่ทำการเครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะที่ใช้ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตลอดจนจำนวนและประวัติของตัวแทนและลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

         (2) เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตัวแทน หรือลูกจ้างมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อตรวจสอบ

         (3) เรียกให้มัคคุเทศก์มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะมัคคุเทศก์ ตลอดจนให้ส่งรายงานการปฏิบัติหน้าที่ในระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อตรวจสอบ

        มาตรา 55 การมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 54 ให้นายทะเบียนมอบหมายเป็นหนังสือทุกครั้ง

        มาตรา 56 ในการปฏิบัติหน้าที่ นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 57 เมื่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมายพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 45 หรือมาตรา 46 แล้วแต่กรณี แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ

        มาตรา 58 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

[แก้ไข]
หมวด 5บทกำหนดโทษ

___________________

        มาตรา 59 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

        มาตรา 60 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 25 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท

        มาตรา 61 คู่สมรสหรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ตายผู้ใดประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปแต่ไม่แจ้งความประสงค์ที่จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้น หรือไม่แจ้งความประสงค์ที่จะไม่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 29 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 62 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดไม่ส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนตามมาตรา 28 วรรคสี่ หรือ มาตรา 30 หรือมาตรา 33 วรรคสองต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 63 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 วรรคสามต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

        มาตรา 64 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 66 มัคคุเทศก์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา 67 มัคคุเทศก์ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ในระหว่างที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 68 มัคคุเทศก์ผู้ใดไม่ส่งคืนใบอนุญาตและเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กำหนดเนื่องจากใบอนุญาตสิ้นอายุเพราะไม่ได้ขอต่ออายุใบอนุญาต หรือเนื่องจากถูกเพิกถอนใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 43 วรรคห้า หรือมาตรา 46 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 69 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 54 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

___________________

        มาตรา 70 ผู้ใดประกอบธุรกิจนำเที่ยวอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 14 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

        ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องเลิกการประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต

        มาตรา 71 คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า ให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้อยู่แล้วตามข้อ 30 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปได้ แต่ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 14 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน และมิให้นำความในมาตรา 15 (1) (ก) และ (2) (ก) (ค) (ง) และ (จ) มาใช้บังคับแก่ผู้นั้น

        คนต่างด้าวซึ่งได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต้องเลิกการประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต

        มาตรา 72 ให้นำความในมาตรา 31 มาใช้บังคับแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือคนต่างด้าวซึ่งได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียนตามมาตรา 70 หรือมาตรา 71 โดยอนุโลม

        มาตรา 73 ผู้ใดเป็นมัคคุเทศก์อยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์ต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามมาตรา 39 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้เป็นมัคคุเทศก์ต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        อานันท์ ปันยารชุน

        นายกรัฐมนตรี

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

(1) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ฉบับละ 500 บาท
(2) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ฉบับละ 200 บาท
(3) ใบแทนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ฉบับละ 100 บาท
(4) ใบแทนใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ฉบับละ 50 บาท
(5) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันนี้การประกอบธุรกิจนำเที่ยวและอาชีพมัคคุเทศก์ได้มีการขยายตัวเป็นอันมาก สมควรที่จะมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานในเรื่องนี้และให้การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและอาชีพมัคคุเทศก์ ให้เป็นระเบียบและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์ของบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้