พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก พ.ศ. ๒๕๓๗

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก พ.ศ. ๒๕๓๗

พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก พ.ศ. ๒๕๓๗
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
เป็นปีที่ ๔๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก พ.ศ. ๒๕๓๗”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “องค์การ” หมายความว่า องค์การการค้าโลกที่จัดตั้งขึ้นตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗

        มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์

         (๑) ให้ยอมรับนับถือว่าองค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย

         (๒) ให้องค์การ เจ้าหน้าที่ขององค์การ และผู้แทนของสมาชิกขององค์การได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทำนองเดียวกับทบวงการชำนัญพิเศษ ผู้แทนของสมาชิกและพนักงานของทบวงการชำนัญพิเศษตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หรือความตกลงที่อาจมีขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การ

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลกซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้นมีวัตถุประสงค์ให้องค์การการค้าโลกที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรกลางคอยดูแลความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ และประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงดังกล่าวด้วย ประเทศไทยจึงมีพันธะที่จะต้องให้องค์การการค้าโลก เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ และผู้แทนของสมาชิกขององค์การฯ ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ