พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
_________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541"
มาตรา 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
(2) พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
(3) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2538
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
"พรรคการเมือง" หมายความว่า พรรคการเมืองที่คณะบุคคลรวมกันจัด ตั้ง โดยได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
"สมาชิก" หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง
"ที่อยู่" หมายความว่า ที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
"การบริจาค" หมายความว่า การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ใดที่คำนวณเป็นเงินได้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อการดำเนินกิจการของ พรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง นอกเหนือ จากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามข้อบังคับของพรรคการเมือง
"กองทุน" หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
"นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง
มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 6 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนมีอำนาจ หน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่รับคำขอจดแจ้งการจัดตั้ง พรรคการเมืองควบคุม ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง และปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
มาตรา 7 ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือตรวจสอบได้
[แก้ไข]
หมวด 1 การจัดตั้งพรรคการเมือง
___________________________
มาตรา 8 ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคน ขึ้นไปสามารถรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเจตนารมณ์ ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตาม เจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
มาตรา 9 ในการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้ผู้จัดตั้งพรรคการเมือง จัดให้มีการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมือง กำหนดข้อบังคับพรรคการเมือง และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง การประชุมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 10 พรรคการเมืองต้องมีนโยบายและข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนาระหว่างชนในชาติ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 11 ข้อบังคับพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อพรรคการเมือง
(2) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
(3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
(4) การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุด และการออกจาก ตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหาร พรรคการเมือง
(5) แผนและกำหนดเวลาในการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง อำนาจ หน้าที่ของสาขาพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุด และ การออกจากตำแหน่งของกรรมการสาขาพรรคการเมือง และอำนาจหน้าที่ของ กรรมการสาขาพรรคการเมือง
(6) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและการประชุมของสาขา พรรคการเมือง
(7) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
(8) ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก
(9) การรับเข้าเป็นสมาชิกและการให้ออกจากการเป็นสมาชิก
(10) วินัยและจรรยาบรรณของสมาชิก
(11) หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
(12) การบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรค การเมืองและสาขาพรรคการเมือง
(13) การให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป
(14) การเลิกพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง
มาตรา 12 คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่น ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
มาตรา 13 ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองยื่นคำขอ จัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพร้อมกับนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรค การเมือง บัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคการเมือง และสำเนารายงานการ ประชุมของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง
คำขอจัดตั้งพรรคการเมืองให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อพรรคการเมือง
(2) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
(3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
(4) ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง
(5) ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของคณะกรรมการบริหาร พรรคการเมือง
มาตรา 14 เมื่อได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพิจารณาตรวจสอบ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 8 และมีจำนวนไม่น้อยกว่าสิบห้าคน
(2) นโยบายและข้อบังคับพรรคการเมืองมีลักษณะไม่ขัดต่อมาตรา 10
(3) เอกสารการขอจัดตั้งพรรคการเมืองมีรายการครบถ้วนตาม มาตรา 11 และมาตรา 13
(4) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีคุณสมบัติตามมาตรา 12 และ
(5) ชื่อพรรคการเมืองและภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองไม่ซ้ำหรือพ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายพรรคการ เมืองของผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นที่ได้ยื่นคำขอไว้ตามมาตรา 13 หรือของ พรรคการเมืองอื่นที่นายทะเบียนได้รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ก่อนแล้ว
ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอจัดตั้ง พรรคการเมืองทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง
ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าคุณสมบัติหรือจำนวนของ ผู้จัดตั้งพรรคการเมือง หรือนโยบายและข้อบังคับพรรคการเมือง หรือคุณสมบัติของ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมาย พรรคการเมืองไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (4) หรือ (5) ให้นายทะเบียน สั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับคำขอ จัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา 15 ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าเอกสารขอ จัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา 14 (3) มีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 11 หรือมาตรา 13 หรือมีข้อความไม่ชัดเจนหรือบกพร่อง ให้นายทะเบียนแจ้งเป็น หนังสือให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายทะเบียน ได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายในเจ็ดวันนับแต่ วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน
เมื่อผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองได้แก้ไขเอกสารการขอจัดตั้ง พรรคการเมืองให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอ จัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว
ถ้าผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ดำเนินการแก้ไขเอกสารการขอจัดตั้ง พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง หรือดำเนินการแก้ไขแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ให้นาย ทะเบียนสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนแจ้งเป็น หนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ สั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา 16 ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าชื่อพรรคการเมือง หรือ ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในเอกสารการขอจัดตั้งพรรคการเมือง ซ้ำหรือพ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมาย พรรคการเมืองของผู้จัดตั้งพรรคการเมืองอื่นที่ได้ยื่นคำขอไว้ในวันเดียวกันให้ นายทะเบียนดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องเพื่อ ให้ทำความตกลงกันว่าผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดจะเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรค การเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อได้ตกลงกันเป็นประการใด แล้ว ให้นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่ได้มีการตกลงกัน การตกลงกันดังกล่าวให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แจ้งจากนายทะเบียน
(2) ในกรณีที่ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องยืนยันไม่ยอมตกลงกัน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวใน (1) แล้วยังตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียน พิจารณารับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองจากผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองที่เห็นว่า มีสิทธิที่จะใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นดีกว่า โดย พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดมีจำนวนผู้จัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งหลังสุดในนามของพรรคการเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่เคยใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น มากกว่า ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองคณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า
(ข)ในกรณีที่จำนวนผู้จัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ก) มีจำนวนเท่ากัน ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดมีจำนวนผู้จัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งเคยสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในนามของ พรรคการเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคย ใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นมากกว่า ผู้ขอจัดตั้ง พรรคการเมืองคณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า
(ค) ในกรณีที่จำนวนผู้จัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ข) มีจำนวนเท่ากัน ให้นายทะเบียนดำเนินการจับสลากโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อ พรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น
(3) ในกรณีที่ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เป็นชื่อหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนและตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียนดำเนินการจับสลากโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น
ให้นายทะเบียนแจ้งการจับจดแจ้งพรรคการเมืองตาม (2) และ (3) เป็นหนังสือไปยังผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบภายในเจ็ดวันนับแต่ วันที่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา 17 ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับ จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองจากนายทะเบียน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียน ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
มาตรา 18 ให้นายทะเบียนจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใน ทะเบียนพรรคการเมืองและให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา โดยระบุชื่อพรรคการเมือง ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง ชื่อหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
มาตรา 19 ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้ง พรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคล
[แก้ไข]
หมวด 2 การดำเนินกิจการของพรรคการเมือง
_______________________
[แก้ไข]
ส่วนที่ 1 การดำเนินกิจการในทางการเมือง
มาตรา 20 ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ ในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการ อันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือ ให้กรรมการบริหารคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
มาตรา 21 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตาม รัฐธรรมนูญ
มาตรา 22 สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 21
(4) พรรคการเมืองมีมติให้ออกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
(5) พรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกเลิกหรือยุบไป
การสิ้นสุดของสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง (4) ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรง ตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย มติของพรรคการเมืองต้องเป็นมติของที่ ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พรรคการเมืองทั้งหมด และการลงมติให้ลงคะแนนลับ แต่ถ้าสมาชิกผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่ามติดังกล่าว มีลักษณะตามมาตรา 47 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา 47 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่า สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 47 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ สมาชิกผู้นั้น อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาล รัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
การอุทธรณ์ของสมาชิกต่อศาลตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งรายงานหรือเอกสารเกี่ยวกับการมีมติ ตามวรรคสองไปยังประธานรัฐสภาและนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ พรรคการเมืองมีมติ
การสิ้นสุดของสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง (5) ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรง ตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยและไม่อาจเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรค การเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิกหรือยุบไป ให้ถือว่า สมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบหกสิบวันนั้น
มาตรา 23 ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย โดยการเกิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอม ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง
ห้ามมิให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่ง ใด ๆ ในพรรคการเมืองหรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการ ของพรรคการเมือง
มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมือง หรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า พรรค การเมือง หรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า พรรคการเมือง ในดวงตรา ป้าย ชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่น หรือในข้อมูลทางการสื่อสาร ใด ๆ โดยมิได้เป็นพรรคการเมือง
มาตรา 25 เมื่อนายทะเบียนได้รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้พรรคการเมืองกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของ พรรคการเมือง
(1) การเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง
(2) การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคการเมือง
(3) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่น
(4) การอื่นตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ตามมาตรา 29 ให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองนั้นประกอบด้วยคณะกรรมการ บริหารพรรคการเมือง และสมาชิก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ พรรคการเมือง
มาตรา 26 ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้แทนของสาขาพรรคการเมือง และสมาชิก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง
มาตรา 27 เมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการ บริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดให้พรรคการเมือง กระทำการใด ๆ ฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือข้อบังคับพรรคการเมืองอันอาจ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ แต่ลักษณะการกระทำยังไม่รุนแรงจนเป็นสาเหตุให้ต้องยุบพรรค การเมืองตามมาตรา 67 ให้นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้หัวหน้า พรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค การเมืองนั้น ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่นายทะเบียนเตือนเป็นหนังสือแก่บุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง ต้องส่งสำเนาหนังสือเตือนนั้นให้หัวหน้าพรรคการเมืองทราบโดยเร็ว
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการ แก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค การเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่งได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการ บริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการ บริหารพรรคการเมืองอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
มาตรา 28 ในกรณีที่สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ บริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหาร พรรคการเมืองหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคนเห็นว่ามติหรือข้อบังคับใน เรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่ง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้ง กับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับดังกล่าวนั้นเป็นอันยกเลิกไป
มาตรา 29 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับ จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชี รายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมือง อย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา
มาตรา 30 ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้น ให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองต่อนายทะเบียน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองนั้น
หนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามแบบที่ นายทะเบียนกำหนดและอย่างน้อยจะต้องมีรายการแสดงที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง รายชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของกรรมการสาขาพรรคการเมืองนั้น
เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองแล้ว ให้ออกหนังสือรับรองการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ รับแจ้ง
มาตรา 31 คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองประกอบด้วย ประธานสาขาพรรคการเมือง รองประธานสาขาพรรคการเมือง เลขานุการ สาขาพรรคการเมือง รองเลขานุการสาขาพรรคการเมือง เหรัญญิกสาขา พรรคการเมือง โฆษกสาขาพรรคการเมือง และกรรมการอื่นของสาขาพรรค การเมือง
มาตรา 32 ให้คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองมีหน้าที่ดำเนิน กิจการให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับพรรคการเมืองตามที่ได้รับมอบหมาย
มาตรา 33 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง หรือรายการตามมาตรา 13 วรรคสอง (5) ที่จดแจ้งไว้ กับนายทะเบียน หรือรายละเอียดที่แจ้งไว้ในแบบตามมาตรา 30 ให้หัวหน้าพรรค การเมืองแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พิจารณาแก้ไขรายละเอียดดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับแจ้งการตอบรับ การเปลี่ยนแปลงจากนายทะเบียน และให้นำมาตรา 14 และมาตรา 17 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งภายใน ระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งการ เปลี่ยนแปลงนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด
การแก้ไขรายการที่ได้ประกาศไว้ตามมาตรา 18 ให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 34 หัวหน้าพรรคการเมืองต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรง ตามความเป็นจริง เก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง และ พร้อมที่จะให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตรวจสอบได้
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปี ปฏิทินที่ผ่านมาพร้อมด้วยรายชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของสมาชิกดังกล่าวตามวิธีการที่ นายทะเบียนกำหนดให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งนายทะเบียนภายในระยะเวลาตาม วรรคสอง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งภายในระยะ เวลาที่กำหนด
ทะเบียนสมาชิกให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด
มาตรา 35 ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการ ของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่ นายทะเบียนกำหนดและแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปีเพื่อ ประกาศให้สาธารณชนทราบ เว้นแต่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นยังไม่ถึงเก้าสิบวัน นับจนถึงวันสิ้นปีปฏิทิน
มาตรา 36 ห้ามมิให้พรรคการเมืองช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
[แก้ไข]
ส่วนที่ 2 การเงินของพรรคการเมือง
มาตรา 37 ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองและ สาขาพรรคการเมือง ตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีตามมาตรา 38 ให้ถูกต้องตาม ความเป็นจริง
ในกรณีที่มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ให้ประธานสาขาพรรค การเมืองจัดให้มีการทำบัญชีของสาขาพรรคการเมืองตามมาตรา 38 และรับรอง ความถูกต้อง ตลอดจนจัดส่งบัญชีของสาขาพรรคการเมืองเพื่อแสดงรวมไว้ในบัญชี ของพรรคการเมือง
มาตรา 38 บัญชีของพรรคการเมืองและบัญชีของสาขาพรรคการเมือง ประกอบด้วย
(1) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือ รายจ่าย
(2) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคตามมาตรา 48
(3) บัญชีแยกประเภท
(4) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน
การลงรายการบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยครบถ้วน
บัญชีตาม (1) และ (2) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่รายการนั้นเกิดขึ้นบัญชีตาม (3) และ (4) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น
มาตรา 39 พรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองต้องปิดบัญชี ครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งขึ้น และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปี ในวันสิ้นปีปฏิทิน
การปิดบัญชีให้จัดทำงบการเงิน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย งบดุล และงบรายได้ และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง กรณีที่มีสาขาพรรคการเมือง งบการเงินให้รวมถึงงบการเงินของสาขาพรรคการเมืองทุกสาขาพรรคการเมืองด้วย
งบดุลต้องแสดงรายการ สินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง
งบรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างน้อยต้องแสดงที่มาของรายได้ ซึ่งได้รับ จากเงินบริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐ และรายได้อื่นที่มี กับทางใช้ไปของค่าใช้จ่าย ดำเนินการของพรรคการเมือง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งต้องแสดงไว้ โดยชัดเจน
งบดุลต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชี
มาตรา 40 งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองแล้ว ต้องเสนอที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดย แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า และปิดประกาศไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมือง และสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าพรรคการเมืองต้องรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง และ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติ พร้อมทั้งสำเนาบัญชีตามมาตรา 38
เมื่อนายทะเบียนได้รับงบการเงินและสำเนาบัญชีตามวรรคสองแล้ว ให้นายทะเบียนเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและประกาศให้ สาธารณชนทราบ
มาตรา 41 รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตามพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 42 ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่เข้าดำรงตำแหน่งและภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอื่นแล้ว บุคคลนั้นอาจส่ง สำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ตามกฎหมายอื่นนั้นต่อนายทะเบียน แทนก็ได้
มาตรา 43 เมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องควบคุมพรรค การเมืองไม่ให้ใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นเกินวงเงินที่ นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และควบคุม ไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินวงเงิน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา 44 ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดสรรเงินเพื่อ เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ดังนี้ (1) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อให้จัดสรรเป็นจำนวนรวม โดยพิจารณาตามจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรค การเมืองเสนอไว้ในบัญชีรายชื่อที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่ง เขตเลือกตั้งให้จัดสรรให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเป็นรายบุคคล
ค่าใช้จ่ายที่จัดสรรตาม (1) และ (2) ให้เป็นไปตามมติของที่ ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
ห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดสรรเงินเพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองตาม (1) และ (2) เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
[แก้ไข]
หมวด 3 การสนับสนุนพรรคการเมือง
_______________________
[แก้ไข]
ส่วนที่ 1 การบริจาคแก่พรรคการเมือง
มาตรา 45 การบริจาคแก่พรรคการเมือง ให้กระทำโดยเปิดเผย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 46 เมื่อมีการบริจาคแก่พรรคการเมือง ให้พรรคการเมือง ออกหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาคตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เมื่อพรรคการเมืองได้รับการบริจาคเงิน ให้พรรคการเมืองเปิดเผย รายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินที่ได้รับการบริจาคตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 47 ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่ บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้
มาตรา 48 ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดให้มีบัญชีแสดงรายรับจาก การบริจาคซึ่งต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ของผู้บริจาคทุกราย ในกรณีที่เป็นการบริจาคผ่านทาง สมาชิกให้ระบุชื่อสมาชิกผู้รับการบริจาคด้วย
(2) วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค
(3) สำเนาหลักฐานการรับบริจาค
ในกรณีที่การบริจาคเป็นการให้หรือให้ใช้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่คำนวณเป็นเงินได้ ให้คิดมูลค่าโดยคำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติ ในท้องที่นั้น หรือค่าของสิทธินั้นก่อนจึงบันทึกลงในบัญชี และในกรณีที่ไม่อาจคิดมูลค่า ได้ให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นนั้นให้ชัดเจนเท่าที่จะ กระทำได้
มาตรา 49 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง และสมาชิกซึ่งได้รับการบริจาคต้องนำส่งเข้าบัญชี แสดงรายรับจากการบริจาคตามมาตรา 48 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับการบริจาค
มาตรา 50 บรรดาเงินที่พรรคการเมืองได้รับการบริจาคมา ให้ หัวหน้าพรรคการเมืองและเหรัญญิกพรรคการเมืองนำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคการเมืองนั้น
ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองและเหรัญญิกพรรคการเมืองนำเงินไป ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งหมายเลขบัญชีของบัญชีเงิน ฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของทุกบัญชี พร้อมทั้งส่งสำเนาบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร พาณิชย์รับรองแก่นายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้เปิดบัญชี
มาตรา 51 ห้ามมิให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหาร พรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่เป็นการบริจาคโดยไม่เปิดเผย
มาตรา 52 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการ บ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรของ ประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน
มาตรา 53 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทาง การเมืองจาก (1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย (2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการ หรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร (3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติ ไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า (4) องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจาก ต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติ ไทย หรือมีผู้จัดการ หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย (5) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลที่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจการใน ทางการเมืองจากบุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3)หรือ (4) (6) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 54 ห้ามมิให้บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตามมาตรา 53 บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง
มาตรา 55 ห้ามมิให้นิติบุคคลที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วย วิธีการงบประมาณ หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการ เลือกตั้ง บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง
[แก้ไข]
ส่วนที่ 2 การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ
มาตรา 56 ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุน พรรคการเมืองและการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(1) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย
(2) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
(3) เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(4) เงินหรือทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(5) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา 68
(6) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
(7) เงินดอกผลของกองทุน
(8) เงินรายรับอื่น การส่งเงินค่าปรับตาม (3) หรือเงินหรือทรัพย์สินตาม (4) เข้า กองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 57 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในการ จัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง และควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน
ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองและควบคุมดูแลกองทุน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แทน โดยคณะกรรมการดังกล่าวให้ประกอบด้วย นายทะเบียนเป็นประธานกรรมการ กรรมการการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายหนึ่งคน ผู้แทน กระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน ผู้แทนของพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเลือกกันเองจำนวนสามคน และ ผู้แทนของพรรคการเมืองซึ่งไม่มีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่ง เลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการการ เลือกตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการซึ่งเป็น ผู้แทนของพรรคการเมือง และการประชุมของคณะกรรมการตามวรรคสอง ให้เป็นไป ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 58 ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ให้จัดสรร ให้เป็นรายปีตามโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรคการเมือง ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการ เลือกตั้งประกาศกำหนด โดยให้คำนึงถึงจำนวนสมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง จำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด จำนวนสมาชิกของ พรรคการเมือง และจำนวนสาขาพรรคการเมือง ตามลำดับ
มาตรา 59 ให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนเป็นจำนวน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสนับสนุนที่พรรคการเมืองได้รับเพื่อการบริหารพรรค การเมืองและสาขาพรรคการเมือง การหาสมาชิกเพิ่ม การใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และการให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป
มาตรา 60 ให้นายทะเบียนประสานงานกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานี วิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐให้จัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่ พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรค โดยคำนึงถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อให้แถลง ผลงานของพรรคการเมืองปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามครั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 61 คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดให้พรรคการเมือง ได้รับการสนับสนุนในเรื่องค่าไปรษณียากร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และ ด้านอื่น ๆ เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันตามหลักเกณฑ์และ วิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 62 พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงิน สนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงิน สนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
มาตรา 63 ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว ถ้าต่อมาปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามมาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ให้นายทะเบียนเรียกคืนเงินสนับสนุน ดังกล่าวและให้นายทะเบียนนำเงินสนับสนุนที่เรียกคืนส่งเข้ากองทุน
มาตรา 64 พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว ภายหลัง ปรากฎว่ามีเหตุต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมืองตามหมวด 4 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้พรรคการเมืองนั้นคืนเงินสนับสนุนแก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
[แก้ไข]
หมวด 4 การเลิกหรือยุบพรรคการเมือง
_______________________
มาตรา 65 พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
(2) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงสิบห้าคน
(3) มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่นตามหมวด 5
(4) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง
(5) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 35 หรือมาตรา 62
เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามที่ระบุไว้ ใน (1) (2) (3) หรือ (5) ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาล รัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้วให้ นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 66 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
(3) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ
(4) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือ มาตรา 53
มาตรา 67 เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับ แจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตาม มาตรา 66 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน ถ้าอัยการสูงสุด เห็นสมควรก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้น คณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการ รวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเอง
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นาย ทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา
หากนายทะเบียนเห็นสมควรจะให้ระงับการดำเนินการของพรรคการ เมืองซึ่งกระทำการตามมาตรา 66 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดขอให้ศาล รัฐธรรมนูญสั่งระงับการกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว
มาตรา 68 ในกรณีที่พรรคการเมืองเลิกหรือยุบตามมาตรา 65 นอกจากกรณีตามมาตรา 65 (3) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบดุลรวมทั้ง เอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่ วันที่พรรคการเมืองเลิกหรือยุบ และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ชำระบัญชี ให้เสร็จสิ้นภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าสำนักงานตรวจ เงินแผ่นดินชำระบัญชีไม่เสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน หกเดือน
ในการชำระบัญชี เมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายแล้วยังมีทรัพย์สิน เหลืออยู่เท่าใด ให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับพรรค การเมือง ถ้าในข้อบังคับพรรคการเมืองไม่ได้ระบุไว้ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็น ของกองทุน
ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 5 ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัท จำกัดมาใช้บังคับกับการชำระบัญชีของพรรคการเมืองโดยอนุโลม
มาตรา 69 ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 หรือกระทำการตามมาตรา 66 ผู้ซึ่งเคยดำรง ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรค การเมืองนั้นต้องยุบไป
[แก้ไข]
หมวด 5 การรวมพรรคการเมือง
______________________
มาตรา 70 การรวมพรรคการเมืองอาจเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้ง เป็นพรรคการเมืองใหม่ หรืออาจเป็นการรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกับพรรคการเมือง ที่เป็นหลักก็ได้
มาตรา 71 ในกรณีที่การรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมกันเพื่อ จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจาก ที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง
เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนพรรคการ เมืองละสิบคนประชุมร่วมกัน เพื่อกระทำการเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้ง ขึ้นใหม่ ดังนี้
(1) กำหนดนโยบายพรรคการเมือง
(2) กำหนดข้อบังคับพรรคการเมือง
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุม ร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคการเมืองที่จะรวมกันเพื่อประชุมจัดตั้งพรรคการ เมืองตามมาตรา 9 การเรียกประชุมจัดตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้สมาชิกของ พรรคการเมืองที่จะรวมกันทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ดำเนินการ ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา 72 เมื่อนายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองตาม มาตรา 71 แล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 65 วรรคสอง เพื่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองที่รวมเข้ากันเป็นอันยุบไป โดยให้สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองเดิมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรค การเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองอื่น ในกรณีที่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองเดิม เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น และให้บรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของพรรคการเมืองเดิมโอนไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียน ประกาศคำสั่งการยุบและการรวมพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 73 ในกรณีที่การรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมพรรค การเมืองหนึ่งหรือหลายพรรคการเมืองเข้าเป็นพรรคการเมืองเดียวกันกับอีก พรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นหลัก ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบ จากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง
เมื่อที่ประใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะรวมกันทุกพรรคการเมืองร่วมกันแจ้งการรวม พรรคการเมืองต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 65 วรรคสอง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองที่รวมเข้ากับอีก พรรคการเมืองที่เป็นหลักนั้นยุบไปนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งและให้นำ มาตรา 72 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
[แก้ไข]
หมวด 6 บทกำหนดโทษ
________________________
มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนซึ่งสั่งตาม มาตรา 7 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 75 ผู้ใดโดยเจตนาสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปดำเนินกิจการ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองหรือเข้าลักษณะเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดแจ้งการ จัดตั้งพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 76 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 วรรคสี่ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 วรรคหนึ่ง มาตรา 40 วรรคสอง หรือมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีก ไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 77 กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการสาขา พรรคการเมืองผู้ใดรู้อยู่แล้วแต่จัดให้พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคสอง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้ฝ่าฝืนใด ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งเพิกถอน สัญชาติไทย และเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรด้วย
มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 80 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ นายทะเบียนซึ่งสั่งตามมาตรา 33 วรรคสาม หรือมาตรา 34 วรรคสาม หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 81 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท
มาตรา 82 พรรคการเมืองใดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท
มาตรา 83 คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือประธาน สาขาพรรคการเมืองผู้ใดไม่จัดให้มีการทำบัญชีของพรรคการเมือง หรือสาขา พรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 37 หรือจัดให้มีการทำบัญชีของ พรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมืองโดยละเว้นการลงรายการในบัญชีลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชี ซ้อนเร้นหรือทำหลักฐานในการลงบัญชี อันจะเป็นผลให้การแสดงที่มาของรายได้และการใช้จ่ายของพรรคการเมือง ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 84 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการสาขาพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติ ให้ถูกต้อง
มาตรา 85 คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 43 หรือมาตรา 44 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 86 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45 หรือมาตรา 46 หรือ มาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่น้อยกว่าสามเท่าของ จำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่พรรคการเมือง หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
มาตรา 87 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 48 หรือมาตรา 50 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 88 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 49 ต้องระวาง โทษปรับไม่น้อยกว่าสองเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของจำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดที่ได้รับบริจาค
มาตรา 89 พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 52 หรือมาตรา 53 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่ สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการ เลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
มาตรา 90 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 54 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้ฝ่าฝืนใดไม่มีสัญชาติไทย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรด้วย
มาตรา 91 นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 55 ต้องระวางโทษปรับ ไม่น้อยกว่าสามเท่าของจำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่บริจาคให้แก่ พรรคการเมือง
[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล
___________________________
มาตรา 92 ให้พรรคการเมืองซึ่งจดทะเบียนพรรคการเมืองตาม พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และในกรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าวพรรคใดยังมิได้ดำเนินการตามมาตรา 29 ให้พรรคการเมืองพรรคนั้นดำเนินการให้ครบถ้วนภายในหนึ่งร้อย แปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา 93 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองตามมาตรา 92 และพรรคการเมืองซึ่งนายทะเบียนได้รับแจ้งการจัดตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติพรรค การเมือง พ.ศ. 2524 อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ดำเนินการจัดให้มีการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรค การเมือง หรือเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 9 และดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้พรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินการตามที่ได้รับแจ้ง จากนายทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง จากนายทะเบียน เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้ง นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 94 ในกรณีที่พรรคการเมืองใดตามมาตรา 92 ไม่ดำเนินการ ให้ครบถ้วนตามมาตรา 29 ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 และ ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 65 วรรคสอง
พรรคการเมืองซึ่งนายทะเบียนได้รับแจ้งการจัดตั้งไว้ตามพระราช บัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 มิได้ดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 93 ให้หนังสือรับรองการแจ้งการจัดตั้งพรรค การเมืองที่นายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เป็นอันยกเลิกไป
มาตรา 95 ภายหลังจากที่พรรคการเมืองได้ดำเนินการเลือกตั้ง เหรัญญิกพรรคการเมืองตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรค การเมือง และสมาชิกรีบดำเนินการนำเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีอยู่ ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่งต่อเหรัญญิกพรรคการเมือง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้เลือกตั้งเหรัญญิกพรรคการเมือง
ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือสมาชิกคนใดไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 49
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการ สมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อกำหนดระเบียบ การจัดตั้งและการดำเนินกิจการพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ