พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541
_________________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541"


        มาตรา 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

        "ผู้มีสิทธิออกเสียง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

        "หน่วยออกเสียง" หมายความว่า ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนออกเสียงประชามติ

        "ที่ออกเสียง" หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนออกเสียงประชามติ

        "จังหวัด" หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

        "อำเภอ" หมายความรวมถึง กิ่งอำเภอและเขต

        "เทศบาล" หมายความรวมถึง เมืองพัทยา


        มาตรา 4 ในกรณีที่จะดำเนินการจัดทำประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้มีการออกประกาศของนายกรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษา โดยจะต้องมีรายละเอียด ดังนี้

        (1) กำหนดวันออกเสียงประชามติ

        (2) กำหนดเรื่องในการจัดทำประชามติ ซึ่งจะต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะขอคำปรึกษาจากผู้มีสิทธิออกเสียงว่าจะลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ


        มาตรา 5 เมื่อมีประกาศของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 4 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติรวมทั้งจัดให้มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่จัดทำประชามติเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบ

        ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


        มาตรา 6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของแต่ละจังหวัดและปิดประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวพร้อมทั้งประกาศของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 4 ไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร และที่ออกเสียงหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่ออกเสียงไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันออกเสียงประชามติ

        ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาใช้บังคับกับการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิออกเสียง โดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง


        มาตรา 7 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดหน่วยออกเสียงที่จะพึงมีในแต่ละจังหวัด และกำหนดที่ออกเสียงของหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงจำนวนของผู้มีสิทธิออกเสียงในแต่ละหน่วยออกเสียง และความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันออกเสียงประชามติ

        ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนแปลงที่ออกเสียงตามประกาศในวรรคหนึ่ง เป็นสถานที่อื่นตามที่เห็นเหมาะสมก็ได้ โดยต้องประกาศการเปลี่ยนแปลงที่ออกเสียงให้ทราบก่อนวันออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าห้าวันเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินจะประกาศการเปลี่ยนแปลงออกเสียงน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้


        มาตรา 8 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคน เพื่อทำหน้าที่อำนวยการหรือกำกับดูแลการออกเสียงประชามติในแต่ละจังหวัดได้ตามที่เห็นสมควร


        มาตรา 9 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประจำที่ออกเสียงแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าห้าคน เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการและรักษาความเรียบร้อยในการลงคะแนนเพื่อออกเสียงประชามติ และการนับคะแนนในที่ออกเสียงนั้น

        การแต่งตั้งกรรมการประจำที่ออกเสียง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คน ถ้าในวันออกเสียงประชามติมีกรรมการประจำที่ออกเสียงมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงห้าคน ให้กรรมการที่เหลืออยู่แต่งตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำที่ออกเสียงจนครบห้าคน

        ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อยู่ในที่ออกเสียงหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน หรือปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าประธานกรรมการจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แล้วแต่กรณี


        มาตรา 10 ให้กรรมการประจำที่ออกเสียงมีหน้าที่ดำเนินการและรักษาความเรียบร้อยในที่ออกเสียงและมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

        ในกรณีที่ผู้ใดขัดขวางการออกเสียงประชามติ ให้กรรมการประจำที่ออกเสียง มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกไปจากที่ออกเสียงได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางต่อการที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะใช้สิทธิออกเสียง


        มาตรา 11 นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 8 และคณะกรรมการประจำที่ออกเสียงได้

        ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 8 และกรรมการประจำที่ออกเสียงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        ค่าตอบแทนของบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 8 และกรรมการประจำที่ออกเสียงให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


        มาตรา 12 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีหีบบัตรออกเสียงประชามติและบัตรออกเสียงประชามติ โดยมีลักษณะที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง

        ลักษณะและขนาดของบัตรออกเสียงประชามติ และวิธีการลงคะแนนในบัตรออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 13 ในวันออกเสียงประชามติ ให้เปิดการลงคะแนนออกเสียงประชามติ ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกาถึงเวลา 15.00 นาฬิกา


        มาตรา 14 ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในที่ออกเสียงใดให้ออกเสียงประชามติ ณ ที่ออกเสียงนั้น

        ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนออกเสียงประชามติในที่ออกเสียงที่ตนมีสิทธิได้เพียงแห่งเดียว


        มาตรา 15 ก่อนเริ่มเปิดให้มีการออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงนับจำนวนบัตรออกเสียงประชามติทั้งหมดของหน่วยออกเสียงนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรทั้งหมดในที่ออกเสียงไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนนให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงเปิดหีบบัตรออกเสียงประชามติในที่เปิดเผยแสดงให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งอยู่ ณ ที่ออกเสียงนั้นเห็นว่าเป็นหีบเปล่าและให้ปิดหีบบัตรออกเสียงประชามติตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดแล้วให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่าสองคน ซึ่งอยู่ในที่ออกเสียงในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ในขณะนั้น


        มาตรา 16 ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งประสงค์จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการประจำที่ออกเสียง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดตามที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

        เมื่อคณะกรรมการประจำที่ออกเสียงตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงแล้วให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงโดยให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตร และให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นหลักฐานตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แล้วให้กรรมการประจำที่ออกเสียงมอบบัตรออกเสียงประชามติให้แก่ผู้นั้น เพื่อไปลงคะแนน

        ในกรณีที่มีผู้ทักท้วงหรือกรรมการประจำที่ออกเสียงสงสัยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมาแสดงตนนั้นไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงมีอำนาจสอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยเป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ออกเสียงหรือไม่ และในกรณีที่คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงวินิจฉัยว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงทำบันทึกคำวินิจฉัย และลงลายมือชื่อไว้ด้วยและให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการประจำที่ออกเสียงนั้น


        มาตรา 17 เมื่อถึงกำหนดเวลาปิดการลงคะแนนออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงประกาศปิดการลงคะแนนและงดจ่ายบัตรออกเสียงประชามติ และให้ทำเครื่องหมายในบัตรที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนไม่ได้ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนบัตรออกเสียงประชามติทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตน และรับบัตรออกเสียงประชามติ และจำนวนบัตรที่เหลือ โดยให้กรรมการประจำที่ออกเสียงที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นทุกคนลงลายมือชื่อไว้และประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งอยู่ที่นั้นทราบ


        มาตรา 18 เมื่อปิดการออกเสียงประชามติแล้ว ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงแต่ละแห่งนับคะแนน ณ ที่ออกเสียงนั้นโดยเปิดเผยจนแล้วเสร็จ

        วิธีการนับคะแนน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


        มาตรา 19 บัตรออกเสียงประชามติดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสีย

        (1) บัตรปลอม

        (2) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน

        (3) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนในทางใด

        (4) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย

        ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงสลักหลังในบัตรที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่งว่า "เสีย" พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามอนุมาตราใดแล้วลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสามคน และห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนน


        มาตรา 20 เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการประจำที่ออกเสียงนำบัตรออกเสียงประชามติของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดใส่ไว้ในหีบบัตรออกเสียงประชามติ พร้อมทั้งรายงานผลการนับคะแนนแล้วปิดหีบบัตรจัดส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


        มาตรา 21 ในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้สิทธิออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิ ซึ่งอยู่นอกเขตจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันออกเสียงประชามติ หรือผู้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร รวมทั้งวิธีการนับคะแนน และแจ้งผลคะแนนการออกเสียงประชามติในกรณีดังกล่าวด้วย


        มาตรา 22 เมื่อได้ผลการนับคะแนนออกเสียงประชามติจากที่ออกเสียงทุกแห่งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงประชามติและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แล้วแจ้งผลไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว


        มาตรา 23 เมื่อมีการประกาศผลการออกเสียงประชามติแล้ว ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงผู้ใดเห็นว่าการออกเสียงประชามติในหน่วยออกเสียงใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่าการออกเสียงประชามตินั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ


        มาตรา 24 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำร้องคัดค้านแล้วให้ดำเนินการพิจารณาสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการออกเสียงประชามติในหน่วยออกเสียงใดไม่ถูกต้อง หรือมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้นเว้นแต่การออกเสียงประชามติใหม่จะไม่ทำให้ผลการออกเสียงประชามติเปลี่ยนแปลงไปให้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านนั้นเสีย

        วิธีพิจารณาการคัดค้านการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


        มาตรา 25 ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 26 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการประจำที่ออกเสียง ตามมาตรา 10 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 27 ผู้ใดกระทำการในระหว่างการออกเสียงประชามติดังต่อไปนี้

        (1) ออกเสียงประชามติหรือพยายามออกเสียงประชามติ โดยมิใช่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง

        (2) ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงประชามติตามมาตรา 12 มาออกเสียงประชามติ

        (3) นำบัตรออกเสียงประชามติออกไปจากที่ออกเสียง

        (4) ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียงประชามติ

        (5) จงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงประชามติชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้

        (6) นำบัตรออกเสียงประชามติใส่ในหีบบัตรออกเสียงประชามติโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อลงคะแนนออกเสียงโดยผิดไปจากความจริงหรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรออกเสียงประชามติเพิ่มขึ้นจากความจริง

        (7) กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถใช้สิทธิได้หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปออกเสียงหรือเข้าไป ณ ที่ออกเสียง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงประชามติ

        (8) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงนั้นออกเสียงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่งหรืองดออกเสียงประชามติ

        (9) เรียกทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะลงคะแนนออกเสียงประชามติ หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนออกเสียงประชามติ

        (10) ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียงประชามติ

        (11) เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรออกเสียงประชามติหรือบัตรออกเสียงประชามติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย

        ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท


        มาตรา 28 กรรมการประจำที่ออกเสียงผู้ใดจงใจนับบัตรออกเสียงประชามติ หรือคะแนนในการออกเสียงประชามติให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไปหรือกระทำด้วยประการใด ๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรออกเสียงประชามติชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรออกเสียงประชามติให้ผิดไปจากความจริงหรือทำรายงานการออกเสียงประชามติไม่ตรงความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท


        มาตรา 29 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

 


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        ชวน หลีกภัย

        นายกรัฐมนตรี

 


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือโดยที่มาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีอาจจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน และผลการออกเสียงประชามติจะเป็นการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ โดยให้หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ประกอบกับกระบวนการจัดทำประชามติเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนในการได้มีส่วนร่วมพิจารณาการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสแสดงความต้องการที่แท้จริงให้รัฐบาลทราบ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ