พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541
___________________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541"
มาตรา 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2540
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
"เลือกตั้ง" หมายความว่า เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี
"จังหวัด" หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร
"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
"รองเลขาธิการ" หมายความว่า รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
[แก้ไข]
หมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง
___________________
มาตรา 6 คณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามวิธีการสรรหาและการเลือกตั้งวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
มาตรา 7 ให้กรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่งและภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งและต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินอีกครั้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี
บัญชีตามวรรคหนึ่งให้ยื่นพร้อมเอกสารประกอบซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีและสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้าด้วย
มาตรา 8 การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งคนใดไม่อาจมาประชุมได้ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่การลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 10 (5) (6) (7) และ (8) ให้ใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์
ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มาประชุม ให้กรรมการการเลือกตั้งที่มาประชุมเลือกกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา 9 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการการเลือกตั้ง เลือกกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 10 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(2) ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(3) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐปฏิบัติการทั้งหลาย อันจำเป็นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(4) ออกข้อกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
(5) ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(6) สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(7) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง หรือทุกหน่วยเลือกตั้งหรือสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณา ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
(8) ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
(9) ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(10) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
(11) ดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่น หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 11 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุคคล คณะบุคคลหรือผู้แทนองค์การเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายได้
หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และค่าตอบแทน รวมทั้งวิธีปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชนตามวรรคหนึ่ง และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 14 ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 12 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามมาตรา 11 ให้มีจำนวนจังหวัดละไม่เกิน 11 คน ประกอบด้วยบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง โดยใช้วิธีสรรหาจากผู้ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 137 (1)(2)(4)(5)(6) และ (7) ของรัฐธรรมนูญโดยให้สรรหาจากผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นเป็นหลัก
กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
มาตรา 13 คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) อำนวยการการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ที่กระทำภายในจังหวัดนั้น
(2) เสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ
(4) เสนอแนะต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดไว้
(5) ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา 14 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมายได้
มาตรา 15 ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้หน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ หรือให้หน่วยงานดังกล่าวมีคำสั่งให้ข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ปฏิบัติการอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งหรือมาตรา 10 (3) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัย และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยของผู้นั้นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
มาตรา 16 ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวน และให้มีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางแพ่งทางอาญาหรือทางปกครอง โดยให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแทนได้ และให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลอำนวยความสะดวกและเร่งรัดให้การดำเนินการคดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและในการนี้ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง
มาตรา 17 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแยกเป็นรายจังหวัดไว้เป็นประจำ
ทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิตรวจสอบและขอแก้ไขให้ถูกต้องได้
มาตรา 18 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า
การแบ่งเขตเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งจะต้องกำหนดพื้นที่ในแต่ละเขตเลือกตั้งให้ติดต่อกันและมีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังนี้
(1) ในกรณีที่อำเภอหรือตำบลใดมีจำนวนราษฎรเพียงพอที่จะกำหนดเป็นเขตเลือกตั้งได้ให้กำหนดอำเภอหรือตำบลนั้นเป็นเขตเลือกตั้ง
(2) ในกรณีที่ไม่เป็นไปตาม (1) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกันและการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนประชากรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกหรือรวมพื้นที่ตำบล เพื่อให้ได้จำนวนประชากรพอเพียงสำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้
(3) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (2) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกัน หรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรของแต่ละชุมชนในเขตเลือกตั้งแต่ละแห่งมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด
เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งให้กระทำได้เฉพาะเมื่อต้องมีการรวมเขตเลือกตั้งหรือเพิ่มเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ในวรรคสอง
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้ตามมาตรานี้ เว้นแต่มีกรณีจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งตามวรรคสาม
มาตรา 19 ในกรณีที่มีเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสืบสวนสอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการโดยพลัน
ในการสืบสวนสอบสวนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องให้โอกาสผู้ร้อง ผู้ถูกคัดค้านหรือผู้ถูกกล่าวหา มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐาน รวมทั้งต้องให้โอกาสมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน
วิธีการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 20 องค์การเอกชนใดที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าองค์การเอกชนที่ยื่นคำขอมีความเป็นกลางในทางการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจรับรองให้องค์การเอกชนนั้นช่วยเหลือในการตรวจสอบการเลือกตั้งได้
ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนขององค์การเอกชนที่ได้รับรองตามวรรคหนึ่ง เพื่อช่วยดูแลตรวจสอบการเลือกตั้ง และรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบในกรณีที่พบเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
หลักเกณฑ์และวิธีการการขอให้รับรอง การรับรอง การเพิกถอนการรับรอง และการปฏิบัติงานขององค์การเอกชนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 21 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตาม (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(3) ขอให้ศาลส่งเอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(4) เข้าไปในที่เลือกตั้ง ที่ออกเสียงประชามติ หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง หรือนับคะแนนการออกเสียงประชามติ
มาตรา 22 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 23 เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา 24 ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำตามหน้าที่โดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา
[แก้ไข]
หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
____________________
มาตรา 25 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
กิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา 26 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองและให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง
(2) ศึกษาและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งการออกเสียงประชามติและการพัฒนาพรรคการเมือง
(3) เผยแพร่วิชาการและให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(4) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้เลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือบุคคลอื่นใดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(5) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย
มาตรา 27 ในการกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(2) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ รองเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์ การลงโทษ สำหรับเลขาธิการ รองเลขาธิการ และพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(4) การคัดเลือก การกำหนดอัตราค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตลอดจนการกำหนดเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งชั่วคราวตามมาตรา 32
(5) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(6) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เลขาธิการ รองเลขาธิการ พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 28 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงาน และลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง และจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้
ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการในคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 29 เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์และความสำเร็จด้านการบริหารตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา 30 เลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลงานโดยทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจ ดังนี้
(1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง
(2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 32
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศ หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 31 ในกิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 32 คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจขอให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้นแล้วแต่กรณี
ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใด ๆ และให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกัน เสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
มาตรา 33 ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างตามมาตรา 32 ขอกลับเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในสังกัดเดิมภายในกำหนดเวลาที่อนุมัติ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติตามมาตรา 32
มาตรา 34 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนองบประมาณรายจ่ายตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือการจัดทำประชามติมากกว่างบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้พอเพียงกับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 35 รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วย
(1) เงินอุดหนุนตามมาตรา 34
(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา 36 รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมาย ว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
ให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดหาด้วยเงินรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้ง เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการปกครองดูแล บำรุงรักษาทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 37 ทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา 38 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำงบดุล งบการเงินและบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงิน และทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า
มาตรา 39 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้นตามมาตรา 10 (10) สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาอาจมีมติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งชี้แจงเป็นหนังสือ หรือมาชี้แจงด้วยวาจา หรือส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือการปฏิบัติงานใด ๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ และในกรณีที่มีเหตุอันควรจะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานก็ได้
[แก้ไข]
หมวด 3 บทกำหนดโทษ
_________________
มาตรา 40 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการหรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งในการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 41 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 42 กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี
[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล
___________________
มาตรา 43 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 327 (9) ของรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะต้องกำหนดระยะเวลาการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ตราขึ้นใหม่ประกาศใช้บังคับซึ่งจะกำหนดระยะเวลาให้แตกต่างกันตามสภาพความพร้อมที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ได้ แต่ต้องมิให้เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา 44 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 18 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งก่อนที่จะมีประกาศกำหนดเขตเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศกำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งคราวนั้นเป็นการเฉพาะคราวได้ โดยให้นำความในมาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 45 ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ ให้หน่วยราชการราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สนับสนุนข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างมาช่วยปฏิบัติงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เป็นการชั่วคราว โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิม แต่อยู่ในบังคับบัญชาของประธานกรรมการการเลือกตั้ง
การมาปฏิบัติงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการ
มาตรา 46 ในวาระเริ่มแรกก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำแผนการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและแผนการจัดตั้งและการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการบริหารงานตามแผนดังกล่าว
ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอตามความจำเป็น
มาตรา 47 ให้ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พร้อมทั้งเอกสารตามมาตรา 7 ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ