ธงตะขาบมอญ - คติความเชื่อเรื่องตอบแทนบุญคุณ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ธงตะขาบมอญ
พระมหาจรูญ ญาณจารี


ธงตะขาบ

ในบริเวณเชิงเขาสิงฆุตตระ มีตะขาบใหญ่ตัวหนึ่งเที่ยวจับช้างกินเป็นอาหาร เมื่อกินเนื้อช้างแล้ว ก็เอากระดูกและงาช้างมาทำรังเป็นที่อยู่อาศัยวัดความสูงได้ประมาณ 7 ชั่วลำตาล เมื่อนานวันเข้าช้างในบริเวณเขาสิงฆุตตระลดน้อยลงและหายาก จึงได้เที่ยวไปหาล่าช้างเป็นอาหารยังสถานที่ห่างไกลออกไป

ที่บริเวณภูเขาสิงฆุตตระนั้น มีฤาษีอาศัยอยู่ 10 ตน มีชื่อว่า 1. ราคะ   2. สิริ   3. ทัตตะ   4. สิรินทะ   5. ทันตะ   6. อาขัมมะ  7. เอกกะ  8. โกชะ   9.  อมตะ   10. สีทันตะ   ทั้ง 10 ตนนี้เป็นผู้มีฌานและอภิญญา  และได้ทำกติกากันไว้ว่า  ทุกคืนพวกเราจะแสดงแสงประทีปให้ปรากฏแก่กันและกัน หากวันใดไม่เห็นแสงประทีปบนภูเขาที่ฤาษีตนใดอาศัยอยู่  เหล่าฤาษีซึ่งเป็นสหายกันทั้งหมดจะต้องไปประชุมพร้อมกันที่ภูเขาแห่งนั้น เพื่อจะได้รับทราบสาเหตุความเป็นเป็นไปแห่งฤาษีตนที่ไม่แสดงแสงประทีปนั้น

จำเนียรกาลต่อมา ฤาษีผู้เป็นหัวหน้าชื่อว่า ราคะ ได้เกิดเจ็บป่วยขึ้น จึงไม่ได้แสดงแสงประทีปให้ปรากฏ เหล่าฤาษีนอกนั้นไม่เห็นแสงประทีปของท่าน จึงได้มาประชุมกันยังที่อยู่ของราคะฤาษีกันทั้งหมด แม้ฤาษีเหล่านั้นจะช่วยกันรักษาอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถจะรักษาอาการป่วยของราคะฤาษีให้ทุเลาลงได้ และได้ถึงแก่อนิจกรรมไปในที่สุด

ราคะฤาษีเมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองแห่งหนึ่ง ปกครองไพร่ฟ้าประชาชีอย่างสงบร่มเย็น ต่อมาพระองค์เกิดประชวรปวดพระเศียรอย่างแรงกล้า แม้พวกแพทย์หลวงจะถวายการรักษาอย่างไรก็ตามอาการประชวรก็ไม่สงบ  พระองค์จึงรับสั่งให้บวงสรวงเทวดา  ตกกลางคืนเทวดาบันดาลให้พระองค์ทรงพระสุบินว่า ข้าแต่มหาบพิตร อาการประชวรปวดพระเศียรของพระองค์ ถ้าจะให้หายขาดนั้น พระองค์จะต้องนำเอาแก่นจันทน์ไปขอขมาลาโทษหมู่ฤาษีที่อาศัยอยู่ที่ภูเขาสิง ฆุตตระโน้น

ครั้นรุ่งอรุณพระองค์ทรงรับสั่งให้หมู่เสนามาตย์นำเอาแก่นจันทน์ขาวประมาณ 7 ลำเรือมุ่งหน้าไปสู่ภูเขาสิงฆุตตระ เมื่อเสด็จไปถึงที่อยู่ของหมูฤาษี  หมูฤาษีจึงถามขึ้นว่า พระองค์พากันมาจากสถานที่แห่งไหนหรือ พระราชาตรัสถามว่า  พระคุณท่านไปไหนกันหมดหรือ เรามาเพื่อจะขอขมาลาโทษพระคุณท่านทั้งหลาย หมูฤาษีได้ฟังพระองค์ตรัสอย่างนั้น จึงพากันหัวเราะ แล้วทูลกับพระองค์ว่า  ในอดีตกาลชาติที่ผ่านมาแล้วนั้น พระองค์เป็นอาจารย์ของพวกเรา มีชื่อว่า ราคะฤาษี  เมื่อพระองค์ได้จุติไปแล้ว ด้วยเหตุที่พระองค์มีใจผูกพันอยู่กับทรัพย์สิ่งของ จึงได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วบอกต่อไปอีกว่า แก่นจันทน์ขาวที่พระองค์นำมานั้น ขอให้พระองค์นำไปฝนที่บริเวณพระเศียรของพระองค์เถิด พระราชาจึงนำแก่นจันทน์ขาวไปฝนที่พระเศียรของพระองค์ ปรากฏว่าอาการปวดพระเศียรหายขาดเป็นกลิดทิ้ง

พระองค์พร้อมด้วยพฤฒามาตย์ราชบริพาร ได้เสด็จประพาสชมบริเวณรอบ ๆ ภูเขาแห่งนั้น  พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นกองงาช้างที่ตะขาบทำรังไว้ที่เชิงภูเขาแห่งนั้น เข้า  จึงรับสั่งให้ราชบริพารที่ติดตามเสด็จขนงาช้างงาลงเรือจนเต็ม 7 ลำเรือแล้ว พระองค์ก็ทูลลาหมูฤาษีแล้วเสด็จกลับยังพระนคร

ขณะที่เรือกำลังแล่นออกไปนั้น ก็พอดีกับเวลาที่ตะขาบได้กลับมาจากกันเที่ยวหาช้างกินเป็นอาหาร มันไม่พบรังของมันซึ่งแต่เดิมตั้งตระหง่านประมาณ 7 ชั่วลำตาล  มันเที่ยวตามหาบนบกจนทั่วก็ไม่พบ  จึงตามไปที่ทะเลก็ได้พบกับเรือ 7 ลำที่บรรทุกงาช้างของตนกำลังแล่นออกไป มันจึงไล่ตามไปอย่างกระชั้นชิด

ณ บริเวณกลางทะเลใหญ่ที่เรือแล่นไปนั้น มีปูยักษ์อาศัยอยู่ตัวหนึ่ง มีชื่อว่า คันธัพพะ  ปูมันเหลือบไปเห็นตะขาบที่กำลังไล่ตามเรือมาด้วยความโกรธ  ปูจึงคิดในใจว่า น่าจะมีเหตุไม่ดีบางประการ และเป็นอันตรายกับตนเป็นแน่ จึงได้อ้าก้ามค้างไว้เพื่อป้องกันตัว  ปรากฏว่าเรือทั้ง 7 ลำมีขนาดเล็กกว่าช่วงระยะอ้าก้ามของปูจึงลอดไปได้โดยไม่กระทบกับก้ามปูแต่ อย่างใด  ส่วนตะขาบด้วยเหตุที่มันตัวใหญ่มากเมื่อไล่ตามเรือไปตัวของมันกระทบถูกก้าม ปูเข้า ปูจึงได้หนีบตะขาบจนขาดเป็น 3 ท่อน ตาย ณ ที่ท่ามกลางทะเลใหญ่นั้น  เนื้อตะขาบที่ขาดจมลงไปนั้น  กุ้งมังกรมีชื่อว่า โกสะ กินจนหมดสิ้น

พระราชาครั้นเสด็จถึงพระนครแล้ว ก็รับสั่งให้ขนงาช้างที่นำมาแต่ภูเขาสิงฆุตตระสร้างเป็นปราสาท 7 ชั้น ในอาณาบริเวณพระราชวังของพระองค์

อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงสุบินว่า มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งจะมาทำลายปราสาทที่พระองค์สร้างไว้  เมื่อพระองค์ตื่นจากบรรทมแล้วก็รับสั่งให้โหรหลวงทำนายสุบินของพระองค์  โหรหลวงได้ถวายคำทำนายว่า  เหตุที่พระองค์ทรงสุบินเช่นนั้น เป็นเพราะพระองค์ได้นำเอางาช้างซึ่งเป็นรังที่อยู่อาศัยของตะขาบมาทำปราสาท และเป็นสาเหตุให้ตะขาบต้องจบชีวิตลงด้วยถูกปูหนีบ จึงเกิดความอาฆาตในพระองค์  พระราชาจึงตรัสถามว่า แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร  โหรหลวงจึงได้ถวายคำแนะนำว่า ขอให้พระองค์นำเอาผ้าผื่นใหญ่เขียนเป็นรูปตะขาบ แล้วนำไปแขวนไว้บนยอดปราสาท เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ตะขาบเป็นเจ้าของปราสาทหลังนี้ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ตะขาบ และเป็นการขอขมาลาโทษ จะได้หมดเวรหมดกรรมต่อกัน

จากประวัติความเป็นมาข้างต้น  ก็แสดงให้รู้ถึงว่า  คติความเชื่อเรื่องธงตะขาบนั้น เป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบแทนคุณ และการอุทิศผลบุญแก่ผู้มีคุณซึ่งล่วงลับไปแล้ว ตามหลักของพระพุทธศาสนาของชาวมอญโดยทั่วไป  ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีหลักฐานให้ได้เห็นอยู่ ในพิธีกรรมการเก็บอัฐิ  และการทำบุญบังสุกุลในเทศกาลสงกรานต์ให้แก่ผู้มีพระคุณซึ่งล่วงลับไปแล้ว วัสดุที่จะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ ธง ผู้ที่เป็นลูกหลานญาติพี่น้องจะนำธงไปปักบริเวณที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของตน เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงบุญคุณ และอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน เช่นเดียวกับการที่พระราชารับสั่งให้แขวนธงไว้ที่ยอดประสาทของพระองค์