สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ)
องค์ บรรจุน

เข้าเฝ้าฯ ถวายผ้าสไบมอญ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในงานไทยรามัญ
เทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ ณ หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2547


สิ่งสำคัญของคนมอญทั้งชายหญิง เมื่อเข้าวัดเข้าวา คือต้องมีผ้าพาดติดไหล่สักผืน ผ้าผืนดังกล่าวสำหรับผู้ชายก็เรียกว่า ผ้าขาวม้า สำหรับผู้หญิงก็คือ ผ้าสไบ ในขณะที่คนมอญหลายถิ่นนิยมเรียกว่า หยาดโด๊ด แต่มอญน้ำ เค็มแถบสมุทรสาครนิยมเรียกว่า หญาดฮะเหริ่มโตะ หรือ สไบมอญ ที่มีรูปแบบลวดลายเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร หากได้พบจะทราบทันทีว่าผู้ที่ใช้นั้น ๆ เป็นคนมอญทางสมุทรสาคร หรือชุมชนมอญที่อพยพโยกย้ายไปจากทางสมุทรสาคร เช่น บางกระดี่ บางเลน ไทรน้อย ลาดกระบัง คลองสิบสี่ เป็นต้น

หญาดฮะเหริ่มโตะ ของทางสมุทรสาครใช้ได้ทั้งชายหญิงโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว แต่ในชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้ามากกว่า ขนาดของหญาดฮะเหริ่มโตะ กว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ 4 ศอก ปักลายดอกไม้ตรงริมผ้าตลอดทั้งผืน ลายดอกสอดสลับสีสวยงามตัดกับสีพื้นของผืนผ้า ที่นิยมสีสดใส เช่น แดง ส้ม เขียวตองอ่อน เหลือง ขาว ฟ้า ชมพู และนับเป็นงานฝีมือของลูกผู้หญิงมอญอย่าง หนึ่ง ที่จะต้องลงมือทำด้วยตนเองทุกคน ทุกครัวเรือน ที่สำคัญต้องมีไว้อวดฝีมือกันด้วย เอาไว้ใช้สอยยามออกวัดออกวา และไปงานรื่นเริง ขั้นตอนการทำนั้นเป็นการปักและตกแต่งริมผ้าด้วยมือทุกขั้นตอน โครงของลายนั้นคล้าย ๆ กัน (ที่บ้านผู้เขียนยังมีสไบมอญของย่า อยู่ผืนหนึ่ง อายุร่วมร้อยปี ลวดลายก็ยังคงเหมือนอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน) แต่ในส่วนของรายละเอียด ความพิถีพิถันนั้นแล้วแต่ฝีมือของแต่ละคน

วิธีห่มหญาดฮะเหริ่มโตะ เริ่มจาก นำผืนผ้ามาพับตามแนวยาวเป็น 4 ทบ กล่าวคือให้เหลือเพียง เศษหนึ่งส่วนสี่ของความกว้างผืนผ้า พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย โดยเอาด้านที่มีลายดอกไม้ออก หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรง ๆ บนไหล่ซ้าย

คนมอญเก่า ๆ นั้น เวลาจะออกจากบ้าน โดยเฉพาะยามที่ต้องเข้า วัดเข้าวา แทบจะเรียกได้ว่า หญาดฮะเหริ่มโตะ นั้นเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะขาดเสียมิได้เลย จะเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ว่า  “ไม่เหมือนเขา”

คำสำคัญ :
+ breast cloth, สไบ, ย๊าดโด๊ด, สไบมอญ, หญาดฮะเหริ่มโตะ แต่ไม่ใช้ "สะไบ" (ไม่มีในพจนานุกรม)