วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

โสร่งแดง

 

คนมอญเมืองพม่าทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ปักใจเชื่อว่า ชุดแต่งกายมอญนั้น ผู้ชายต้องสวมโสร่งพื้นแดงลายตาราง เสื้อขาวเป็นหลัก ส่วนผู้หญิง สวมผ้าถุงพื้นแดงเชิงลายดอกพิกุล เสื้อขาวหรือชมพูอ่อนยืนพื้น นอกจากนั้น ถือว่าเป็นชุดพม่า และทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะด้วยวาระและกิจกรรมใด ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นมอญได้แล้วละก็ โดยเฉพาะในงานสำคัญอย่างวันชาติมอญ จะมีการรณรงค์และปลุกใจ ให้สวมใส่ชุดมอญดังกล่าว นัยว่าเป็นกระแสชาตินิยมอย่างหนึ่ง

เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้อง
การประชุมสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อ พ.ศ.2490 ในเขตรัฐฉานของไทยใหญ่ ครั้งนั้น ยังไม่มีตัวแทนของมอญเข้าร่วม เพราะพม่าประกาศก้องมาตลอด ให้คนทั่วไปเข้าใจว่ามอญกับพม่าคือชาติเดียวกัน หลังการประชุมครั้งนั้น ชนกลุ่มน้อยหลักๆ ในพม่าต่างได้รับการจัดสรรรัฐปกครองตนเอง (แต่ในนาม) ยกเว้นมอญที่ต้องต่อสู้เรียกร้องมาอีกยาวนาน กระทั่งมีการประชุมที่เมืองตองยี เมื่อ พ.ศ.2503 ในเขตรัฐฉานเช่นเดิม รัฐปกครองตนเองของมอญจึงเกิดขึ้น (แต่ในนาม)

ทุกครั้งที่มีการประชุมระหว่างชนกลุ่มน้อย หรือแม้แต่การแสดงทางวัฒนธรรม ไม่ว่าที่ใดก็ตามในประเทศพม่า มอญจะเป็นกลุ่มที่มีคนสนใจ และพูดถึงน้อยที่สุด เพราะมีการแสดง และการแต่งกายที่คล้ายคลึงกับพม่า ยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องที่ว่า “มอญกับพม่าเป็นชนชาติเดียวกัน” ต่อมาราวปี พ.ศ.2513 กลุ่มนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นำโดยนายแพทย์อองมาน ในขณะนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ค้นหาเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นมาใหม่ ในการนี้ ตัวแทนนักศึกษาได้กระจายกันลงพื้นที่ สำรวจลวดลายผ้ามอญพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นลายที่เลิกทอกันไปแล้วบ้าง ไม่ค่อยได้รับความนิยมบ้าง รวมทั้งผ้าในหีบห่อผ้าผี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพชน ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อได้ข้อมูลและตัวอย่างผ้ามอญโบราณมาแล้ว กลุ่มนักศึกษา ได้ประมวลเอาลายและสีที่ใช้กันมากที่สุด นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ให้เป็นชุดมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังได้กล่าวแล้วข้างต้น อย่างในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ทั่วทั้งประเทศพม่า และในบรรดาคนมอญเมืองไทย ต่างรู้กันดีว่าหากพบเห็น โสร่งแดงลายตาราง และผ้าถุงแดงลายดอกพิกุลแล้ว ผู้สวมใส่จะต้องเป็นคนมอญอย่างไม่ต้องสงสัย ความข้อนี้ สำหรับมอญเมืองไทยไม่กระไรนัก จะแต่งตัวอย่างไร โสร่งลายไหนก็ตามลงบอกว่ามอญ คนไทยก็เชื่อตามนั้น หากแต่ในพม่า ทุกคนนุ่งโสร่งสวมผ้าถุงเหมือนกันหมด การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มขึ้นมาจึงมีความจำเป็น ทั้งเป็นเครื่องหมายรู้กันภายในกลุ่ม ที่คอยกระตุ้นเตือนความเป็นมอญ และยังสื่อความหมายนี้ออกไปยังคนต่างกลุ่มอีกด้วย

ที่มาของโสร่งและผ้าถุงแดง อาจไม่ยาวนานนัก แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ฝังรากลึก หลายคนซึ่งมีทั้งมอญเมืองไทยและมอญเมืองพม่าที่ไม่รู้ที่มา เชื่อว่าโสร่งและผ้าถุงมอญ ต้องแดงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพบกันในงานสำคัญของชาวมอญ เห็นใครแต่งผิดสีก็ว่ากล่าวแก่กัน นับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากชนชาติมอญที่มีอารยะธรรมสืบเนื่องมายาวนานหลายพันปี เหลือเพียงโสร่งและผ้าถุงอย่างละผืนเท่านั้น ที่สามารถแสดงความเป็นมอญได้ มันจะน่าเศร้าสักเพียงใด