นานาสาระผ้าจกไท-ยวน (1) การทอผ้าจกในประเทศไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

นานาสาระผ้าจกไท-ยวน

การทอผ้าจก

กรรมวิธีการทอผ้าจกเป็นการทอและปักผ้าไปพร้อมๆ กันจกคือการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า การจกจะใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกขึ้นจก (ควัก)เส้นด้ายสีสันต่างๆ ขึ้นมาบนเส้นยืนให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ

การทอผ้าจกในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีการทอผ้าจกในภาคเหนือและภาคกลางรูปแบบ ลวดลาย สีสัน ของผ้าจก จะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นหรือเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่าพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษผ้าจกของไทย หากแบ่งตามชนเผ่า จะพบว่ามีการทอผ้าจกตามชนเผ่าใหญ่ๆ ดังนี้
1.     ผ้าจกไท-ยวน
2.     ผ้าจกไท-พวน (ลาวพวน)
3.     ผ้าจกไท-ลื้อ
4.     ผ้าจกลาวครั่ง
การทอผ้าจกตามเผ่าพันธุ์นั้น รูปแบบลักษณะมีความแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์อาทิ

 
ผ้าจกไทลื้อ




มีรูปแบบการจกลวดลายลงบนตัวซิ่นหรือกลางตัวซิ่น ส่วนหัวซิ่นและตีนซิ่นจะไม่มีการจกลวดลายซึ่งแตกต่างกับผ้าจกของกลุ่มคนไทอื่นๆ ทั่วไปที่จะจกลวดลายบริเวณเชิงซิ่นหรือตีนซิ่น เวลาสวมใส่ลวดลายของผ้าจกจะอยู่บริเวณตั้งแต่สะโพกลงมาจนถึงน่องเป็นต้น


ผ้าจกลาวครั่ง

มีเอกลักษณ์ที่เด่นและแตกต่างจากผ้าจกของชนเผ่าอื่นๆ โดยเฉพาะลักษณะผ้าจกที่จกลงบนผ้าสีแดงที่ย้อมด้วยสีของครั่งซึ่งเป็นที่มาของการเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า“ลาวครั่ง”


ผ้าจกไท-ยวน  

ชาวไท-ยวน เป็นกลุ่มคนที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีอาณาจักรดั้งเดิมคืออาณาจักรโยนก และเรียกคนเหล่านี้ว่า คนโยนกหรือคนยวน ซึ่งคนเหล่านี้คือกลุ่มคนเมืองของล้านนาที่อยู่ในแถบ 8 จังหวัดภาคเหนือปัจจุบัน และมีบางส่วนที่อพยพมาอยู่ทางแถบภาคกลางด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่นในจังหวัดราชบุรี สระบุรี ผ้าจกไท-ยวนนับเป็นผ้าจกที่มีความสวยงามมีเอกลักษณ์รูปแบบที่ยังคงสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง การทอผ้าจกของไท-ยวน นอกจากการทำให้เกิดความสวยงามบนผืนผ้าแล้ว ลวดลายที่ทอยังแฝงด้วยความเชื่อทางศาสนา ผ้าแต่ละผืนที่ทอขึ้นจึงมิใช่สำหรับสวมใส่เพื่อความสวยงามเท่านั้นแต่ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นให้สืบเนื่องต่อกันไปด้วย 

วันนี้นำเสนอเรื่องราวของผ้าจกโดยเฉพาะผ้าจกไท-ยวน ซึ่งจะแบ่งผ้าจกไท-ยวน ตามท้องถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่ทอดังนี้ 

(อ่านต่อคลิกที่นี่จ๊ะ)

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/jok/jok.html