นานาสาระผ้าจกไท-ยวน (3) ผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com


ผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่


ลวดลายผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่ บางลายมีลักษณะและชื่อเรียกเหมือนหรือคล้ายคลึงกับลวดลายผ้าจกของไท-ยวน ราชบุรีบางลายก็มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ชื่อเรียกลายผ้าจกไท-ยวนเมืองแพร่ ไม่ได้มีชื่อเรียกตายตัว จะแตกต่างกันไปตามแต่บุคคลหรือกลุ่มใดจะกำหนดขึ้นมา บางลายก็เป็นลายที่ทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ

ลวดลายที่นำเสนอนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของลวดลายที่มีการทอกันในกลุ่มไท-ยวน เมืองแพร่ ซึ่งมีทั้งหลายที่เป็นลวดลายที่ทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ บางลายก็เป็นการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่

ลวดลายจกของไท-ยวน เมืองแพร่ สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลายหลัก และลายประกอบ

1. ลายหลัก

เป็นลายที่ใช้ทอเป็นหลักหรือเป็นลายสำคัญของผ้าจกแต่ละผืน ลายหลักในผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่ มีดังนี้

*ลา

ยดอกเซีย                           *ลายกาบ

ลายกาบดอกแก้ว                    *ลายโก้งเก้ง

*ลายโก้งเก้งซ้อนเซีย              ลายโก้งเก้งซ้อนนกคู่

ลายหักนกคู่                          ลายหักหงส์คู่

ลายขอไล่                            ลายขอผักกูด

ลายขอหัก                            ลายกาบซ้อนหัก

ลายสำเภาลอยน้ำ                   ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย

ลายหม่าขนัด                        ลายจัดแปดกีบ

ลายหัวใจ                            ลายข้าวพันก้อน

ลายขามดแดง                      *คือลายที่ซ้ำกับผ้่าจกไท-ยวน ราชบุรี

 2 . ลายประกอบ

เป็นลายที่ใช้ทอเสริมเข้าไปประกอบให้ลายหลักในผ้าจกแต่ละผืนมีความสมบูรณ์ ผ้าจกแต่ละผืนอาจจะมีลายประกอบอยู่หลายลายก็ได้  ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แล้วแต่ผู้ทอจะเห็นสวยงาม

ลายประกอบที่พบในผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่ มีดังนี้

ลายดอกตะล่อม                       ลายดอกตะล่อมเครือ

ลายขอ                                 ลายขอเหลียว

ลายขอประแจ                          ลายรางน้ำคุ

ลายผักกูด                              ลายผักแว่น

ลายสะเปา                              ลายมะลิเลื้อย

ลายหงส์คู่                              ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น

ลายงูห้อยซ้าว                          ลายกาบหมาก

ลายนกเข้าโฮง                         ลายขอดาว

ลายขอนกเรียง                         ลายขากำปุ้ง(ขาแมงมุม)

 
ลักษณะลวดลายผ้าจกไท-ยวน เมืองแพร่

1. ลายแมงโบ้งเลน

เป็นชื่อลายที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าลายโก้งเก้งซ้อนนกคู่ เป็นลายหลัก ลายโก้งเก้งจะเป็นรูปลายหยักและมีนกอยู่ 2 ตัวแทรกอยู่ในลายนี้ด้วย ลายแมงโบ้งเลนนี้ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็เล่าขานว่าเป็นลวดลายที่ติดหัวฟืมจากนางเงือกที่นำเอาฟืมมาคืน ตามตำนานเงือกทอผ้า


2. ลายขามดแดง

เป็นลายเก่าแก่ลายหนึ่งของจกไท-ยวน ใช้เรียกตามลักษณะของลายที่เหมือนมดแดงมีขาออกมา ส่วนมากใช้เป็นลายประกอบในการทอผ้าจก


3. ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย 

ลายโคมนี้เป็นลายเก่าแก่แต่โบราณ มีรูปร่างเหมือนโคมที่ใช้จุดลอยในพิธีต่างๆ ของ ล้านนาเป็นลวดลายที่แกะมาจากสิ่งของ นอกเหนือจากลวดลายที่เลียนแบบลักษณะของสัตว์  และต้นไม้ ลายโคมนี้จะเป็นโคมพร้อมเสาตรงกลางของตัวโคม และมีช่อตุงประกอบด้วย

4. ลายคนบนหลังม้า

เป็นลายประกอบลายหนึ่งที่เลียนแบบลักษณะของสัตว์และพฤติกรรมของคน ส่วนมากลายม้าจะใช้เป็นลายสำหรับทอผ้าเทปหรือผ้าห่มมากกว่านำมาทอบนผ้าซิ่นตีนจกนอกจากลายม้าแล้วยังมีลายหงส์ ลายช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ใช้เป็นลายทอผ้าเทป


 
5. ลายขอไล่ 

เป็นลวดลายเก่าแต่โบราณ ลักษณะเป็นลายขอสี่อันอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด




6. ลายผักแว่น

เป็นลายเก่าที่เลียนแบบลักษณะของดอกไม้ มีแปดกลีบ


7. ลายหงส์คู่

มีรูปลักษณ์คล้ายนกที่พบเห็นในผ้าจกเมืองแพร่ทั่วไป แต่ตัวหงส์นี้จะแตกต่างจากนก คือในส่วนหัวจะมีช่อขึ้นไป  และส่วนหางหงส์จะตวัดเข้ามา ในขณะที่ลายนก ส่วนหัวและหางจะเรียบ


8. ลายกาบหมาก

ลักษณะลายจะเลียนแบบลักษณะของกาบต้นหมาก เป็นลายเก่าแต่โบราณ


9. ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น

เป็นลายเก่าแก่ที่เลียนแบบธรรมชาติของนกที่กินน้ำจากน้ำเต้า

 


10. ลายสำเภาลอยน้ำ

เป็นลายเก่าแก่ที่เสมือนเรือสำเภาลอยอยู่ในน้ำ  โดยในลายนี้ ส่วนที่อยู่ด้านบนเป็นเรือที่ลอยอยู่ในน้ำ ด้านล่างจะเป็นเงาของสำเภาที่สะท้อนออกมา

11. ลายหางสะเปา

จะเป็นลายที่ปรากฏในเชิงผ้าตีนจกแบบทุกผืนของผ้าจก   ไท-ยวน เมืองแพร่ ลักษณะเหมือนหางที่เป็นเส้นลงมา


12. ลายขากำปุ้ง (ขาแมงมุม )   

ตัวลายจะเลียนแบบลักษณะของขาแมงมุมที่กางขาออกมา เป็นลายที่เลียนแบบลักษณะพฤติกรรมของสัตว์ตามธรรมชาติ


13. ลายดอกสัก (ลายสร้อยกาบหมาก)

ลายนี้เป็นลายเก่าที่มีมาแต่โบราณ  จะมีความแตกต่างจากผ้าจกไท-ยวน โดยทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีพื้นของลายเป็นสีเดียวกันตลอด แต่ในลายนี้จะมีพื้นเป็น 2 สี คือ ดำกับแดง ซึ่งกรรมวิธีในการทอจะยุ่งยากกว่าจกทั่วไป กล่าวคือ บนเส้นพุ้งจะมีกระสวยบรรจุด้ายสีดำอยู่ 1  กระสวย   ส่วนอีกหนึ่งกระสวยจะเป็นสีแดง  เมื่อจกดอกแล้วจะกระทบให้แน่นด้วยเส้นพุ่ง จะพุ่งกระสวยสีดำมาครึ่งหนึ่งและเกี่ยวกับกระสวยสีแดง แล้วจึงพุ่งกลับ แทนที่จะพุ่งกระสวยสีดำยาวตลอด ซึ่งกรรมวิธีการทอผ้าจกบนพื้น  2 สีนี้นิยมทอในกลุ่มของผ้าจกแม่แจ่ม

(มีต่ออีก คลิกเลย)

ต้นฉบับ :

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/jok/jok1/jok1.html

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/jok/jok1/jok2/jok2.html

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/jok/jok1/jok2/jok3/jok3.html